ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานเดินหน้ายุทธศาสตร์ไฮโดรเจน

ASEAN Roundup เวียดนามมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานเดินหน้ายุทธศาสตร์ไฮโดรเจน

25 กุมภาพันธ์ 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2567

  • เวียดนามมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานเดินหน้ายุทธศาสตร์ไฮโดรเจน
  • เวียดนามเตรียมยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจากประเทศร่ำรวย
  • อินโดนีเซียประกาศสิทธิภาษีชุดใหม่ขับเคลื่อนสู่ศูนย์กลาง EV ในอาเซียน
  • อินโดนีเซียตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์
  • กัมพูชาเปิดตัวแผนแม่บทระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ปี2566-2576
  • ลาวออกกฎระเบียบภาษีใหม่สำหรับอีคอมเมิร์ซ

    เวียดนามมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานเดินหน้ายุทธศาสตร์ไฮโดรเจน

    ที่มาภาพ: https://www.vietnam.vn/en/hydroxanh-giai-phap-quan-trong-de-thuc-hien-cam-ket-net-zero/
    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) จัดการประชุมที่กรุงฮานอยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพื่อชี้แจงยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของประเทศที่วางไว้จนถึงปี 2573 ด้วยวิสัยทัศน์จนถึงปี 2593

    ผู้แทนจากส่วนงานน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินของกระทรวงฯ กล่าวว่า เป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์พลังงานไฮโดรเจน คือ การพัฒนาระบบนิเวศพลังงานไฮโดรเจนของเวียดนามโดยอาศัยพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง และการจัดจำหน่ายเพื่อใช้ภายในประเทศและการส่งออกด้วยโครงสร้างพื้นฐานระบบที่สอดคล้องและทันสมัย เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงาน และการดำเนินการตามเป้าหมายระดับชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตสีเขียว และการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามแผนงานของประเทศและความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน เสมอภาค และยุติธรรม

    ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาไฮโดรเจนที่นำมาใช้เมื่อต้นเดือนนี้ เวียดนามตั้งเป้าที่จะผลิตไฮโดรเจน 100,000-500,000 เมตริกตันต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10-20 ล้านตันภายในปี 2593 ตามเอกสารของรัฐบาลที่มีรายละเอียดยุทธศาสตร์ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์สได้ได้มีโอกาสเห็น

    การผลิต การจำหน่าย และการใช้ไฮโดรเจนจะช่วยให้ “บรรลุเป้าหมายระดับชาติของประเทศในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตสีเขียว และบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593” เอกสารระบุ

    ไฮโดรเจนจัดอยู่ในประเภทพลังงานสีเขียวเพราะสกัดจากน้ำโดยใช้อิเล็กโทรลิซิสที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทน และมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรม แม้เทคโนโลยีจะยังคงมีราคาแพงและยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาก็ตาม

    เอกสารดังกล่าวระบุว่า ผลผลิตไฮโดรเจนจะทดแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในโรงไฟฟ้าบางส่วนภายในปี 2573 และจะนำไฮโดรเจนไปใช้ในการขนส่ง และการผลิตปุ๋ย เหล็ก และซีเมนต์ด้วย

    ภายในปี 2593 ไฮโดรเจนจะมีสัดส่วน 10% ของการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

    เวียดนามจะระดมเงินทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการผลิตไฮโดรเจน รวมถึงการออกพันธบัตรสีเขียวและจาก Just Energy Transition Partnership (JETP) ซึ่งเป็นโครงการทางการเงินที่ประกอบด้วยการลงทุนในหุ้นทุน เงินช่วยเหลือ และ เงินกู้แบบผ่อนปรนจากสมาชิกของกลุ่ม G7 ธนาคารพหุภาคีและผู้ให้กู้เอกชน

    เพื่อให้นำยุทธศาสตร์พลังงานไฮโดรเจนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการประชุม รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เหงียน ฮง เดียน ได้ขอให้กระทรวง ภาคกลาง และท้องถิ่นมุ่งเน้นไปที่งานสำคัญและเร่งด่วน ที่ครอบคลุมการอัปเดตนโยบายและทิศทางที่กำหนดไว้ยุทธศาสตร์ เพื่อปรับเปลี่ยน เสริมและบูรณาการเข้ากับแผนภาคส่วนระดับชาติและระดับจังหวัด วิจัยและเสนอการพัฒนา แก้ไข และเสริมเอกสารทางกฎหมาย กลไก และนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับยานพาหนะ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร

    รัฐมนตรีขอให้กระทรวง สาขากลาง และท้องถิ่น ทำการศึกษาวิจัย และประกาศใช้มาตรฐานและระเบียบข้อบังคับระดับชาติในด้านการผลิต การใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง และด้านการดักจับ/ใช้คาร์บอน ตามระเบียบและมาตรฐานสากล พัฒนาโครงการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน และดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ

    สำหรับบริษัทและกิจการในอุตสาหกรรมพลังงานและสมาคมต่างๆ รัฐมนตรีเน้นย้ำไปที่การทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วนและการปฏิบัติงานและแนวทางแก้ไขที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ เพื่อวิจัยเชิงรุก เสนอ และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการพัฒนาและประกาศใช้กฎระเบียบและกลไกนโยบายที่เป็นไปได้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน

    ยุทธศาสตร์พลังงานไฮโดรเจนที่ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี ได้เปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานของเวียดนามในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะอาด และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรคและรัฐ ตลอดจนแนวโน้มการพัฒนาโดยทั่วไปของโลก

    เวียดนามเตรียมยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจากประเทศร่ำรวย

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/travel/vietnam-considers-visa-exemption-for-nationals-of-wealthy-countries-4714848.html
    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์จิ่ง ได้สั่งให้หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองพิจารณายกเว้นวีซ่า 6 ถึง 12 เดือนสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศร่ำรวย เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว

    ในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ ระบุว่า รายชื่อประเทศที่พลเมืองจะได้รับการยกเว้นวีซ่าเพียงฝ่ายเดียวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 13 ประเทศ ประกอบด้วย เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเบลารุส

    นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้หน่วยงานพิจารณาออกวีซ่าระยะยาวและเข้าได้หลายครั้งจาก 12 ถึง 36 เดือน เพื่อดึงดูดผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติที่มีฐานะร่ำรวยจากยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อเมริกาเหนือ อินเดีย และบางประเทศในตะวันออกกลาง

    ข้อสั่งการนี้เกิดขึ้นในบริบทที่บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และมาเลเซีย ได้จุดประกายให้เกิดการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ด้วยนโยบายฟรีวีซ่า

    ขณะนี้เวียดนามยกเว้นวีซ่าสำหรับนักเดินทางจาก 25 ประเทศ เทียบกับ 162 ประเทศของมาเลเซียและสิงคโปร์ 157 ประเทศโดยฟิลิปปินส์ 68 ประเทศโดยญี่ปุ่น 66 ประเทศโดยเกาหลีใต้ และ 64 ประเทศโดยไทย

    เวียดนามออกวีซ่านักท่องเที่ยวนานสูงสุด 3 เดือนให้กับพลเมืองของทุกประเทศและเขตปกครอง เมื่อปีที่แล้วมีผู้มาเดินทางเยือนจากต่างประเทศ 12.6 ล้านคน หรือเพียงประมาณ 70% ของจำนวนก่อนเกิดโควิด จีน อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในแหล่งนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว

    อินโดนีเซียประกาศสิทธิภาษีชุดใหม่ขับเคลื่อนสู่ศูนย์กลาง EV ในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/chinese-ev-manufacturer-byd-announces-13-billion-investment-in-indonesia
    อินโดนีเซียได้ประกาศ สิทธิประโยชน์ทางภาษีชุดใหม่เพื่อส่งเสริมการขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศและนำเข้า (EV) ซึ่งเป็นการดำเนินการครั้งล่าสุดเพื่อเพิ่มการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ตลาด EV และศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    รายละเอียดของสิทธิภาษีที่ประกาศนี้มีขึ้นหลังประกาศแผนสิทธิภาษีในเดือนธันวาคมสำหรับ EV ที่นำเข้าสำหรับผู้ผลิตที่ตรงกับจำนวนการนำเข้ากับ EV ที่ผลิตในประเทศในปีต่อๆ ไป

