ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯแจงตั้ง “ที่ปรึกษาฯ” ไม่ใช่ ขรก.การเมือง-ไม่มีค่าตอบแทน-มติ ครม.เก็บภาษีชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง

นายกฯแจงตั้ง “ที่ปรึกษาฯ” ไม่ใช่ ขรก.การเมือง-ไม่มีค่าตอบแทน-มติ ครม.เก็บภาษีชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง

10 มกราคม 2023


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯแจงตั้ง “ที่ปรึกษาฯ” ไม่ใช่ ขรก.การเมือง-ไม่มีค่าตอบแทน
  • เตรียมพร้อม รับศึกซักฟอกกลางเดือน ก.พ.นี้
  • ชู “สิงห์บุรีโมเดล” ต้นแบบเกษตรสมัยใหม่
  • คาดปี’66 ต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 20 ล้านคน สร้างรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท
  • มติ ครม.เคาะงบฯปี’67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน กู้ 5.93 แสนล้านบาท
  • เก็บค่าใบอนุญาต-ภาษีชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง
  • เห็นชอบ “เจ้าพระยาท่าเรือสากล” คว้าสัมปทานท่าเรือสงขลา
  • เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ชู “สิงห์บุรีโมเดล” ต้นแบบเกษตรสมัยใหม่

    นายอนุชา รายงานว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ และตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าระบบป้องกันน้ำท่วม ที่ตำบลน้ำตาล และนายกรัฐมนตรี ยังเป็นประธานเปิดกิจกรรมข้าวรักษ์โลก โดยเป็นการนำ BCG Model มาปรับใช้กับการปลูกข้าวในฤดูแล้ง เช่น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการเน้นการใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนการใช้สารเคมี และมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำการเกษตร โดยนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด

    นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. วันนี้ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมการข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา หาแนวทางบริหารจัดการน้ำในสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะภาวะฝนทิ้งช่วง และส่งเสริมการรวมกลุ่มและการทำเกษตรกรแปลงใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน BCG โดยนำสิงห์บุรีโมเดลเป็นต้นแบบ

    วันที่ 6 มกราคม 2566 นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” ณ บริเวณพื้นที่นานำร่อง หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำตาล อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เร่งพัฒนาความร่วมมือทางการทูต “ไทย-สาธารณรัฐเช็ก”

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเช็ก ประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล และได้มีการหารือร่วมกันหลายประเด็น เช่น ความร่วมมือการทูต ด้านอวกาศ ด้านยานยนต์ ความมั่นคง ด้านสาธารณสุข และด้านการค้าการลงทุน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุดมศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพัฒนาความร่วมมือทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเช็กให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

    คาดปี’66 ต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 20 ล้านคน สร้างรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี พูดถึงสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยมีการประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะมาประเทศไทยภายในปี 2566 พบว่ามากกว่า 20 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ คือมาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ จีน และคาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะสร้างรายได้มากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ร่วมไปต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยลอตแรก

    นายอนุชา ยังเสริมว่า “เอกอัครราชทูต อินเดีย ได้พบนายกรัฐมนตรี และกล่าวว่าชาวอินเดียนิยมมาไทย และเป็นเทรนด์ที่นิยมมาจัดงานแต่ง จะมีการนำญาติมาร่วมกันเฉลิมฉลองในประเทศไทยมากขึ้น”

    อย่างไรก็ตาม นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี อยากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต้องมีมาตรการที่ระมัดระวัง และเป็นห่วงปัญหาการขาดแคลนมัคคุเทศก์ และแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงเงินทุนที่จะนำมาฟื้นฟูสถานประกอบการด้านการบริการและท่องเที่ยว ขอให้ทุกฝ่ายเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมให้กิจการต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุน

    เร่งสำรวจความเสียหาย – จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมภาคใต้

    นายอนุชา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ว่า นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้หน่วยงานราชการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีจังหวัดยะลาและปัตตานีที่ได้รับผลกระทบรวม 3 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 11,185 ครัวเรือน โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 11,027 ครัวเรือน

    นายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานเร่งดำเนินการ รวมถึงให้สำรวจความเสียหายเกี่ยวกับผลกระทบการเกษตร และขอให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ เร่งประเมินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

