ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาภาพอนาคต ของทวีปแอฟริกา

ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาภาพอนาคต ของทวีปแอฟริกา

7 มีนาคม 2022


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากการรุกรานของกองทัพรัสเซียที่บุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลกระทบดังกล่าวเริ่มลุกลามบานปลายไปทั่วโลกแล้ว… จนถึงกับกังวลกันว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามนิวเคลียร์ขึ้น

การที่รัสเซียรุกรานยูเครนครั้งนี้ น่าคิดเหมือนกันว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 (Peace Justice and Strong Institution) นั้น คงไร้ความหมายแล้ว เพราะเป้าหมายดังกล่าวเน้นการรักษาสันติภาพ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โลกเราเผชิญวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตก้าวสู่ยุค new normal และ next normal ในที่สุด

เราเริ่มคุ้นเคยกับวิถีชีวิตปกติใหม่ และปรับตัวสู่สภาพปกติยุคถัดไป ที่การดำรงชีวิตต้องพึ่งพาดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น

แม้ว่าทวีปยุโรปจะชุลมุนวุ่นวายจากความขัดแย้งยูเครนและรัสเซีย แต่ในอีกทวีปหนึ่งกำลังพูดถึงภาพอนาคตของพวกเขาภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง

พวกเขาเริ่มพูดถึงการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแบบที่หลายภูมิภาคกำลังเตรียมตัวกันอยู่…ทวีปที่ว่านี้ คือ ทวีปแอฟริกา ภูมิภาคที่ถูกคาดหมายว่าภายในปี 2063 จะมีความเจริญก้าวหน้าไม่แพ้ทวีปใดในโลก

Africa 2063 The Africa We Want วิสัยทัศน์ของทวีปแอฟริกา ที่มาภาพ: https://atlas4dev.org/wp-content/uploads/2020/04/agenda-2063-logo.jpg

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดประชุม The Africa Regional Forum on Sustainable Development (ARFSD 2022) ที่เมืองคิกาลี (Kigali) ประเทศรวันดา ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีประเด็นน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากกล่าวถึงภาพการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ในแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ที่มาภาพ: https://www.australiaafrica.com/upcoming-events/arfsd2022

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากรองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (Deputy Secretary of United Nations) นางอะมินา เจ. โมฮัมเหม็ด (Amina J. Mohammed) มาเป็นองค์ปาฐกกล่าวในหัวข้อการฟื้นตัวของภูมิภาคแอฟริกาอย่างยั่งยืน

นางอะมินา เจ. โมฮัมเหม็ด นับเป็น think tank คนสำคัญของยูเอ็นที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ซึ่งนำเสนอขึ้นในสมัยนายบัน คี มูน (Ban Ki Moon) เป็นเลขาธิการยูเอ็น

ประวัติของนางอะมินานับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยความเป็นลูกครึ่งไนจีเรีย-อังกฤษ อะมินาเกิดที่เมืองลิเวอร์พูลประเทศอังกฤษ คุณแม่เป็นพยาบาลชาวอังกฤษ คุณพ่อเป็นสัตวแพทย์ชาวไนจีเรีย

อะมินาใช้ชีวิตวัยเด็กในเมืองคาดูนา (Kaduna) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือของไนจีเรีย ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่อังกฤษอีกครั้ง หลังจบการศึกษาเธอกลับบ้านเกิดมาทำงานในบริษัทสถาปนิกในไนจีเรีย ประสบการณ์ของอะมินาทำให้เธอมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของไนจีเรียและเพื่อนบ้านแอฟริกาในช่วงทศวรรษที่ 90

Amina Mohammed รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์ใน ARFSD 2022 ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2022/03/1113272

ความสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้อะมินา เจ. โมฮัมเหม็ด มีโอกาสทำงานหลากหลายด้าน ทั้งประเด็นการศึกษา ประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งในเวลานั้นไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญมากนัก จนมาถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม

ช่วงปี 2000 ยูเอ็นพยายามผลักดันเรื่อง Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งอะมินาได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้อดีตประธานาธิบดีไนจีเรียในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ และนี่เองจึงเป็นเหตุผลให้เธอเริ่มจับเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่นั้นมา

ปี 2012 อะมินาได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มนักคิดที่ร่วมกันขยายผลจาก MDGs สู่ SDGs จนกระทั่งปี 2015 ยุคของเลขาบัน คี มูน ได้ประกาศวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนออกมา

หลังจากนั้น อะมินาได้เข้าสู่การเมืองไนจีเรีย โดยสังกัดพรรค All Progress Party และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมสมัยรัฐบาลนายมูฮัมเหม็ด บูฮารี (Muhammed Buhari)

จนกระทั่งปี 2017 เธอกลับมาช่วยยูเอ็นอีกครั้ง โดยครั้งนี้นายอันโตนิโอ กูเตเรซ (Antonio Guterres) เชิญเข้ามาทำหน้าที่เป็นรองเลขายูเอ็น

…แน่นอนว่า ความเชี่ยวชาญเรื่อง SDGs ของ อะมินามีประโยชน์มากในการให้คำแนะนำปรึกษากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

Speech ของเธอ ในการประชุม ARFSD 2022 ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ภูมิภาคแอฟริกาต้องเผชิญหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ หากต้องการให้การฟื้นตัวนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน แอฟริกามีความท้าทายอยู่ห้าประการที่เป็นภาพอนาคตข้างหน้า กล่าวคือ

ประการแรก: ฉีดวัคซีนให้ประชากรที่ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งอะมินาใช้ว่าเป็น vaccination is critical เลยทีเดียว

อย่างที่เราทราบกันว่า การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ประเทศยากจนในแอฟริกามีข้อจำกัดอย่างมากที่เข้าถึงวัคซีน ผลจากการกักตุนวัคซีนของประเทศต่างๆ ทำให้ประชากรแอฟริกันจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19

อะมินาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในแอฟริกาคำนึงเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับประชากรตัวเองเป็นอันดับแรก และลงทุนกับระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ที่มาภาพ: https://www.afro.who.int/news/experts- caution-against-stagnation-immunization-coverage-africa

ประการที่สอง: ลงทุนเพื่อป้องกันสภาวะโลกร้อน หรือ increase climate investment ซึ่งการประชุม CoP26 ล่าสุดที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลทั่วโลกต้องจริงจังเสียทีกับการแก้ปัญหาโลกร้อน การนำพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดมาใช้ ซึ่งในอนาคตนั้นทวีปแอฟริกาจะเป็นเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลควรคำนึงถึงเรื่องการลงทุนสาธารณูปโภคหรือกลไกต่างๆ ที่ช่วยป้องกันสภาวะโลกร้อน

ประการที่สาม: พลังงาน ความมั่งคงทางอาหาร และเปิดโอกาสให้ประชากรแอฟริกาเข้าถึงดิจิทัล อะมินามองภาพอนาคตไว้แล้วว่า การนำพลังงานสะอาดมาใช้ (SDG7) การสร้างความมั่งคงทางอาหารเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สองของ SDGs (SDG 2 หรือ Zero hunger) รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชากรแอฟริกาเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์ม เชื่อมต่อภูมิภาคอื่นได้ ย่อมสร้างผลดีต่อการพัฒนาภูมิภาคโดยรวม

ประการที่สี่: สนับสนุนฟื้นฟูเรื่องการศึกษาในอนาคต ต่อเนื่องจากการเข้าถึงเรื่องดิจิทัล เชื่อมโยงแอฟริกาเข้ากับโลก การศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เด็กหลายล้านคนในทวีปขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หนำซ้ำเด็กกลุ่มใหญ่ยังขาดอุปกรณ์การเรียนแบบออนไลน์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้การฟื้นฟูการศึกษาในอนาคตจึงเป็นวาระเร่งด่วนเช่นกัน

ที่มาภาพ: https://www.erebb.org/initiatives/radio-tv-mobile-phones-and-online-learning-options-for-distance-learning-during-covid-19/

ประการสุดท้าย: เร่งเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หรือ accelerate gender equality ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs เป้าหมายที่ 5 (Gender Equality) และ เป้าหมายที่ 8 (Decent Work and Economic Growth) ซึ่งกลุ่มประชากรผู้หญิงในแอฟริกาควรมีบทบาทมากขึ้นในภาคการผลิตและภาคบริการในกลุ่มที่อะมินาใช้ว่า Care/Green Digital

ท้ายที่สุดแล้ว โลกหลังยุคโควิด-19 มีความท้าทายหลากหลายที่ “ประเดประดัง” เข้ามา ที่ทำให้การจัดการปัญหาหรือแก้ไขวิกฤตินั้นยากขึ้น อย่างไรก็แล้วแต่ ความฝันของแอฟริกาภายใต้ Africa 2063 คงไม่ไกลเกินไปนัก หากทุกชาติร่วมกันที่จะปรับตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง