รัฐบาลเดินหน้าจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ซึ่งเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ให้กับผู้แทนระดับปลัดกระทรวงและอธิบดี ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์พลังสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 14/2555 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเร่งผลักดันนโยบาย “กองทุนพัฒนาสตรี จังหวัดละ 100 ล้านบาท” ให้สตรีผู้ด้อยโอกาสที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนกลับมามีรายได้ มีงานทำ และพึ่งตนเองได้
โดยแต่งตั้งให้นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
“นลินี ทวีสิน” ผู้ซึ่่งเกือบจะเป็นสายล่อฟ้าของรัฐบาล เพราะถูกขึ้นบัญชีดำของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ปรากฏชื่อในบัญชีนี้ตั้งแต่ปี 2551 โดยถูกพาดพิงเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้การช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลของนายโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีของประเทศซิมบับเว (อ่าน บทเรียนจาก “Mugabe”…ซิมบับเวเปลี่ยนจากอู่ข้าวอู่น้ำของทวีปแอฟริกามาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลายโดยสิ้นเชิง)
นอกจากนี้ ได้มีการแต่งตั้งกรรมการ ได้แก่ นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ, นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์, นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ, นายอดุลย์ วรรณสรณ์, นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์, นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง, นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์, นางสาวเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย, นางสาววิลาวัลย์ ธรรมชาติ, นางสาวนิชนันท์ วังคะฮาตธัญญกิจ, นางสาวณัฐทรัชต์ ชามพูนท, และนางสาวเรณู ตังคจิวางกูร ถ้าสังเกตจะเห็นว่ารายชื่อดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย (คำสั่งแต่งตั้ง)
แม้ว่าการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะเป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพิ่มสวัสดิการของรัฐเพื่อเป็นการดูแลสังคมในชุมชน จัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน ตามที่พรรคเพื่อไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภาเมื่อวันที่ 23 เดือนสิงหาคม 2554 ว่าจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท ซึ่งให้งบประมาณเริ่มแรกจำนวน 7,700 ล้านบาท เงินส่วนนี้จะมีการจัดสรรเพื่อพัฒนาอาชีพประมาณร้อยละ 60-80 ที่เหลือร้อยละ 20-40 จะเป็นเงินจ่ายขาดให้กับสตรีที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยเตรียมจะขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และจากภาษีอบายมุขเพิ่มเติมอีก
แหล่งข่าวจากวงการการเมืองมีข้อสังเกตว่า โครงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนั้น ต้องใช้เงินจำนวนมากถึง 7,700 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับดำเนินการออกเป็น “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี” ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 ในขณะที่มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ยกร่างโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรีในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตของสตรีเช่นกัน
นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า การออกเป็นร่างระเบียบสำนักนายกฯ ก็อาจจะขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ในเนื้อหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่เพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาของรัฐบาลที่แล้วก่อนจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และจนถึงขณะนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีการยืนยันกับรัฐสภาที่จะให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่ยังค้างอยู่ในสภาหลายฉบับ ทั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เสนอเองโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว รวมถึงร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็เป็น ส.ส. พรรคฝ่ายรัฐบาล
ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยเสนอนโยบายด้านนิติบัญญัติต่อรัฐสภาตอนเข้ารับตำแหน่งว่า จะออก พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศภายในปี 2557
ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรียังไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ก็เพื่อจะดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 หรือไม่ และเหตุใดจึงต้องเร่งจ่ายเงินให้กองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท โดยมีการกำหนดจะจ่ายเงินให้ทันก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2555 แทนที่จะยืนยันร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการออกเป็นกฎหมายอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีรายละเอียดของการจัดตั้งกองทุนฯ อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 มีผลบังคับใช้ 18 กุมภาพันธ์ 2555
ที่สำคัญ หากพิจารณาในเนื้อหาของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 จะพบว่ามีข้อบกพร่องในหลายประเด็น อาทิ ระบุนิยาม “องค์กรสตรี” ไว้อย่างหละหลวม คือหมายถึง “มูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรสมาชิกในหมู่บ้าน หรือชุมชนที่มีการรวมตัวกันของสตรีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยได้ดำเนินงานและมีผลงานเกี่ยวกับการทำงาน การฝึกอาชีพ การพัฒนา การช่วยเหลือ หรือการคุ้มครองและพิทักษ์สตรี” แต่ไม่มีการระบุระยะเวลาการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งเท่ากับว่า อาจจะเป็นองค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นก็ได้ โดยรวมตัวกันเพียง 5 คน ก็สามารถตั้งองค์กรของบประมาณสนับสนุนได้แล้ว
นอกจากนั้น ในหมวด 2 ข้อ 8 ในระเบียบนี้ ระบุ “สมาชิก” เป็นสตรีที่มีสัญชาติไทยและมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรืออาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถขอขึ้นทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ แต่ในข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่มีอายุ 15 ปี ถือว่าเป็นผู้เยาว์ ยังไม่มีความสามารถตามกฎหมายที่จะทำนิติกรรมได้ ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอม ส่วนการระบุให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรืออาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถขอขึ้นทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้นั้น อาจจะเกิดปัญหาเวียนเทียนขอรับเงินสนับสนุน เพราะสามารถย้ายชื่อในทะเบียนบ้านไปอีกพื้นที่หนึ่งได้ ดังนั้น ในรอบ 1 ปี อาจจะเกิดกรณีหมุนเวียนสับเปลี่ยนการเปลี่ยนสมาชิกกองทุนฯ ได้ถึง 2 แห่ง
นอกจากนั้น หากเข้าไปดูวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนทั้ง 5 ข้อ ซึ่งประกอบด้วย
1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยในการสร้างโอกาสให้สตรีได้เข้าถึงแหล่งทุน สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิการให้แก่สตรี
2. เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรีและพัฒนาเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาสตรี รวมถึงเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหา
3. เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทของสตรี และแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่างๆ การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสตรี
4. เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรี ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพิจารณาเห็นสมควร
5.เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
หากพิจารณาในวัตถุประสงค์ 2 ข้อหลังนี้ มีข้อสังเกตว่าเปิดช่องไว้ค่อนข้างกว้าง ประกอบกับให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจใช้จ่ายงบในการแก้ปัญหาและพัฒนาสตรี ยังมีความคลุมเครือในรายละเอียดและความชัดเจนของการปัญหาและพัฒนาสตรี ตามถ้อยคำที่ระบุในร่างระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับนี้
ขณะเดียวกัน ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก็เขียนเปิดช่องไว้ให้คณะกรรมการสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการที่อยู่นอกเหนือจากกรอบการใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งอาจจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เงินรั่วไหล ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ ได้อีกเช่นกัน เพราะถึงแม้จะมีตั้งคณะกรรมการประเมินผลในหมวด 6 ของร่างระเบียบสำนักนายกฯ ที่ระบุให้ประธานกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลจำนวนไม่เกิน 10 คน แต่ไม่ได้ระบุคุณสมบัติของกรรมการประเมินผลใดๆ ไว้ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการประเมินผลที่แน่ชัด ซึ่งอาจจะประเมินเมื่อไรก็ได้หรือไม่ประเมินผลก็ได้
