ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กัมพูชาลงนาม FTA เกาหลีใต้กลางปีนี้ เตรียมใช้กฎหมายอาหารปลอดภัย

ASEAN Roundup กัมพูชาลงนาม FTA เกาหลีใต้กลางปีนี้ เตรียมใช้กฎหมายอาหารปลอดภัย

7 กุมภาพันธ์ 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-6 กุมภาพันธ์2564

  • กัมพูชาจะลงนาม FTA กับเกาหลีใต้กลางปีนี้
  • กัมพูชาเตรียมใช้กฎหมายอาหารปลอดภัยปีนี้
  • เวียดนามตั้งเป้าโตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
  • อินโดนีเซียหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ
  • มาเลเซีย-อินโดนีเซียตกลงเปิด Green Lane
  • ลาวใช้มาตรการเข้มคุมโควิดถึง 31 มีนาคม
  • กัมพูชาจะลงนาม FTA กับเกาหลีใต้กลางปี

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50810545/the-next-step-cambodias-historic-trade-agreement-with-south-korea
    กัมพูชาและเกาหลีใต้ ได้ข้อสรุปข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (Cambodia-Korea free trade agreement:CKFTA) ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หลังจากที่มีการเจรจากันและคาดว่าจะลงนามได้ภายในกลางปี ​​2021 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญแห่งข้อตกลงการค้าประวัติศาสตร์ของกัมพูชากับเกาหลีใต้

    ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซนระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประจำในเดือนมีนาคม 2019

    การศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันของข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่เมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2019 หลังจากได้รับการชี้นำของผู้นำทั้งสองประเทศ

    ข้อตกลงการค้า CKFTA มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเปิดเสรีการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ รวมทั้งให้เกิดผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและธุรกิจของทั้งสองประเทศ

    นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเชื่อว่าข้อตกลงทวิภาคีที่สำคัญนี้ จะช่วยเอื้อต่อให้เศรษฐกิจของสองประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในระหว่างและหลังการระบาดของโควิด -19

    นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งสองประเทศจะเตรียมดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อดำเนินการลงนามข้อตกลงโดยมีวางเป้าหมายเบื้องต้นไว้ในช่วงกลางปี ​​2021

    นายพัน กล่าวว่า CKFTA เป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 2 ที่กัมพูชาบรรลุกับประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่า โดยมีข้อตกลง FTA กับจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาแม้เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นข้อตกลงฉบับครั้งแรก กัมพูชายังจัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด

    นายพันกล่าวว่า CKFTA จะขยายการเปิดเสรีทางการตลาดระหว่างสองประเทศนอกเหนือไปจากข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีที่มีอยู่และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ที่ลงนามเมื่อเร็ว ๆ นี้

    รวมทั้งจะช่วยเพิ่มการส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งไม่จำกัดเพียงแต่เสื้อผ้าและสิ่งทอ รองเท้า กระเป๋าเดินทาง อะไหล่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยางและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสำหรับเกาหลีใต้ ข้อตกลง FTA เพิ่มการส่งออกไปยังกัมพูชาเช่นกัน ทั้งรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ เครื่องดื่ม ยาและผลิตภัณฑ์พลาสติก

    “เราสามารถส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริก มะม่วงและผลิตภัณฑ์แปรรูป เราต้องการผลักดันให้ประเทศของเราเป็นประเทศอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ผู้จัดหาวัตถุดิบซึ่งไม่มีมูลค่าเพิ่มสูง” นายพันกล่าว

    “เราเชื่อว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ หลังสภาแห่งชาติ วุฒิสภาและพระมหากษัตริย์ให้ความเห็นชอบ” เขากล่าวเสริม “ เราเชื่อว่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศจะเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบเป็นรายปี การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศจะมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์” นายพันกล่าว

    จากข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลี การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้มีมูลค่า 884 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนธันวาคม 2020 ลดลง 14% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2020 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปเกาหลีใต้ 317 ล้านดอลลาร์ลดลง 18% จากปี 2019 ในช่วงเวลาเดียวกันกัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ 567 ล้านดอลลาร์ลดลง 5% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ข้อตกลง CKFTA ใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงได้ข้อสรุป ซึ่งใช้เวลาน้อยลงเนื่องจากคณะทำงานด้านการเจรจามีประสบการณ์จากการร่างการเจรจา ข้อตกลง FTA กัมพูชา – จีน – และการผลักดันอย่างรวดเร็วของทั้งสองประเทศ

