ThaiPublica > เกาะกระแส > องค์การเภสัชขาดสภาพคล่อง ชี้สปสช.-สำนักงานประกันสังคม-หน่วยงานสธ. ติดหนี้บาน

องค์การเภสัชขาดสภาพคล่อง ชี้สปสช.-สำนักงานประกันสังคม-หน่วยงานสธ. ติดหนี้บาน

13 กุมภาพันธ์ 2024


ที่มาภาพ : https://www.gpo.or.th/view/754

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรม กู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินในลักษณะ Roll-over1 ครอบคลุมระยะเวลาการกู้ 5 ปี วงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดย สธ. รายงานว่า

1. องค์การเภสัชกรรม มีภารกิจด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ (1) การสนับสนุนและตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐในการผลิตและจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม (2) การจัดสรรเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน (3) การจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานในกิจการตามโครงการและแผนงาน และ (4) การจ่ายชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้า

อย่างไรก็ดี ฐานะทางการเงินในปัจจุบันขององค์การเภสัชกรรมมีลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระเป็นจำนวนมากและยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ (ยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และหน่วยบริการในสังกัด สธ. ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยรายงานการรับ-จ่ายเงินสดปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ขององค์การเภสัชกรรมมีรายละเอียด ดังนี้

จากตารางจะเห็นได้ว่าเงินสดคงเหลือปลายงวดปีงบประมาณ 2566 ติดลบ (-2,395.19 ล้านบาท) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมข้างต้น ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมจึงมีความจำเป็นต้องขอกู้เงินเพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจในการให้บริการประชาชนได้ตามปกติต่อไป

2. องค์การเภสัชกรรมมีลูกหนี้คงค้าง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) ดังนี้

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมมีแนวทางการติดตามหนี้ค้างชำระ เช่น (1) ทุกสิ้นเดือน ส่งรายงานหนี้ค้างให้ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม (เจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม) เพื่อทราบปัญหาและติดตามหนี้ที่ค้างชำระ (2) ทุก 3 เดือน ส่งหนังสือแจ้งยอดค้างชำระให้ลูกหนี้ที่ยังคงค้างทุกราย (3) ส่งข้อมูลยอดหนี้ค้างชำระถึง สธ. เพื่อนำแสดง Dashboard ทุกสัปดาห์ เป็นต้น

3.คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมในการประชุมครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยให้องค์การเภสัชกรรมไปพิจารณาทบทวนวิธีหาแหล่งเงินให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ การดำเนินการต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงิน ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หนังสือ และขั้นตอนที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนด

4. กระทรวงการคลัง [สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรมกู้เงินจำนวน 3,000 ล้านบาท ในลักษณะ Roll-over คลอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อสำรองกรณีที่เงินสดคงเหลือปลายงวดในแต่ละเดือนต่ำกว่ายอดเงินสดขั้นต่ำที่ต้องคงไว้ หรือต่ำกว่ายอดประมาณการรายจ่ายต่อเดือน โดยแต่ละหน่วยงานมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ขอให้องค์การเภสัชกรรมเร่งติดตามการชำระหนี้ให้ทันตามกำหนดและสมดุลกับการใช้จ่ายเงิน เพื่อลดวงเงินกู้เพื่อสำรองสภาพคล่องทางการเงินจากลูกหนี้ค้างชำระและลดภาระดอกเบี้ยจากการกู้เงิน ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมจะต้องแจ้งต่อกระทรวงการคลัง เพื่อบรรจุเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ3 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนที่จะดำเนินการกู้เงิน รวมถึงให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะอย่างเคร่งครัด ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

2.สำนักงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาวิธีการกู้งิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน รวมทั้งให้ดำเนินการขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้องค์การเภสัขกรรมเร่งรัดติดตามการชำระหนี้และแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริทารสภาพคล่องจากเงินที่ได้รับชำระหนี้แทนการกู้เงินเพื่อไม่ให้เกิดภาระดอกเบี้ยในอนาคต

