ThaiPublica > เกาะกระแส > อินเดียก้าวสู่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และจะกลายเป็น “โรงงานโลก” แทนจีนหรือไม่?

อินเดียก้าวสู่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และจะกลายเป็น “โรงงานโลก” แทนจีนหรือไม่?

17 มกราคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เว็บไซต์ออนไลน์ Nikkei รายงานว่า ปี 2017 ที่ผ่านมา อินเดียกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยแซงล้ำหน้าเยอรมนี สมาคมผู้ผลิตรถยนต์อินเดียรายงานว่า เดือนธันวาคม 2017 ยอดขายรถยนต์เพิ่ม 14% เป็นจำนวน 322,074 คัน ยอดขายทั้งปี 2017 เพิ่มขึ้น 10% มีจำนวน 4 ล้านคัน ถือเป็นยอดผลิตรถยนต์สูงสุดของอินเดีย และสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย

การขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น รายได้ต่อคนของอินเดียเพิ่มขึ้น 70% ช่วงปี 2007-2016 จากตัวเลขของธนาคารโลก คนอินเดียมีรายได้ต่อคนเฉลี่ย 1,700 ดอลลาร์ แม้จะยังไม่สูงเหมือนกับจีน แต่อินเดียเต็มไปด้วยคนที่ต้องการซื้อรถยนต์ครั้งแรก โดยเฉพาะคนในชนบท ที่มีสัดส่วน 30% ของตลาดรถยนต์ และประชากรทั้งหมด 1.3 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงาน

ตำนานรถยนต์ Ambassador ที่โด่งดัง

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Hindustan_Ambassador#/media/File:Hindustan_Ambassador_
Taxi_in_Goa_India,_October_1994_(16668303387).jpg

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ก่อนที่จะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รถยนต์ยี่ห้อ Ambassador เป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์อินเดีย รถ Ambassador มีรูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ผลิตโดยบริษัท Hindustan Motors โดยอาศัยต้นแบบจากรถยนต์ Morris ของอังกฤษในทศวรรษ 1950 รถ Ambassador ครองตลาดรถยนต์ในอินเดียมาจนถึงทศวรรษ 1990 และเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย เหมือนกับรถยนต์ Lada คืออดีตสหภาพโซเวียต และรถยนต์ Trabant คือเยอรมันตะวันออก

Hindustan Motors ผลิตรถ Ambassador ในช่วงปี 1958-2014 โรงงานผลิตอยู่ที่เมืองกัลกัตตา แต่จากกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การครองตลาดของ Ambassador ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเข้าไปเปิดโรงงานในอินเดีย และผลิตรถยนต์รุ่นทันสมัย คนชั้นกลางอินเดียก็หันไปนิยมรถยนต์ขนาดเล็กที่กินน้ำมันน้อยลง ถนนในเมืองใหญ่ๆ ที่ราบเรียบทำให้รถญี่ปุ่นวิ่งได้สะดวก คนอินเดียจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยรถที่สมบุกสมบับแบบ Ambassador อีกต่อไป

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 Hindustan Motors ขายกิจการรถยนต์ Ambassador ให้กับบริษัท Peugeot เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์ คนอินเดียจำนวนมากคัดค้านการขายกิจการรถ Ambassador บางคนวิจารณ์ว่า เป็นเพราะรัฐบาลนเรนทระ โมที นิยมใช้สินค้าจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีโมทีเองก็ใช้รถ BMW แทนที่จะส่งเสริมและใช้ของที่ผลิตในอินเดีย แบบเดียวกับมหาตมะ คานธี ที่นิยมใส่เสื้อผ้าฝ้ายซึ่งทอและตัดเย็บในอินเดีย

ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมรายต่อไป

ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์การผลิตด้านอุตสาหกรรม รถยนต์ Ambassador ยังสะท้อนโมเดลเศรษฐกิจอินเดียในอดีต ที่มีเทคโนโลยีล้าหลัง เศรษฐกิจตัดขาดจากโลกภายนอกและถูกควบคุมโดยข้าราชการ มากกว่าจากกลไกตลาด ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมของอินเดียก็ยังประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ขาดแคลน กฎระเบียบทางราชการ การผลิตที่ไม่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก และกฎหมายแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่น ที่ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและพลวัตของธุรกิจอินเดีย

แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกอาจไม่ได้สังเกตว่า อุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียกำลังกลายเป็นดาวเด่นแห่งความสำเร็จ นอกจากจะผลิตรถยนต์มากกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น เยอรมันและเกาหลีใต้ ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ให้บทเรียนแก่อินเดียว่า หากสามารถพัฒนาการผลิตให้กระจายกว้างขวางมากขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อินเดียจะสามารถสร้างงานให้แก่แรงงานใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาดปีหนึ่ง 12 ล้านคน หากภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถพุ่งทะยานขึ้นมาได้ อนาคตเศรษฐกิจของอินเดียคงจะไม่สดใส รวมทั้งความใฝ่ฝันที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ด้วย

อินเดียเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านธุรกิจสารสนเทศระดับโลก แต่ภาคอุตสาหกรรมของอินเดียกลับล้าหลังกว่าประเทศอย่างเกาหลีใต้ บังกลาเทศ หรือเวียดนาม ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแค่ 17% ของ GDP ที่แทบไม่ต่างจากตัวเลขสัดส่วนเมื่ออินเดียเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 แต่ข้อมูลของธนาคารโลกเรื่อง Manufacturing Value Added (% of GDP) ในปี 2016 อุตสาหกรรมของจีน ไทย และบังกลาเทศ มีสัดส่วน 29%, 27% และ 18% ของ GDP

รัฐบาลอินเดียจึงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนให้มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็น 25% ของ GDP เพื่อให้มีการสร้างงาน 100 ล้านงานในระยะ 10 ปีข้างหน้า หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 รัฐบาลนเรนทระ โมที ก็เริ่มรณรงค์ด้วยคำขวัญว่า “ผลิตในอินเดีย” เพื่อสร้างอินเดียให้เป็น “ศูนย์กลางการออกแบบและการผลิตของโลก”

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/15/Narendra_Modi_launches_Make_in_India.jpg

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก สะท้อนความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดีย จากเดิมที่เคยเป็นตลาดปิด แต่ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกล้วนมีโรงงานในอินเดีย เช่น Suzuki, Toyota, Honda, Volkswagen, BMW, General Motors, Renault, Hyundai, Nissan และ Skoda เป็นต้น นอกเหนือจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของอินเดีย เช่น Tata, Hindustan Motors และ Mahindra and Mahindra

นับจากปี 2000 เป็นต้นมา ผู้ผลิตรถยนต์อินเดียได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ปี 2008 Tata Motors ซื้อกิจการ Jaguar Land Rover จากบริษัท Ford ในปี 2012 Mahindra and Mahindra เข้าไปถือหุ้นใหญ่ของ SsangYong Motor ของเกาหลีใต้ และปี 2015 เข้าไปซื้อกิจการบริษัทออกแบบอิตาลีชื่อ Pininfarina S.p.A นับจากปี 2008 งานมหกรรม India’s Auto Expo ได้รับการรับรองจากองค์กรนานาชาติ

อุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียมีสัดส่วน 7% ของ GDP และจ้างงานทั้งทางตรงทางอ้อม 19 ล้านคน เป็นที่ยอมรับกันว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ก่อให้เกิด “ตัวคูณการจ้างงาน” (employment multipliers) มากที่สุด คือสร้างงานมากกว่างานที่เป็นการผลิตรถยนต์ ศูนย์วิจัยรถยนต์ในสหรัฐฯ กล่าวว่า งานการผลิตรถยนต์ 1 ตำแหน่ง สร้างงานอื่นๆ อีก 7 งานทั่วสหรัฐฯ เช่น งานห่วงโซ่อุปทาน ตัวแทนขายรถยนต์ หรืองานสินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น

รัฐบาลอินเดียจึงพยายามที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะมีผลต่อการจ้างงานแบบเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและต่อเรือ แม้จะไม่มีจุดแข็งด้านการผลิตเครื่องบิน แต่เมื่อเร็วๆ นี้บริษัท Lockheed Martin ได้เสนอที่จะย้ายการผลิตเครื่องบินรบ F-16 ทั้งหมดมาที่อินเดีย หากรัฐบาลอินเดียตัดสินใจซื้อเครื่อง F-16 โดยได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท Tata Group ถ้าอินเดียกลายเป็นประเทศที่ผลิตเครื่อง F-16 ก็สามารถส่งออกเครื่อง F-16 ไปประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมี 26 ประเทศที่ใช้เครื่อง F-16

“การลดภาคอุตสาหกรรม ก่อนถึงเวลาอันควร”

ภาคเกษตรอินเดียยังจ้างงาน 50% ของแรงงานทั้งหมด ที่มาภาพ : BBC

ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนคิดว่า อินเดียจะสามารถเลียนแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมือนกับประเทศเอเชียตะวันออก หรือใช้กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานเข้มข้นแบบจีน นอกจากนี้ การมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมของอินเดีย ต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของโลกที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การผลิตแบบอัตโนมัติทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมจะเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่

สำหรับประเทศยากจนและกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย พัฒนาการที่น่ากังวลคือสิ่งที่ Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด เรียกว่า “การลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมก่อนเวลาอันควร” (premature deindustrialization) ซึ่งเป็นภาวะที่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ก่อนที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีฐานะเศรษฐกิจที่ทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมที่มั่งคั่ง

Dani Rodrik เห็นว่า ทุกวันนี้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่น้อยลงไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอดีตของประเทศเอเชียตะวันออก โอกาสที่ลดน้อยลงนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ยังมีรายได้ต่ำ กระแสการลดการผลิตภาคอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โลกาภิวัตน์ การส่งออกของจีน และเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้แรงงานน้อยลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลดสัดส่วนการผลิตอุตสาหกรรมก่อนถึงเวลาอันควร

การลดสัดส่วนการผลิตอุตสาหกรรมก่อนถึงเวลาอันควรไม่ใช่ข่าวดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา Dani Rodrik กล่าวว่า ในลาตินอเมริกา เมื่อการผลิตด้านอุตสาหกรรมหดตัวลง เศรษฐกิจ “ไม่เป็นทางการ” เฟื่องฟูขึ้น ทำให้ผลิตภาพเศรษฐกิจโดยรวมลดต่ำลง ในแอฟริกา คนชนบทหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเมือง ต้องไปหางานทำในธุรกิจภาคบริการ แทนที่จะเป็นงานภาคการผลิต หากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะเติบโต ก็ต้องอาศัยเงินทุนไหลเข้า การโอนเงินจากต่างประเทศ และสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืนหรือไม่

หากขาดภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนที่สำคัญระดับหนึ่ง เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมองหาโมเดลการเติบโตใหม่ขึ้นมา เป็นโมเดลการเติบโตที่ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม โมเดลที่เป็นไปได้คือการเติบโตที่อาศัยธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจบริการบางอย่าง เช่น สารสนเทศและการเงิน อาจมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เหมือนกับภาคอุตสาหกรรม แต่ธุรกิจบริการนี้ต้องอาศัยแรงงานมีฝีมือสูง ไม่สามารถดูดซับแรงงานไร้ฝีมือหรือมีฝีมือต่ำ เหมือนกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม

แม้จะมีกระแสเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่มีองค์กรไหนเสนอให้อินเดียเลิกล้มความพยายามนี้ ในปี 2016 ธนาคารโลกมีรายงานเสนอให้อินเดียหาทางดึงการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า เพราะค่าแรงที่สูงขึ้นของจีน ช่วงปี 2000-2012 จีนเพิ่มสัดส่วนการครองตลาดโลกด้านธุรกิจเสื้อผ้า จาก 25% เป็น 40% แต่ในปี 2012 การส่งออกเสื้อผ้าของอินเดีย มีสัดส่วนแค่ 5% ของมูลค่าการส่งออกของอินเดียทั้งหมด

เอกสารประกอบ

Can India Manufacturing Be the Next Chinese Manufacturing? Alyssa Ayres, JAN 4, 2018 theatlantic.com.
Premature Deindustrialization. Dani Rodrik, John F. Kennedy School of Government, Harvard University, November 2015.