ThaiPublica > เกาะกระแส > “ขรก.-ผู้ประกันตน-บัตรทอง” ติดโควิด-19 รักษาฟรี

“ขรก.-ผู้ประกันตน-บัตรทอง” ติดโควิด-19 รักษาฟรี

20 มีนาคม 2020


นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง

“ขรก.-ผู้ประกันตน-บัตรทอง” รักษาโควิดฯฟรี สปสช.ย้ำอาการไม่เข้าข่าย ขอตรวจ-จ่ายเงินเอง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ลงนามในหนังสือเวียน แจ้งปลัดปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ อธิการบดี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ โดยกรมบัญชีกลางได้ประกาศหลักเกณฑ์ และกำหนดอัตราการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคคลในครอบครัว กรณีติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้สถานพยาบาลของรัฐมีความจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบพิเศษ ตลอดจนเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ ในการให้บริการทางการแพทย์แก่ข้าราชการ หรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน ยังไม่ได้กำหนดโรคดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบางประเภทไม่สามารถเบิกจากทางราชการได้ ดังนั้น กรมบัญชีกลาง จึงกำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือ บุคคลในครอบครัวที่มีความเสี่ยง หรือ ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ให้สามารถเบิกจ่ายตรงได้ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ไปจนกว่าจะยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

    1. ข้าราชการและบุคคลในครอบครัวที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ และแพทย์ได้ดำเนินการสอบสวนโรคตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว สามารถเบิกจ่ายตรงค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเทคนิคอื่น ๆ รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ให้เบิกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง ส่วนค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สำหรับเจ้าหน้าที่ หรือ บุคคลที่เก็บตัวอย่าง เบิกตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 450 บาทต่อครั้ง
    2. กรณีผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่แพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัส โควิด – 19 และสถานพยาบาลรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยในแล้ว ให้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม นอกเหนือการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) ดังนี้

      2.1 ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเทคนิคอื่น ๆ รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ให้เบิกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง ส่วนค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สำหรับเจ้าหน้าที่ หรือ บุคคลที่เก็บตัวอย่าง เบิกตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 450 บาทต่อครั้ง
      2.2 ค่าห้องพัก สำหรับควบคุม หรือ ดูแลรักษา เบิกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินวันละ 2,500 บาท
      2.3 ค่ายารักษา เบิกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาท

    4. ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ให้เบิกตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 740 บาทต่อชุด ดังนี้

      4.1 กรณีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน
      4.2 กรณีอาการรุนแรง ไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน

นอกจากนี้ กรณีที่สถานพยาบาลจำเป็นต้องส่งตัวผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด–19 ไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ให้สามารถเบิกค่าพาหนะส่งต่อ ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถที่ส่งต่อ ให้เบิกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการส่งต่อ

“กรมบัญชีกลางได้สนับสนุนมาตรการ Social Distancing ของรัฐบาล โดยให้ผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลสามารถรับยาที่บ้านได้ ลดความเสี่ยงในการเดินทางมายังสถานพยาบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค ซึ่งกรมบัญชีกลางมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมดูแลประชาชนในทุกสถานการณ์ และขอแสดงความห่วงใยและเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งคนไทยทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปพร้อมกัน” นายภูมิศักดิ์ กล่าว

อ่านรายละเอียดหลักเกณฑ์การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ กรณีติดเชื้อไวรัส โควิด-19ที่นี่

“บัตรทอง” รักษาโควิดฯฟรี สปสช.ย้ำอาการไม่เข้าข่ายไปตรวจ จ่ายเงินเอง

ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกแถลงข่าวแจ้งประชาชนที่ได้รับสิทธิบัตรทอง 30 บาทว่า หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาล (รพ.)ตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ หากอยู่ต่างพื้นที่ รพ. ที่มีสิทธิ เช่น ไปต่างจังหวัด สามารถเข้ารักษาที่ รพ.รัฐได้ทุกแห่ง หรือ โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ขอย้ำ “หากไม่มีอาการใด ๆ หรืออาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่อยากทราบว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่แนะนำให้ไปขอตรวจเอง จะเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโดยไม่จำเป็น สร้างภาระให้กับบุคลากรสาธารณสุข อีกทั้งน้ำยาที่ใช้ในการตรวจโรคโควิด-19 มีจำนวนจำกัด ต้องเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็นกับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด”