    นายทรง สราญ ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา แสดงความยินดีกับการได้ข้อสรุปโดยกล่าวว่า ข้อตกลง CKFTA จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศ กัมพูชามีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรปลอดภาษี เช่น มะม่วง ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวและอื่น ๆ

    “โดยปกติแล้วเกาหลีใต้จะเสนอระบบโควต้าอัตราภาษี (TRQ) ให้กับบางประเทศ เพื่อการส่งออกข้าวไปยังประเทศนั้นๆ ดังนั้นเราจึงหวังว่ากัมพูชาจะสามารถดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้”

    “ เราส่งออกข้าวขาวประมาณ 20 ตันในปีที่แล้วไปยังเกาหลีใต้ แต่อัตราภาษีอยู่ที่ 400% ดังนั้นด้วยข้อตกลงนี้เราหวังว่าเราจะสามารถเจรจาได้สำเร็จเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าข้าวจากกัมพูชามากขึ้นในอัตราภาษีที่ถูกลง”

    เกาหลีใต้นำเข้าข้าวที่สีแล้วประมาณ 500,000 ตันต่อปีจากประเทศอื่น ๆ และมี TRQ กับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เวียดนามและจีน

    “เราพยายามหาทางลดอัตราภาษี ตลาดเกาหลีใต้ชอบสายพันธ์ข้าวที่ปลูกในเขตอบอุ่น ดังนั้นเราจะร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อวางแผน”

    นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าเกาหลีใต้เป็นตลาดใหญ่เนื่องจากมีสถานะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นด้วย FTA นี้กัมพูชาจึงหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนชาวเกาหลีมายังกัมพูชา เพื่อขยายภาคเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปและการผลิตอะไหล่ของกัมพูชา ซึ่งยังมีศักยภาพในการส่งออกที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกด้วย

    กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ข้อตกลง FTA ทวิภาคีนี้รวมถึงมาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค และขั้นตอนการประเมินความสอดคล้องมาตรการด้านสุขอนามัยและใบรับรองปลอดศัตรูพืช พร้อมกับการเยียวยาทางการค้า กฎแหล่งกำเนิดสินค้า ขั้นตอนศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความโปร่งใส การระงับข้อพิพาท การเตรียมการของสถาบันและข้อยกเว้น

    กัมพูชาเตรียมใช้กฎหมายอาหารปลอดภัยปีนี้

    :https://www.phnompenhpost.com/business/food-safety-law-be-enacted-2021-commerce-official

    การผลันดัน กฎหมายอาหารปลอดภัยมีความคืบหน้าและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ โดยคนในวงการ มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น จุดประกายการเติบโตในภาคการท่องเที่ยวที่ทรุดตัว และส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    ร่างกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารจัดทำขึ้นในปี 2015 โดยมี 11 บทและ 53 มาตรา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบอาหารปลอดภัยที่คุ้มครองสุขภาพส่วนบุคคลและผู้บริโภค โดยการป้องกัน ควบคุม ขจัดมลพิษและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

    บทบัญญัติของกฎหมายครอบคลุมถึงอาหารแปรรูป และอาหารที่ยังไม่ผ่านกระบวนการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งหมดจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคตามหลักการทั่วไปของความปลอดภัยของอาหาร

    นาย ฟาน อูน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กระทรวงจะประชุมร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังในวันที่ 8 กุมภาพันธ์เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายก่อนที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

    นายฟาน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันและปราบปรามการทุจริตกล่าวว่า นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์กำลังผลักดันให้กฎหมายผ่านโดยเร็วที่สุด โดยย้ำว่า กฎหมายจะสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพประสิทธิภาพ สุขอนามัยและการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระบวนการจัดการอาหาร

    นายฟานคาดว่ากฎหมายจะประกาศใช้ในปี 2021 แม้จะมีจำนวนบทและมาตราน้อยกว่าฉบับร่างปัจจุบัน แต่ชี้ให้เห็นว่าจะช่วยเสริมกฎระเบียบที่บังคับใช้ที่มีอยู่

    กฎหมายดังกล่าวจะช่วยเสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกและนำเข้า ดึงดูดการลงทุนในโรงงานแปรรูปอาหาร และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากขึ้น

    นายเต เตียง ปอร์ ระธานสหพันธ์สมาคมเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกัมพูชา (FASMEC) ชื่นชมกฎหมายดังกล่าวและกล่าวว่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารของประเทศ

    “กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นข่าวดี – จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเราและยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยของอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกัมพูชาด้วย”

    เวียดนามตั้งเป้าโตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-vietnam-politics-congress-economy/vietnam-targets-growth-surge-hi-tech-shift-in-communist-party-economic-blueprint-idUSKBN2A114A?il=0

    หลังจากสามารถผ่านพ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เลวร้ายมาได้ เวียดนามตั้งเป้าที่จะยกระดับเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเชื่อมั่นในสามปัจจัยหลักที่นำมาใช้ร่วมกันในการขับเคลื่อนได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด

    ด้วยข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศร่วมภูมิภาคอิจฉาและการจูงใจให้โรงงานย้ายฐานออกจากจีนมากขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า 6% ในปีก่อน เป็น 6.5% -7.0% ช่วงปี 2021-2025

    แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้รับการรับรองในที่ประชุมระบุว่า จะเพิ่มบทบาทที่ในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญสำหรับยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น ซัมซุง อิเล็กทรอนิคส์ และอินเทล คอร์ป ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตั้งเป้าหมายที่ยกระดับประเทศให้หลุดพ้นจากจากจุดหมายปลายทางด้านแรงงานต้นทุนต่ำ ไปสู่ศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    ด้วยข้อตกลงการค้าเสรีมากกว่า 12 ฉบับในขณะนี้ เวียดนามมีเป้าหมายที่จะขยายและกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น

    เวียดนามได้รับประโยชน์จากจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดและตกอยู่ในสงครามการค้า ทำให้ผู้ผลิตชาวตะวันตกพยายามที่จะย้ายการผลิตออกจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเวียดนามเป็นตัวเลือกยอดนิยม

    เมื่อวันที่ 31 มกราคม เลขาธิการพรรคนายเหงียน ฝู เจืองได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคอีกครั้งหนึ่งเป็ฯสมัยที่ 3 กล่าวว่า เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาเต็มที่ภายในปี 2045 และจะมีการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง

    เป้าหมายสูงของในปี 2021-2025 เกิดขึ้นในขณะที่เวียดนามฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ครั้งที่รุนแรงสุดในรอบเกือบสองเดือนซึ่งเป็นการเตือนว่าความสำเร็จในอนาคตจะขึ้นอยู่กับว่า จะควบคุมการระบาดของไวรัสให้ได้โดยใช้เวลาไม่นาน

    การเติบโต 2.9% ในปีที่แล้วได้รับการชื่นชมจากหลายประเทศทั่วโลก แต่เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษสำหรับเศรษฐกิจของเวียดนาม เป็นผลจากการกักกันที่เข้มงวด การปิดชายแดนและมาตรการป้องกันไวรัสอื่น ๆ

    แม้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือนมกราคม แต่บริษัทลูกของ ฟ็อกซ์คอน เทคโนโลยี จากไต้หวันซึ่งเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของแอปเปิลได้รับใบอนุญาตลงทุนสำหรับการลงทุน 270 ล้านดอลลาร์ในประเทศ เนื่องจากมีการย้ายสายการประกอบไอแพดและแม็คบุ๊ค ออกจากประเทศจีน ในขณะเดียวกัน อินเทลผู้ผลิตชิปของสหรัฐเปิดเผยว่า ได้ลงทุนเพิ่มในเวียดนามจาก 475 ล้านดอลลาร์เป็น 1.5 พันล้านดอลลาร์

    ประเทศจะ “มุ่งเน้นไปที่มาตรการเพื่อเติมเต็มองค์ประกอบของเศรษฐกิจตลาดที่เน้นสังคมนิยมโดยพื้นฐาน จัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตลาดและสังคมได้ดีขึ้น” แผนเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ระบุ

    นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทิศทางของเวียดนามยังคงขับเคลื่อนไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นการดำเนินงานในด้านที่จำเป็นต่อความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

    พรรคคอมมิวนิสต์ยังระบุอีกว่าจะหันไปให้ความสำคัญกับคุณภาพของการลงทุนจากที่เน้นปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

    หลังจากหลายทศวรรษของการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดย FDI ที่แข็งแกร่งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจที่ใช้แรงงานมากและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเวียดนาม“ จะไม่อนุญาตให้ทำโครงการที่มีเทคโนโลยีที่ล้าสมัย และมีความเสี่ยงด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม”

    อินโดนีเซียหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/01/23/opening-of-new-office-buildings-to-further-push-up-vacancy-rate-in-jakarta.html
    เศรษฐกิจทั้งปีของอินโดนีเซีย หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษในปี 2020ซึ่งหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เล็กน้อยในไตรมาสที่สี่เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและกิจกรรมทางธุรกิจ

    สำนักสถิติเปิดเผยว่า อินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หดตัว 2.19% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลง 2.07% จากปีก่อนหน้าซึ่งเป็นการหดตัวทั้งปีครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชียปี 1998 หลังจากเติบโต 5% ในปี 2019

    “ทุกภาคส่วนของการใช้จ่ายในปี 2020 ยังคงหดตัวยกเว้นการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่ลงลึกเท่าไตรมาส 3 หรือไตรมาส 2 ซึ่งบ่งชี้ว่าดีขึ้น” ซูฮาริยันโต ผู้บริหารสำนักสถิติกล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์

    เศรษฐกิจของอินโดนีเซียตกอยู่ในภาวะถดถอยเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศประสบกับการระบาดของโควิด-19 และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การเร่งการใช้จ่ายและดึงดูดการลงทุนเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป เออร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐศาสตร์กล่าวและคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโต 1.6% -2.1% ในไตรมาสแรกของปี 2021

    รัฐบาลยังคงเป้าหมายการเติบโต 5% ในปีนี้ด้วยความหวังว่าการรณรงค์ฉีดวัคซีนซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมและมีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกว่า 180 ล้านคนภายในหนึ่งปีจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภค

    “เศรษฐกิจกำลังพึ่งพาการฉีดวัคซีนในปีนี้ เพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติและตั้งหลักได้” ราธิกา ราโอ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของดีบีเอสให้ความเห็นและกล่าวว่า อัตราการติดเชื้อของอินโดนีเซียยังไม่ทรงตัว

    ข้อมูลจากการแถลงข่าว แสดงให้เห็นว่าการบริโภคของครัวเรือนซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ของอินโดนีเซียหดตัวช้าลงในไตรมาสที่
    4 โดยหดตัว 3.6% หลังจากตกต่ำ 4.1% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายข้อจำกัดการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาชั่วคราว

    กรุงจาการ์ตาได้ใช้มาตราการควบคุมโคโรนาไวรัสรอบที่ 2 ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม และมีการนำกลับมาใช้อีกครั้งในเดือนที่แล้วเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

    การลงทุนลดลง 6.2% จากที่ลดลง 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเพียง 1.8% ซึ่งต่ำกว่า 9.8%ในไตรมาสก่อนหน้า

    เวลเลียน วีรันโต นักเศรษฐศาสตร์ของ OCBC ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของ GDP ในปี 2021 เป็น 4.9% จาก 5.2%

    ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะเพิ่มงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2021 ให้ใกล้เคียงกับ 692.5 ล้านล้านรูเปียะห์ (49.39 พันล้านดอลลาร์) ที่จัดสรรไว้สำหรับโครงการเยียวยาผลกระทบการระบาดของโรคโควิดในปีที่แล้ว

    ธนาคารอินโดนีเซียซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.25% ในปีที่แล้วและอัดฉีดสภาพคล่อง 50 พันล้านดอลลาร์เข้าสู่ตลาดการเงินได้ให้คำมั่นที่จะใช้เครื่องมือนโยบายทั้งหมดเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2021

    มาเลเซีย-อินโดนีเซียตกลงเปิด Green Lane

    นายชารุล อิครัม ยาคอบ ปลัดกระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย ที่มาภาพ:https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2021/02/06/malaysia-indonesia-agree-in-principle-on-reciprocal-green-lane/
    มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ตกลงในหลักการที่จะ เปิดการเดินทางแบบ Green Lane(Reciprocal Green Lane:RGL)ระหว่างกัน ซึ่งดาโต๊ะ สรี มูฮัมหมัด ชารุล อิครัม ยาคอบ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ต้องมีการดำเนินการเพื่อปรับขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (SOP) ที่เกี่ยวข้อง

    “การดำเนินการหลังจากนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมาเลเซียให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการการปฏิบัติ SOP ที่มีอยู่อย่างเข้มงวด ซึ่งการเดินแบบ RGL จะมีขึ้นเมื่อหน่วยงานด้านสุขภาพของมาเลเซียและชาวอินโดนีเซียเห็นว่าเหมาะสม”

    การเดินทางแบบ RGL ไม่ได้เปิดให้ทุกคนเนื่องจากเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐและนักลงทุนจากทั้งสองประเทศและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าโดยเฉพาะตัวแทนจำหน่ายในการค้าที่มีมูลค่าสูง

    มูฮัมหมัด ชารุล อิครัม ยาคอบกล่าวในขณะที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการหนึ่งวันของนายกรัฐมนตรีตัน สรี มุห์ยิดดินเพื่อพบปะกับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แบบสองต่อสองเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยผู้นำทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มและการเลือกปฏิบัติต่อน้ำมันปาล์ม

