ThaiPublica > คอลัมน์ > แดนลี้ลับของศิลปินลึกลับ Kiginobiru

แดนลี้ลับของศิลปินลึกลับ Kiginobiru

3 กุมภาพันธ์ 2024


1721955

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกและอาจจะเป็นครั้งเดียวที่เราจะเขียนถึงศิลปินที่เราแทบไม่รู้จักอะไรเขาเลย ตอนแรกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นชายหรือหญิง เรารู้แค่ว่าเขาปรากฏตัวบนทวิตเตอร์ในช่วงเมษายน 2016 ด้วยบัญชีชื่อ キギノビル @sinsin08051 หรือ คิงิโนบิรึ (Kiginobiru) ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการโพสต์ทวิตทั่วไป จนกระทั่ง 11 มกราคม 2018 เขาได้โพสต์ภาพหนึ่งที่เราเข้าใจว่าน่าจะเป็นผลงานของเขาเอง เพราะเขาทวิตว่า “เป็นผลงานภาพพิมพ์โลหะกัดกรดที่ได้รับเลือกให้เป็นผลงานดีเด่น ขอบคุณครับ” (ที่เราแปลว่า ครับ เพราะภายหลังเราค่อนข้างมั่นใจว่าเขาน่าจะเป็นเพศชาย)

ทำให้เราเสิร์ชภาพนี้ในกูเกิลพบว่ามันเป็นผลงานนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปะทามะ ภาควิชาจิตรกรรม เอกภาพพิมพ์ ผลงานดีเด่นประจำปี 2018 ชื่อว่า Plant area ผลงานโดย ชินทาโร่ ฮายาชิ และนี่คือข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดเท่าที่เรารู้เกี่ยวกับเขา ขณะเดียวกันบนโปรไฟล์ทวิตของเขามีลิงค์ไปยังเว็บที่ไม่ระบุชื่อเจ้าของเว็บ แต่ส่วนหนึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอรวมผลงานเกือบทั้งหมดของเขา อีกส่วนหนึ่งเป็นอีเมล์ส่วนตัวที่ระบุคุณสมบัติว่า เขารับจ้างสร้างสรรค์ภาพประกอบออกแบบวิช่วลต่าง ๆ

จริง ๆ ส่วนตัวเราเห็นผลงานของเขามาพักใหญ่แล้ว เพราะวิช่วลของเขาโดดเด่นอย่างยิ่งทำให้อดใจจะติดตามผลงานของเขาไม่ได้ แต่เราไม่มีข้อมูลอะไรของเขาเลย กระทั่งเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผลงานส่วนหนึ่งของเขาถูกตีพิมพ์ร่วมกับศิลปินในโลกไซเบอร์ทางเดียวกัน ทั้งหมด 10 คน ในชื่อชุดว่า 怪異 (ไคอิ / ผี สิ่งลี้ลับ ผิดปกติ) ANOMALY OMNIBUS ILLUSTRATION

วกกลับไปบนไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ของเขาในช่วงปี 2018 ต่อมาเขาทยอยทวิตผลงานส่วนตัวที่เราขอเลือกมา 4 รูป เรียงจากซ้ายไปขวา คือ สลัม, การต่อสู้สู่ด่านบอสสุดท้าย, กางเขน และทะเลลึก

ต่อมาเขาโพสต์อีก 2 รูปเขียนว่า “โลกใบเดียวกัน” ซึ่งเริ่มเห็นแนวทางชัดเจนขึ้น มีเนื้อหามากขึ้น เปิดพื้นที่ให้ตีความมากขึ้น กระทั่งไม่นานจากนั้นเขาทวิตภาพอีกชุด

อันเป็นภาพเมืองพลิกคว่ำพลิกหงายผสมผสานกันระหว่างโลกสมัยใหม่และยุคโบราณ ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่แนวคิดใหม่อะไรเลย ย้อนกลับไปเท่าที่เรานึกออกอย่าง Takeru (1992) มังงะของ เทระซาวะ บูอิจิ (ผู้แต่ง Space Cobra คอบร้า…เห่าไฟสายฟ้า อันลือลั่น) ที่เล่าสังคมนินจาจอมคาถาในโลกสมัยใหม่ที่มีตึกสูง อันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับหนังอย่าง The Fifth Element (1997) กับฉากโลกอนาคตที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและตึกสูงซ้อนทับกัน มีการสัญจรไปมาเป็นเลเยอร์ หรือไม่ก็ย้อนไปถึงต้นฉบับ Blade Runner (1982) ของ ริดลีย์ สก็อตต์ ที่เล่าสังคมยุคใหม่ไฮเทคล้ำผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ไปจนถึง Inception (2010) หนังที่แสดงภาพของโลกที่ซ้อนทับกันของ คริสโตเฟอร์ โนแลน

