รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ vietnamnews.vn รายงานว่า ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 13 ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายเหงียน ฝู จ่อง (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวต่อที่ประชุมว่า เวียดนามมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในกลางศตวรรษที่ 21
ในปี 2025 เวียดนามต้องการที่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง เมื่อถึงปี 2030 เวียดนามตั้งเป้าการเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง เมื่อถึงปี 2045 เวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีรายได้ระดับสูง
รายงานของนายเหงียน ฝู จ่องกล่าวว่า เวียดนามมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเน้นหนักที่การพัฒนาอุตสาหกรรม และความทันสมัย การพัฒนาวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี การพัฒนาด้านนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง
ฐานประกอบการผลิตของเอเชีย
ในอดีตที่ผ่านมา เวียดนามเป็นประเทศที่ประสบปัญหาความยากลำบาก ในต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส ต่อมาเกิดสงครามกับสหรัฐฯ ที่จบลงในปี 1975 หลังจากนั้น เวียดนามถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรนาน 20 ปี มาสิ้นสุดลงเมื่อปี 1994 ในปี 1995 เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และสมาชิก WTO ช่วงปี 2007-2020 เวียดนามทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 26 ประเทศหรือกลุ่มประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังก็ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
รายงานของธนาคารโลก ชื่อ Vietnam at a Crossroad (2017) กล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนาม มาจากยุทธศาสตร์การบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain – GVC) ทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งประกอบการผลิตสำคัญของโลกขึ้นมา
ในปี 2016 หนังสือพิมพ์ Washington Post พิมพ์รายงานเรื่อง เวียดนามกลายเป็นฐานประกอบการผลิตสำคัญของเอเชีย เนื่องจากได้รับแรงสนุนจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทอเมริกัน
แต่เดิมนักลงทุนต่างประเทศมองเวียดนามว่าเป็นแหล่งลงทุนทางเลือก ใช้สำรองแทนจีน เรียกว่า กลยุทธ์ “จีน+1” (China Plus 1)
รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของการส่งออก ล่าสุดคือการทำข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป (EU) ข้อตกลง FTA เปรียบเหมือนระบบนิเวศการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเกื้อหนุนยุทธศาสตร์ของเวียดนามในเรื่อง การบูรณาการกับ GVC และการเพิ่มความสามารถของประเทศในการส่งออก (export competitiveness) รายงานการศึกษาต่างๆเคยระบุว่า เวียดนามเป็นประเทศสมาชิกที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลง TPP โดยเศรษฐกิจจะเติบโต 10% จนถึงปี 2030
บทความ Washington Post กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา บริษัทรองเท้าและเสื้อผ้าของอเมริกาได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนมาเวียดนาม เช่น Wolverine และ Hush Puppies แต่เดิมในสมัยรัฐบาลโอบามา ที่สหรัฐฯยังเป็นสมาชิกข้อตกลง TPP การส่งออกของเวียดนามจะยิ่งได้เปรียบ เพราะภาษีนำเข้าของสหรัฐฯจะลดลง เช่นภาษีรองเท้านำเข้า ที่สูงถึง 40% จะมีอัตราลดตามลำดับภายในเวลา 7 ปี ทำให้เวียดนามได้ได้เปรียบประเทศที่อยู่นอก TPP เช่น จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
การนำเข้ารองเท้าผลิตในเวียดนามของสหรัฐฯเพิ่ม 50% จากมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2013 เป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015 นาย Matt Priest ประธานสมาคมค้าปลีกรองเท้าของสหรัฐฯ กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลง TPP บริษัทผู้ผลิตรองเท้าของสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในเวียดนาม ประหยัดเงินภาษีได้ถึง 500 ล้านดอลลาร์ จากการนำเข้ารองเท้าจากเวียดนาม
ความสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน
รายงานของธนาคารโลก World Development Report 2020 ว่าโดยเรื่อง การค้าเพื่อการพัฒนาในยุคห่วงโซ่คุณค่าโลก (Trading for Development in the Age of Global Value Chain) ระบุไว้ว่า ความรุ่งเรืองของห่วงโซ่คุณค่าโลก (GVC) ทำให้การค้าโลกขยายตัวอย่างมากนับจากปี 1990 เป็นต้น GVC ทำให้เศรษฐกิจของประเทศยากจนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในเวลาเดียวกัน ความยากจนก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน
กระบวนการโลกาภิวัตน์ทำให้ทำให้เกิดการผลิตแบบ GVC โดยประเทศหนึ่งทำหน้าที่ออกแบบสินค้า จัดหาชิ้นส่วนการผลิตที่มาจากหลายประเทศ และประกอบสินค้าสำเร็จรูปในอีกประเทศหนึ่ง การผลิตแบบ GVC จึงทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศต่างๆเพิ่มอย่างมากขึ้น การแยกการผลิตเป็นส่วนๆ ทำให้บริษัทในประเทศด้อยพัฒนา สามารถเข้าร่วมกระการผลิต GVC โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน
รายงานธนาคารโลกยกตัวอย่างการผลิต GVC ของรถจักรยาน เยอรมันประดิษฐ์จักรยานขึ้นมาครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 ในปี 1950 โลกผลิตจักรยานทั้งหมด 10 ล้านคัน ปัจจุบันมีการผลิต 130 ล้านคัน ดังนั้น จักรยานเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายปีหนึ่งเป็นจำนวนมาก
Bianchi บริษัทจักรยานเก่าแก่ของอิลาตี จะออกแบบจักรยานในอิตาลี ประกอบจักรยานสำเร็จรูปในจีนและไต้หวัน โดยอาศัยชิ้นส่วนจักรยานจากจีน อิตาลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก GVC จึงมาจากการแบ่งการผลิตผลิตภัณฑ์ออกเป็นส่วนๆ และกระจายการผลิตชิ้นส่วนออกไปในหลายประเทศ เนื่องจากธุรกิจต้องการประสิทธิภาพในการผลิต การผลิตแบบ GVC จึงทำให้เกิดผลิตภาพและรายได้เพิ่มสูงขึ้น แก่ประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแบบ GVC เช่น จีน บังคลาเทศ และเวียดนาม
เวียดนามกับ GVC ด้านอิเล็กทรอนิกส์
World Development Report 2020 กล่าวว่า ทุกวันนี้ เวียดนามเป็นประเทศส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โทรศัพท์มือถือทั้งหมดของซัมซุง ผลิตจากเวียดนาม 40% พนักงานซัมซุงในเวียดนามมีสัดส่วน 35% ของพนักงานซัมซุงทั้งหมด
รายงานธนาคารโลกกล่าวว่า ความสำเร็จของเวียดนามในห่วงโซ่คุณค่าด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากหลายปัจจัย
ประการแรก บรรยากาศการลงทุนมั่นคงต่อเนื่อง เงินลงทุนจากต่างประเทศด้านอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่มาจากซัมซุง ที่ลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2008 แต่เมื่อเร็วๆนี้ Foxconn ประกาศขยายการผลิตโรงงานในเวียดนาม โดยลงทุนเพิ่ม 270 ล้านดอลลาร์
ประการที่ 2 เวียดนามมีแรงงานทักษะต่ำและค่าแรงถูกจำนวนมาก ทำให้เป็นแหล่งที่ได้เปรียบในด้านการลงทุนการผลิตแบบ GVC ในปี 2006 แรงงานทั้งหมดของเวียดนาม 50% เป็นแรงงานฝีมือต่ำ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศต้องทำการฝึกฝนแรงงานเพิ่มอย่างมาก ปัจจัยดังกล่าว ช่วยให้จำนวนแรงงานฝีมือต่ำของเวียดนามในปี 2015 มีสัดส่วนลดลงน้อยเหลือ 40% ของแรงงานทั้งหมด
ประการที่ 3 อยู่ใกล้แหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทำให้เวียดนามสะดวกที่จะนำเข้าจากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย แต่เวียดนามกำลังพยายามลดการพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้า เพราะสามารถอาศัยผู้ผลิตในประเทศได้มากขึ้น ปี 2014 ผู้ผลิตเวียดนามเป็นซัพพลายเออร์ให้ซัมซุงมีอยู่ 4 ราย ในปี 2016 เพิ่มเป็น 29 ราย ซัพพลายเออร์เหล่านี้ล้วนได้รับการฝึกอบรมจากซัมซุง
อุปสรรคท้ายทายต่อเวียดนาม
การเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามในกระบวนการผลิต GVC มีลักษณะที่เรียกว่า การเข้าร่วมแบบย้อนหลัง (backward participation) คือเป็นแหล่งประกอบสินค้าสำเร็จรูป โดยอาศัยชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก การเข้าร่วมของเวียดนามในแบบก้าวไปข้างหน้า (forward participation) โดยต่างประเทศใช้ชิ้นส่วนจากเวียดนามไปผลิต ยังมีสัดส่วนต่ำ
รายงาน Vietnam at a Crossroads กล่าวว่า การเป็นส่วนหนึ่งของ GVC ในรูปแบบดังกล่าว ทำให้เวียดนามก้าวเดินมาถึงจุดที่เป็นทางแยก ทางแยกหนึ่งคือเวียดนามสามารถเติบโต จากการเป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกของ GVC แต่บทบาทการประกอบสินค้าสำเร็จรูป จะมีมูลค่าเพิ่มต่ำ โรงงานประกอบการผลิตเพื่อส่งออก มีสภาพคล้ายๆกับ “พื้นที่เช่า” (enclave) ของต่างชาติ โดยมีความเกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงน้อยมากกับเศรษฐกิจประเทศโดยรวม เวียดนามเป็นแค่ Platform การส่งออกของ GVC
อีกทางแยกหนึ่งเป็นเส้นทางที่จะไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงขึ้น คือการใช้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของ GVC เพื่อก้าวขึ้นบันไดการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ใช้โอกาสดังกล่าวมาสร้างผู้ผลิตในประเทศ ที่มีนวัตกรรมและพลวัต เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ความสำเร็จในระยะยาว คือการเข้าสู่ตลาดโลกด้วย “ผลิตภัณฑ์ทำจากเวียดนาม” แบบเดียวกับที่ไต้หวันทำสำเร็จมาแล้ว
เอกสารประกอบ
Buoyed by US firms, Vietnam emerges as an Asian manufacturing powerhouse, May 21, 2016, The Washington Post.
Vietnam at a Crossroad, World Bank Group 2017.
World Development Report: Trading for Development, World Bank Group, 2020.