ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘คลัง’ ลดภาษี “สุราพื้นเมือง – ไวน์ – สถานบันเทิง” กระตุ้นนักท่องเที่ยวช้อปเพิ่ม 2,900 ล้านบาท/ปี

‘คลัง’ ลดภาษี “สุราพื้นเมือง – ไวน์ – สถานบันเทิง” กระตุ้นนักท่องเที่ยวช้อปเพิ่ม 2,900 ล้านบาท/ปี

2 มกราคม 2024


นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

คลังยกเว้นภาษีนำเข้าไวน์ 21 รายการ พร้อมปรับลดภาษีสรรพสามิต “สุราพื้นบ้าน – สถานบันเทิง” – เปิดพิกัดใหม่เก็บ “ภาษีสุราแช่ผสมสุรากลั่น -โซจู” เพิ่ม – ยอมเฉือนรายได้ 649 ล้านบาท/ปี กระตุ้นนักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม 2,900 ล้านบาท/ปี – ดัน GDP ขยายตัว 0.0073% ต่อปี

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว (Tourist Destination) หรือเป็นศูนย์กลาง(Hub) ด้านร้านอาหารและภัตตาคารที่มีคุณภาพ หลากหลาย และมีจุดแข็งด้านราคาในระดับภูมิภาค นำไปสู่การเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืนโดยประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังต่อไปนี้

1. การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดนจูงใจด้านราคาให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม และท่องเที่ยวหย่อยใจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

    1.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สินค้าสุรา มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

      (1) สุราแช่ชนิดไวน์ และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 5 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

      (2) สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

      (3) สุราแช่ชนิดอื่นๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้

        3.1) อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

        3.2) สุราแช่ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี อาทิ โซจู โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

        3.3) สุราแช่อื่นๆ นอกจาก 3.1 และ 3.2 โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

      (4) สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่

      ระยะเวลาดำเนินการ – ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    1.2 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กิจการบันเทิง หรือ หย่อนใจ

    วิธีการดำเนินการ – กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต ยกร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่า จากอัตราร้อยละ 10 ลดลง เหลือร้อยละ 5 ของรายรับของสถานบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ประเภทที่ 17.01 ได้แก่ ไนต์คลับ , ดิสโกเธค , ผับ , บาร์ และค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายความรวมถึง สถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือ การแสดงอื่นใด เพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว และบริการ ให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นมีกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567)

    1.3 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์

    วิธีการดำเนินการ – กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 30 (ฉบับที่…) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดให้ยกเว้นอากรศุลกากรสินค้าไวน์ทุกชนิดตามประเภทพิกัด 22.04 (ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุท และไวน์อื่นๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืช หรือ สารหอม) รวมทั้งสิ้น 21 ประเภทย่อย และให้ลดอัตราอากรจากร้อยละ 60 เป็นยกเว้นอากร

    ระยะเวลาดำเนินการ – ให้มีผลใช้บังคับพร้อมร่างกฎกระทรวงฯ ตามข้อ 1.1

2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้า เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refundfor Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกรมสรรพากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้า เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 มีดังนี้

    (1) การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือ ลดลงประมาณ 75% และ
    (2) การปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป หรือ แท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เพิ่มเป็น 40,000 บาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เพิ่มเป็น 100,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี (หรือ 4.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี (หรือ 1.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) หรือ ลดลงจาก 333 คนต่อวัน ที่ต้องแสดงสินค้าเหลือเพียง 84 คนต่อวัน โดยประมาณ หรือ ลดลงกว่า 75%

“การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิต และการยกเว้นอากรขาเข้าต่าง ๆ ข้างต้น จำเป็นต้องตราเป็นกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงการคลังตามลำดับ ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้ ในภาพรวมมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่กระทรวงการคลังเสนอ จะส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.0073% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มเติมในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยและการเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง โรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง สายการบินเป็นต้น และส่งผลให้มีการลงทุนขยายกิจการและการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไปส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น” นายลวรณ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 คาดว่ามาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายจะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้มีรายละเอียด ดังนี้

    1) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าสุรา ทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ลดลง 150 ล้านบาทต่อปี
    2) การปรับลดอัตราภาษีสำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ลดลงเป็นจำนวน 70 ล้านบาท (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการชำระภาษีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566) และ
    3) การยกเว้นอากรศุลกากรขาเข้าสินค้าไวน์ดังกล่าว ทำให้กรมศุลกากรสูญเสียรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 429 ล้านบาทต่อปี

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็มีหลายหน่วยงานได้จัดทำประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567 เอาไว้ที่ประมาณ 34 – 35 ล้านคน และหลังจากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะทำให้รายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากประมาณการเดิม 1.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 2,900 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เพิ่มขึ้นจากที่ได้ประมาณการเอาไว้ แต่ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ก็จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้อีก