(บนซ้าย) Takeru (บนขวา) The Fifth Element (กลาง) Blade Runner (ล่าง) Inception

จากปี 2018 ผลงานของเขายังคงวนเวียนกับฉากทัศน์เดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ จนกระทั่งปลายปี 2021 สู่ช่วงรอยต่อในช่วงต้นปี 2022 ผลงานของเขาก็ดูแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้จะยังคงย้อนกลับไปสู่คอนเซ็ปต์เดิม ๆ ที่เขาเคยวาดเพียงเมืองใหญ่ออกมา แต่คราวนี้ดูมีเรื่องราวและชวนประหลาดใจมากขึ้น

(ซ้ายบน) โทริอิใหม่ (ขวาล่าง) พิพิธภัณฑ์มนุษย์ (5 ภาพที่เหลือ) เมืองสนิม

กระทั่งผลงานของเขาเริ่มคลี่คลายมากขึ้น เข้าใจได้ทันทีในช่วงปลายปี 2022 ที่เล่าเรื่องอำนาจ เทพเจ้า ยักษ์ใหญ่ มนุษย์ ชนชั้น มนุษย์เงินเดือน ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ท่ามกลางโลกยุคใหม่ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนถึงแนวทางของเขาที่ค่อนไปทาง Urban Fantasy หรือ Dark Fantasy

ผลงานช่วง 2022 ของ คิงิโนบิรึ (จากซ้าย) ยินดีต้อนรับ, สาเหตุของความล่าช้า, ทางหลวง, กฎแห่งขุนเขา
คอนเซ็ปต์อาร์ตแนว Urban Fantasy ของศิลปินอื่น

Urban Fantasy

คือการวางองค์ประอบของสิ่งเหนือธรรมชาติ เหนือจริง เอาไว้ในสภาพแวดล้อมในเมือง ไม่ว่าจะหมายถึงเมืองหลวง หรือเมืองในชนบทก็ตาม แต่ในอยู่ในบริบทร่วมสมัย ไม่ใช่โลกย้อนยุค แต่เป็นปัจจุบัน หรือไซ-ไฟโลกอนาคต คือการเอาความเชื่อในโลกยุคโบราณ ภูติ ผี แม่มด ปีศาจ เวทย์มนต์ มาเล่าบนฉากหรือเหตุการณ์ร่วมสมัย หรือโลกอนาคต ไปจนถึงวันสิ้นโลก

ลักษณะเฉพาะคือโดยภาพรวมจะเล่าเรื่องในเมือง หรือชุมชน อาจเป็นเมืองใหญ่ผู้คนแออัด ด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่าง 2 ยุค บางทีก็เป็นเมืองชนบทที่มีแฟนตาซีเหนือจริงแปลกปลอม บางอย่างเกิดขึ้นในภาพ เช่น สัตวประหลาด ยานอวกาศ บางที่ก็แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์ การสื่อสาร การคมนาคม พื้นที่ที่พบเห็นได้ในชุมชนทั่วไป เช่น ห้องสมุด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด พระราชวัง วัด ปราสาท โบราณสถาน แสดงให้เห็นการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกัน เช่น เชื้อชาติของผู้คน หรือมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น

ตัวอย่างเนื้อหาในแนว Dark Fantasy

Dark Fantasy

โดยทั่วไป Dark Fantasy มักอ้างถึงผลงานของนักเขียนนิยาย ชาร์ลส์ แอล แกรนท์ ผู้ให้คำนิยามแนวทางของเขาว่าเป็น “เรื่องราวสยองขวัญประเภทหนึ่งที่มนุษยชาติถูกคุกคามโดยพลังที่เกินกว่าความเข้าใจมนุษย์” บ่อยครั้งที่ผลงานแนวนี้จะนำเสนอมุมมองผ่านสัตว์ประหลาด หรือมุมมองในเชิงเห็นอกเห็นใจสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีลักษณะชวนสยดสยอง บางทีแฟนตาซีมืดมักถูกใช้อธิบายลักษณะเรื่องราวแนวสยองขวัญลี้ลับเหนือธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น เนื้อหาเกี่ยวกับแวมไพร์ หรือมนุษย์หมาป่า ถูกจัดว่าเป็น Dark Fantasy ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องซึ่งมีอยู่จริงในชีวิตเราจะถูกจำกัดความเป็นเพียงแนวสยองขวัญ (Horror)

