ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เผย 3 ปี เยียวยาคนรายได้น้อย 8.5 แสนล้านบาท — มติ ครม. เพิ่มงบฯ ปี ’66 อีก 119,199 ล้านบาท

นายกฯ เผย 3 ปี เยียวยาคนรายได้น้อย 8.5 แสนล้านบาท — มติ ครม. เพิ่มงบฯ ปี ’66 อีก 119,199 ล้านบาท

26 กรกฎาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯเผย 3 ปี เยียวยาคนรายได้น้อย 8.5 แสนล้านบาท-เพิ่มงบฯ อุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี-จัด 2 มาตรการ ดันไทยเป็นฐานผลิตรถ EV ของโลก-มติ ครม. เติมเงิน “บัตรคนจน” 400 บาท – “คนละครึ่ง” 800 บาท เริ่มจ่าย 1 ก.ย.นี้-จัดซอฟต์โลน 5,000 ล้าน ให้ออมสินปล่อยกู้ ‘โรงแรม-SMEs’-ปรับเพิ่มวงเงินงบฯ ปี ’66 อีก 119,199 ล้าน

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน อีกทั้งยังมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

เผย 3 ปี จ่ายเยียวยาคนรายได้น้อยไป 854,000 ล้าน

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ในปี 2564 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นวงเงิน 854,000 ล้านบาท และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานเป็นวงเงิน 280,000 ล้านบาท

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติเห็นชอบการเติมเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือ ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง, ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และผู้มีภาระพึ่งพิง เป็นเวลา 2 เดือน วงเงิน 200 บาทต่อคน รวมเป็น 400 บาท ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2565 และยังมีโครงการคนละครึ่งเฟส 5 วงเงิน 800 บาทต่อคนต่อเดือน โดยใช้ได้ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ทั้งสองโครงการเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

จัดอีก 2 มาตรการ ดันไทยเป็นฐานผลิตรถ EV ของโลก

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุดและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก โดยเฉพาะการผลักดันบทบาทของประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายพลิกโฉมการผลิต และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อส่งเสริมสร้างแรงจูงใจ ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ในวันนี้ ครม. จึงเห็นชอบมาตรการการลดภาษีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 รายการ

“ผมย้ำคำว่า ‘แห่งหนึ่ง’ ของโลก ผมไม่บังอาจว่าใหญ่ที่สุด ดีที่สุด แต่ ‘แห่งหนึ่งของโลก’ คือให้มีความก้าวหน้าเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

เพิ่มงบฯ อุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในระบบและนอกระบบ และการลงทุนในต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกฝีมือแรงงาน การให้ความรู้ต่างๆ ว่าตนได้สั่งให้ปรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้ทบทวนดูแล้ว พบว่าไม่มีการปรับเงินอุดหนุนมามากกว่า 10 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งการปรับเงินอุดหนุนครั้งนี้จะเป็นภาระผูกพันงบประมาณต่อไปในอนาคต

ผ่านแผนพัฒนา AI เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของ ป.ท.

ขณะเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570 เนื่องจากเอไอเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวมวันข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โต้คนปล่อยข่าว-ไทยไม่ใช่เป้าหมายนักลงทุนต่างชาติ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “ที่มีข่าวปล่อยออกมาว่าประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของโลกหรือภูมิภาค ผมกราบเรียนอีกครั้ง วันนี้หกเดือนแรกของปี 2565 ต่างชาติเข้ามาลงทุนเฉียด 70,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 เกือบ 30,000 ล้านบาท นี่คือข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาแล้ว เป็นการรายงานจากกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ก็รายงานการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา จ้างงานคนไทยกว่า 3,164 คน ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น 71 ราย ร้อยละ 25 เงินลงทุน 26,237 ล้านบาท สิงคโปร์ 51 ราย ร้อยละ 18 เงินลงทุน 10,478 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 35 ราย ร้อยละ 12 เงินลงทุน 2,899 ล้านบาท เงินลงทุนรวม 39,614 ล้านบาท”

พลเอก ประยุทธ์ ให้ข้อมูลว่า คนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยมีจำนวน 284 ราย ผ่านช่องทางการขอรับอนุญาตประกอบธุรกิจและการขอรับหนังสือรับรองการประกอบกิจการ แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 106 ราย หนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 178 ราย

“ย้อนกลับไปเทียบกับปีก่อน เราถือว่าผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.8 ปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย 284 ราย ปี 2564 มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย 264 ราย เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 29,628 ล้านบาท ผมได้หารือกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ก็จะมีความก้าวหน้าของการขอรับสิทธิประโยชน์ เพื่อลงทุนในไทยจำนวนมากพอสมควรในหลายพื้นที่ หลายกิจกรรม ทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

กำชับพาณิชย์แก้ของแพง

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขยายตัวอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า แต่ทั้งนี้เงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีเรื่องการส่งออก แต่มีปัญหาเรื่องการนำเข้า ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ทั้งโลกเผชิญ

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาประเทศมหาอำนาจ มีผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลเรื่องเงินทุนไหลเข้า-ไหลออก ตอนนี้ ธปท.และกระทรวงการคลังก็ติดตามกันอยู่ สินค้าเกษตรราคาเพิ่มขึ้น ก็มีหลายอย่างที่มีผลต่อการส่งออก หรือ ค้าขาย ผมได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ทำอย่างเต็มที่ในการระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมากเกินไป ทั้งนี้ขึ้นกับต้นทุนการผลิตด้วย” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

สั่งกวดขันทุกช่องทาง สกัดโรค ‘ฝีดาษลิง’

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “WHO ประกาศเตือนภัยโรค ‘ฝีดาษลิง’ ว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 75 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยตรวจสอบพบแล้ว 1 ราย ขณะนี้หนีไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้คุมตัวรักษาพยาบาลแล้ว แต่มีข่าวว่าอาจจะมีพบขึ้นอีก ขอให้ติดตามกำกับดูแลรักษากวดขันการเดินของเข้าออกประเทศในทุกช่องทาง”

พร้อมรับการตรวจสอบ – ย้ำไม่มีสิทธิเหนือคนอื่น

พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า “ผมจะขอใช้เวลาที่มีอยู่หลังจากใช้เวลาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาในการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ งานต่างๆ ก็ยังมีเยอะที่เราต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่อง”

“ผมขอให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ช่วยกันรักษากฎหมาย ผมไม่ไปก้าวล่วงอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบกันเอง ผมก็เป็นประชาชนเหมือนกัน ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรเหนือคนอื่น เรื่องกฎหมายผมก็รับการตรวจสอบทุกประเด็น คดีต่างๆ ผมก็มีอยู่ ไม่ใช่ไม่รับการตรวจสอบใดๆ ผมมีสิทธิเท่ากับท่าน เพียงแต่ผมมีหน้าที่มีความรับผิดชอบมากหน่อย แต่ผมก็เรียกร้องเป็นสิทธิพิเศษไม่ได้ มันต้องเท่าเทียมทางกฎหมาย นั่นคือความเท่าเทียม” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

มอบ รมต.-ส.ส. แจงผลงานรัฐบาลช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ด้าน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและคำปรารภของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ขอบคุณคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ส. ในการร่วมกันชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และขอให้ทุกกระทรวงนำผลการดำเนินงานของรัฐบาลตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปีไปสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันขอให้ ส.ส. นำปัญหาที่รัฐบาลแก้ไขแล้วไปชี้แจงในพื้นที่

สั่งเตรียมพื้นที่ รับมือน้ำป่าไหลหลาก

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า “นายกฯ ห่วงใยพี่น้องประชาชนที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม มีน้ำป่าไหลหลาก บางพื้นที่มีการเตรียมความพร้อม นายกฯ สั่งการให้ทุกพื้นที่เตรียมสถานที่รองรับคน สัตว์ และเตรียมแผนซักซ้อมการเผชิญเหตุ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และสั่งการให้กองทัพร่วมกับ กทม. ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับภัยน้ำท่วม”

กำชับสถานบันเทิงปฏิบัติตามกฎการใช้กัญชา

ดร.ธนกร กล่าวถึงประเด็นกัญชาเสรีว่าว่า นายกฯ สั่งลงพื้นที่สถานบันเทิงตามแหล่งชุมชน และย่านการค้า โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต พังงา ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ไม่ให้วางจำหน่ายแก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งห้ามจำหน่ายบนทางเท้า ซึ่งเป็นการกีดขวางการเดินทางของนักท่องเที่ยว และไม่ให้มีกลิ่นควันจากการสูบไปกระทบนักท่องเที่ยว และเตือนให้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในการใช้กัญชา-กัญชง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

แจก “คนละครึ่ง เฟส 5” 800 บาท เริ่มจ่าย 1 ก.ย. นี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 กรอบวงเงิน รวม 21,200 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่เกิน 26.5 ล้านคนระยะเวลาดำเนินการสี่เดือนตั้งแต่สิงหาคม-พฤศจิกายน 2565 โดยให้ประชาชนใช้สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565

รูปแบบการดำเนินการ ภาครัฐร่วมชำระค่าอาหารเครื่องดื่มสินค้า และบริการทั่วไปและบริการขนส่งสาธารณะที่กำหนดในอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน

คุณสมบัติ ต้องเป็นประชาชนสัญชาติไทยอายุ 18 ปี ขึ้นไป มีบัตรประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการช่วยเหลือพิเศษ สำหรับประชาชนผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ต้องยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง เฟส 5 และใช้สิทธิครั้งแรก ภายในวันที่ 14 กันยายน หรือระยะเวลาที่ กระทรวงคลังกำหนด สำหรับประชาชนทั่วไป จะต้องใช้สิทธิ โครงการฯ เฟส 5 ครั้งแรกภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อความผ่าน แอปพลิเคชัน เป๋าตังหรือข้อความสั้น (SMS) แจ้งยืนยันสิทธิ หรือระยะเวลาที่กระทรวงคลังกำหนด

สิทธิประโยชน์ ภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าและบริการที่กำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการฯ โดยผู้ได้รับสิทธิสามารถซื้ออาหาร เครื่องดื่ม จากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตังค์” ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนเงินในส่วนค่าอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่รวมค่าจัดส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งประชาชนที่ได้รับสิทธิ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนที่ภาครัฐร่วมจ่ายตามโครงการดังกล่าวนี้ด้วย

ประเภทสินค้าและบริการ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวด สปา ทำเล็บ ทำผม และบริการขนส่งสาธารณะ โดยไม่รวมสินค้าสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัลบัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือ บริการล่วงหน้า ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้สามารถกำหนดเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าและบริการของโครงการฯ ได้

ผู้ประกอบการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • ผู้ประกอบการร้านค้าสัญชาติไทย ที่เป็นร้านอาหาร/เครื่องดื่ม/ร้านค้าทั่วไป ไม่ใช่นิติบุคคล หรือร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชน หรือร้านธงฟ้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ จะต้องไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์
  • ผู้ประกอบการบริการสัญชาติไทยที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่เป็นผู้ประกอบการบริการของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นผู้ให้บริการประเภทรถที่ตรวจสอบได้ เช่น รถสามล้อถีบ เป็นต้น
  • ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะสัญชาติไทย ที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น แท็กซี่ รถสามล้อ รถสองแถวรับจ้าง รถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟ รถโดยสารประจำทางสาธารณะและเรือโดยสารสาธารณะ
  • คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นที่ภาครัฐสนับสนุนวงเงินรวมชำระไม่เกิน 800 บาทต่อคน โดยมีแผนการเริ่มดำเนินโครงการฯ รับสมัครประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม และประชาชนจะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนและใช้สิทธิโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง เพิ่มอุปสงค์ในการบริโภค กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ เกิดการลงทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มเติม 42,400 ล้านบาท GDP ขยายตัวร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการฯ

  • ครม. เติมเงิน “บัตรคนจน” คนละ 400 บาท – “คนละครึ่ง เฟส 5” แจก 800 บาท เริ่มจ่าย 1 ก.ย.นี้
  • เติมเงิน “บัตรคนจน” คนละ 400 บาท

    ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 วงเงิน 5,336.83 ล้านบาท และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 3 กรอบวงเงิน 890.88 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จำนวน 200 บาท/คน ในระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนถึง 31 ตุลาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะวิกฤตในภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับสูงขึ้นนี้

    ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินการโครงการฯ จะเป็นการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านค้าหรือผู้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 จำนวน 200 บาทต่อคนเป็นระยะเวลา 2 เดือนรวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน โดยมีกลุ่มเป้าหมายในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 13,342,076 คน (ข้อมูล ณ 1 มิถุนายน 65) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 2,227,204 คน (ข้อมูล ณ 1 เมษายน 65)

    อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 นี้ให้เป็นฐานข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 65 เพื่อให้จำนวนกลุ่มเป้าหมายของทั้ง 2 โครงการ สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันให้มากที่สุดด้วย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายราว 15 ล้านคน จากทั้ง 2 โครงการ จะได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นอกจากช่วยทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

    จัดซอฟท์โลน 5,000 ล้าน ให้ออมสินปล่อยกู้ ‘โรงแรม-SMEs’

    ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re – Open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรม วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจโรงแรมและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ของโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ หรือเพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมสถานประกอบกิจการ หรือ ลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ 1,000 รายให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้

    โดยธนาคารออมสิน จะให้สินเชื่อโดยตรงกับผู้ประกอบการ วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี ในกรณีที่มีระยะเวลาการกู้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย ที่ปีที่ 1-2 ร้อยละ 1.99 ต่อปี ปีที่ 3-7 อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารออมสินกำหนด โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มวงเงิน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันร่วมกับ บสย. หรือ บสย. ค้ำประกันเต็มวงเงิน ระยะเวลาการขอยื่นสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 30 กันยายน 65 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด

    ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปีรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 200 ล้านบาท

    คุณสมบัติผู้กู้ ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจโรงแรม และ Supply Chain ของโรงแรม ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องมีใบอนุญาตประกอบ กิจการโรงแรมหรืออยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบ กิจการโรงแรมก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกำไรอย่างน้อย 1 ใน 3 ปี ย้อนหลังล่าสุด กรณีเป็นนิติบุคคล ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องไม่ติดลบ ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่ถูกดำเนินคดี ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ณ วันยื่นคำขอ หรือไม่มีหนี้ค้างชำระ ก่อนวันยื่นขอเข้าโครงการ ทั้งนี้ เป็นการให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกค้าเดิม หรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Refinance)

    ลดค่าต่อภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 80%

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ลงร้อยละ 80 ของอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้าย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.รถยนต์ (ฉ. 14) พ.ศ. 2550 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า การลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าจะมีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวน 128,736 คัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีประจำปีรถยนต์ไฟฟ้าปีงบประมาณ 2565-2568 ประมาณ 18,974,572 บาท ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้เพียงร้อยละ 0.05 เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บทั้งหมด ซึ่งไม่กระทบต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำไปจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน

    ยกเว้นภาษีนำเข้ารถ EV ที่ผลิตใน Free Zone

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกอบ หรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท Battery Electric Vehicle หรือ BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 2565 – 2568

    สาระสำคัญ คือ ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ (1) รถยนต์นั่ง (2) รถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และ (3) รถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

    โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือ เขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม ในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน และการยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบ ที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิก ASEAN มูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาหน้าโรงงาน โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

    ทั้งนี้ การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร หรือ ในเขตประกอบการเสรี ในปี พ.ศ. 2565-2568 คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

    อนุมัติ 10,974 ล้าน สร้างสวนสัตว์แห่งใหม่

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนัก กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการลงทุนก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) จังหวัดปทุมธานี ในกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,974.65 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 และวงเงินเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,109.07 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีมูลค่าการก่อสร้าง 5,383.82 ล้านบาท (ครม. ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อ 11 ม.ค. 2565) ส่วนระยะที่ 2 มีมูลค่าการก่อสร้าง 4,340.16 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะมีวงเงินโครงการทั้งสิ้น 10,974.65 ล้านบาท

    โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) เป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยระดับนานาชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ชีวิตสัตว์ป่า การอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งนันทนาการรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี บนที่ดินพระราชทานจำนวน 300 ไร่ โดยแบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ออกเป็น 1. พื้นที่จัดแสดงสัตว์และนิทรรศการ 171 ไร่ 2. พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมและถนน 42 ไร่ 3. พื้นที่ส่วนบริหารและวิจัย 33 ไร่ 4. พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 21 ไร่ 5. พื้นที่ส่วนกลางและเชิงพาณิชย์ 18 ไร่ 6. ที่จอดรถ 15 ไร่ คาดว่าจะเปิดให้บริการระยะแรกในปี 2569 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป

    เผยครึ่งปี ’65 ต่างชาติขนเงินลงทุนเกือบ 7 หมื่นล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันต่างชาติมีความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทยประเทศไทย และยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย. 2565) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 284 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 106 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 178 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 69,949 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,164 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 71 ราย (ร้อยละ 25) เงินลงทุน 26,237 ล้านบาท สิงคโปร์ 51 ราย (ร้อยละ 18) เงินลงทุน 10,478 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 35 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 2,899 ล้านบาท เงินลงทุนรวม 39,614 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.58 (ปี 2565 อนุญาตฯ 284 ราย ปี 2564 อนุญาต 264 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 29,628 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.48 (ปี 2565 ทุน 69,949 ล้านบาท ปี 2564 ทุน 40,321 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 2,073 ราย คิดเป็นร้อยละ 190 (ปี 2565 จ้างงาน 3,164 คน ปี 2564 จ้างงาน 1,091 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

    ดร.รัชดาฯ กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.2565) ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมทั้งสำหรับการสั่งซื้อสินค้าและบริการ,บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า,บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้นบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

    สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 55 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดใน 6 เดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 29,461 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 24 ราย เงินลงทุน 18,480 ล้านบาท สิงคโปร์ 6 ราย เงินลงทุน 1,792 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 4 ราย เงินลงทุน 996 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงานของเครื่องจักรชนิดหมุน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยระบบคลาวด์ และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ 2) บริการประกอบและติดตั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น คาดว่าอีก 6 เดือนที่เหลือของปี 2565 (ก.ค.-ธ.ค.2565) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

    เห็นชอบผลประชุม รมต.อาเซียน ครั้งที่ 55

    ดร.รัชดา ว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวม 11 ฉบับ ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสารในการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 สิงหาคม 2565 โดยประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 23 การประชุมรัฐมนตรี ต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ครั้งที่ 29 สำหรับสาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 11 ฉบับ มีดังนี้

    1. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะสานต่อความร่วมมือในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในประเด็น เช่น การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนต่างๆ ของอาเซียน

    2. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน – สหราชอาณาจักร ค.ศ. 2022-2026 เป็นเอกสารที่ระบุมาตรการการส่งเสริมความร่วมมือใน 5 สาขาหลัก ที่อาเซียนและสหราชอาณาจักรจะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ 1) การเมืองและความมั่นคง 2) เศรษฐกิจ 3) สังคมและวัฒนธรรม 4) ความร่วมมือข้ามสาขา เช่น ความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2565- 2569)

    3. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ อาเซียน-สหภาพยุโรป ค.ศ. 2023-2027 จัดทำขึ้นเพื่อใช้แทนแผนฉบับปัจจุบันที่จะหมดอายุสิ้นปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ เช่น 1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่บทบาทสตรีสำหรับสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืน 2) ความร่วมมือระหว่างองค์กรของอาเซียนและอียู 3) ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา

    4. ร่างภาคผนวก เอ – ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – ออสเตรเลีย เป็นเอกสารที่ระบุความร่วมมือเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CPS) โดยมีความร่วมมือเพิ่มเติมภายใต้ 3 เสาของอาเซียน เช่น การส่งเสริมการฟื้นฟูสีเขียว (green recovery) พลังงานสะอาด ความมั่นคงทางสุขภาพ

    5. ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการอาเซียน – จีน ค.ศ. 2021–2025: ขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับจีน เป็นเอกสารที่ระบุความร่วมมือเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ 2) หุ้นส่วนเพื่อความมั่นคง 3) หุ้นส่วนเพื่อความรุ่งเรือง 4) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 5) หุ้นส่วนเพื่อมิตรภาพ

    6. ร่างแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ค.ศ. 2023-2027 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือในมิติต่างๆ ระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับประเด็นท้าทายในอนาคต โดยมีประเด็นเพิ่มเติม เช่น 1) การสนับสนุนแผนฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยวอาเซียน 2) การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 3) การพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย

    7. ร่างแผนปฏิบัติการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2023-2027 จัดทำขึ้นเพื่อทดแทนแผนปฏิบัติการมะนิลาเพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมความร่วมมือ 9 สาขา ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การศึกษา การคลัง สาธารณสุขระดับโลกและโรคระบาด การบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเชื่อมโยง เศรษฐกิจและการค้า ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และความร่วมมือทางทะเล

    8. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างการดำเนินการตามสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค.ศ. 2023-2027 เป็นเอกสารที่ระบุกรอบการดำเนินงานสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    9. ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งผ่านการทูตเชิงป้องกัน เป็นเอกสารที่ส่งเสริมความร่วมมือในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค โดยอาศัยมาตรการด้านการทูตเชิงป้องกัน

    10. ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเอกสารที่แสดงถึงการยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ในการธำรงไว้ซึ่งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยย้ำถึงความพยายามในการส่งเสริมการลดอาวุธนิวเคลียร์ การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มีความรับผิดชอบ และไม่ใช้หรือข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์

    11. ร่างแผนงานของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ว่าด้วยความมั่นคงทางทะเล ค.ศ. 2022-2026 เป็นเอกสารที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานระหว่างผู้เข้าร่วม ARF อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมในประเด็นด้านความมั่นคงทางทะเล

    ออกสลากการกุศล 11 ล้านใบ หาเงินหนุน 16 โครงการสาธารณสุข

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้มีการออกสลากการกุศลไม่เกินงวดละ 11 ล้านฉบับ เพื่อสนับสนุนโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากโครงการสลากการกุศล จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 8,239.93 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นผู้จัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และจ่ายเงินรางวัลสลากการกุศล และประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการออกสลากการกุศล โครงการสลากการกุศลนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศลไปสนับสนุนโครงการของส่วนราชการ/มูลนิธิ/องค์กรที่มีวัตถุประสงค์มุ่งพัฒนาด้านการสาธารณสุขป้องกัน และบรรเทาโรคติดต่ออันตราย หรือ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมรวมถึงเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมอย่างทั่วถึงในวงกว้าง โดยผู้เสนอโครงการต้องไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขและการบริการขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

    สำหรับโครงการที่ผ่านการพิจารณาแล้วทั้ง 16 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารในโรงพยาบาลต่างๆ และโครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณไม่เกินโครงการละ 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
    1. โครงการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ วงเงิน 997 ล้านบาท
    2. การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ อาคารรักษาพยาบาลและฟื้นฟูข้าราชการตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ วงเงิน 1,000 ล้านบาท
    3. การจัดหาอุปกรณ์ห้องผ่าตัดและอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ สำหรับศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วงเงิน 964.66 ล้านบาท
    4. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับสากล เป็นต้น วงเงิน 900 ล้านบาท
    5. โครงการศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ระยะที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 349.66 ล้านบาท
    6. โครงการฟื้นฟูสุขภาพช่องปากด้วยรากฟันเทียม ที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 140 ล้านบาท
    7. โครงการก่อสร้างสถาบันพยาธิวิทยา สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ วงเงิน 33.50 บาท
    8. โครงการศูนย์บริการสุขภาพนานาชาติชั้นเลิศ ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด (Medical Hub Excellent Cardiovascular Service) โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) วงเงิน 766.08 ล้านบาท
    9. โครงการเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์สู่ความเป็นเลิศในเขตภาคใต้ตอนบน โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช วงเงิน 722.84 ล้านบาท
    10. โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์อาคารผู้ป่วยนอก ส่วนต่อขยาย (Extended OPD) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วงเงิน 399.06 ล้านบาท
    11. โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ ปรับปรุงห้องผ่าตัดและตกแต่งภายในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วงเงิน 376.67 ล้านบาท
    12. โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ วงเงิน 665.05 ล้านบาท
    13. โครงการจัดหาครุภัณฑ์สายการแพทย์ประกอบอาคารศูนย์รักษาโรคหัวใจ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ วงเงิน 211.65 ล้านบาท
    14. โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์พร้อมติดตั้ง แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิร่วมน้ำใจ ต้านภัยเอดส์ วงเงิน 150 ล้านบาท
    15. โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส 7 หน่วย (รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ 4 คัน) 4 ภาค ทั่วประเทศ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 วงเงิน 450.60 ล้านบาท
    16. โครงการทำขาเทียมพระราชทาน 20,000 ขา และปรับปรุงศักยภาพมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และโรงงานทำขาเทียมพระราชทาน มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี วงเงิน 112.56 ล้านบาท

    เพิ่มงบฯ อุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเด็กอนุบาล-ม.ปลาย

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 ครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ของสถานศึกษารัฐและเอกชน การจัดการศึกษาโดยครอบครัวและสถานประกอบการ

    สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณในแต่ละปีมีรายละเอียดดังนี้ ในปีที่ 1 ปี 2566 งบประมาณ 48,741.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 2,259.22 ล้านบาท, ปีที่ 2 ปี 2567 งบประมาณ 50,399.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 1,657.50 ล้านบาท, ปีที่ 3 ปี 2568 งบประมาณ 52,612.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 2,213.16 ล้านบาท, ปีที่ 4 ปี 2569 งบประมาณ 54,548.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 1,936.58 ล้านบาท รวมเงินอุดหนุนระยะเวลา 4 ปี 206,301.88 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในลักษณะของเงินอุดหนุนตามจำนวนผู้เรียนผ่านสถานศึกษาเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 5 รายการหลัก ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน, ค่าหนังสือเรียน, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

    อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า อัตราเงินอุดหนุนปัจจุบันต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงและไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสถานศึกษา ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ได้มีการปรับมามากกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งสุดท้ายในปีการศึกษา 2553 ยกเว้นค่าหนังสือเรียนที่มีการปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาสินค้าบริการและค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้สถานศึกษาจำเป็นต้องระดมเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่น เช่น เงินค่าบำรุงการศึกษา เงินบริจาคเงินรายได้สถานศึกษา โดยผู้เรียนและผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้น

    สำหรับการปรับอัตราเงินอุดหนุนในครั้งนี้ เป็นการปรับอัตราให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ลดอุปสรรคสำคัญในการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อของผู้เรียนโดยเฉพาะผู้เรียนยากจน

    ทั้งนี้ ในการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุน กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ข้อมูลจำนวนนักเรียนและข้อมูลนักเรียนยากจน ณ ปี 2564 ซึ่งมีนักเรียนยากจนคิดเป็น ร้อยละ 18 ของนักเรียนทั้งหมด ในการนำมาประเมินแนวโน้มใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมกับพิจารณาถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้เรียนการศึกษาในระบบและนอกระบบ ซึ่งในส่วนของการศึกษาในระบบปี 2560-2563 มีจำนวนผู้เรียนลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่การศึกษานอกระบบ ปี 2561-2565 ผู้เรียนลดลงประมาณร้อยละ 8.7 ต่อปี

    กำหนดเกณฑ์ตั้ง ‘บุคคลล้มละลาย’ รับตำแหน่งสำคัญ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่ง หรือ การประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเสนอ และให้ส่วนราชการนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมาย และการตรวจพิจารณากฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็น หรือ เคยเป็นบุคคลล้มละลายจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายเป็นรายฉบับ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงลักษณะการทำหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งหรืออาชีพนั้นด้วย ทั้งนี้ จะพิจารณาตามประเภทตำแหน่งและอาชีพดังนี้คือ

    1. ตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ ควรกำหนดห้ามไม่ให้บุคคลล้มละลาย หรือ เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง หรือ ตำแหน่งสำคัญอื่นในภาครัฐ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญแทนบุคคลอื่น จึงควรเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม

    2.ตำแหน่งสำคัญในภาคเอกชน กฎหมายอาจกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งเนื่องจากเหตุที่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายไว้ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยอาจกำหนดห้วงเวลาการห้ามไม่ให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งไว้ด้วย เพื่อเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้สัดส่วนตามความจำเป็น เช่น พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินพ.ศ.2551 ซึ่งห้ามมิให้สถาบันการเงินแต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย หรือพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ทำหน้าที่ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน

    3.การดำรงตำแหน่งกรรมการ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือกิจการ ควรกำหนดห้ามไม่ให้บุคคลล้มละลายดำรงตำแหน่งกรรมการทุกกรณี ส่วนในกรณีที่ความเชี่ยวชาญของตำแหน่งกรรมการนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน หรือ กิจการ ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้การเป็น หรือ เคยเป็นบุคคลล้มละลายเป็นข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่ง

    4.การรับราชการ ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลในภาครัฐหลายฉบับกำหนดข้อจำกัดห้ามบุคคลล้มละลายเข้ารับราชการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผลและความจำเป็นตามหลักรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว กฎหมายไม่ควรกำหนดห้ามเป็นการทั่วไปไม่ให้บุคคล ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายเข้ารับราชการ ทั้งในกรณีของการเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว

    5.การประกอบอาชีพอื่นๆ หากเป็นอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน หรือ กิจการ หรือมีเหตุผล หรือ ความจำเป็นอื่นที่ไม่อาจให้บุคคลล้มละลายเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ ให้สามารถกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวไว้ในกฎหมายตามความจำเป็นและเหมาะสมได้

    ทั้งนี้ การนำหลักเกณฑ์ข้างต้นไปประกอบการพิจารณาการจัดทำร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่างๆ จะช่วยให้การจัดทำร่างกฎหมายไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินความจำเป็น มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์มากขึ้น และช่วยลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายด้วย

    บริจาคเงินเข้ามูลนิธิ 3 แห่ง หักภาษี 2 เท่า

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข (เพิ่มเติม) มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ให้แก่มูลนิธิต่างๆ รวม 3 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าว ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

    ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการบริจาค ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนช่วยลดงบประมาณของภาครัฐด้านสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่ง โดยกระทรวงการคลังได้ประมาณการการสูญเสียรายได้ คาดว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณปีละ 290 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุขเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทางหนึ่ง

    ปรับเพิ่มวงเงินงบฯปี’66 อีก 119,199 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ก.ค. 2565 ได้เห็นชอบการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วยการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายรวมวงเงินทั้งสิ้น 119,199.41 ล้านบาท และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 4,092.17 ล้านบาท พร้อมกับมอบหมายให้สำนักงบประมาณนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

    สำหรับการปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายนั้น ประกอบไปด้วย 1) รายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพันหรือค่าใช้จ่ายตามสิทธิที่เกิดจากฎหมาย สัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ วงเงิน 26,862.25 ล้านบาท และ 2) รายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 วงเงิน 92,337.16 ล้านบาท

    ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้ว วงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามแนวทาง หลักเกณฑ์ แผนและขั้นตอนที่ ครม. ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินภายในปี 2566

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การขอปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จำแนกตามกระทรวง ได้ดังนี้ 1) งบกลาง 58,075 ล้านบาท 2) สำนักนายกรัฐมนตรี 217.49 ล้านบาท 3) กระทรวงกลาโหม 108.35 ล้านบาท 4) กระทรวงการคลัง 6,196.57 ล้านบาท 5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 38 ล้านบาท 6) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 520.26 ล้านบาท 7) กระทรวงอุดมศึกษาฯ 18.59 ล้านบาท 8) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6,516.54 ล้านบาท 9) กระทรวงคมนาคม 4,413.65 ล้านบาท 10) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,368.32 ล้านบาท

    11) กระทรวงมหาดไทย 1,278.50 ล้านบาท 12) กระทรวงยุติธรรม 179.67 ล้านบาท 13) กระทรวงแรงงาน 15,455.76 ล้านบาท 14) กระทรวงวัฒนธรรม 61.88 ล้านบาท 15) กระทรวงศึกษาธิการ 2,600.54 ล้านบาท 16) กระทรวงสาธารณสุข 969.62 ล้านบาท 17) ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี 648.39 ล้านบาท 18) รัฐวิสาหกิจ 1,596.16 ล้านบาท 19) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,266.35 ล้านบาท และ 20) ทุนหมุนเวียน 14,669.68 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 3 โดยอนุมัติการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิ 14,177 ล้านบาท จากเดิม 1,415,103.57 ล้านบาท เป็น 1,429,280.57 ล้านบาท แผนบริหารหนี้เดิมปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,500 ล้านบาท จากเดิม 1,501,163.56 ล้านบาท เป็น 1,502,663.56 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 20,835.80 ล้านบาท จากเดิม 363,269.01 ล้านบาท เป็น 384,104.81 ล้านบาท และเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะที่ปรับปรุงครั้งที่ 3 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อไป

    สภาฯ ขอความร่วมมือนายกฯ – รมต. ตอบกระทู้ ส.ส.

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอเรื่อง ขอความร่วมมือในการมาตอบกระทู้ถาม ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือจาก ครม. ขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ต้องตอบกระทู้ถามมาตอบกระทู้ถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะทุกครั้งที่มีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและการประชุมสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

    ทั้งนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่1) วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า วาระกระทู้ถามของสภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาเฉพาะวันพฤหัสบดีช่วงเช้าของทุกสัปดาห์ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตระหนักและจัดสรรเวลาในช่วงวันดังกล่าวไว้เพื่อเตรียมมาตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ

    ขยายวงเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้ กฟผ.เป็น 30,000 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 จะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดิมประกอบด้วย กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำTrust Receipt (R/T) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดยจะพิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ตามอัตราดอกเบี้ยตลาด โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินดังกล่าว

    ทั้งนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอการกู้เงิน เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กฟผ.คาดว่าจะได้รับเงินกู้ดังกล่าวในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งไม่ทันต่อการรองรับการขาดสภาพคล่องในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line เพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์ในเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทดังกล่าว เนื่องจากกฟผ.ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานสูงมากได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า งบลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในส่วนของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อกระแสไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 สูงกว่าประมาณการจำนวน 23,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าประมาณการที่คาดการณ์ไว้

    ตั้ง “อนุกูล ปีดแก้ว” ขึ้นปลัด พม.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ และ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม รวม 4 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์และลาออก ดังนี้

      1. คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการ

      2. ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

      3. นางเมธินี เทพมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

      4. นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    3. การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอการแต่งตั้ง นายปวิช เฉลิมวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 130,000 บาท ตามมติคณะกรรมการ อ.ส.พ. ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 และครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป ส่วนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่น รวมทั้งเงื่อนไขการจ้างและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เพิ่มเติม

    ป้ายคำ :