สำหรับประชาชนที่ไปขอตรวจที่สถาบันบำราศนราดูรว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ทางสปสช.ขอยืนยันและย้ำว่า “ไม่ต้องไป” หากมีอาการตามเกณฑ์ให้ไปที่ รพ.ตามสิทธิที่มีอยู่ หรือ หากไปต่างจังหวัดก็เข้ารักษาที่ รพ.รัฐ กรณีของสถาบันบำราศนราดูรนั้น การตรวจที่นี่เป็นการตรวจสำหรับผู้มีอาการเพื่อตรวจยืนยันเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจคัดกรอง ดังนั้น จึงขอย้ำอีกครั้งว่า อาการไม่ตรง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องไป รพ.เพื่อขอตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไม่

โดยสรุปการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท คือ

    1. หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือ รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน กรณีไปต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    2. หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่สงสัยเองว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้ว ต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เอง โดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ต้องจ่ายเงินเอง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจเอง แม้จะจ่ายเงินเอง แต่การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และเพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น

สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)นั้น ต้องมีอาการดังนี้

    1.ผู้ป่วยที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) และมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มมีอาการ

      ก. มีการเดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรือ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ
      ข. เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ
      ค. มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

    2.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

    3.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และเป็นบุคลากรทางการแพทย์

    4.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้

ผู้ประกันตนรักษาโควิดฯฟรี สปส.เตือนไม่เข้าข่าย ขอตรวจ-เสี่ยงติดโรค

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์โรคติดเชื้อ ไวรัสโควิด – 19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและระบาดไปทั่วโลกว่า สำนักงานประกันสังคม ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนในระบบประกันสังคม ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำผู้ประกันตนที่มีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ อย่าละเลย ให้ไปเข้ารับการตรวจรักษา ซักประวัติในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่ามีประวัติไปต่างประเทศหรือไม่ หรือมีญาติป่วยเป็นไข้หวัดหรือไม่ เพื่อแพทย์ประเมินอาการได้ถูกต้อง หากแพทย์สงสัยว่าจะเข้าข่ายโรคโควิด-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้อง Lab โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใด ๆ หากอาการไม่เข้าข่าย ไม่แนะนำให้ไปขอตรวจเอง

ส่วนในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ เช่น อยู่ต่างจังหวัด ต่างพื้นที่สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือ โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งตามระบบประกันสังคมจะสามารถเบิกจ่ายได้เป็นกรณีฉุกเฉิน หรือ ฉุกเฉินสถานที่ได้ภายใน 72 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องถูกกักกันเพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

“หากไม่มีอาการใด ๆ หรือ อาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ของการตรวจ แต่ต้องการตรวจเอง ไม่แนะนำให้ไปขอตรวจเองจะเพิ่มความเสี่ยงในการเข้าไปรับเชื้อในโรงพยาบาล” นายทศพล กล่าว

ต่อกรณีที่มีข่าวผู้ประกันตนที่กลับมาจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้มีอาการไปแสดงความประสงค์กับโรงพยาบาลตามสิทธิ เพื่อขอตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ นายทศพล กล่าวย้ำว่า กรณีนี้ไม่ควรเข้าไปในโรงพยาบาล เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรเฝ้าระวังตนเอง และสังเกตอาการตนเองอยู่ในบ้าน ใช้อุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อสร้างภูมิต้านทาน กินของร้อน ใช้ข้อนกลาง และล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อับอากาศ และหากมี อาการ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้รีบเข้าโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่แกที่เริ่มมีอาการ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย และคัดกรองโรค เพื่อมิให้เป็นโรคลุกลาม และแพร่เชื้อต่อผู้อื่นต่อไป