อย่างไรก็ตามความแตกต่างกันของสองคำนี้คือ Urban Fantasy จะหมายถึงพื้นที่ ยุคสมัย ช่วงเวลา ขณะที่ Dark Fantasy จะเจาะจงไปยังสัตว์ประหลาด หรือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ

(แถวบนจากซ้าย) จับเงือก, คัดแยกสัตว์น้ำ, พื้นที่ห้ามจับปลา, เก็บเกี่ยว
(แถวล่างจากซ้าย) พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, เกยตื้น, กินหม้อไฟด้วยกัน, ดาวตก

ย้อนกลับมาที่ผลงานของคิงิโนบิรึ ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากรูปแบบโครงสร้างเดิม ๆ ไปสู่เนื้อหาใหม่ ๆ โดยเฉพาะผลงานที่เขาเริ่มโพสต์เมื่อกลางปีที่แล้วเรื่อยมาเกี่ยวกับสัตว์ทะเล หรือต้นไม้ประหลาด แม้ภาพวาดของเขาจะแฟนตาซี สยองเหนือจริง แต่อันที่จริงสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนภาพขยายของเหตุการณ์จริง เนื่องด้วยนับตั้งแต่กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุคุชิมะ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 นับแต่นั้นเรื่อยมาก็มีการค้นพบสัตว์ทะเล หรือพืชผักกลายพันธุ์ อาทิ ปลาที่มีชุดฟันผิดรูป ปลาสามตา ปลาสองปาก ดอกทานตะวันยืดยาว ไปจนถึงผักผลไม้ประหลาด

เรื่องราวเหล่านี้สร้างความไม่มั่นใจต่อผลิตผลจากญี่ปุ่นที่อาจปนเปื้อนโดยเฉพาะกรณีเมื่อสิงหาคมปีที่แล้วเมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าไดอิจิที่ฟุคุชิมะจำนวน 7,800 ตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 17 วัน แม้ทางการญี่ปุ่นจะอ้างว่าน้ำเหล่านี้ผ่านการบำบัดแล้ว และได้มีการทดลองเป็นเวลาสองปี แต่ก็ยังสร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมอาหารจากญี่ปุ่นอยู่ดี

(แถวบนจากซ้าย) เตรียมงานวัฒนธรรม, เขาทำตัวแปลก ๆ ตั้งแต่นั้น, นักเรียนย้ายมาใหม่, ขบวนแห่เทศกาล
(แถวล่างจากซ้าย) สัมภาษณ์งาน, แหล่งพลังงาน, ฟักตัว, บันทึกภาพ

อย่างไรก็ตามข้อมูลอันน้อยนิดที่เราค้นหามาได้ ปรากฏในหนังสือภาพชุดล่าสุดที่เขาทำออกมาจำหน่ายทางอามาซอน ในชื่อ Strange Form Record ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมานี้เองว่า

“หลายคนอาจตีความว่าผลงานของผมเป็นวันสิ้นโลก โลกที่ผ่านการชำระล้าง แต่อันที่จริงมันคือภาพผสมผสานระหว่างอดีตและอนาคต มนุษย์กับเทพเจ้าที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวัน อยู่ร่วมกับผู้คน แต่ด้วยความประหลาด ขนาด และอำนาจล้นพ้นของพวกเขาก็อาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์อยู่บ้าง หรือบางทีมนุษย์เองก็ใช้ประโยชน์จากเทพ(หรือตัวประหลาด)เหล่านี้ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ และพระเจ้า สิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ การอยู่ร่วมกันของสิ่งเหล่านี้ ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีทั้งด้านดีและด้านเลว ตัวเทพเจ้าเองก็เช่นกัน พวกเขาต่างมีขนบกฎเกณฑ์และต่างอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของธรรมชาติ”