ThaiPublica > คนในข่าว > สถิติ 3 ผู้นำใช้เงินภาษีเปลือง เดินทางต่างประเทศ “บารัก โอบามา – ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร – กัสตูร์แห่งอินโดนีเซีย”

สถิติ 3 ผู้นำใช้เงินภาษีเปลือง เดินทางต่างประเทศ “บารัก โอบามา – ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร – กัสตูร์แห่งอินโดนีเซีย”

1 กันยายน 2013


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือนประเทศออสเตรเลีย ที่มาภาพ : http://www.thaisydney.com
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือนประเทศออสเตรเลีย ที่มาภาพ: http://www.thaisydney.com

นับวัน กระแสวิพากษ์วิจารณ์นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและจากประชาชนทั่วไปยิ่งดังกระหึ่มในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างสถิติใหม่ว่าเดินทางเยือนต่างประเทศมากที่สุดในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยเดินทางไปต่างประเทศเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณหลายร้อยล้านบาทโดยไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน และเหนืออื่นใด มีการตั้งข้อสังเกตว่าจุดประสงค์ของการเยือนต่างประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น ส่วนหนึ่งเพื่อลอยตัวหนีปัญหาการเมืองภายในประเทศ อีกส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งมักจะไปกรุยทางไว้ล่วงหน้า หรือใช้เป็นเวทีทำลายภาพพจน์ประเทศและโจมตีฝ่ายค้าน ดังเช่นคราวไปปราศรัยเรื่องประชาธิปไตยที่ประเทศมองโกเลีย กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีชิ้่้นดีว่าบิดเบือนความเป็นจริงและปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ

ร้อนถึงนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องรีบแถลงสรุปการเดินทางเยือนต่างประเทศในรอบ 2 ปีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 – สิงหาคม 2556 ว่าเธอได้เดินทางเยือนต่างประเทศทั้งหมด 42 ครั้ง โดยเป็นการเดินทางเยือนประเทศในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ เยือนอย่างเป็นทางการ 26 ประเทศ และเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำอีก 19 ประเทศ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรียังแจกแจงรายละเอียดด้วยว่า ในส่วนของการเดินทางเยือนประเทศภาคีอาเซียนนั้น ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกต้องแลกเปลี่ยนการเยือน รวมถึงแนะนำตัวหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ส่วนการเดินทางไปประเทศต่างๆ ก็เพื่อเปิดความสัมพันธ์ เปิดโอกาสความร่วมมือ ตลาดการค้า การลงทุน รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเศรษฐกิจไทยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า ผลจากการที่นายกรัฐมนตรีร่วมในกิจกรรมโรดโชว์ในประเทศที่ไปเยือนเมื่อปี 2555 สามารถชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ถึง 31 โครงการ มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 137,770 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น สร้างรายได้การท่องเที่ยวให้สูงขึ้น

อันที่จริง นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศเพียงคนเดียวที่ถูกวิจารณ์ว่าผลาญงบประมาณก้อนมหาศาลในการเดินทางเยือนต่างประเทศ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งแดนดินถิ่นอินทรีผยอง ก็ถูกโจมตีกรณีที่ชอบนั่งเครื่องบินไปเยือนประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผลาญภาษีของประชาชนเป็นว่าเล่น จนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทำเนียบขาวที่เดินทางบ่อยครั้งมากที่สุดรองจากอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

นับตั้งแต่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2552 นายโอบามาได้เดินทางเยือนต่างประเทศ 60 ครั้ง ครอบคลุม 40 ประเทศด้วยกัน รวมไปถึงนครรัฐวาติกันและเวสต์แบงก์ ไม่นับรวมไปถึงการเดินทางในประเทศอีกนับครั้งไม่ถ้วน ในจำนวนนี้เป็นการเยือน 35 ประเทศในช่วง 4 ปีแรกที่ครองทำเนียบขาว โดยประเทศที่สร้างสถิติเยือนมากครั้งที่สุดถึง 4 ครั้งด้วยกัน มี 2 ประเทศ คือ ฝรั่งเศสกับเม็กซิโก ส่วนประเทศที่เยือน 3 ครั้ง มี อัฟกานิสถาน เยอรมนี เกาหลีใต้ และอังกฤษ ที่เยือน 2 ครั้ง มีแคนาดา สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก อินโดนีเซียและญี่ปุ่น นอกนั้่นเป็นการเยือนแค่ครั้งเดียว