    “อินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุด โดยในบริบทของมาเลเซียเรามีคนงาน 600,000 คนในอุตสาหกรรมนี้”

    “มันจะได้ผลน้อยกว่า ถ้าเราไม่จัดการปัญหาการเลือกปฏิบัติร่วมกัน ดังนั้นผู้นำทั้งสองจึงตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างแพลตฟอร์มที่มีอยู่เช่น สภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (CPOPC)”

    ผู้นำทั้งสองยังหารือและตกลงที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นหมอกควัน

    อย่างไรก็ตามแม้ผู้นำทั้งสองจะเห็นตรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขแล้ว เนื่องจากยังต้องมีการดำเนินการหลังจากนั้นในระดับรัฐมนตรีและคณะกรรมการทำงาน

    อินโดนีเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 9 ของมาเลเซียในระดับโลกและใหญ่เป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในปี 2020 การค้าระหว่างกันมีมูลค่ารวมสูงถึง 66.17 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่การลงทุนทั้งหมดของมาเลเซียในอินโดนีเซียสูงเป็นอันดับ 2ในด้วยมูลค่า 1.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ลาวใช้มาตรการเข้มคุมโควิดถึง 31 มีนาคม

    ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=57584
    รัฐบาลสปป.ลาวได้ออกประกาศ ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด -19 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2021 เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น

    “เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกที่สองในสปป. ลาว รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ได้ตัดสินใจที่จะระงับการอนุญาตเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากประเทศ และภูมิภาคที่มีการติดเชื้อโควิด -19 ในประเทศ ยกเว้นเหตุผลด้านมนุษยธรรม เที่ยวบินที่มีผู้ป่วยบนเครื่องและเที่ยวบินขาออกที่จำเป็น” นายบุนคง สีหะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์

    เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากประเทศที่ไม่มีการแพร่เชื้อโควิด -19 ในประเทศจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารจากประเทศที่มีการมีการแพร่เชื้อโควิด -19 ในประเทศขึ้นเครื่อง

    นอกจากนี้จะไม่มีการให้วีซ่าแก่ชาวต่างชาติที่มาเดินทางเข้าสปป. ลาวเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจหรือเพื่อการพักผ่อน เจ้าหน้าที่ทางการทูต เจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุนที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนสามารถเข้าลาวได้ ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19 โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด -19 อย่างเคร่งครัด รวมถึงการมีใบรับรองการตรวจเชื้อโควิดที่เป็นลบจากประเทศต้นทาง และหลังจากเดินทางมาถึงลาวจะต้องกักกันตัวเป็นเวลา 14 วันที่ศูนย์กักกันหรือโรงแรม

    รวมทั้งจะมีการปิดด่านชายแดนทั้งแบบดั้งเดิมและด่านในพื้นที่ ไม่ให้มีการเดินทาง หรือเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป และการขนส่งสินค้า ยกเว้นด่านพรมแดนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลและทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ

    การผ่านแดนระหว่างประเทศยังคงปิดไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้าออกยกเว้นกรณีที่มีเหตุผลเร่งด่วนและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19

    ห้ามมิให้มีการจัดคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ยามค่ำคืนและงานเฉลิมฉลองที่ฟุ่มเฟือย งานแต่งงานและงานเฉลิมฉลองตามประเพณีต้องมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยและประหยัดตามประเพณีอันดีงามของประเทศ และปฏิบัติตามมาตรการโควิด-19 ที่กำหนดโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19

    กระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ได้รับการร้องขอให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการอพยพที่ด่านชายแดน และการลาดตระเวนแนวชายแดนเพื่อป้องกันการอพยพผิดกฎหมายและกรณีการติดเชื้อจากการเดินทางเข้าจากต่างประเทศ

    ประกาศยังเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบทางการแพทย์และการประกันโควิด -19 สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาในสปป. ลาว และปรับปรุงศูนย์กักกันส่วนกลางและระดับจังหวัด และจัดให้มีสถานที่กักกันโควิด -19 เพิ่มเติมและศูนย์รักษาบำบัด

    นอกจากนี้ยังขอให้คณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติด้านการป้องกันและควบคุมโควิด -19 ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารทะเลและอาหารแช่แข็ง และขอให้คณะทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรและหน่วยงานระหว่างประเทศจัดหาวัคซีนโควิด -19 สำหรับใช้ในสปป. ลาว