ถอดอำนาจการเมืองไทย ผ่านประสบการณ์ ‘ณรงค์ชัย อัครเศรณี’ ชี้ 3 ปาร์ตี้ ‘ไม่ปล่อยอำนาจ’ ให้ประชาชน ผลเลือกตั้งไม่ได้ชี้ขาดใครเป็นนายกรัฐมนตรี ระบุรัฐบาลใหม่ตั้งได้แต่นายกฯ บริหารยาก ปัญหา fragmented หลายพรรคร่วมรัฐบาลต่อรองอำนาจ จนแก้ปัญหาประชาชนไม่ได้
หลังจากรัฐสภามีมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 482 เสียง ให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566
การเมืองไทยเข้าสู่โหมดของการจัดตั้งรัฐบาล และการทำงานของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ในการพาประเทศข้ามพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้
เส้นทางการนำพาประเทศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะทำได้มากน้อยแค่ไหน จะสามารถสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนตามที่ประกาศเอาไว้หรือไม่
ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ชวน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมมองปัญหาเศรษฐกิจการเมือง ในฐานะนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ร่วมทำงานการเมืองทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร ทั้งในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เริ่มชวนคุยจากการมองภาพใหญ่ของโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย กับกระบวนการเข้าสู่อำนาจทั้งในอดีต และที่กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน
การเข้าสู่อำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐในสังคมไทยมี 3 ปาร์ตี้ที่ต้องการจะมีอำนาจรัฐ ปาร์ตี้ที่หนึ่ง ข้าราชการพลเรือน เป็นผู้ที่อยู่ตลอดกาลในแง่ของการใช้อำนาจรัฐ ปาร์ตี้ที่สอง พรรคการเมือง ซึ่งอาศัยประชาชนมามีอำนาจรัฐ จากเลือกตั้งมา ที่ใช้คำนี้เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้แทนในแง่ของทำตามที่ประชาชนต้องการ เขาเอาประชาชนมาเป็นผู้สนับสนุนพรรค พอได้พรรคแล้วเขาก็ทำตามอำนาจเขา ประชาชนเอาไว้ทีหลัง
ปาร์ตี้ที่สาม กองทัพ เขามีความเชื่อมาแต่โบราณ มาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ต้น-กลาง-ปลาย ว่ากองทัพจำเป็นต้องมีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลประเทศชาติ เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องให้อำนาจรัฐอยู่ในจุดที่เขาสามารถมีส่วนในการจะเรียกว่ากำกับหรือควบคุม หรือแล้วแต่จะใช้คำแล้ว
ทั้งสามปาร์ตี้นี้แก่งแย่งอำนาจการเมืองกันมา ทางสายราชการก็ใช้วิธีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ เพราะว่าตัวเองเป็นผู้ใช้กฎหมายกฎระเบียบ ส่วนทางสายพรรคการเมืองก็คอยจังหวะ ว่าเมื่อไหร่จะสามารถเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศได้ ขณะที่กองทัพเฝ้าจ้องอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าอำนาจรัฐหลุดไปในจุดที่ทางกองทัพมีความรู้สึกว่าจะไม่ดีต่อความมั่นคงของประเทศ กองทัพก็จะจัดการดึงอำนาจรัฐมาไว้ที่กองทัพ พอกองทัพดึงอำนาจรัฐไป สายราชการก็จะกระโดดเข้าไปสร้างกฎระเบียบ โดยผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“ในส่วนผมเองก็เคยอยู่ในสภานิติบัญญัติ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือตอนปฏิวัติสมัยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายกันมาเป็นภูเขาเลย ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นยังใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าระหว่างที่พรรคการเมืองเข้าไปอยู่ในสภา มีสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายอาจจะมีเยอะเลย แต่ไม่ค่อยผ่าน รอบที่แล้วค้างอยู่อาจจะเป็นร้อยฉบับ แต่สมัยผมอยู่ สนช. ในช่วงตอนปลาย วันหนึ่งพิจารณา 70 ฉบับ กดผ่านจนนิ้วเมื่อย”
อันนี้มันก็เป็นขบวนการของการเข้าสู่อำนาจรัฐในประเทศไทย
ทีนี้ความวุ่นวายของปัจจุบัน ถ้าถามสาเหตุเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็เริ่มตั้งแต่ปี 1989-1990 ที่ทางฝ่ายกองทัพเริ่มมีความรู้สึกว่า ทางพรรคการเมืองมีอำนาจมากเกินไป ก็คือรัฐบาลคุณชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะฉะนั้น ทางกองทัพก็เลยปฏิวัติโดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 1991(2534)
แต่ว่าทางฝ่ายกองทัพก็รู้สึกว่าตัวเองคงจะไม่รู้บริหารประเทศอย่างไร เลยเชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์ได้แสดงฝีมือจนคนชื่นชมมาก แต่ว่าในขณะเดียวกันคุณอานันท์ก็มีความรู้สึกว่า มันน่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบประเทศไทยให้การเมืองมีประโยชน์มากขึ้น ก็เกิดความคิดนั้นขึ้นมา สิ่งที่เสริมแนวคิดนี้ก็คือตอนที่คุณสุจินดามาเป็นนายกฯ เมื่อปี 1992 (พ.ศ. 2535) ก็เกิดพฤษภาทมิฬซึ่งรุนแรงมาก เห็นชัดเจนว่าทางกองทัพต้องการยึดอำนาจรัฐกลับอย่างเต็มที่ ยังไม่ยอมปล่อย ก็เกิดเหตุการณ์ซึ่งทำให้หลุด ยึดไม่อยู่ แล้วก็สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนจำนวนมาก
เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของประชาชนตอนนั้นคืออยากจะให้อำนาจมาอยู่ที่ประชาชน นำมาสู่การออกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (1997) ซึ่งใช้เวลาร่างหลายปีกว่าจะผ่าน และรัฐธรรมนูญได้เริ่มใช้ปฏิบัติปี 1997 คนที่สนับสนุนมากคือคุณบรรหาร ศิลปอาชา ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้อำนาจประชาชนอย่างมาก โดยประชาชนเวลาเลือกพรรคการเมืองเข้าไปแล้ว ก็สามารถกำกับพฤติกรรมของพรรคการเมืองได้ โดยการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาหลายองค์กรด้วยกัน เช่น กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) แยกมาจากมหาดไทย มีการตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ มีการตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ หลายคณะ โดยใช้รูปแบบของทางตะวันตก ว่าองค์กรอิสระพวกนี้จะมาคอยกำกับไม่ให้พรรคการเมือง นักการเมือง ออกนอกลู่นอกทาง คือมีอำนาจจากประชาชนแล้วยังต้องถูกกำกับ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติมาก คือทำให้รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ
เมื่อมีการเลือกตั้ง โดยมีคุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ไปใช้อำนาจเกี่ยวกับการบริหาร ยุ่งเกี่ยวกับการจัดตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ ทำให้องค์กรอิสระแทนที่จะเป็นอิสระ ก็ไม่อิสระอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น ที่รัฐธรรมฉบับ 2540 หวังว่าองค์กรอิสระจะช่วยเป็นผู้กำกับ ก็ไม่ได้กำกับอย่างแท้จริง เหตุผลอย่างที่คุณเสนาะ เทียนทอง เคยอธิบายไว้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมพึ่งพิงกัน ถ้าไม่พึ่งพิงกันชาตินี้ก็ชาติหน้า ก็ชาติก่อน ดังนั้น อย่าไปคิดว่าทุกคนมีอิสระ มันไม่ใช่ ไม่เหมือนตะวันตกที่เป็นปัจเจก ของไทยเป็นสังคมผูกพัน เป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน อิสระจึงเป็นไปได้ยาก
ทีนี้ พอมีองค์กรอิสระก็ทำให้รัฐบาลตอนนั้นมีบทบาทเยอะ มีความนิยมสูง ทางฝ่ายกองทัพก็เริ่มมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ อำนาจรัฐหลุดไปจากที่ตัวเองกำกับ หรือเข้าไปแตะต้องเกือบจะไม่ได้เลย การแต่งตั้ง ผบ.ทบ. ซึ่งคุณทักษิณสมัยนั้นเอาญาติเข้ามาพลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้อยู่ในสายรบ ทางฝ่ายกองทัพก็เลยคิดว่ามันไม่ใช่ มีการประท้วงกัน ทำให้เกิดปฏิวัติปี 2006 (2549) เสร็จแล้วคุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2007 (2550)
พอพลเอก สุรยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2007 เพื่อไม่ให้การเมืองมายุ่งกับกองทัพ จึงออกกฎหมายฉบับสำคัญของรัฐบาลสุรยุทธ์ หรือ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) สมัยนั้น ก็คือ พ.ร.บ. เกี่ยวกับการแต่งตั้งในกองทัพ แปลว่ารัฐบาลยุ่งไม่ได้ ต่อไปนี้ ผู้บัญชาการระดับเหล่าทัพ แต่งตั้งโดยทหารกันเอง ถึงวันนี้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังอยู่ แปลว่าทหารทางสายพรรคการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้แล้ว
หลังจากนั้น มีการเลือกตั้งโดยมีคุณสมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นประชาชนก็มีสิทธิมีเสียงเยอะ ทางสายกองทัพก็ยังไม่พอใจ มาเปลี่ยนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