3.สภาพัฒน์ ให้กระทรวงสาธารณะสุข ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดประสาน สปส. สปสช. และองค์การเภสัชกรรม เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาการเรียกเก็บหนี้ที่ชัดเจนมากขึ้นและติดตามการชำระหนี้ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาเพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้องค์การเภสัชกรรมลดภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมเงินและสามารถบริหารจัดการเงินสดของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ การกู้เงินใหม่เพื่อนำไปชำระเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ เพื่อให้เงินกู้ดังกล่าวมีระยะเงินกู้สอดคล้องกับระยะคืนทุน ซึ่งในครั้งนี้องค์การเภสัชกรรมขอดำเนินการกู้เงินและชดใช้เงินคืนภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2567 – 2571) ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท (ทยอยเบิกเงิน/ใช้เงินคืนตามสภาพคล่องขององค์การเภสัชกรรม) และจากการประสานกับองค์การเภสัชกรรม พบว่าค่าเฉลี่ยเงินสดจ่ายต่อเดือนขององค์การเภสัชกรรมในปี 2566 อยู่ที่ 2,069.44 ล้านบาท ดังนั้น เงินคงเหลือเหลือปลายงวดจึงไม่ควรเหลือต่ำกว่า 2,069.44 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภาได้กล่าวในการประชุมสภาซึ่งมีการรายงานผลการดำเนินงานปี 2565 ของสปสช.ว่า “ขอชื่นชมการทำงานเชิงรุกและมีประสิทธิภาพของสปสช.และเป็นที่ชื่นชมและเอาเป็นตัวอย่างของนานาชาติ แต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในเชิงทิศทางการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เท่าที่อ่านรายงานมา สปสช.เน้นการป้องกันด้วยการให้วัคซีนและอื่นๆ แต่ที่สำคัญการวินิจฉัยรักษา ฟื้นฟู ใช้เงินจำนวนมาก อยากขอเน้นให้มาส่งเสริมสุขภาพในวงจรชีวิตมนุษย์ คือเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ เพราะการส่งเสริมสุขภาพเพื่อทำให้วงจรชีวิตคนเป็นปรกติ เด็กเติบโตเต็มศักยภาพ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ผู้ใหญ่ก็เข้มแข็งทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและสูงวัยอย่างสง่างาม และเข้ารับบริการเมื่อเจ็บป่วย ทั้งนี้ไม่อยากให้เน้นทุ่มเทการรักษาจนกระทั่งเงินหมดตัก ที่สำคัญขณะนี้เรามี universal health coverage (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ครอบคลุมดีแล้ว 97-99% แต่ปัญหายังมีอยู่คือโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง (NCD) ที่ไม่ใช่โรคติดต่อ และ NCD เป็นสาเหตุการตายถึง 74% ทำให้เป็นไทยสอบตกในตัวชี้วัด SDGs ข้อที่ 3 เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก ทั้งที่เราดีมาหมดในเรื่อง universal health coverage แต่เรามาสอบตกเรื่อง NCD ด้วยเหตุนี้เราควรหันมาส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเหล่านี้ควบคู่กับโรคต่างๆจากวัคซีน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ เพราะม้อตโต้ขององค์การอนามัยโลกที่ว่าสุขภาพดีอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ครอบครัว อยู่ที่ชุมชน ควรหันมาเน้นสุขภาพให้มาก โดยบริหารจัดการทำงานกับภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคีในกระทรวงสาธารณสุข ชุมชนและอื่นๆ

พร้อมย้ำว่าแต่สิ่งที่นานาชาติเขาเป็นห่วง คือประเด็นแรก อนาคตสปสช.จะไม่มีเงินจ่าย เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นที่สอง ทำไมไม่ส่งเสริมเรื่องสุขภาพเพราะถูกกว่า หาภาคีเครือข่ายง่ายกว่าและลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เป็นการเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย