ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานของธนาคาร DBS เรื่องทำความเข้าใจกับเวียดนาม เศรษฐกิจดาวรุ่ง

รายงานของธนาคาร DBS เรื่องทำความเข้าใจกับเวียดนาม เศรษฐกิจดาวรุ่ง

4 มิถุนายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ ที่เดิมมีชื่อว่า The Development Bank of Singapore ได้เผยแพร่รายงาน เรื่อง Understanding Vietnam: The Rising Star โดยกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2018 ที่อัตรา 7.1% นับเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ เพราะสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากอินเดียที่เติบโต 7.2% ทั้งๆที่เมื่อไม่นานมานี้ เศรษฐกิจเวียดนามต้องเผชิญกับปัญหาการพัฒนาที่ไม่ราบรื่นเลยในด้านต่างๆ

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวียดนามต้องเผชิญกับปัญหา เช่น ภาวะเงินเฟ้อที่สูงถึง 28% การเติบโตที่อ่อนแอ การลดค่าเงินที่รุนแรง การเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจ ภายหลังจากเข้าเป็นสมาชิก WTO การส่งออกที่พึ่งพิงอย่างมากกับตลาดสหรัฐฯ และผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 แต่นับจากกลางปี 2012 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเวียดนามก็เริ่มมีเสถียรภาพ ทั้งในเรื่องค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อ ช่วง 3 ปีต่อมา เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.4% แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวียดนามเริ่มมีการพัฒนา ที่ล้ำหน้าประเทศในภูมิภาคนี้ ในหลายๆด้าน

แต่บทรายงานของ DBS กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ผู้นำเวียดนามหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว มากกว่าเรื่องอัตราการเติบโตอย่างเดียว การปฏิรูปภายในประเทศยังคงดำเนินต่อไป เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มระยะยาวในเชิงบวก จากขนาดเศรษฐกิจหรือ GDP คาดว่าในทศวรรษที่จะมาถึง เวียดนามจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ ที่เศรษฐกิจค่อนข้างพัฒนาแล้วของภูมิภาคนี้

การลงทุนในอนาคต

ท่าเรือ Hải Phòng ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam#/media

รายงานของ DBS กล่าวว่า นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของเวียดนามคือ การสร้างความสามารถเพื่อการเติบโตในระยะยาว สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความพยายามของเวียดนาม ในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2017 เวียดนามได้รับการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงมูลค่า 14.1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.3% ของ GDP เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จุดได้เปรียบของเวียดนามประกอบด้วย การมีนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นระบบบูรณาการ ทำเลประเทศตั้งอยู่กึ่งกลางของห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค การอยู่ติดกับจีน การลดหย่อนด้านภาษี และแรงงานที่แข่งขันได้
ประเทศที่เข้ามาลงทุนรายใหญ่ในเวียดนาม คือ ญี่ปุ่น (18.6%) เกาหลีใต้ (10.3%) สิงคโปร์ (4%) จีน (3.4%) และฮ่องกง (3.2%) การลงทุนกระจายไปทุกด้าน เช่น อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคาร โทรคมนาคม และการประกอบการผลิต โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่เวียดนามดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้มาก

การที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเติบโตพุ่งขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาค เวียดนามสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะค่าแรงในประเทศอื่นๆของเอเชียสูงขึ้น ทำให้เปิดโอกาสแก่เวียดนาม บริษัทไฮเทคต่างๆล้วนเข้ามาลงทุนในเวียดนาม เพื่อจย้ายฐานการผลิตจากจีน เช่น Samsung, Intel, LG, Panasonic, และ Microsoft

รายงานของ DBS กล่าวว่า ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี เวียดนามก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยยังเป็นรองมาเลเซีย ในปี 2010 เวียดนามส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าต่ำกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ แต่ปี 2018 มูลค่าการส่งออกพุ่งขึ้นมากกว่า 70 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในอนาคต เวียดนามจะกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สุดของอาเซียน

เพื่อสนับสนุนการไหลเข้ามาของการลงทุนต่างประเทศ เวียดนามลงทุนอย่างมากด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2017 มีสัดส่วนสูงถึง 5.8% ของ GDP อินโดนีเซีย 2.6% สิงคโปร์ 2.3% และไทย 1.7% การลงทุนของเวียดนามเน้นที่เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม เขตไฮเทค และเทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เวียดนามมีศักยภาพที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว และสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

เวียดนามประสบความสำเร็จ ในการส่งเสริมการลงทุนให้ขยายตัว ในปี 2000 การลงทุน 60% ของทั้งหมด มาจากภาครัฐ ในปี 2017 การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนลดลงเหลือ 35.7% การลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ 40.6% และการลงทุนจากต่างประเทศ 23.7% รายงานของ DBS คาดว่า แนวโน้มดังกล่าว จะดำเนินต่อไปในอนาคต เพราะปัจจัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ และนโยบายการพัฒนาของเวียดนาม ที่อาศัยกลไกตลาด

ให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์

เวียดนามมีโครงสร้างประชากรที่อยู่ในวัยการผลิต แม้ประชากรที่เกิดหลังสงคราม จะย่างเข้าสู่วัยกลางคน แต่โครงสร้างแรงงานของเวียดนามก็มีความได้เปรียบ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ไทย และจีน ในปี 2015 อายุเฉลี่ยประชากรของเวียดนามอยู่ที่ 30 ปี ส่วนอัตราการพึ่งพิงของคนสูงอายุ อยู่ที่ 9.6% (คนอายุ 65 ปีขึ้นไป 1 คนต่อคน 100 คนที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี) จีนมีกว่า 13% ไทย 15% และสิงคโปร์ 16%

รายงานของ DBS กล่าวว่า คุณภาพของแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ในแง่นี้ คุณภาพแรงงานของเวียดนามมีประสิทธิภาพมากกว่าในหลายประเทศของอาเซียน ดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ให้เวียดนามอยู่อันดับ 2 ของอาเซียน เทียบเท่ากับจีน นอกจากเป็นแรงงานที่ขยันทำงานหนักแล้ว อันดับสูงของเวียดนาม ยังมาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้านการศึกษา ที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ถึง 20%

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แรงงานของเวียดนาม มีผลิตภาพ (productivity) การลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในด้านการผลิตทางเทคโนโลยี ยิ่งทำให้ปัจจัยการผลิตในประเทศเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีก มีผลทำให้ผลิตภาพของแรงงานเวียดนาม มีการเติบโตที่สูงขึ้น ทุกวันนี้ ผลิตภาพแรงงานของเวียดนามสูงกว่าประเทศในอาเซียน ปัจจัยนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เวียดนามสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อนับวัน ประชากรจะมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น

นอกจากผลิตภาพแรงงานที่สูงแล้ว เวียดนามยังเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคนี้ ที่มีค่าแรงที่แข่งขันได้มากที่สุด ค่าแรงต่อเดือนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1 ใน 3 ของจีน ค่าแรงที่แข่งขันได้นี้เป็นเหตุผลสำคัญที่อธิบายว่า ทำไมเวียดนามจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาคนี้ มาอย่างต่อเนื่อง และก็จะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์หลักๆจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า

เวียดนามอยู่ในจุดที่จะได้เปรียบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในระยะที่ผ่านมา ยังช่วยเวียดนามในการสร้างความสามารถในการผลิตของตัวเองขึ้นมา

ในแง่การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง เวียดนามมีท่าเรือหลายแห่ง ที่สามารถรองรับการขนส่งได้ 500 ล้านตันต่อปี และเป็นประเทศที่อยู่ติดกับทะเลจีนใต้โดยตรง ที่มีสัดส่วน 20% ของเส้นทางการค้าทางเรือของโลก นอกจากนี้ เวียดนามยังมีเครือข่ายการทำข้อตกลงการค้าเสรีอย่างกว้างขวาง และยังเป็นสมาชิกข้อตกลงพหุภาคีต่างๆ เช่น AFTA, AEC, ASEAN-CHINA และ ASEAN-JAPAN และยังทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น

นอกจากความได้เปรียบด้านค่าแรง ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การอยู่ใกล้จีนทำให้บริษัทที่มีการผลิตในจีน สามารถย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม และโดยยังสะดวกที่จะรักษาการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่แล้ว ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนจากจีนสูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าการลงทุนทั้งหมดของจีนในปี 2018 นอกจากนี้ การเติบโตของคนชั้นกลางก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ดึงการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม

ที่มาภาพ : businesstimes.com.sg

ปี 2029 เศรษฐกิจจะใหญ่กว่าสิงคโปร์

รายงานของ DBS กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2019-2029) เวียดนามมีศักยภาพที่เศรษฐกิจจะเติบโตปีละ 6-6.5% เพราะปัจจัยพื้นฐานในประเทศ คือ การเติบโตของผลิตภาพแรงงาน และพลวัตของสภาพแวดล้อมภายนอก คือ กระแสการลงทุนจากต่างประเทศที่ยังเข้มข้น ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของประเทศอาเซียนอื่นๆในอีก 10 ปีข้างหน้า สิงคโปร์จะอยู่ที่ปีละ 2.5% ไทย 4% และอินโดนีเซีย 5%

ปัจจุบัน เศรษฐกิจเวียดนามมีมูลค่า 224 พันล้านดอลลาร์ หรือ 69% ของสิงคโปร์ (324 พันล้านดอลลาร์) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและไทย หากใน 10 ปีข้างหน้า เวียดนามสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ปีละ 6-6.5% ส่วนสิงคโปร์ที่ปีละ 2.5% ในปี 2029 เศรษฐกิจเวียดนามจะมีมูลค่ามากกว่า 400 พันล้านดอลลาร์ และจะมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์

รายงานของ DBS กล่าวสรุปว่า แม้เวียดนามจะเหมือนกับเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอื่นๆ คือมีปัญหาภายในที่ท้าทายหลายอย่าง แต่เวียดนามก็มีนโยบายที่มุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง และยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมนโยบายดังกล่าว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก บริษัทและนักลงทุนจึงหันมาทำธุรกิจกับเศรษฐกิจ “ดาวรุ่ง” อย่างเวียดนาม เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคตให้กับตัวเอง

เอกสารประกอบ
Understanding Vietnam: The Rising Star, DBS, 28 May 2019.