แต่พอมาเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ประชาชนลงคะแนน คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชนะอีก สายกองทัพก็บอกว่าถ้าชนะแบบนี้ไม่ได้แล้ว ปี 2014 (2557) ก็มีเหตุการณ์ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ใช่ไหมครับ ประท้วงกันนำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยประชาชนใน กทม. สนับสนุนล้นหลาม เพราะว่าประชาชนทั่วไปเวลาเห็นพรรคการเมืองทำอะไรไม่ถูกใจตัวเอง ก็มีความรู้สึกรุนแรง เพราะฉะนั้น คุณสุเทพก็ระดมคนได้ง่าย ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็พังไป
เลือกตั้งใหม่ก็ไม่ได้ เพราะมี กปปส. ไปบุก ไม่ให้เลือกตั้ง ก็วุ่นวาย เป็นเหตุผลที่ทำให้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ปฏิวัติ พอปฏิวัติแล้ว ตอนนั้นผมเข้าไปอยู่ใน คสช. ก็เห็นเจตนารมณ์ชัดเจน มีข้อสรุปจากทาง คสช. ตอนนั้นว่า การเมืองในประเทศไทยมันต้องเป็นลูกผสม คือต้องมาจากทั้งการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง
“การเลือกตั้งไม่ได้การันตีว่าจะได้รัฐบาลที่เป็นที่พอใจของสายอำนาจ ซึ่งในที่นี้ผมบอกตั้งแต่ต้น คือสายราชการ สายกองทัพ เพราะฉะนั้น เลือกตั้งมาแล้วรัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่มีสายอำนาจเดิม สายราชการ กับสายกองทัพมีส่วนในการตั้งรัฐบาลด้วย อีกอย่างที่ทำให้ระบบนี้มันยั่งยืน ก็ต้องสร้างให้ประชาชนเห็นว่า ระบบไฮบริดหรือระบบลูกผสม เลือกตั้งผสมแต่งตั้งแบบนี้ น่าจะอยู่ยั่งยืนยง จะต้องมี สว. และ สส. เป็นตัวสำคัญ”
“แต่ว่า ถ้าหากว่าจะให้มั่นใจจริงๆ ต้องให้ทาง สว. มีอำนาจก่อนสัก 5 ปี เพื่อทำให้เวลาสร้างรัฐบาลที่ประชาชนเห็นประโยชน์ของไฮบริด ของลูกผสม คล้ายๆ ของสมัยป๋าเปรม (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) ก็เลยให้อำนาจ สว. โหวตนายกฯ ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน”
เพราะฉะนั้น พอให้อำนาจ สว. โหวตนายกฯ ด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าพอเลือกตั้งเสร็จ ตัวสำคัญที่สุด ใครจะเป็นรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง อยู่ที่ สว. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทีนี้ พอผลการเลือกตั้งรอบนี้ออกมาพรรคก้าวไกลได้เสียงมากที่สุด เขาก็คิดว่ามีสิทธิที่จะตั้งรัฐบาลตามประเพณีนิยมที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ สว. ไม่เห็นด้วยกับเขา ในที่สุดเขาก็โหวตไม่ผ่าน พอไม่ผ่านก็ไปที่เพื่อไทย เพื่อไทยก็รู้อยู่เช่นเดียวกันว่า ถ้าตัวเองจะเป็นรัฐบาล ถ้า สว. ไม่เห็นด้วย ก็ต้องเอาฝั่งที่ สว. เห็นด้วยเข้ามาเป็นพวก ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อันนี้เป็นความจริง ถ้าไม่เอาสองพรรคนี้เข้ามา สว. ก็ไม่โหวตให้ สว. มีหน้าที่ที่จะจัดตั้งรัฐบาล เรียกว่าเป็นทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้งผสมกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แปลว่า การที่จะตั้งรัฐบาลครั้งนี้มันมีปัญหาอย่างมาก ก็คือพรรคการเมืองที่จะเข้ามาร่วมรัฐบาลจะมี 4 พรรคอย่างน้อยที่มีอำนาจ
อย่างน้อยเพื่อไทยแน่นอนมีอำนาจในแง่ของคะแนน ภูมิใจไทยมีอำนาจในแง่ของคะแนนเป็นลำดับสอง อีกสองพรรคคือพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติจะมีอำนาจในการมี สว. เป็นกำแพง มีปัญหาอะไรก็มี สว. เป็นกำแพง ก็แปลว่าแทนที่เขาจะมี สส. แค่ 10 กว่าคนหรือ 30 กว่าคน ตามตัวเลขไม่จริง ก็ต้อง 40 กว่า บวกๆ 30 กว่าบวกๆ ก็เลยแปลว่าจะมี 4 พรรคใหญ่
‘ประสบการณ์ของผมในการตั้งรัฐบาลที่มีหลายพรรคใหญ่มารวมกัน มันจะไม่มีใครเป็นผู้นำได้ เพราะเหตุว่าทุกพรรคเขาก็จะเอาตัวของเขาเอง’
“จากประสบการณ์ของผม อย่างเช่นตอนคุณชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็มีทางพรรคชาติพัฒนาเข้ามาเป็นพรรคร่วม ซึ่งตอนนั้นคุณชวลิตได้ 120 กว่า พรรคชาติพัฒนาได้ 70 กว่าเสียง เรียกว่าเป็นเบอร์สอง แต่ว่าก็ห่างกันตั้งเยอะ นอกนั้นเป็นพรรคอื่นๆ แต่ว่าขนาดนี้ ทางพรรคชาติพัฒนาก็ยังต่อรองสารพัดอย่างกับคุณชวลิต พรรคความหวังใหม่ ทำให้ทำงานไม่ได้ นี่แค่สองพรรค”