    สั่งกวาดล้างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและปราบปรามสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยต้องการให้เข้าไปจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยคงภาพลักษณ์การกวดขันดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังกับสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงโฆษณาในโซเชียลมีเดียด้วย

    เตรียมพร้อมรับศึกซักฟอกกลางเดือน ก.พ.นี้

    นายอนุชา รายงานว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าชื่อกันเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือ เสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามรัธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา 152 โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานมายังครม. เพื่อขอทราบความพร้อมเกี่ยวกับกำหนดวันแถลงหรือชี้แจงตามญัตติดังกล่าว และคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

    “นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งเป็นการอภิปรายรัฐบาลในภาพรวม ไม่ใช่ในลักษณะตัวบุคคล แต่อยากให้ทุกกระทรวงและรัฐมนตรีทุกท่านเตรียมความพร้อมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตน และขอให้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงการทำงานของรัฐบาล” นายอนุชา กล่าว

    แจงตั้ง “ที่ปรึกษาฯ” ไม่ใช่ ขรก.การเมือง-ไม่มีค่าตอบแทน

    นายอนุชา กล่าวถึงข้อมูลที่สื่อมวลชนอาจนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อน และสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชนคือ การแต่งตั้งที่ปรึกาษาของนายกรัฐมนตรีว่า “ต้องบอกว่าการแต่งตั้งที่ปรึกษา ไม่ใช่ที่ปรึกษาที่รับผลตอบแทน พูดง่ายๆ คือ เป็นที่ปรึกษาที่ตั้งโดยไม่มีเงินเดือนและไม่มีสิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเติม ในอนาคตถ้ามีการแต่งตั้งในลักษณะนี้ ขอให้ดูในรายละเอียดตั้งแต่ตอนเริ่ม ถ้าเรียกว่าเป็นการแต่งตั้ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” คำว่า “ของ” หมายถึงไม่มีค่าตอบแทน แต่ถ้าเป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” จะเป็นข้าราชการการเมือง

    “ในปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งไปทั้งหมด 5 ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, นายชัชวาลย์ คงอุดม, นายชุมพล กาญจนะ, ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ รวมถึง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เป็นการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีค่าตอบแทน” นายอนุชา กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ , และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เคาะงบฯปี’67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน กู้ 5.93 แสนล้านบาท

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ที่กำหนดไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 165 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.18

    สาระสำคัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

    1. โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย

      (1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,508,990.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 106,451.2 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.43 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.89 ของวงเงินงบประมาณรวมลดลงจากงบประมาณปี 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.43

      (2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงค้าง จำนวน 33,759.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.01 ของวงเงินงบประมาณรวม

      (3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 690,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 520.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.60 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.65

      (4) รายจ่ายชำระคืนเงินต้น จำนวน 117,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 17,250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.25 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.50 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจะปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วน 3.14

    2. รายได้สุทธิ จำนวน 2,757,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 267,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72

    3. งบประมาณขาดดุล จำนวน 593,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 102,000 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ 14.68 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.00 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.70

    ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,350,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง ( ปีงบประมาณ 2567 – 2570) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 สำหรับงบประมาณรายจ่ายงบลงทุน และงบประมาณรายจ่ายชำระเงินคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล พ.ศ. 2561

    ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณ จะส่งรายละเอียดคำของบประมาณฯ ให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 27 มกราคม 2566 เพื่อพิจารณาต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม.นายกรัฐมนตรียังกำชับ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนให้มีการเบิกจ่ายรวดเร็วเพื่อ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคตด้วย

    เห็นชอบ “เจ้าพระยาท่าเรือสากล” คว้าสัมปทานท่าเรือสงขลา

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา ในรูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP) ภายใต้ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 3,184.57 ล้านบาท ให้แก่กรมเจ้าท่า ในการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำสงขลาให้อยู่ที่ระดับ 9 เมตรตลอดระยะเวลาของโครงการ 25 ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพท่าเรือสงขลาให้สามารถแข่งขันกับท่าเรือปีนัง มาเลเซีย ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้า นำเข้าและส่งออกในภาคใต้