ต่อกรณีนี้ นางวิระดา สมสวัสดิ์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กระบวนการ ขั้นตอน และเนื้อหาของร่างระเบียบสำนักนายกว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ยังมีความไม่โปร่งใส และมีข้อบกพร่องอยู่หลายจุด ทั้งคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนฯ รวมถึงการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิยังหละหลวม ไม่มีแนวทางของหลักเกณฑ์และวิธีการใดๆ เลย ขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียวที่เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ที่จะกำหนดเท่านั้น และการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ไม่ได้กำหนดว่าเป็นคุณวุฒิในด้านใด ไม่มีการระบุจำนวน ประกอบกับให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการก็ได้ โดยไม่มีการระบุจำนวนที่แน่ชัด
“กองทุนฯ นี้เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ไม่สมควรออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ควรจะออกเป็น พ.ร.บ. โดยการออกเป็น พ.ร.บ. ต้องมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นขององค์กรสตรี และผู้มีประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการกองทุน ในลักษณะพัฒนาสตรีให้มีความเข้มแข็งที่ไม่ใช่กองทุนแบบสังคมสงเคราะห์ และเป็นประชานิยมที่อาจทำให้สังคมอ่อนแอลง” นางวิระดากล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากองค์กรสตรีกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยกลุ่มสตรีบางแห่งเริ่มมีการรวมตัวและเปิดบัญชีธนาคารไว้ล่วงหน้า รอรับเงินสนับสนุนตั้งกองทุนฯ จากภาครัฐแล้ว อย่างไรก็ตาม เห็นชัดว่าร่างระเบียบสำนักนายกฯ มีข้อบกพร่องในการออก ซึ่งนำไปสู่การใช้เงินและการก่อหนี้ จึงไม่เห็นด้วยหากมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เสมือนหนึ่งเป็นธนาคาร ทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้สมาชิก เพราะมีโครงการประเภทนี้อยู่แล้ว จึงอยากให้กองทุนฯ นี้เป็นเรื่องของการพัฒนาสถานภาพสตรีอย่างแท้จริง ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็หวังกู้เงินเพื่อการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย อาจเกิดปัญหาหนี้สินตามมา
นางสาวสุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีการพิจารณาปัญหาที่จะตามมาในอนาคต เช่น ความแตกแยกที่อาจเกิดขึ้นในหมู่บ้าน และผู้หญิงอาจถูกดึงให้เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองได้ง่าย จึงไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารทำงบประมาณ 7,700 ล้านบาท ไปในเรื่องนโยบายของรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่ง แต่งบประมาณดังกล่าวควรเป็นกฎหมายระยะยาว กองทุนพัฒนาสตรีจะมีสถานะเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าทั้งร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ จะไม่ได้รับความสนใจจากพรรครัฐบาลเท่ากับร่างระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งมีความก้าวหน้าถึงขั้นการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
“การบริหารอยู่บนหลักการกระจายอำนาจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยใช้กลไกคณะกรรมการเครือข่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแล แม้ว่าเครือข่ายผู้หญิงจะแนะนำให้ตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมาดูแล แต่หากพิจารณาจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะตั้งกองทุนจังหวัดละ 100 ล้านบาท เน้นเป็นศูนย์ฝึกอาชีพสตรี และทำงานร่วมกับสภาสตรีทุกจังหวัด ดังนั้น ทิศทางการไหลของเงินก้อนนี้น่าจะไปตกอยู่ที่แกนนำไม่กี่กลุ่มเท่านั้น” นางสาวสุธาดากล่าว
ดังนั้น การเร่งออกระเบียบสำนักนายกฯ จึงสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการแบบรวบรัดตัดตอน ซึ่งการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ของพรรคเพื่อไทย อาจไม่ต่างจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านของพรรคไทยรักไทยในอดีต ซึ่งใช้หลักการเดียวกันในการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง ให้ส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บริหารจัดการกันเอง แต่คำตอบสุดท้ายไม่สามารถสรุปได้ว่า การกู้ยืมจากกองทุนจะมีส่วนในการบรรเทาปัญหาความยากจน ซ้ำยังเกิดปัญหาชาวบ้านต้องกู้ยืมจากแหล่งอื่นมาเพื่อชำระภาระหนี้กองทุนฯ ไม่นับรวมถึงปัญหาทุจริตภายในกองทุนหมู่บ้านที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่
สโลแกนหาเสียง “คิดใหม่ ทำใหม่อีกครั้ง” อาจจะเกิดคำถามตามมาว่า จะต้องคิดใหม่ทำใหม่อีกกี่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยบทเรียนเดิม และไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนบางกลุ่ม