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเลือกนายกฯ แล้ว ก็ชัดเจน ภาพออกมาเลยว่า นายกฯ จะคุมทีมไม่ได้ เพราะเหตุว่าทีมของ ครม. จะมาจากหลายพรรค เป็นเรื่องของพรรคใครพรรคมัน แต่ละพรรคก็จะมีรองนายกขึ้นเป็นตัวแทนของตัวเอง
“ผมก็เลยคิดว่า ถึงแม้เราสามารถเลือกนายกได้ การตั้ง ครม. ก็จะยากมาก แล้วก็เมื่อตั้ง ครม. ยากแล้ว มันก็จะได้เรียกว่าประนีประนอมแบบไม่เต็มใจ พอประนีประนอมแบบไม่เต็มใจ มันก็ฝังในจิตใจ ทำให้เวลาประชุม เวลาอะไรต่ออะไร ก็คอยขัดข้องขัดขวางกัน หรือเรียกว่าผู้นำ (นายกรัฐมนตรี) นำไม่ได้ นำลำบาก”
เพราะฉะนั้นก็แปลว่า ครม. ที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็น ครม. ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า fragmented (กระจัดกระจาย) ที่สุดเท่าที่ผมเคยมีประสบการณ์ในประเทศไทยมา 50 ปี แค่ fragmented น้อยๆ สองพรรค สามพรรคยังลำบาก อันนี้จะมีมากกว่า 4 พรรค และในพรรคของตัวเองแต่ละพรรคก็จะมีการแย่งกันด้วย ไม่ใช่เฉพาะระหว่างพรรคเท่านั้น ในการแย่งตำแหน่ง ครม. ยิ่งทำงานยากลำบาก
เลยมีข้อสรุปว่า เรามี ครม. ที่บอกว่าจะมาช่วยแก้ปัญหา แต่สถานการณ์ สถานภาพของเขา ของ ครม. ยังไม่อยู่ในสถานภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาได้มากนัก อันนี้มันจะชัดเจนมาก ผมรับรองว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน
ใช่ครับ ตามที่เรียกว่า fragmented มันมีหลายเสี่ยง หลายเสี้ยว จะทำงานลำบากมาก
คืออย่างนี้ครับ ต้องดูระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นความหมายของมันก็คือเราต้องเข้าใจว่าการเมืองไทยช่วงนี้ ช่วงปี 2566 ปี 2567 คงเป็นอย่างนี้
หมายความว่าเราจะมีรัฐบาลที่จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ไม่ได้มีเวลาจะแก้ปัญหามากอย่างที่เขาได้เสนอเอาไว้ เขาแสดงเอาไว้ ที่เขาหาเสียงเอาไว้ ปัญหาต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วประชาชนก็ต้องแก้ด้วยตัวเอง
อาจจะพึ่งราชการได้ ถึงแม้จะมีการบ่นกันว่าราชการไม่ทันการณ์ แต่อย่างน้อยราชการไม่ได้ทะเลาะกัน แต่ทาง ครม. คงมีประเด็นที่จะออกข่าวหรืออาจจะโต้กันเป็นระยะๆ เหมือนสมัยก่อน ถ้าเป็นตัวอย่างละครเล็กๆ ในอดีตที่ผ่านมา อย่าง ครม. สมัยรัฐบาลคุณชวลิต (ยงใจยุทธ) กับคุณชาติชาย (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) ถ้าเราไปย้อนดูปี 1997 เราก็จะเห็นว่ามีข่าวออกมาจาก ครม. เกี่ยวกับ 2 พรรคนี้ ที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เกิดวิกฤติค่าเงินบาทล่มสลาย ถ้าการเมืองดีกว่านั้น รัฐบาลดีกว่านั้นเราคงสามารถแก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤติ แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ไม่ถึงกับว่าล่มสลายรุนแรง
เนื่องจากว่าตอนนั้นกับตอนนี้ ก็ต่างกัน ตอนนั้นเศรษฐกิจมหภาคของประเทศอ่อนแอ สภาพเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศอ่อนแอมาก แล้วก็การที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอ ก็ต้องมีนโยบายการเงินการคลังที่แข็งแรงถึงจะมาช่วยเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องแข็งแรง นโยบายดอกเบี้ยก็ต้องแข็งแรง นโยบายบริหารสถาบันการเงินก็ต้องแข็งแรง แต่ในเมื่อใน ครม. ทะเลาะกัน เช่น การเพิ่มภาษีสรรพสามิต เพื่อให้มาเป็นรายได้เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลมีปัญหาทางด้านการเงิน ก็ทะเลาะกัน จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าเงินบาท เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ทะเลาะกันแบบออกข่าวที่มันไม่ตรงกัน ประชาชนก็สับสน นั่นคือช่วงโน้นที่เศรษฐกิจมหภาคอ่อนแอ
แต่ช่วงปัจจุบันเศรษฐกิจมหภาคแข็งแรงกว่าตอนนั้น เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องหนี้ต่างประเทศเหมือนตอนนั้น เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูงเหมือนตอนนั้น เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเหมือนตอนนั้น