    สำหรับแนวทางในการปรับปรุงท่าเรือสงขลา เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหน้าท่า และติดตั้งเครนหน้าท่าเรือ การปรับปรุงลานตู้สินค้าและเพิ่มเติม เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะสนับสนุนการขนถ่ายสินค้าด้วยเครนขนาดใหญ่ เป็นต้น โดย บจก. เจ้าพระยาท่าเรือสากล ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด ซึ่งสูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ ครม. เคยให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการฯ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมกว่าร้อยละ 34.44

    ทั้งนี้ ฝ่ายเอกชนจะมีหน้าที่ เช่น ออกแบบ พัฒนา ปรับปรุง และบริหารท่าเรือสงขลา ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา งบลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 2,387.90 ล้านบาท โดยสัญญามีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจนครบ กำหนดระยะเวลา 25 ปี หรือ จนกว่าสัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลง โดยไม่สามารถขยาย หรือ ต่ออายุของสัญญาฉบับนี้ได้ ซึ่งสิ่งปลูกสร้างของโครงการ ฯ จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายรัฐทันที เมื่อการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างของโครงการแล้วเสร็จ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ยังส่งผลให้ท่าเรือสงขลาจะสามารถรองรับขนาดเรือที่เข้ามาใช้บริการท่าเรือน้ำลึกสงขลาได้มากขึ้น รวมทั้งรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์และน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการขนย้ายสินค้าส่งออก เนื่องจากสามารถบรรทุกสินค้าส่งออกทางเรือไปยังประเทศปลายทางได้โดยตรง ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางทะเล เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างในการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เพิ่มธุรกิจการนำเข้า-การส่งออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและท้องถิ่นด้วย

    จัดงบฯปี’67 ให้ อว.ขับเคลื่อนงานวิจัย-นวัตกรรม 1.46 แสนล้าน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมทั้งสิ้น 146,070.40 ล้านบาท เพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทย โดยแบ่งเป็น กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 114,970.40 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จำนวน 31,100 ล้านบาท โดยใช้ระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ กรอบวงเงินที่จัดทำขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ตอบโจทย์สำคัญและความเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิต และพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยมีรายละเอียดแต่ละกรอบวงเงิน ดังนี้

    1. กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 114,970.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันอุดมศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. จำนวน 155 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาและการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

    สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านการอุดมศึกษา อาทิ 1) จัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญา จำนวน 1,345,086 คน โดยเป็นสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภาพ จำนวน 415,525 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักศึกษารวมปีการศึกษา 2566 2)พัฒนากำลังคนในหลักสูตร Non-Degree (Re-Skills, Up-Skills, New Skills) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน 3)พัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต (Non–age group) จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน 4)เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป เข้าศึกษาในระบบอุดมศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน 5)โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาบุคลากร สร้างความเป็นนานาชาติ ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยมีผลลัพธ์จากโครงการ เช่น สร้างบัณฑิตทักษะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรมประเทศ 15,000 คน ผู้ประกอบการผ่านการสร้างศักยภาพธุรกิจนวัตกรรม 3,000 ราย พัฒนาหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาเทคนิคระดับสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ 30 หลักสูตร ยกระดับขีดความสามารถคณาจารย์และนักวิจัย 1,500 คน และสร้างความร่วมมือกับสถาบันพันธมิตรระดับชาติ 30 แห่ง

    2. กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมถึงผลักดันและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 ดังนี้

      2.1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 10,885 ล้านบาท (ร้อยละ 35)

      2.2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 9,330 ล้านบาท (ร้อยละ 30)

      2.3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ายุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต จำนวน 4,665 ล้านบาท (ร้อยละ 15)

      2.4 การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 6,220 ล้านบาท (ร้อยละ 20)

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านวิทยาศาสตร์ฯ อาทิ 1)ไทยมีการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น 2)ไทยมีศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) ของอาเซียน และมีศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แห่ง

    ออกกฎกระทรวงป้องกันนักโทษคดีข่มขืนพ้นโทษทำผิดซ้ำ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มกราคม2566 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน สำหรับนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก รวมถึงได้กำหนดกระบวนการก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดดังกล่าว โดยให้กรมราชทัณฑ์จัดทำรายงานจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด พร้อมทั้งความเห็นว่านักโทษเด็ดขาดสมควรให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังใด เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษแล้วเสนอต่ออัยการ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

    ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการกำหนดกลไกในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังต่าง ๆ ก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง มีรายละเอียด อาทิ

      1. ร่างกฎกระทรวงมีขอบเขตการบังคับใช้ สำหรับนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ 1.ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15ปี การพาบุคคล อายุ 15-18 ปี เพื่อการอนาจาร การพาผู้อื่น ไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ 2.ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต เช่น การฆ่าผู้อื่น การฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์ 3.ผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย เช่น การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสโดยเหตุฉกรรจ์ และ 4.ผู้กระทำผิดต่อเสรีภาพ เช่น การนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่

      2. กำหนดให้มีคณะกรรมการประจำเรือนจำในแต่ละเรือนจำ ประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธานกรรมการ และเจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน เป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการประจำเรือนจำ มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลการจัดทำรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดตามที่เจ้าพนักงานเรือนจำเสนอ และให้ความเห็นว่านักโทษเด็ดขาดสมควรใช้มาตรการเฝ้าระวังใด ตลอดจนเสนอวิธีการและระยะเวลาในการใช้มาตรการที่เหมาะสม

      3. การพิจารณากำหนดมาตรการเฝ้าระวัง กรมราชทัณฑ์ดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดแต่ละราย ให้เจ้าพนักงานเรือนจำดำเนินการรวบรวมข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด และให้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการประจำเรือนจำ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำพิจารณา

      4. การดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังของพนักงานคุมประพฤติ กรณีที่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดและไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดได้ ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการภายใน 15 วัน เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งใช้มาตรการคุมขังแก่ผู้ถูกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หากปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะไปกระทำความผิดซ้ำ และเป็นเหตุฉุกเฉิน คือ ผู้ถูกเฝ้าระวังมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่น อันสามารถใช้ในการกระทำความผิด ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุมขังฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมง

    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อยกเว้นการบังคับใช้ระยะเวลาในการจัดทำ และการเสนอรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดของกรมราชทัณฑ์ และการเสนอรายงานและความเห็นของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ไม่ให้ใช้บังคับภายในระยะเวลา 300 วันแรก นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

    ขยายเวลาออกกฎกระทรวงจัดสรรการใช้น้ำ

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาในการออกกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำแห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 รวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ โดย ครม. มีมติขยายระเวลาออกไปอีก 1 ปีตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อตรวจพิจารณาเพิ่มเติมให้บทบัญญัติไม่เป็นการสร้างภาระต่อผู้ใช้น้ำ ไม่เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ และให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โรคโควิด-19 โดยร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ ได้แก่

      1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้นแต่ละประเภท พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะ หรือ รายละเอียดของการใช้น้ำสาธารณะแต่ละประเภท ซึ่งจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ประเภทที่สอง การใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และประเภทที่สาม การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่

      2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดในบัญชีท้าย พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฯ

      3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ

    “ในระหว่างที่ขยายเวลาการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าว จะมีการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติตามความเห็นและข้อสังเกตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับบทนิยาม/ชื่อหมวดของร่าง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท บทอาศัยอาชำนาจ หลักเกณฑ์การได้รับค่าลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ขอบเขตลักษณะของกิจกรรมที่จะได้รับการยกเว้นค่าใช้น้ำ และสูตรคำนวณค่าใช้น้ำไปประกอบการพิจารณา ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป” นางสาวทิพานัน กล่าว

    แจงสถานการณ์ SMEs ช่วง 9 เดือนแรกของปี’65 โต 5.1%

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) ปี 2565 ซึ่งเป็นการสรุปสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2564 และสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของปี 2565 ช่วง 9 เดือนแรก (เดือน มกราคม-กันยายน 2565)

    สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

      1. ปี 2564 สร้างมูลค่า GDP ถึง 5,603,443 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของ GDP รวมทั้งประเทศ โดยขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 3 เนื่องจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ รวมถึงประชาชนมีการใช้จ่ายและการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และธุรกิจส่วนใหญ่สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.4 โดยที่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมและมีการเปิดประเทศ รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้ความเชื่อมั่นในทุกภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

      2. ด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งด้านการส่งออกและด้านการนำเข้าขยายตัวจากปี 2563 โดยด้านการส่งออกมีมูลค่า 32,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 11.9 ต่อการส่งออกรวม ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 19.9 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ และผลไม้สด สำหรับด้านการนำเข้ามีมูลค่า 35,536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.3 ต่อการนำเข้ารวม ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 9.7 โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ทองแดง เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล

      3. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวนรวม 3,178,124 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 1.4 ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในภาคการค้าถึงร้อยละ 41 โดยมีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 72,802 ราย และสถานการณ์ด้านการจ้างงานรวม 12,601,726 คน คิดเป็นร้อยละ 71.9 ของจำนวนการจ้างงานทั้งหมด โดยใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งลดลงเล็กน้อยในระดับ ร้อยละ 0.9 โดยอยู่ในกลุ่มภาคบริการมากที่สุด

    สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไตรมาสที่ 3 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

      1. ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สร้างมูลค่า GDP ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยไตรมาสที่ 3 GDP มีมูลค่า 1,542,710 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 อันเป็นผลมาจากการบริโภคและการจ้างงานที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.9 เพิ่มขึ้นจากค่าฐานที่ระดับ 50 เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว รวมทั้งความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

      2. สำหรับการค้าระหว่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ด้านการส่งออกมีมูลค่า 28,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 13 ต่อมูลค่าการส่งออกรวม โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มีมูลค่า 9,662.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สินค้าส่งออกสำคัญของ MSME ที่ขยายตัวได้ดีคือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป โดยขยายตัวถึงร้อยละ 56.2 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 30,165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.8 ต่อมูลค่าการนำเข้ารวม

      3. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มีการจ้างงานเฉลี่ย 3,984,754 คน ขยายตัวร้อยละ 4.3 ของจำนวนการจ้างงานทั้งหมดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ขณะที่กำลังซื้อยังขยายตัวได้ดี รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

    “สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจของ MSME ปี 2565 (ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเมินว่า ปี 2565 GDP จะขยายตัวร้อยละ 4.9 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น การบริโภคภาคเอกชน การจ้างงาน การส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้สูงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ขยายเวลาประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 7 อำเภอ จ.พังงา

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลา การใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ. 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่จะครบกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ให้ขยายเวลาต่อออกไปอีก 2 ปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 โดยยังคงสาระสำคัญตามประกาศฉบับเดิมไว้ เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ. พังงาเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใน จ. พังงา รวมทั้งจัดทำร่างประกาศฯ ฉบับใหม่

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูสภาพความวิกฤตของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนป้องกันเหตุแห่งความวิกฤตในด้านต่างๆ อันจะเกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อให้การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลให้การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่บนพื้นฐานที่ยั่งยืน ตลอดจนป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มิให้เสื่อมสภาพลงไป โดยตามแผนที่ท้ายประกาศในท้องที่อำเภอดังกล่าวของจังหวัดพังงาได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างประกาศฯ ฉบับใหม่ ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชุมหารือร่วม พบว่า เห็นด้วยกับการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงาต่อไป เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน และเสนอให้มีการปรับปรุงขอบเขตและมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริบทของพื้นที่ในปัจจุบัน

    “นอกจากในที่ประชุม ครม. จะมีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศฯ ออกไปอีก 2 ปี โดยในระหว่างนี้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการและบังคับใช้ร่างประกาศฯ ฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันแล้ว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการลดผลกระทบต่อชาวประมงในพื้นที่ จ. พังงา จึงให้มีการพิจารณาปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในร่างประกาศฯ ฉบับใหม่เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อชาวประมงในพื้นที่ จ. พังงา โดยอาจกำหนดให้ชาวประมงสามารถทำการประมงด้วยอวนรุนเคยได้” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เก็บค่าใบอนุญาต-ภาษีชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อให้มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดการพัฒนาของผู้ผลิตสุราขนาดเล็ก และสุราพื้นบ้าน ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้จะสามารถดูแล ทั้งในด้านการสนับสนุนการพัฒนาของผู้ประกอบการ การรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมกับสามารถควบคุมการผลิตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่างหากแต่อย่างใด

