ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่ออินโดนีเซียเตรียมย้ายเมืองหลวง ภาพสะท้อนการจัดการภัยพิบัติในอนาคต

เมื่ออินโดนีเซียเตรียมย้ายเมืองหลวง ภาพสะท้อนการจัดการภัยพิบัติในอนาคต

5 มีนาคม 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

Jakarta ที่มาภาพ : https://unfccc.int/blog/sinking-city

ข่าวเรื่องการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียจากจาการ์ต้า (Jakartar) มาสู่เมืองใหม่ “นูซันตารา” (Nusantara) นับเป็นข่าวใหญ่ไม่น้อยในการอพยพประชากรจำนวนมหาศาลไปตั้งรกราก สร้างบ้านแปลงเมืองกันใหม่

ภาวะโลกรวน (Climate change) ทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวให้อยู่รอดกับยุคสมัยที่เรียกว่า Twin disruption ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิวัติดิจิทัลและการระบาดใหญ่ของ Covid-19

โลกหลังจากนี้ถูกอธิบายด้วยกรอบคิดที่เรียกว่า BANI world หรือ โลกที่เปราะบาง (Brittle) ฉุนเฉียวง่าย (Anxious) อธิบายแบบเส้นตรง มีเหตุมีผลไม่ได้แล้ว (Non-linear) และซับซ้อนจนยากจะบรรยาย (Incomprehensible)

โลกของ BANI ต่างจากโลกของ VUCA ตรงที่เรื่อง Speed of Change กล่าวคือ แม้เรารู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมันเกิดขึ้นรวดเร็วจนเราตามไม่ทัน

โครงการอพยพย้ายเมืองหลวงจาก Jakarta มาที่ Nusantara นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 หลังจากที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) แถลงต่อรัฐสภาอินโดนีเซียถึงเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องย้ายเมืองหลวงจาก Jakarta ไปที่ Nusantara จังหวัด East Kalimantan บนเกาะ Borneo

ภาพกราฟฟิกจำลอง Nusantara เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย เมืองแห่งความหวังและอนาคตที่ยั่งยืน ที่มาภาพ : https://theaseanpost.com/article/nusantara-become-indonesias-new-capital?amp
อย่างที่เราทราบดีว่า Jakarta วันนี้มีประชากรมากกว่าสิบล้านคน หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก…ศูนย์กลางความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง การปกครองจึงกระจุกตัวอยู่ที่ Jakarta ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะชวา (Java)

ปัญหาที่ Jakarta เผชิญทุกวันนี้… นอกจากจำนวนประชากรหนาแน่น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม มลภาวะสูง ปัญหาการจราจรที่เกินเยียวยาแล้ว…ที่สำคัญ Jakarta เป็นหนึ่งเมืองสำคัญในเอเชียที่เสี่ยงต่อการเป็นเมืองจมบาดาล หรือ Sinking city

ปัจจัยที่ทำให้กลายเป็น Sinking city คือ น้ำทะเลหนุนสูง น้ำท่วม จนมาถึงการเติบโตของเมืองที่ไม่สอดคล้อง สมดุลกับสภาพภูมิประเทศ

ผลกระทบของการพัฒนาเมืองด้วยการขยายสาธารณูปโภคอย่างรวดเร็ว แลกมาด้วยอัตราการจมน้ำของ Jakarta ซึ่งผืนดินทรุดตัวลงเฉลี่ยแล้วปีละ 25 ซม.หรือ 10 นิ้ว

บทวิเคราะห์จาก United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ได้ชี้ให้เห็นเมืองสำคัญ ๆ ในอาเซียน อย่างสิงคโปร์หรือแม้แต่กรุงเทพฯ เรามีความเสี่ยงเป็น Sinking city ไม่ต่างจาก Jakarta โดยเฉพาะข้อมูลนี้เริ่มถูกนำเสนอออกมาเรื่อย ๆ ว่าเมืองใหญ่หลายเมืองมีความเสี่ยงจมบาดาลแบบ 100% ในปี 2030 โดย Jakarta ถูกทำนายว่าเป็นเมืองแรก ๆ(ผู้สนใจโปรดอ่านรายละเอียดในลิงก์นี้ https://unfccc.int/blog/sinking-city)

รัฐบาลของโจโกวี่ ได้ตั้ง National Capital Integrated Coastal Development (NCICD) ขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องนี้

…การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีรายละเอียดสำคัญหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ อาทิ

หนึ่ง…การเตรียมพร้อมสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งหากสร้างเมืองใหม่ แนวคิดเรื่อง Smart and Sustainable city จะถูกนำมาใช้เป็นแกนกลางวางผังเมืองในอนาคต

สอง…การเวนคืนที่ดิน รวมถึงหักล้างถางพงก่อร่างสร้างเมืองกันใหม่ พื้นที่ที่เคยรกร้างจะถูกพัฒนาอย่างไร จัดแบ่งเป็นโซนที่เหมาะสมกับคนในอนาคต รวมถึงแผนการรับมือกับภัยพิบัติวันข้างหน้า

สาม…ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental impact) ที่เมื่อย้ายไปที่ใหม่แล้ว การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์เดิมต้องทำอย่างไร

สี่…การลงทุน การหางบประมาณมาสร้างเมืองใหม่ แน่นอนว่า ยิ่งเมืองที่มีประชากรมากเท่าไหร่ งบประมาณสร้างเมืองใหม่ ย่อมเป็นภาระผูกพันระยะยาวของรัฐบาลอินโดนีเซีย การก่อหนี้สาธารณะครั้งใหญ่ การใช้รูปแบบการร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลอินโดนีเซียชุดต่อไป

ห้า…การย้ายเมืองหลวงอย่างมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน การจับจองพื้นที่ โซนที่ดินราคาแพงในเมืองใหม่จะต้องใช้ระบบใด การลงทุนก่อสร้าง ระบบการประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งเหล่านี้ คือ พื้นฐานสำคัญที่ทำให้ Nusantara เป็นเมือง Clean city ตั้งแต่เริ่มสร้าง

หก…การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจ สังคม อย่างสร้างสรรค์ตอบสนองต่อ Creative economy ในอนาคต ซึ่งประชากรร่วมสามสิบล้านคนคงมีความหวังและโอกาสใหม่ที่เมืองหลวงใหม่แห่งนี้ รัฐบาลต้องจัดการเรื่องนี้อย่างไร

เจ็ด…การรักษาขนบประเพณี วัฒนธรรม ทั้งแบบชวาและแบบพื้นถิ่นเดิมในบอร์เนียวต้องดำเนินการอย่างไร ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย

การย้ายเมืองหลวงใหม่ (Reallocation capital) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดรอบคอบครบทุกมิติ และมีแผนการเตรียมพร้อมที่ดีในทุกระยะทั้งสั้น กลางและยาว

ผู้เขียนเห็นว่าโครงการย้ายเมืองหลวงจาก Jakarta ไป Nusantara นับเป็นการตอบสนองที่ดีมากของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มองเห็นภัยพิบัติที่มารอจ่อคอหอยตรงหน้าแล้ว

การเตรียมพร้อมที่ดี คือ การสื่อสารกับประชาชนอย่างมีศิลปะ ชัดเจน และเชื่อถือได้

การสื่อสารที่ดีนำไปสู่การประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเอกชน ประชาสังคม

การประสานงานที่ดีนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐ เอกชนและประชาชนในอนาคต