หมายความเศรษฐกิจไทยตอนนี้ เงินมีพอสมควร ไม่ใช่เงินของทุกคนนะ แต่ว่าเงินออมของประเทศมีพอสมควร เพราะว่าบัญชีดุลสะพัดของเราติดบวกมาหลายปี เพราะฉะนั้น สภาพคล่องเรามีพอสมควร หลักฐานก็คือดอกเบี้ยต่ำ ถ้าเราดูจากดอกเบี้ยสถาบันการเงินก็ยังต่ำมาก เงินฝากเกือบจะไม่ได้ดอกเบี้ย หนึ่งเปอร์เซ็นต์ ประมาณแถวๆ นี้ บางแห่งไม่ถึงด้วย บางแห่งเกินอยู่นิดหน่อย แล้วสถาบันการเงินก็แข็งแรงมาก อัตราส่วนทุนเขาต้องการแค่ 8.5% เรามีเกือบ 19% แสดงว่าเศรษฐกิจมหภาคของเราโอเค วิกฤติเศรษฐกิจมันก็ไม่เกิดแบบนั้น ถึงแม้ทะเลาะกันอย่างไรก็ไม่เกิด
แต่ว่าปัญหาที่มีอยู่มากมายก็คือเรื่องปัญหาจุลภาค ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่ราคาพลังงานสูง เพราะราคาพลังงานโลกมันสูง ทำให้ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส มันต้องแพง ทุกคนเดือดร้อนหมด
อีกอันที่เป็นปัจจัยเสี่ยงคือ รายได้ของประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ได้โต คือโตน้อย โตช้า ยิ่งตอนโควิดไม่โตเลย ติดลบ ตอนหลังก็โตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ และปีนี้ 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรายได้ของประชาชนทั่วไปไม่ได้เพิ่มมากพอ เพราะฉะนั้น ปัญหาระยะสั้นก็คือค่าครองชีพจะรุนแรงมาก
เรื่องของสินค้าราคาสูง อันนี้มันช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะโลกมันเปลี่ยน การซื้อขายสินค้าที่สำคัญทั้งพลังงานและอาหารที่เป็นผลจากการทะเลาะกันของรัสเซียกับยูเครน และมีชาติตะวันตกเข้าไปร่วมในกระบวนการทะเลาะกันที่ว่านี้
“และมีเรื่องจีนกับอเมริกาทะเลาะกัน แล้วมีผลกระทบต่อขบวนการผลิตทั้งหลาย ซึ่งพวกเราคุ้นเคยกับของถูกมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2000 ถ้าดูสินค้าโดยทั่วไปราคาเกือบจะขึ้นนิดๆ แต่ลดลงด้วยซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสินค้าอุปโภคของใช้ ไม่ใช่ของกินนะ ของใช้ราคาไม่ได้ขึ้น เห็นชัดเจนเครื่องไฟฟ้า เสื้อผ้า ถ้าไม่ได้เป็นแบรนด์เนม ไม่ได้ขึ้น เพราะเหตุว่ามันมีการผลิตโดยมี supply chain มีห่วงโซ่ สามารถที่จะใช้การผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุด มันก็เลยทำให้เงินเฟ้อเราไม่มีเลย จนกระทั่งมาเริ่มทะเลาะกันเมื่อ 5 ปีก่อน และ 3 ปีมานี้ก็เห็นชัด ทั้งๆ ที่มีโควิด ทั้งๆ ที่ดีมานด์ไม่ขึ้น แต่ว่าต้นทุนก็ขึ้นเพราะว่าทะเลาะกัน”
เพราะฉะนั้น ในแง่ของระยะสั้นเราแก้ปัญหาราคาแพงไม่ได้จริงๆ เพราะว่าโลกก็เป็นอย่างนี้จากการทะเลาะกัน ของก็เลยแพง พอของแพงประชาชนทั่วไปก็มีความจำเป็นจะต้องเจอกับของแพง จะไปให้รัฐบาลช่วยมันก็ไม่ได้
“โดยเฉพาะที่การเมืองมีการสัญญาว่าจะลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของเราเอง ถ้าจะลดราคาก็ต้องไม่ซื้อจากเขา ไม่จ่ายตังค์เขาก็ไม่มีของใช้ ถูกมั้ยครับ มันก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลต้องทราบ เมื่อทราบแล้ว รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ประชาชนก็ต้องดูแลตัวเอง ระยะสั้นจะเป็นอย่างนี้”
ผมเองก็ไม่มีคำแนะนำอื่น ประชาชนก็ต้องบริหารจัดการรายได้อะไรต่างๆ ของตัวเองเป็นสำคัญ จะไปเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล เนื่องจากเรามีรัฐบาลที่ fragmented ไม่มีอำนาจพอที่จะมาร่วมกันและแก้ปัญหาประชาชนอย่างรวดเร็ว ระยะสั้นสรุปได้อย่างนี้เลย ปีนี้ ปีหน้า อย่างน้อย 12 เดือนข้างหน้าจะต้องเจอ จะไปเรียกร้องอะไรก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แก้ยาก
ระยะยาวที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ก็คือว่าเวลาเราจะพูดถึงระยะยาว บทบาทรัฐบาลจะสำคัญ เพราะว่าระยะยาวมันอยู่ที่นโยบาย ถ้านโยบายมันถูกต้อง โครงสร้างของเศรษฐกิจมันก็จะเปลี่ยนไปในทางที่เราจะสามารถโตได้
ประเทศไทยถ้าเราโตอยู่แค่ 3% ไม่ได้ กับต้นทุนค่าครองชีพแบบนี้ และเราไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วพอ มันอยู่ลำบากมาก เพราะฉะนั้น โครงสร้างของประเทศนี้ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งโครงสร้างจะเปลี่ยนได้ ก็ต้องอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญที่สุดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือว่าโครงสร้างการผลิต ราคาโลก มันเปลี่ยน