แต่การเยือนต่างประเทศของนายโอบามาก็ไม่สามารถลบสถติของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ร่วมกันครองแชมป์เยือนต่างประเทศมากที่สุด 94 ครั้ง ครอบคลุมถึง 74 ประเทศ ตลอดช่วง 8 ปีที่ครองทำเนียบขาว ส่วนใหญ่เดินทางไปยุโรปจนเหมือนกับเป็นกิจวัตรประจำวันก็ไม่ผิด ตามด้วยการเยือนเอเชีย ลาตินอเมริกา และแอฟริกา

นายบารัค โอบามา เยือนแอฟริกา ที่มาภาพ : http://www.dw.de
นายบารัก โอบามา เยือนแอฟริกา ที่มาภาพ: http://www.dw.de

ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกรายละเอียดการเดินทางเยือนต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของประธานาธิบดี ไม่ว่าจะเรื่องของค่าใช้จ่าย มาตรการรักษาความปลอดภัย ผู้ร่วมคณะเดินทาง ฯลฯ แต่สื่อยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็กมักจะร่วมกันขุดคุ้ยในเรื่องนี้ เพื่อดูว่าคุ้มค่ากับภาษีของประชาชนที่กลายเป็นค่าเดินทางของประธานาธิบดีและคณะในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่แดนดินอินทรีผยองกำลังเผชิญกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ การตรวจสอบยิ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นตามลำดับ

ล่าสุด หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เพิ่งจะประโคมข่าวใหญ่ว่าช่วงที่นายโอบามาเดินทางเยือนแอฟริการะหว่างวันที่ 26 มิ.ย. – 3 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการพักที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล 1 คืน พักที่โยฮันเนสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้ 2 คืน ที่เคปทาวน์ 1 คืน และอีก 1 คืน ที่กรุงดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย ได้ผลาญภาษีของประชาชนถึงวันละ 60-100 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,800-3,000 ล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายของเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งที่มีอุปกรณ์การแพทย์และคณะแพทย์พร้อมสรรพที่จะจอดนอกชายฝั่งเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน ค่าใช้จ่ายของเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ที่จะขนยานยนต์สนับสนุน 56 คัน รวมไปถึงรถลีมูซีน 14 คัน รถบรรทุก 3 คันสำหรับขนกระจกกันกระสุนไปติดตรงหน้าต่างโรงแรมที่นายโอบามาและคณะจะพำนัก ไม่นับรวมเครื่องบินรบลำหนึ่งที่จะคอยบินวนรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

ตอนแรกนายโอบามาและนางมิเชล ภรรยา มีแผนจะท่องซาฟารีที่แทนซาเนีย ซึ่งหมายถึงจะต้องประจำการหน่วยแม่นปืนและหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษในกรณีที่อาจจะถูกสัตว์ใหญ่วิ่งมาชาร์จได้ แต่โชคดีที่แผนนี้เปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย เมื่อนายโอบามาตัดสินใจเดินทางไปที่เกาะร็อบเบน นอกชายฝั่งเมืองเคปทาวน์ ซึ่งเคยเป็นที่คุมขังนายเนลสัน แมนดาลา นานกว่า 20 ปี

ค่าใช้จ่ายนี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับคราวที่นายบิล คลินตัน เยือน 6 ประเทศในทวีปนี้เมื่อปี 2541 ที่ใช้งบรัฐบาลกลางอย่างน้อย 42.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,282 ล้านบาท)

กลับจากการเยือนแอฟริกาได้ไม่กี่วัน นายโอบามามีกำหนดการเยือนไอร์แลนด์เหนือและเยอรมนี ช่วงที่รัฐสภากำลังตัดทอนงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ รวมไปถึงหน่วยตำรวจลับที่มีหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยของประธานาธิบดีลงอย่างน้อย 84 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับบีบให้คณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวต้องลดกำหนดการเยือนสถานที่ต่างๆ ลงเพื่อประหยัดค่าทำงานล่วงเวลาของหน่วยตำรวจลับลงอาทิตย์ละ 74,000 ดอลลาร์

ที่มาภาพ : https://www.google.co.th
ที่มาภาพ: https://www.google.co.th

แต่ค่าใช้จ่ายในการเยือนทวีปแอฟริกาของนายโอบามาก็ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเยือน 4 ประเทศในทวีปเอเชียเป็นเวลา 10 วัน เมื่อปลายปี 2553 อันประกอบด้วย อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งจากการขุดคุ้ยของหนังสือพิมพ์ เพรส ทรัพต์ ออฟ อินเดีย ระบุว่าชาวอเมริกันต้องจ่ายภาษีเป็นค่าเดินทางถึงวันละ 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,000 ล้านบาท) ในจำนวนนี้คลุมไปถึงค่าเจ้าหน้าที่และตำรวจลับ 3,000 คน ค่าเครื่องบิน 40 เที่ยว ค่าเฮลิคอปเตอร์ของนาวิกโยธิน 2 ลำให้นายโอบามาไว้ใช้ระหว่างเยือนอินเดีย ค่าเรือรบ 34 ลำที่คอยคุ้มกันความปลอดภัยที่นครมุมไบ ค่าห้องพัก 570 ห้องที่โรงแรมทัชมาฮาล พาเลซ ในมุมไบ ค่าเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับว่าตลอดช่วง 10 วันที่เยือน 4 ประเทศในเอเชีย มะกันชนต้องจ่ายภาษีเป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ถึง 66,000 ดอลลาร์ (ราว 1,980,000 บาท) ต่อคนต่อวัน

อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวโต้ทันว่าข่าวของหนังสือพิมพ์ เพรส ทรัพต์ ออฟ อินเดียนั้นสูงเกินจริง แต่ก็ไม่ยอมเปิดเผยค่าใช้จ่ายแท้จริงว่าสูงเท่าใด

นอกจากจะต้องเสียภาษีเป็นค่าใช้จ่ายของประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในการเดินทางเยือนต่างประเทศแล้ว มะกันชนยังต้องจ่ายเงินค่าเดินทางให้กับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในกรณีที่เดินทางไปปฎิบัติภารกิจคนเดียวด้วย อย่างคราวนางมิเชล โอบามา เดินทางไปร่วมในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นเธอก็ช็อปแหลก โดยซื้อแจ็กเก็ตตัวหนึ่งในราคา 6,800 ดอลลาร์ (ราว 2 แสนบาท)

ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์เดลีเมล์ของอังกฤษได้เปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายในช่วงวันหยุดพักผ่อนของนางมิเชลรวม 42 วัน หรือ 6 สัปดาห์ ว่าใช้ภาษีประชาชนมากถึง 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 300 ล้านบาท) แค่ในปีเดียวเท่านั้น ในจำนวนนี้รวมไปถึงการพาเพื่อนฝูง 40 คน ไปพักผ่อนที่สเปนด้วยภาษีของประชาชนประมาณ 5 แสนดอลลาร์

นายบารัค โอบามาและครอบครัวเดินทางเยือนแอฟริกา ที่มาภาพ :http://archives.thestar.com
นายบารัก โอบามา และครอบครัว เดินทางเยือนแอฟริกา ที่มาภาพ:http://archives.thestar.com

นอกจากนี้เธอยังใช้ภาษีประชาชนอีกหลายล้านดอลลาร์เป็นค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพงและค่าอบนวด ระหว่างที่ครอบครัวโอบามาเดินทางไปพักร้อนที่มาร์ธา ไวน์ยาร์ด เป็นเวลา 9 วัน เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งคิดค่าเช่าสัปดาห์ละ 50,000 ดอลลาร์ นายโอบามาได้บินไปก่อนโดยนางมิเชลบินตามหลังจากนั้นแค่ไม่กี่ชั่วโมง ผลาญเงินภาษีของประชาชนอีกหลายหมื่นดอลลาร์โดยใช่เหตุ

นอกจากนี้ นายโอบามายังถูกสับแหลกเรื่องที่ชอบบินไปออกรายการทอล์คโชว์ จนมีสถิติล้ำหน้าอดีตผู้นำทำเนียบขาวคนอื่นๆ ว่าเป็นผู้นำที่เดินทางไปปรากฏตัวในรายการทอล์คโชว์มากที่สุด โดยเฉพาะรายการ “เดอะ ทูไนท์ โชว์ ” ของพิธีกรชื่อดัง เจย์ เลโน ในลอสแอนเจลิส รวมแล้วถึง 10 ครั้งด้วยกัน และเฉพาะปีที่แล้วเพียงปีเดียวไปร่วมรายการทอล์คโชว์ถึง 6 ครั้ง

ท่ามกลางความกังขาของมะกันชนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจว่าคุ้มค่าแค่ไหนกับการใช้ภาษีของประชาชนรวมทั้งสิ้นถึง 1.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 54 ล้านบาท) เป็นค่าเดินทางไปกลับระหว่างกรุงวอชิงตันกับลอสแอนเจลิสเพื่อร่วมรายการทอล์คโชว์ ไหนจะเป็นค่าใช้จ่ายของเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน ที่ตกชั่วโมงละ 180,000 ดอลลาร์ (ราว 5.4 ล้านบาท) ค่าโรงแรม ค่าใช้จ่ายของทีมงานจากทำเนียบขาว และตำรวจลับอีกนับร้อยชีวิต ค่าใช้จ่ายของขบวนรถอีกราว 20 คัน นี่ขนาดยังไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 เที่ยว เที่ยวละ 50 นาที

นายอับดูร์เราะห์มัน วาฮิด (กัสตูร์) ที่มาภาพ : http://images.smh.com.au
(ขวา) นายอับดูร์เราะห์มัน วาฮิด (กัสตูร์) ที่มาภาพ: http://images.smh.com.au

ผู้นำอีกคนหนึ่งที่สร้างสถิติล้ำหน้านางสาวยิ่งลักษณ์ในการเดินทางเยือนต่างประเทศก็คือนายอับดูร์เราะห์มัน วาฮิด (กัสตูร์) ประธานาธิบดีคนแรกอินโดนีเซียที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งตลอดช่วง 18 เดือนที่อยู่ในอำนาจนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 นายกัสตูร์ได้เดินทางเยือนกว่า 50 ประเทศด้วยกัน ทั้งๆ ที่สายตาไม่ดี มองเห็นเพียงเลือนราง จนได้รับสมญาว่าประธานาธิบดีตาบอด แต่ก็อาศัยนางแซนนูบาหรือเยนี ลูกสาวคนที่ 2 เป็น “สายตา” ให้แทน

เพียงเดือนเดียวหลังสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 4 ของประเทศ นายกัสตูร์ก็เยือน 9 ประเทศภาคีอาเซียนตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาช้านาน ตามด้วยการเยือนญี่ปุ่น สหรัฐฯ กาตาร์ คูเวต และจอร์แดน พอเดือนธันาคมก็ไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก ในเดือนมกราคม 2543 ไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อประชุมเวิร์ลด์ อีิโคโนมิก ฟอรัม ระหว่างกลับก็แวะไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ซาอุดีอาระเบีย พอเดือนกุมภาพันธ์ไปเยือนยุโรปอีกครั้ง ประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี ระหว่างขากลับก็แวะอินเดีย เกาหลีใต้ ประเทศไทย และบรูไน เดือนมีนาคมไปเยือนติมอร์ตะวันออก เพื่อหาทางสร้างสันติภาพขึ้นในติมอร์ตะวันออก รวมไปถึงอาเจะห์และปาปัวตะวันตก เดือนถัดมาคือเดือนเมษายน นายวาฮีด ซึ่งขัดแย้งกับกองทัพที่ไม่เห็นด้วยกับการลดโควตาที่นั่งกองทัพในรัฐสภาลง ก็บินไปเยือนแอฟริกาใต้ก่อนจะเดินทางต่อไปที่คิวบาเพื่อร่วมประชุมกลุ่มประเทศจี 77 ขากลับแวะที่เม็กซิโกและฮ่องกง ต่อมาในเดือนมิถุนายนเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ อีกครั้ง ตามด้วยญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แถมอิหร่าน ปากีสถาน และอียิปต์ที่แทรกเข้ามาในภายหลัง

ปี 2544 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง นายวาฮิดได้เยือนทวีปแอฟริกาตอนเหนือรวมไปถึงซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะเดินทางเยือนออสเตรเลีย เป็นประเทศสุดท้ายในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ก่อนจะถูกสภาผู้แทนฯกดดันให้ลาออกด้วยการขู่จะถอดจากตำแหน่ง กรณีถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการที่คนสนิทได้ทุจริตยักยอกเงินและเรื่องชู้สาวที่อื้อฉาวของตัวเอง นอกเหนือจากการโจมตีว่าหลบหนีปัญหาด้วยการเดินทางเยือนต่างประเทศผลาญเงินภาษีจำนวนมากของประชาชน ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศยังดิ่งลงเหวหรือทั้งๆ ที่สายตาตัวเองก็มีปัญหา แต่ก็สามารถสร้างสถิติเดินทางเยือนต่างประเทศเฉลี่ยเดือนละหลายประเทศ