ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งที่เห็นจากดัชนี Rule of Law 2021 สร้างความโปร่งใสแบบไม่ต้องประดิษฐ์วาทกรรม

สิ่งที่เห็นจากดัชนี Rule of Law 2021 สร้างความโปร่งใสแบบไม่ต้องประดิษฐ์วาทกรรม

7 กุมภาพันธ์ 2022


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

การศึกษาวิจัยหัวข้อ Public Accountability ให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใสของการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง หรือที่นักวิชาการ ใช้คำว่า นิติรัฐ (Legal state) และ นิติธรรม (Rule of law)

ในทางสากล นิติธรรม หรือ Rule of law ถูกนำมาจัดอันดับ วัดและประเมินสถานการณ์เช่นเดียวกับสถานการณ์ความโปร่งใสคล้าย ๆ กับที่องค์กรความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International (TI) พัฒนาดัชนี Corruption Perceptions Index ซึ่งแสดงการรับรู้ภาพลักษณ์ของความโปร่งใสของแต่ละประเทศ

การประเมินเรื่อง Rule of law นั้น World Justice Project (WJP) ได้จัดอันดับและประเมินสถานการณ์ Rule of law ย้อนหลังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยการประเมินพิจารณาด้านต่าง ๆ 8 ด้าน ได้แก่

    (ก) ด้านข้อจำกัดการใช้อำนาจรัฐ (Constraint on government powers)
    (ข) ด้านการปลอดทุจริตคอร์รัปชัน (Absence of corruption)
    (ค) ด้านการเป็นรัฐบาลเปิด (Open government)
    (ง) ด้านการสร้างความมั่นคงและสงบเรียบร้อยในสังคม (Order and security)
    (จ) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory enforcement)
    (ฉ) ด้านความยุติธรรมทางแพ่ง (Civic justice)
    (ช) ด้านความยุติธรรมทางอาญา (Criminal justice)

เกณฑ์การให้คะแนน Rule of law index ไม่ซับซ้อนมาก… ประเทศที่ยึดหลักนิติธรรมทั้งโดยหลักการและแนวทางปฏิบัติ คะแนน Rule of law ของประเทศนั้นจะเข้าใกล้ 1 ส่วนประเทศใดที่ยังขาดหลักความเป็นนิติธรรม คะแนน Rule of law จะใกล้ 0

ภาพรวมดัชนี Rule of lawประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ค่าคะแนน Rule of law ปรากฏตามตารางที่ 1 ดังนี้

จากตารางข้างต้น Rule of Law Index ของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2558-2564 พบว่า ค่าเฉลี่ยของดัชนีอยู่ที่ 0.426 โดยปีที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ปี 2559 Rule of law Index อยู่ที่ 0.45 อันดับโลกอยู่ที่ 59 จาก 113 ประเทศ หลังจากนั้นดัชนีและอันดับนิติธรรมของประเทศไทยลดลง

ดัชนีข้างต้น เมื่อเทียบกับดัชนี CPI พบว่า แนวโน้มไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะการขยับปรับตัวขึ้นลงของค่าดัชนีทั้งสองที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงความโปร่งใสแล้ว ตัวชี้วัดของ Rule of law Index พิจารณาจากความเป็นรัฐบาลเปิด (Open government) ซึ่ง WJP ได้วางเกณฑ์ชี้วัดไว้สี่ด้าน กล่าวคือ

    (ก) ด้านการเผยแพร่กฎหมายและข้อมูลรัฐ (Publicized laws and government data)
    (ข) ด้านสิทธิพลเมืองในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรัฐ (Right to information)
    (ค) ด้านการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Civic participation)
    (ง) ด้านกลไกการร้องเรียน (Compliant Mechanism)

Rule of law index ในส่วน Open government พบว่า ผลการจัดอันดับคะแนนปีล่าสุด ปี 2564…กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียเหมาสี่อันดับแรกจาก 139 ประเทศ โดย นอรเวย์ ได้คะแนนด้าน Open government สูงสุด 0.89 รองลงมา คือ เดนมาร์กและฟินแลนด์ ได้คะแนนเท่ากัน 0.87 และ สวีเดนได้ 0.86