เพราะฉะนั้น เมื่อโครงสร้างการผลิต ราคาโลก มันเปลี่ยน โครงสร้างของเราก็ต้องสอดคล้องกับการผลิตและราคาโลก จะได้ขายของได้ คนมาลงทุนบ้านเราและขายของได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งซึ่งทำให้เราสอดคล้องกับโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของการผลิตการค้าโลก
อันที่สำคัญคือเราจะอิงกับจีนขนาดไหน เพราะจีนเป็นตัวสำคัญที่อยู่ใกล้บ้านเราที่สุด เราจะอิงกับจีนที่จะเปลี่ยนแปลง เน้นการผลิตของตัวเองได้ขนาดไหน ก็เป็นนโยบายของรัฐแล้ว ในขณะเดียวกันเราจะไม่สร้างศัตรูกับฝั่งตะวันตกได้อย่างไร เพราะอย่างน้อยก็มีปัญหากับฝั่งตะวันตก ก็เกิดการประท้วงเรื่องการลงทุน
เช่น ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีประเด็นกับพม่าที่เราต้องใช้แก๊สธรรมชาติมากมายมหาศาล แต่ตะวันตกเขาไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า เพราะฉะนั้น นโยบายของเราที่เกี่ยวข้องกับพม่ามีความสำคัญมาก ว่าเราจะทำได้อย่างไร เราจะได้รักษาปริมาณแก๊สธรรมชาติที่เราได้จากพม่าเอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องระดับบนไม่ใช่ระดับประชาชน แปลว่า นโยบายของรัฐบาลและอาเซียน เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุดข้อนี้ ก็คือที่เราจะปรับโครงสร้างการผลิตของเราให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการค้าของโลก อันนี้สำคัญที่สุดเลย นี่คือเรื่องแรก
ข้อที่สองก็คือเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ผมคิดว่าเป็นตัวช่วย แต่ว่าเป็นเรื่องนโยบายรัฐบาลเหมือนกัน ประชาชนทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลจะสนับสนุนให้ใช้ขนาดไหน ที่จริงตอนนี้รัฐบาลที่ผ่านมาก็เห็นการพัฒนาเรื่องนี้มากพอสมควร แต่ว่าการใช้น่าจะไปได้มากกว่านี้อีก ที่มีแอปโน้น แอปนี้ มาจากภาครัฐ แล้วมาใช้ประโยชน์ในการบริหาร แต่แม้แต่เรื่องเทคโนโลยีก็เหมือนกัน มันก็มีการแข่งขันในโลก ว่าเราจะเป็นพวกใคร ถ้าเป็นพวกใครแล้ว จะถูกอีกพวกหนึ่งต่อต้านมั้ย
“ที่ผมพูดเมื่อสักครู่ก็คือข้อที่หนึ่ง ปรับโครงสร้างตัวเองให้สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตการค้าโลก ซึ่งต้องเป็นรัฐบาล สองก็คือบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลให้ประชาชนได้ใช้แล้วก็ไม่ไปทะเลาะกับผู้ที่เป็นมหาอำนาจในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลนี้”
นอกจากนั้น ก็มีเรื่องประเด็นที่คิดว่าเป็นนโยบายเหมือนกัน ก็คือเรื่องโลกร้อน การบริหารปัญหาโลกร้อนอย่างไรให้เป็นประโยชน์แก่เรา เพราะว่าประเทศที่ยากจน ไปสัญญากับเรื่องโลกร้อนไว้มากมาย… ทำไม่ได้หรอก โดยทั่วไปทำไม่ได้เพราะไม่มีเงินจะทำ ประเทศที่เขาร่ำรวยเขาสัญญาว่าจะทำให้คาร์บอนเป็นเท่านั้นเท่านี้ ถ้าทำไม่ถึงเขาก็ซื้อเอา เพราะฉะนั้น ข้อสัญญาทั้งหลายทำยากมาก แต่ว่าถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะสนองตัวนี้ให้ได้มากที่สุดที่ได้ BCG เรื่อง bio-circular-green ตัวที่เป็นที่จะมีโอกาสมากที่สุดก็คือ bio ซึ่งเขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มี biodiversity
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสร้างเศรษฐกิจที่มีฐานของ bio มันก็จะช่วยเรื่องโลกร้อนได้เยอะมาก และก็สนองเรื่อง climate change ด้วย แต่ก็ต้องเป็นนโยบายรัฐบาล ประชาชนทำเองไม่ได้ ผมยกตัวอย่างง่ายสุด ก็คือ bio ที่มีค่ามากที่สุดก็คือไบโอฟาร์มา หมายความว่ายา มี bio เป็นฐาน ขณะนี้ยาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีเคมิคอลเป็นฐาน มีโมเลกุลจากเคมีที่สร้างขึ้นมาเป็นฐาน แต่ว่าถ้าเราจะไปไบโอฟาร์มา มันต้องเอาพวกพืชทั้งหลายเป็นฐาน ซึ่งพืชทั้งหลายในประเทศไทยมีเยอะมาก ที่เราพูดกันสมุนไพรมันจะมีสารอยู่ในนั้นซึ่งสามารถสกัดออกมากแล้วทำเป็นระดับยาได้ มันจะมีค่ามากเลย ประชาชนก็จะได้ประโยชน์
นโยบายเรื่องนี้ เรื่อง climate change เรื่องโลกร้อนที่ปฏิบัติได้ เป็นนโยบายที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคนิคเยอะ แล้วก็หลายหน่วยงานต้องเห็นด้วยกัน ถ้าบางกระทรวงไปทางหนึ่ง บางกระทรวงไปทางหนึ่ง มันไม่ได้เลย เพราะ bio มันต้องรวมหลายหน่วยงาน ทั้งการเกษตร ทั้งวิทยาศาสตร์ ทั้งสาธารณสุข ทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้น อันนี้สำคัญมาก