    ภายใต้สิทธิภาษีชุดใหม่ อินโดนีเซียจะยกเลิกภาษีฟุ่มเฟือยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับปีงบประมาณ 2567 และภาษีนำเข้าจนถึงสิ้นปี 2568 นอกจากนี้ยังจะลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 1% จาก 11% สำหรับผู้ซื้อ EV ในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายการลดหย่อนภาษีที่สิ้นสุดลงในสิ้นปี 2566

    สิทธิภาษีจูงใจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์ รัฐบาลกล่าว

    นาย รัชมัต ไกมุดดิน (Rachmat Kaimuddin) รัฐมนตรีช่วยประสานงานที่กำกับดูแลการพัฒนาภาคส่วน EV กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายได้เปิดเผยแผนการที่จะเปิดตัวรถยนต์ในอินโดนีเซีย นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศความตั้งใจที่จะให้สิทธิประโยชน์จูงใจ

    BYD ของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากปริมาณการขาย เมื่อเดือนที่แล้วได้เปิดตัวรถยนต์ EV ที่ใช้แบตเตอรี่ทั้งหมด 3 รุ่นตามแผนการขายในอินโดนีเซีย
    .
    “หวังว่าความพยายามเหล่านี้จะส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์มากขึ้นและราคาอยู่ในระดับที่ซื้อได้มากขึ้น” นานรัชมัตกล่าวกับผู้สื่อข่าว

    รัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 600,000 คันภายในปี 2573 ซึ่งจะมากกว่า 100 เท่าของจำนวนที่จำหน่ายในอินโดนีเซียในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

    นอกจากนี้ยังตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยใช้ประโยชน์จากปริมาณสำรองนิกเกิลอันมหาศาลของประเทศ ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

    อินโดนีเซียตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์

    ที่มาภาพ: https://www.kenresearch.com/white-paper/indonesia-logistics-market.php
    อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงเหลือ 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2588 จาก 14.29% ในปี 2565 จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจนายแอร์บังกา ฮาร์ตาร์โต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์

    เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ นายแอร์ลังกา กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะใช้กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งระบบนิเวศโลจิสติกส์แห่งชาติ (National Logistics Ecosystem:NLE) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระบบข้อมูล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทต่างๆ โดยรวมแล้ว NLE มีความคืบหน้าด้วยดี

    รัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ ต้องปรับการจัดการโลจิสติกส์ระดับชาติให้สอดคล้องกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ภายในปี 2588 ขึ้นอยู่กับภาวะและพลวัตในตลาดทั้งระดับโลกและในประเทศ ซึ่งสามารถทำได้ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ NLE และขยายการใช้ดิจิทัลไปยังกิจกรรมด้านโลจิสติกส์นอกท่าเรือ การลดต้นทุนด้วยการสร้างมาตรฐานของบริการโลจิสติกส์ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อจากการปรับโครงสร้างเครือข่ายการขนส่งภายในประเทศ และการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ให้เป็นศูนย์รวมสินค้าระดับผู้นำภูมิภาค

    นายแอร์ลังกากล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ในขณะที่ประเทศยังคงพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อขยายตลาดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้

    ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้กล่าวถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในอินโดนีเซียที่สูงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยต้นทุนด้านโลจิสติกส์คิดเป็น 24% ของ GDP เทียบกับ 9-12% ในประเทศอื่นๆ แม้ต้นทุนโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียได้ลดลงแล้วเหลือ 14% แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ

    กัมพูชาเปิดตัวแผนแม่บทระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ปี2566-2576

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501445415/comprehensive-master-plan-on-cambodias-transit-and-logistics-system-2023-2033-published-after-5-years-of-preparation/

    กัมพูชาได้เปิดตัว แผนแม่บทสำหรับการสร้างระบบการขนส่งและโลจิสติกส์แบบลำเลียงเพื่อรองรับธุรกิจ หลังจากเตรียมการอย่างขยันขันแข็งมาเป็นเวลา 5 ปี

    แผนแม่บทสำหรับระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของกัมพูชาได้จากการศึกษาและการจัดทำ โดย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) ธนาคารโลก และบริษัทจีน

    แผนแม่บทที่ครอบคลุมระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของกัมพูชา ปี 2566-2563 33 มีวิสัยทัศน์ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

    ความร่วมมือทางกายภาพและไม่ใช่ทางกายภาพต่อการพัฒนาระบบขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกันด้วยการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงระดับสูงทั้งภายในประเทศและกับภูมิภาค จะยังคงมีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

    แผนแม่บทมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่
    (1) การขยายและปรับปรุงขอบเขตและความสามารถของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
    (2) การปรับปรุงประสิทธิภาพ ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน
    (3) ส่งเสริมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาประเทศ และ
    (4) เสริมสร้างประสิทธิภาพการบริการและต้นทุนการขนส่ง

    แผนแม่บทกำหนดโครงการสำคัญ 174 โครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการถนน 94 โครงการ โครงการทางรถไฟ 8 โครงการ โครงการขนส่งทางน้ำ 23 โครงการ โครงการขนส่งทางทะเล 20 โครงการ และโครงการขนส่งทางอากาศ 20 โครงการ รวมทั้งมีโครงการโลจิสติกส์ 10 โครงการ 15 โครงการอื่นและโครงการเสริม 4 โครงการ

    โครงการเหล่านี้ ครอบคลุมโครงการที่เชื่อมโยงการขนส่งรูปแบบหนึ่งเข้ากับวิธีการขนส่งอื่นและศูนย์โลจิสติกส์ รวมถึงโครงการระยะสั้นและกลาง 90 โครงการ และโครงการระยะยาวอีก 91 โครงการ

    ลาวออกกฎระเบียบภาษีใหม่สำหรับอีคอมเมิร์ซ

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/02/20/lao-government-rolls-out-new-tax-regulations-on-e-commerce/
    กระทรวงการคลังได้ประกาศกฎระเบียบใหม่เรื่องการชำระภาษีภาคบังคับสำหรับแพลตฟอร์มช้อปปิ้งดิจิทัลทั้งหมด ในประกาศล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์

    ประกาศดังกล่าวแบ่งประเภทเว็บไซต์ช้อปปิ้งแพลตฟอร์มดิจิทัลออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กิจการที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กิจการขนาดย่อม และบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และองค์กร

    ภายใต้กฎระเบียบใหม่ กิจการที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและใบรับรองภาษีมูลค่าเพิ่มในโฆษณาสำหรับการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และยังต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบทุกครั้งที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

    อย่างไรก็ตาม กิจการขนาดย่อมไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเมื่อเก็บภาษี แต่ต้องแสดงหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการโฆษณา

    กิจการที่จดทะเบียน VAT กิจการขนาดย่อม รวมถึงบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และองค์กรที่มีรายได้ จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บริการ และกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เฉพาะกิจการที่จดทะเบียน VAT เท่านั้นที่ต้องเชื่อมต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับระบบการจัดการข้อมูลรายได้ภาษี (Revenue Information Management System:TaxRIS)

    ระบบ TaxRIS เป็นการลงทุนของรัฐบาลที่มุ่งปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัย สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้การชำระภาษีง่ายขึ้นสำหรับผู้เสียภาษี ปละเพื่อประกันว่าภาษีทั้งหมดจะรวมอยู่ในงบประมาณของรัฐ และเพิ่มความโปร่งใส

    นอกจากนี้ กลุ่มอีคอมเมิร์ซทั้ง 3 กลุ่มจะต้องยื่นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีกำไร ภาษีเงินเดือน และภาษีอื่นๆ ด้วยตนเอง ผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาล อีกทั้งต้องดูแลรักษาบัญชีตามระบบที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการบริหารการบัญชี( Law on Accounting Management) และยื่นเอกสารประกอบการรับใบรับรองการชำระภาษีประจำปี

    ประกาศดังกล่าวยังแนะนำให้สรรพากรทั่วประเทศปรับปรุงขั้นตอนสำหรับทั้ง 3 กลุ่มด้วย รวมถึงอำนวยความสะดวกในการออกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีให้กับบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบ TaxRIS ได้อย่างเต็มที่

    การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่อาจส่งผลให้ได้รับคำเตือน มีค่าปรับ ถูกดำเนินการทางกฎหมาย หรือแม้แต่การปิดระบบของแพลตฟอร์ม

    กฎระเบียบใหม่ของกระทรวงฯมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการปฏิบัติตามภาษีในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งดิจิทัลในประเทศลาว มาตรการเหล่านี้ รวมถึงการรวมหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและใบรับรองภาษีมูลค่าเพิ่มในโฆษณา สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัย ​​และรับรองความโปร่งใสในการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