ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานของ JCER ปี 2035 เศรษฐกิจเวียดนามจะล้ำหน้าไต้หวัน และใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียอาคเนย์

รายงานของ JCER ปี 2035 เศรษฐกิจเวียดนามจะล้ำหน้าไต้หวัน และใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียอาคเนย์

16 ธันวาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ หรือ JCER (Japan Center for Economic Research) เปิดเผยรายงานชื่อ Asia in the coronavirus disaster: Which countries are emerging โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะก้าวล้ำหน้าสหรัฐฯ ได้ในปี 2028-2029 เพราะจีนที่เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชีย สามารถลุกขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง

รายงานของ JCER กล่าวถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อประเทศในเอเชีย และประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก รายงานของ JCER ยังประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะมีต่ออนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มรายได้ต่อคนของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ในอีก 15 ปีข้างหน้า

อนาคตเอเชียบนภาพจำลอง 2 แบบ

รายงานการวิเคราะห์ของ JCER ตั้งอยู่บนสมมุติฐานของภาพจำลองอนาคต (scenario) 2 แบบ คือ (1) ภาพจำลองอนาคตแบบพื้นฐาน (baseline scenario) ที่ผลกระจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นแบบจำกัดวงเฉพาะทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เท่านั้น และ (2) เป็นภาพจำลองอนาคตแบบรุนแรง (radical scenario) ในกรณีที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทิศทางของโครงสร้างใหญ่ทางเศรษฐกิจ เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ การขยายตัวของเมือง และความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม ในกรณีภาพจำลองอนาคตแบบที่ 2 นี้ วิกฤติจากโควิด-19 จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

รายงาน JCER ระบุว่า ไม่ว่าภาพจำลองอนาคตเศรษฐกิจ จะเป็นแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 จีนก็ก้าวออกจากวิกฤติครั้งนี้ได้ค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างออกไป

ทาง JCER คาดหมายว่า เศรษฐกิจจีนจะล้ำหน้าสหรัฐฯ ได้ในปี 2028-2029 และเมื่อถึงปี 2035 รายได้ต่อคนของจีนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 28,000 ดอลลาร์ แต่ก็ยังต่ำกว่าที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 30,000 ดอลลาร์ต่อคน

โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f6/Ho_Chi_Minh_City_Skyline

ปี 2035 เวียดนามจะล้ำหน้าไต้หวัน

รายงานของ JCER กล่าวว่า ภาพจำลองอนาคตแบบที่ 1 มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับแผ่นดินไหว คือไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ภายในระยะเวลา 4-5 ปี เศรษฐกิจก็จะกลับคืนมาสู่ภาวะปกติ เหมือนกับสภาพก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ในปี 2020 หลายประเทศในเอเชียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่ติดลบ มีเพียงจีน เวียดนาม และไต้หวัน ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ในอัตราที่เป็นบวก เศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะติดลบมากกว่า 10% ฟิลิปปินส์จะติดลบมากกว่า 8% ส่วนฮ่องกง ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะติดลบมากกว่า 6%

ในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนก็มีอัตราที่ลดลงเพราะการลงทุนที่ชะลอตัว แต่เศรษฐกิจจีนจะยังเติบโตได้ปีละ 3% ไปจนถึงปี 2035 แต่ในปี 2029 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ เมื่อถึงปี 2035 เศรษฐกิจจีนที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ จะมีส่วนต่างเท่ากับเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งประเทศ ในปี 2035 เศรษฐกิจจีนที่รวมกับฮ่องกงจะมีมูลค่ารวมกัน 41.8 ล้านล้านดอลลาร์ โดยไม่แตกต่างมากจากขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่รวมกับญี่ปุ่น ซึ่งจะมีมูลค่ารวมกัน 42.3 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2023 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จีนจะกลายเป็นประเทศรายได้สูง และในปี 2035 หรือ 15 ปีข้างหน้า รายได้ต่อคนของจีนจะอยู่ที่ 28,000 ดอลลาร์ เท่ากับรายได้ต่อคนของไต้หวันในปัจจุบัน

รายงานของ JCER กล่าวว่า ภายใต้ภาพจำลองแบบที่ 1 เวียดนามจะสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ปีละ 6% ไปจนถึงปี 2035 เพราะการส่งออกที่เข้มแข็ง

ดังนั้น ในปี 2035 เศรษฐกิจเวียดนามจะก้าวล้ำหน้าไต้หวัน และกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย

ในปี 2023 เวียดนามจะเริ่มยกระดับขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle-income) และในปี 2035 เวียดนามจะมีรายได้ต่อคนที่ 11,000 ดอลลาร์

ส่วนอินเดีย การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันลดลงอย่างมาก แต่อินเดียจะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีการเติบโตในอัตราปีละ 5% ไปจนถึงปี 2035 โดยในปี 2033 เศรษฐกิจอินเดียจะมีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่น แต่ในปี 2035 รายได้ต่อคนของอินเดียจะยังไม่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง

ภาพจำลองอนาคตแบบรุนแรง

รายงาน JCER กล่าวถึงภาพจำลองอนาคตแบบที่ 2 ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเปิดกว้างทางการค้า การขยายตัวของเมือง และการใช้จ่ายด้านการลงทุนและพัฒนา เป็นต้น ภาพจำลองอนาคตแบบรุนแรงนี้ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อศักยภาพด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางของประเทศต่างๆ ในเอเชีย

เมื่อเปรียบเทียบกับอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจจนถึงปี 2035 ระหว่างภาพจำลองอนาคตแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศเอเชียอื่นๆ ภายใต้ภาพจำลองอนาคตแบบที่ 2 จะลดลงอย่างมาก เนื่องจากสาเหตุด้านอุปสรรคทางการค้า ในกรณีของจีน การค้าที่เปิดกว้างน้อยลงนั้น จะชดเชยด้วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านการวิจัยและพัฒนา การเติบโตที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่นและออสเตรเลียก็มาจากปัจจัยการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน

เอกสาร JCER กล่าวว่า ในสถานการณ์ภาพจำลองอนาคตแบบรุนแรงนี้ ในปี 2028 เศรษฐกิจจีนก็ยังจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจอินเดียในปี 2035 ยังไม่สามารถไล่ตามทันญี่ปุ่น เพราะภายใต้ภาพจำลองแบบที่ 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้เร็วกว่าการเติบภายใต้ภาพจำลองแบบที่ 1 ส่วนเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2035 จะยังมีขนาดที่เล็กกว่าเศรษฐกิจไต้หวัน

เอกสารประกอบ
Asia in the coronavirus disaster: Which countries are emerging, December 10, 2020, jcer.or.jp