ระยะสั้นที่ได้เรียนแล้วว่า เราคงพึ่ง ครม. ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เราก็คาดหวังว่า ครม. จะมากำหนดนโยบายใหญ่ๆ ที่ว่าเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ออกไปสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ถ้าหากปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจก็จะโตมากกว่า 3% ถ้าเศรษฐกิจมันโต 4-5% ถึงแม้ของบางอย่างจะแพงด้วยการที่ทะเลาะกัน ประชาชนก็สามารถอยู่ได้ ทั้งสองต้องเอาเศรษฐกิจจุลภาคกับเศรษฐกิจมหภาคมาวิเคราะห์ด้วยกัน
เพราะฉะนั้น เราจะแก้ปัญหาจุลภาคโดยการบรรเทาเท่านั้น แต่จะแก้ปัญหาจริงๆ ต้องเอาเศรษฐกิจมหภาคในระยะยาว คือเศรษฐกิจโตสัก 5% ถ้าเศรษฐกิจมันโต 5% แม้ของจะราคาเป็นอย่างนี้ ประชาชนก็สามารถที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะทุกคนก็ต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมีที่อยู่อาศัย มีการเดินทางสะดวก มีโอกาสที่จะทำมาค้าขายได้ โดยไม่ลำบากเกินไป พวกนี้เศรษฐกิจต้องโต เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวอย่างนั้นแล้วไปได้
มีอีกเรื่องที่สำคัญมากเลยที่ก็ต้องเป็นระดับนโยบายเหมือนกันเพราะว่าจะกระทบทั้งประชาชนทั่วไป และกระทบทางด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศด้วย ก็คือเรื่องของสังคมที่สูงวัย อันนี้ก็เป็นเรื่องภายในของเราเอง มันจะท้าทายเราอย่างมากเลย จะไม่เรียกว่าระยะยาว เรียกว่าระยะสั้นด้วย เพราะเหตุว่าทุกปีตอนนี้มันจะมีคนที่อายุเกิน 60 ปีเพิ่มขึ้นๆ ผมเองก็เกินมาตั้งเยอะแล้ว เกือบ 20 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นนโยบายทางด้านที่จะดูแลสังคมที่มีผู้สูงวัยจำนวนมาก ก็ต้องมาจากรัฐบาล หมายความว่ารัฐบาลต้องกำหนดว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร จะสนับสนุนอย่างไร จะช่วยทั้งหมดก็ไม่มีตังค์ รายได้ของรัฐไม่พอ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีมากกว่านั้น นโยบายต้องละเอียดกว่านั้น
ต้องทำอย่างไร ข้อที่หนึ่ง ทำอย่างไรให้กลุ่มที่อายุเกิน 60 ปีมีรายได้บ้าง ซึ่งทำอยู่ตอนนี้คือเงินสำหรับผู้สูงอายุ แต่จะทั่วไปไหม ห่ากทำทั่วไป เงินก็ไม่พอ จะเฉพาะเจาะจงไหม ก็เลือกยาก ดังนั้นในส่วนที่เราสร้างระบบที่ทำให้คนที่อายุพอผ่าน 60 ปีแล้ว ยังดูแลตัวเองได้ โดยใช้ระบบของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในการดูแลตัวเอง อันนี้ทำได้ไม่ลำบากเลย สามารถทำได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลง
“ในขณะเดียวกันผมเองก็มีความเชื่อว่า คนที่อายุ 60 ปีก็ยังทำงานได้ก็ยังแข็งแรง ต้องมีคำว่าถ้านะ ถ้าแข็งแรง การที่จะให้แข็งแรงก็ต้องมีกระบวนการสาธารณสุขที่จะช่วยเขาให้แข็งแรง เพราะในขณะเดียวกันอาชีพที่จะสามารถให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งคนอายุขนาดนี้ทำได้ด้วยก็สามารถสร้างได้ เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสร้างได้เยอะเลย ให้ทำอะไรเองได้ ผมเองอายุเกิน 60 มากว่า 20 ปีผมก็หากินได้ตลอด ไม่ได้ลำบาก เพราะผมดูแลสุขภาพตัวเอง”
ถูกต้อง อันนี้ผมถึงบอกว่าประชาชนดูแลตัวเองคนเดียวไม่พอ มันจะต้องมีนโยบายระดับรัฐ ต้องมี ครม.ที่ต้องมีนโยบายพวกนี้ออกมา สังคมสูงวัยเป็นเรื่องภายในของเรา ชาติอื่นไม่เกี่ยว แต่เรื่องอื่นที่ผมพูดตอนต้น ชาติอื่นเกี่ยวและเราเกี่ยวกับชาติอื่น ซึ่งมันต้องระดับรัฐบาล
เรื่องภายใน ประเด็นอื่นก็มีเยอะเป็นเรื่องระยะยาวเหมือนกัน การเปิดโอกาสให้คนที่จะสามารถช่วยตัวเองในเชิงอาชีพได้ด้วย มันก็มีความจำเป็นที่จะทำให้สถานที่ทั้งหลายที่ประชาชนอยู่ เป็นที่ซึ่งทำมาหากินได้ อันนี้ผมพูดมาตลอด ก็คือแผ่นดินที่อยู่ น้ำที่มี ไฟที่มี มันจำเป็นมาก สำหรับทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ต้องมีดิจิทัลเข้าไป มีไวไฟก็ต้องมี
ถ้าเรามีดิน มีน้ำ ถนนมีแน่นอนอยู่แล้ว ไฟมีแน่นอนอยู่แล้ว แล้วก็มีไวไฟ ดินกับน้ำยังไม่สมบูรณ์ ไวไฟก็ยังไม่ทั่ว เพราะฉะนั้นที่ผมบอกว่าให้คนสามารถดูแลตัวเองมีอาชีพ เลี้ยงดูตัวเองได้บ้าง โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน 3-5 อย่างเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำได้และก็ไม่ยากด้วย โจทย์ง่ายๆ
