ThaiPublica > คอลัมน์ > Quaestor ต้นตำรับอาชีพผู้ตรวจสอบตั้งแต่ยุคโรมัน

Quaestor ต้นตำรับอาชีพผู้ตรวจสอบตั้งแต่ยุคโรมัน

26 มกราคม 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

อาชีพผู้ตรวจสอบภาครัฐ หรือ government auditor นับเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความเก่าแก่ ด้วยเหตุที่อาชีพนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดการเก็บภาษีของรัฐ และเมื่อรัฐเก็บภาษี อาณาจักรเริ่มมีรายได้มากขึ้น… คำถามที่ตามมา คือ ภาษีเหล่านี้จัดเก็บอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และเมื่อนำไปใช้จ่ายแล้วมีโอกาสรั่วไหลหรือไม่

ย้อนกลับไปยุคกรีกโบราณ (Ancient Greek) กลไกตรวจสอบประกอบด้วยการตรวจสอบระหว่างกาลและการตรวจสอบเมื่อสิ้นสุดเรื่องนั้นๆ แล้ว

แนวคิดนี้ยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน องค์กรตรวจเงินแผ่นดินกรีซ ที่มีรูปแบบเป็นศาลบัญชี มีการตรวจสอบทั้งในลักษณะ priori audit และ post-audit

อย่างไรก็ดี ธุรกรรมการเงินการคลังแผ่นดินยุคโบราณไม่มีความซับซ้อนมากนัก การวางโครงสร้างการตรวจสอบยุคกรีกประกอบด้วยรูปแบบองค์คณะมีคนสามคน (คล้ายๆ กับบอร์ด)

…ในตำราประวัติศาสตร์การตรวจเงินแผ่นดินสากล ระบุสั้นๆ เพียงว่าคนทั้งสามนี้ทำหน้าที่เป็น scrutineers, auditors, accoutants, และ controllers

ผู้สนใจโปรดดูงานของ George J.Costurous (1978) ใน Auditing in the Athenian State of the Golden Age (500-300 B.C.)

พูดโดยรวม คือ คนที่ต้องดูแลรักษาสมบัติของอาณาจักร การรายงานผลการตรวจสอบมีทั้งในรูปแบบการรายงานปากเปล่า และรายงานลงกระดาษ papyrus

ในยุคเปอร์เซียโบราณ สมัยกษัตริย์ดาริอุส (Darius) เปรียบเทียบอาชีพ auditor ไว้ว่าเป็น king’s ears เลยทีเดียว

แน่นอนว่า การทำหน้าที่เป็น auditor ต้องมีความเข้าใจเรื่องบัญชีการเงินการคลังของอาณาจักรเป็นอย่างดี

…และที่สำคัญ คือ ต้องซื่อสัตย์

การดำรงอยู่ของ auditor ทำให้ทั้งอาณาจักรกรีกและเปอร์เซียมีความเข้มแข็งทางการเงินการคลัง… ส่งผลต่อการสร้างกองทัพอันเกรียงไกรในที่สุด

ถัดจากยุคกรีกมาถึงยุคโรมัน…ยุคสาธารณรัฐโรมัน หรือ Roman Republic นั้น อาชีพผู้ตรวจสอบภาครัฐ เราเรียกว่า “เควสเตอร” (quaestor)

quaestor เป็นตำแหน่งล่างสุดของการบริหารราชการแผ่นดินในยุคโรมัน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ สันนิษฐานว่า การที่ข้าราชการใน Roman Republic จะก้าวหน้าเติบโตขึ้นไปเป็นใหญ่ได้ พวกเขาต้องเห็นและเข้าใจพฤติกรรมการใช้เงินแผ่นดินภายในอาณาจักรก่อน

พวกเขาต้องรู้ว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีกลวิธีอย่างไร และเมื่อพวกเขาตรวจเจอ เขาต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

Julius Ceasar ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโรม เริ่มต้นชีวิตราชการจากการเป็น quasetor เช่นกัน

นอกจากต้องตรวจตรา ตรวจสอบเงินแผ่นดินแล้ว quaestor ยังทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดเก็บภาษีว่าภาษีที่อาณาจักรได้รับมานั้น ครบถ้วน ถูกต้อง หรือถูก “บังหลวง” ไปบ้างหรือไม่

ยุคสร้างสาธารณรัฐโรม การเก็บภาษีใช้ระบบการประมูลภาษี คล้าย ระบบเจ้าภาษีนายอากร โดยภาษาโรมันเรียก publicani

เหล่า publicani เมื่อประมูลการเก็บภาษีได้แล้ว จึงไปทำหน้าที่เก็บและส่งรายได้เข้าคลังหลวงในโรม โดยอีกตำแหน่งสำคัญ เราเรียกว่า censors หรือ censeus ที่คอยตรวจตรากลุ่มผู้ประมูลภาษีอีกทีว่ามีการยักยอก ฉ้อฉล หรือไม่

ผู้สนใจโปรดดูงานของ Oscar Gutierrez และ Marco Martinez Esteller (2022) ใน Tax Collection in Roman Empire : A New Institutional Economics Approach

ทั้ง censeus ก็ดี หรือ quaestor ก็ดี นับเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตในแวดวงราชการในโรม

อันที่จริงแล้ว อาชีพ auditor มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า audire แปลว่า “การรับฟัง” หรือ hearing ดังนั้น อาชีพนี้จึงจำเป็นต้องมีทักษะการฟังที่เป็นเลิศ เนื่องจากเวลาไปตรวจสอบใครก็ตามแต่ การรับฟังข้อเท็จจริงนับเป็นเรื่องสำคัญ

ปิดท้ายด้วยเกร็ดเล็กๆ ของชื่อตำแหน่งของผู้ตรวจสอบบ้านเรา ในอดีตนั้น เรามีชื่อเรียก auditor ว่า อินสเปคเตอร์ (inspector)

คำนี้ปรากฏในกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินไทยฉบับแรก เมื่อปี พ.ศ. 2418 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำว่า inspector หมายถึง ตรวจตรา ดังนั้น การทำหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภาครัฐยุคเริ่มต้นของสยาม จึงเริ่มจากการทำงานในลักษณะ inspect ตรวจตราความมีอยู่จริง ความครบถ้วน ความสมบูรณ์ถูกต้อง

…หลังจากนั้น inspector จะจัดทำรายงานที่เรียกว่า “รีโปต” มาจาก report เสนอ ออดิเตอเยเนอราล (auditor general) เพื่อกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ห้าต่อไป