    สำหรับร่างกฎหมายฉบับแรกคือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ….. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมการอนุญาตที่มีการจัดเก็บจริง สำหรับการอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า (กำหนดใหม่ เดิมไม่มี) และการอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า รวมถึงกำหนดค่าธรรมเนียมกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสุรา (กำหนดใหม่ เดิมไม่มี) โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. ใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ ฉบับละ 360 บาท ส่วนใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นฉบับละ 1,500 บาท

    2. ใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า กรณีใบอนุญาตผลิตสุราแช่ แยกเป็น

      2.1) สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก(เพิ่มใหม่) ซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือกรณีใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน โดยเครื่องจักรต่ำกว่า 5 แรงม้าและคนน้อยกว่า 7 คน ใบอนุญาตฉบับละ 1,800 บาท

      2.2) สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง(เพิ่มใหม่) ซึ่งใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือ ใช้คนงานตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน หรือกรณีที่ใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน ซึ่งเครื่องจักรมีกำลังตั้งแต่ 5 แรงม้าแต่น้อยกว่า 50 แรงม้าและคนงานมีจำนวนตั้งแต่ 7 คนแต่น้อยกว่า 50 คน ค่าใบอนุญาตฉบับละ 3,600 บาท

      2.3) สุราแช่ชนิดเบียร์และสุราแช่ชนิดอื่นนอกหนือจาก 2.1 และ 2.2 ฉบับละ 60,000 บาท

    ส่วนใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า กรณีผลิตสุรากลั่น 1) สุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก (เกณฑ์พิจารณาขนาดโรงงานเดียวกับโรงงานขนาดเล็กสุราแช่) ใบอนุญาตฉบับละ 7,500 บาท 2) สุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง (เกณฑ์พิจารณาขนาดโรงงานเดียวกับโรงงานขนาดกลางสุราแช่) ใบอนุญาตฉบับละ 15,000 บาท 3) สุรากลั่นทุกชนิดนอกเหนือจากที่กล่าวมาใน 1)และ 2) ใบอนุญาตฉบับละ 60,000 บาท

    นอกจากนี้ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตที่มีการจัดเก็บสำหรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสุราที่ระบุไว้ในใบอนุญาตครั้งละ 1 ใน 4 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประเภทนั้นๆ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ได้แก่ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่….) พ.ศ….. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าสุราแช่ที่ผลิตโดยไม่ใช่การค้า ได้แก่ เบียร์ ไวน์ และสปาร์คกิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น และสุราแช่ชนิดอื่นๆ และสำหรับสินค้าสุรากลั่นที่ผลิตโดยมิใช่เพื่อการค้า ได้แก่ สุราขาวและสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565

    ทั้งนี้ ตามร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้า โดยในส่วนของอัตราตามมูลค่านั้นให้คิดที่ร้อยละ 0 สำหรับการผลิตสุราทุกประเภท แต่สำหรับอัตราตามปริมาณนั้นให้คิดในอัตราเท่ากับสินค้าสุราชนิดเดียวกันที่ผลิตเพื่อการค้า ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและสามารถกำกับ ดูแลและจัดเก็บภาษีสินค้าสุราได้ครอบคลุมทั้งสุราเพื่อการค้าและสุราที่ไม่ใช่การค้า สะท้อนหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสุขภาพสำหรับสินค้าที่ให้โทษต่อสุขภาพของประชาชน โดยภาษีที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านการผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ในครัวเรือน ซึ่งเป็นการการลดแรงจูงใจในการผลิตและบริโภค

    ทั้งนี้ อัตราภาษีตามปริมาณ สำหรับสุราแช่ แยกเป็น 1. สุราแช่ชนิดเบียร์ อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 430 บาท 2. สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์คกลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 1,500 บาท 3. สุราแช่ชนิดสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น แยกเป็น ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ขนาดบรรจุไม่เกิน 0.330 ลิตร อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 150 บาท และชนิดอื่นๆ ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 900 บาท และ 4. สุราแช่ชนิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาในข้อ 1-3 อัตราภาษี ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 150 บาท

    ส่วนอัตราภาษีตามปริมาณ สำหรับสุรากลั่น แยกเป็น 1. สุรากลั่นชนิดสุราขาว อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 155 บาท และ 2. สุรากลั่นชนิดอื่นๆ อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 255 บาท

    โดยในเรื่องนี้กระทรวงการคลังรายงานว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ เนื่องจากเป็นการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นใหม่ ไม่ได้เป็นการลดอัตราภาษีจากอัตราที่จัดเก็บอยู่ จึงไม่กระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าสุราได้ในปัจจุบัน ซึ่ง ณ ปี 2565 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าสุราทั้งที่ผลิตในราชอาณาจักรและที่นำเข้าจากต่างประเทศรวม 144,295.30 ล้านบาท แยกเป็นภาษีจากสุราแช่ 98,673.14 ล้านบาท และสุรากลั่น 54,622.16 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับที่ 3 ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ (ฉบับที่…) พ.ศ….. โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีการปรับถ้อยคำเกี่ยวกับกำหนดลักษณะและรูปแบบแสตมป์สุราสำหรับสุราแช่และสุรากลั่น ให้สอดคล้องกับถ้อยคำในกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 จากเดิมที่ใช้คำว่า “แสตมป์สุราสำหรับสุราแช่หรือสุรากลั่นที่ผลิตในชุมชน” เปลี่ยนเป็น “แสตมป์สุราสำหรับสุราแช่หรือสุรากลั่นที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่ใช้เครื่องจักร…. และโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักร….”

    ส่วนลักษณะและรูปแบบของแสตมป์ยังคงใช้ตามเดิม คือ ทำด้วยกระดาษสีขาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1.5×12.5 เซนติเมตร พื้นของดวงแสตมป์พิมพ์ลวดลายป้องกันการปลอมแปลงด้วยหมึกสีน้ำตาลเข้มและน้ำตาลอ่อนและมีข้อความ “EXCISE DEPARTMENT” พิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วบริเวณดวงแสตมป์ด้านซ้ายและด้านขวาของดวงแสตมป์

    เห็นชอบ 5 พ.ค.2566 เป็นวันหยุดราชการ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2566 จำนวน 1 วัน คือวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกทั้งการที่ ครม. มีมติกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษล่วงหน้าจะช่วยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชนสามารถวางแผนการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสมต่อไป

    ทั้งนี้ เมื่อรวมวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวแล้ว จะทำให้มีวันหยุดราชการประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 19 วัน ซึ่งมีจำนวนเท่าวันหยุดราชการและวันหยุดชดเชยในปี 2563-65 แต่เมื่อรวมวันหยุดชดเชยแล้ว จะมีวันหยุดราชการและวันหยุดชดเชยรวม 24 วัน

    สำหรับวันหยุดราชการและวันหยุดชดเชยในปี 2566 ประกอบด้วย วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ 2566 , 2 มกราคม วันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ , 6 มีนาคม วันมาฆบูชา, 6 เมษายน วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ , 13-15 เมษายน วันสงกรานต์ (3วัน) , 17 เมษายน วันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ , 4 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล , 5 พฤษภาคม วันหยุดราชการที่กำหนดเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ , 17 พฤษภาคม วันพระราชพิธีพืชมงคลฯ , 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและวันวิสาขบูชา, 5 มิถุนายนวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและวันวิสาขบูชา

    28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 1 สิงหาคม วันอาสาฬหบูชา, 2 สิงหาคม วันเข้าพรรษา, 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและวันแม่แห่งชาติ, 14 สิงหาคม วันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและวันแม่แห่งชาติ 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช, 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ, 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ, 11 ธันวาคม วันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ และ 31 ธันวาคม วันสิ้นปี

    ตั้ง “เกรียงไกร เธียรนุกุล” นั่งบอร์ด สสน.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายเกรียงไกร เธียรนุกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์นพพร ลีปรีชานนท์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แทน นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายณฐพงศ์ วรรณรัตน์ เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

    4. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ที่ปรึกษาด้านการกระจายอำนาจ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง คือ นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 10 มกราคม 2566 เพิ่มเติม