แต่ขณะนี้ก็ยังไม่พอ ยังจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่เน้นในเรื่องของ supply size ให้ปัจจัยการผลิตทั้งหลายของประเทศมันมาใช้ประโยชน์ได้ สำคัญมาก ประเทศไทยมีน้ำเยอะแยะ แต่เราปล่อยให้มันลงทะเลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในหลวง ร.9 ท่านตรัสมาตั้งนานแล้วเรื่องการกักเก็บน้ำอย่างไร แล้วก็เคยมีรัฐบาลสมัยคุณยิ่งลักษณ์ที่พยายามทำเรื่องระบบน้ำให้สมบูรณ์แบบตอนหลังมาก็เลิกไป ก็น่าเสียดาย
อีกอันที่สำคัญคือเรื่องกรรมสิทธิ์ ตอนรัฐบาลคสช.เข้ามา ผมเองก็ผลักดันเรื่อง single map แผนที่เดียวจะได้ไม่ต้องฟ้องร้องกันมากมาย ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินมันชัดเจน อะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้
ประเทศไทยตอนนี้เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ไม่ชัดเจน ก็มีปัญหาที่เราพูดๆๆ พวกเราก็ได้ข่าวกันอยู่ใช่ไหมครับว่าแผนที่ทับกันไปทับกันมา ทุกคนก็อ้างกฎหมายของตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่ระดับรัฐบาลต้องทำ ไม่ใช่ประชาชนทำกันเอง เพราะฉะนั้นมีโจทย์ของรัฐบาลในด้านระยะยาว ในแง่ของโครงสร้างต้องทำอีกเยอะเลย แต่ถ้าครม.อ่อนแอก็ทำได้ยาก ทำได้ช้า ประชาชนก็ต้องผลักดัน ต้องรีบทำ
ถ้าเราแปลจะสิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆนะครับ ก็คือว่า สายกองทัพเขาเห็นว่าภาคประชาชนโดยการนำของคุณทักษิณแข็งแรงเกินไป เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องการให้ภาคประชาชนโดยการนำของคุณทักษิณไม่แข็งแรงเกินไป ซึ่งตอนนี้เวลานี้เขาทำสำเร็จแล้ว
“หมายความว่าพรรคเพื่อไทยโดยคุณทักษิณ ต้องไปขอให้เขามาร่วมมือด้วย ก็แปลว่าถ้าสายคสช.ทำสำเร็จ สำเร็จในแง่ของระยะสั้น ในแง่ของตัวตน ใช่มั้ยครับ แต่ว่าประเด็นในทางที่สายกองทัพ ยังต้อง…ยังคงยังเชื่ออยู่ว่าการเมืองไทยต้องมีทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง ยังต้องมีอยู่”
“เพราะฉะนั้นการที่บอกข้ามขั้วเรียบร้อยแล้วจะได้ทำงานด้วยกันได้ อะไรต่ออะไร ผมคิดว่าทางฝ่ายกองทัพเขาคงยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเขายังสามารถมีบทบาทในเรื่องของรัฐบาลในอนาคตแค่ไหน เพราะว่าพอพรรคก้าวไกล ขึ้นมามีเสียงเยอะแยะ แทนที่เขาจะต้องไปพะวงเกี่ยวกับเรื่องสายประชาชนที่มีพรรคคุณทักษิณเป็นผู้นำ มันก็กลายเป็นพรรคก้าวไกลที่มีประชาชนสนับสนุนจำนวนมาก”
เพราะฉะนั้นบทต่อไปของการเมืองก็คือว่า ทางสายกองทัพเขาจะบริหารสายประชาชนกลุ่มนี้อย่างไร ซึ่งยังเป็นโจทย์ยังต้องดูอยู่ แต่ว่าผมมีความเชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ทางสายกองทัพก็ยังเชื่อมั่นว่าเขายังต้องมีบทบาทในเรื่องการบริหารประเทศ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ เขาคิดว่าการเมืองทำให้ความมั่นคงมันลดน้อยลง
โดยสายกองทัพเขาต้องยึดความมั่นคงเป็นหลัก มั่นคงมากกว่ามั่งคั่ง แต่ถ้าเป็นสายเศรษฐกิจก็ต้องการมั่งคั่งมากกว่ามั่นคง ความเห็นผม “มั่งคั่งแล้วจึงมั่น” คงใช่ไหมครับ ลอจิกของพวกเรา แต่ทางสายกองทัพ ถ้ามั่นคงแล้ว มั่งคั่งมาทีหลัง มั่นคงสำคัญกว่า จะไม่มั่งคั่งก็ไม่เป็นไร ขอให้มั่นคงก็แล้วกัน
ในระยะที่ผมยังเห็นอยู่ตอนนี้ แน่นอนผมก็ไม่สามารถที่จะเห็นไปถึงร้อยปี แต่ว่าในช่วงเวลาที่ผมดูคำนวน อายุขัยของคน ตำแหน่งของคน กฎหมายทั้งหลายที่มีอยู่ 10 ปีข้างหน้าก็ต้องเป็นลูกผสม หมายถึง สว.ก็ยังมีอำนาจ ไม่ถึงกับตั้งนายกฯ แต่ก็ยังมีอำนาจในเรื่องของกฎหมายทางด้านการเงินทั้งหลาย ต้องผสมระหว่าง สว.กับ สส. เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ หมายความว่าสาย สส.อย่างเดียว ผมคิดว่า ไม่เกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้าอย่างน้อย ไม่เกิดขึ้น
ที่ผมตอบไปเมื่อสักครู่ ทางสายกองทัพเองยังไงก็ จากประสบการณ์ของผมนะ สายกองทัพก็ต้องมีความมั่นใจว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทางสายกองทัพเขาดูแล้ว เขาอาจจะเห็นว่า สายประชาชนที่มาทางพรรคก้าวไกลแข็งแรงมาก เขาก็หาวิธีไม่ให้แข็งแรง ไปกระทบถึงความมั่นคง เขาก็มีวิธีของเขา ก็เหมือนตอนสมัยทักษิณเขาก็ทำเหมือนกัน