กลับมาดูที่กลุ่มประเทศอาเซียนกันบ้าง…ค่าคะแนน Open government ของสิงคโปร์ ได้คะแนนสูงสุด 0.63 อยู่อันดับที่ 34…น่าสนใจว่า ตัวชี้วัดนี้สิงคโปร์กลับไม่ได้คะแนนติดหนึ่งในสิบ เช่นเดียวกับดัชนีวัดความโปร่งใสตัวอื่น

อินโดนีเซีย ได้คะแนน Open government 0.54 อันดับที่ 58 ขณะที่ ฟิลิปปินส์ได้ 0.50 อันดับที่ 71 โดยไทยตามมาที่ 0.49 อันดับ 77

ประเด็นเรื่อง Open government นั้น ทั้งไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้คะแนนสูงกว่ามาเลเซีย ที่ได้คะแนนRule of law ส่วน Open government ที่ 0.41 อันดับ 104 ต่ำกว่าเวียดนามที่ได้ 0.46 อันดับ 86

สำหรับประเทศไทยเรา…สิ่งที่เห็นจากคะแนน Open government ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปีล่าสุด 2564 พบว่า คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.495 อันดับสูงสุดที่เคยทำได้ คือ อันดับที่ 57 จากการจัดอันดับ 113 ประเทศ (ดูตารางที่ 2)

ค่าคะแนนเหล่านี้ บอกอะไรเรา… อย่างน้อยที่สุด ทำให้เรามองเห็นสถานการณ์ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลรัฐ และความเป็นรัฐบาลเปิดของประเทศไทย

โดยหลักสากลแล้ว WJP กำหนดเกณฑ์เรื่อง Open government ไว้เบื้องต้น ดังนี้

    1.การเปิดเผยข้อมูลต้องเข้าถึงง่าย ใช้ภาษาที่ง่าย ๆ เพื่ออธิบายชุดข้อมูล ข้อมูลควรใช้ได้ทั้งในรูปแบบพิมพ์ออกมาใช้ได้และแบบออนไลน์ รวมทั้งหากมีภาษาอื่น ๆ กำกับข้อมูลเหล่านั้นด้วยย่อมดีไม่น้อย
    2.สิทธิพลเมืองในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐควรใช้แนวคิดแบบ Proactive หมายถึง เปิดข้อมูลให้มากที่สุด ปกปิดเท่าที่จำเป็น โดยไม่ต้องให้ประชาชนมาใช้สิทธิร้องขอ หรือหากใช้สิทธิร้องขอดูข้อมูลรัฐ ต้องกำหนดเวลาไว้ชัดเจน ระยะเวลาที่รอเพื่อขอดูข้อมูลต้องไม่นานจนเกินไป ต้นทุนการขอรัฐดูข้อมูลต้องสมเหตุสมผล หรือมีต้นทุนน้อยที่สุด นอกจากนี้รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญที่จะใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ
    3.กลไกการมีส่วนร่วม ที่ต้องสร้างช่องทางมีส่วนร่วมหลากหลาย คุ้มครองเสรีภาพของผู้เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะปกปิดข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส ให้ Feedback กับผู้มีส่วนร่วมเพื่อรับทราบความคืบหน้าของเรื่องที่ตนเองต้องการทราบ
    4.กลไกการร้องเรียน ที่ต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้หลายช่องทาง การให้ Feedback กับผู้ร้องเรียนเพื่อให้ผู้ร้องเรียนได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด

ความโปร่งใสมิใช่เป็นแค่วาทกรรมสวยหรู แต่ความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม มาจากการเปิดเผยให้มากที่สุดเท่าที่จะเปิดเผยกันได้ มิใช่เพียงแค่พูดเรื่องความโปร่งใส แต่เมื่อขอข้อมูลจากรัฐเมื่อใด ข้อจำกัดกลับเต็มไปหมด

…หากโปร่งใสแบบนี้คงเป็นแค่วาทกรรมโปร่งใสประดิษฐ์ (Artificial transparency)