ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลเลือกตั้งที่ไต้หวันกับความกราดเกรี้ยวจากจีน

ผลเลือกตั้งที่ไต้หวันกับความกราดเกรี้ยวจากจีน

15 มกราคม 2024


ปิยมิตร ปัญญา

ที่มาภาพ : https://hongkongfp.com/2024/01/14/taiwan-unlikely-to-see-full-scale-invasion-by-beijing-in-next-few-years-defence-expert-says/

การเลือกตั้งที่ทั่วโลกพากันจับตามองในไต้หวัน ปรากฏผลลัพธ์ออกมาแล้วว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงส่วนใหญ่ เทคะแนนเลือก วิลเลียม ไล่ หรือ ไล่ ชิงเต๋อ ตัวแทนพรรครัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ให้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คู่กับรองประธานาธิบดีอย่าง เซียว บีคิม จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปอีกเป็นเวลา 4 ปี

คู่แข่งคนสำคัญอย่าง โหว โหย่วอี๋ ตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคฝ่ายค้านสำคัญ และ เคอ เวินเจ๋อ จากพรรคประชาชนไต้หวัน (ทีพีพี) แถลงยอมรับความพ่ายแพ้โดยดุษณีเมื่อคืนวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา

ชัยชนะของดีพีพีในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นพรรคแรกที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้ฉันทามติให้บริหารไต้หวันต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 แล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศดำเนินไปตามแนวทางที่ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีจากพรรคดีพีพีคนปัจจุบัน (ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 20 พฤษภาคม เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง) กำหนดเอาไว้

ไช่ อิงเหวิน สตรีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวัน ยืนยันเสมอมาว่า ไต้หวันเป็นอิสระ เป็นประชาธิไตย มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง เป็น “ไต้หวันของโลกนี้” ไม่ใช่ เป็น “ไต้หวันของจีน” อย่างที่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่กล่าวอ้างมาตลอด

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน จึงเป็นการ “ท้าทาย” โดยตรงต่อทางการปักกิ่งของประชาชนไต้หวัน และมีขึ้นท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนักจากจีนก่อนหน้าการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตีตราการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกระหว่าง “สงครามกับสันติภาพ ความรุ่งเรืองและความเสื่อมทรุด” หรือ การสำทับซ้ำจากผู้นำสูงสุดของจีนอย่าง สี จิ้นผิง ที่ว่า การผนวกรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้น “เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทางประวัติศาสตร์” ก็ตาม

ชัยชนะของ วิลเลียม ไล่ จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ชวนให้ปลาบปลื้ม ยินดี สำหรับสี จิ้นผิง และทางการจีนแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา ทางการปักกิ่งเรียกขานว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันวัย 64 ปี ผู้นี้ว่า “ตัวปัญหา” และ “นักแบ่งแยกดินแดน” ที่เป็นอันตรายต่อจีนมาโดยตลอด

ที่มาภาพ : https://twitter.com/ChingteLai/status/1744635004846817481/photo/1

สาเหตุเป็นเพราะ วิลเลียม ไล่ คือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “คลื่นลูกใหม่” ภายในพรรคดีพีพี ที่เป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองซึ่งรณรงค์ส่งเสริมให้ ไต้หวัน ประกาศ “เอกราช” จากจีน “อย่างเป็นทางการ”

เช่นเดียวกับ ว่าที่รองประธานาธิบดีอย่าง เซียว บีคิม ที่มีมารดาเป็นอเมริกัน บิดาเป็นคนไต้หวัน ก็จัดว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับความชื่นชมอย่างมากจนถึงระดับ “รังเกียจ” และ “ไม่ไว้วางใจ” จากทางการปักกิ่ง ถึงขนาดห้ามเธอเดินทางเข้าแผ่นดินใหญ่จีนรวมทั้งฮ่องกง เลยทีเดียว

ภายใต้บริบทต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่นักสังเกตุการณ์หลายคนจะคาดหมายว่า ทางการจีนในปักกิ่งอาจแสดงอาการ “กราดเกรี้ยว” ไม่พึงพอใจต่อผลการเลือกตั้งไต้หวันในครั้งนี้ออกมาในลักษณะใด ลักษณะหนึ่งในอนาคตอันใกล้

ในทางหนึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้สถานการณ์ตึงเครียดสูงที่ดำรงอยู่ในเวลานี้เหนือช่องแคบไต้หวันยืดเยื้อออกไปอีก การรุกล้ำน่านฟ้าและน่านน้ำที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวันโดยเรือรบหรือเครื่องบินรบของจีนก็จะดำเนินต่อไป

อีกทางหนึ่ง จีนอาจเลือกแสดง “แสนยานุภาพทางทหาร” ครั้งใหญ่ เหมือนเมื่อครั้งที่เคยแสดงให้เห็นมาแล้วเมื่อปี 2022 เมื่อครั้งที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น เดืนทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ ทางการไทเปถึงกับออกมากล่าวหาจีนว่า ใช้กำลังหทาร “ปิดล้อม” ไต้หวัน

หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเลือกวิธีสร้างแรงกดดันทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ดำเนินการทางการทูตเพื่อลดจำนวนประเทศที่ให้การยอมรับไต้หวันอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่มากน้อยทั่วโลกลง พร้อมกับใช้การแซงก์ชันต่อบริษัทธุรกิจน้อยใหญ่ของไต้หวัน ผลผลิตจากไต้หวัน หรือแม้แต่ต่อบุคคลที่ถือสัญชาติไต้หวัน

ที่มาภาพ : https://hongkongfp.com/2024/01/14/taiwan-unlikely-to-see-full-scale-invasion-by-beijing-in-next-few-years-defence-expert-says/

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อสังเกตุที่น่าสนใจประการหนึ่งสืบเนื่องจากการเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้ นั่นคือ ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้มีการประกาศเอกราชจากปักกิ่งอย่างเป็นทางการ พวกเขาต้องการเพียงแค่การเป็น “เอกราชในทางปฏิบัติ” เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้เท่านั้น ในทำนองเดียวกันกับที่ คนที่อยากจะ “รวมชาติ” อย่างจริงจังและเป็นทางการก็มีน้อยยิ่งกว่าน้อย

พรรคดีพีพีตระหนักในเรื่องนี้ดี ดังนั้น วิลเลียม ไล่ ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะแข็งกร้าวเรื่องความเป็นอิสระของไต้หวันมากมายเพียงใด ก็ยังคงหาเสียงด้วยสัญญาที่ว่าจะดำเนินรอยตามประธานาธิบดีไช่ หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวแบบกะทันหัน ที่เป็นการยั่วยุ ซึ่งอาจนำมาซึ่งสงคราม อย่างเช่น การประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากจีน เป็นต้น

ดังนั้น การเลือกพรรคดีพีพี จึงไม่ได้หมายความว่า ไต้หวันจะประกาศอิสรภาพจากจีนอย่างเป็นทางการในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ในทำนองเดียวกัน การเลือกก๊กมินตั๋ง ก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดการรวมชาติเกิดขึ้นในชั่วเวลาเพียงพริบตาแต่อย่างใด

ดีพีพี กับ ก๊กมินตั๋ง เพียงนำเสนอแนวทางที่แตกต่างกันในการดำรงสถานะอย่างที่ไต้หวันเป็นอยู่ในเวลานี้ออกไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกเท่านั้นเอง

ดีพีพี เน้นในความเป็นอิสระ เสริมสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกับปักกิ่ง และในเวลาเดียวกันก็เสริมศักยภาพทางทหารของไต้หวันให้แข็งแกร่งพอที่จะ “ป้องปราม” ไม่ให้ถูก “ตัดสินใจโจมตีโดยง่าย” ได้

ก๊กมินตั๋ง เชื่อว่า พรรคสามารถโน้มน้าวให้ทางการปักกิ่งเปิดการเจรจาฉันมิตรได้ ค้าขายซึ่งกันและกันได้ ตราบใดที่ไต้หวันยังยืนกรานว่าจะไม่แยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ และไม่เคลื่อนไหวใดๆ ทางทหารที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลง นั่นเป็นที่มาที่ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยปฏิเสธก๊กมินตั๋ง หลังจากรัฐบาลจากพรรคนี้ พยายาม “เอาใจ” จีนด้วยการลดงบประมาณทางทหาร ลดระยะเวลาในการเกณฑ์ทหารลงเหลือเพียง 4 เดือน เป็นต้น

ที่มาภาพ : https://www.economist.com/asia/2024/01/13/defying-china-taiwan-elects-william-lai-ching-te-as-president

ข้อเท็จจริงอีกประการที่ควรนำมาพิจารณาประกอบก็คือ ความเป็นจริงที่ว่า ดีพีพี ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีก็จริง แต่กลับเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไป ก๊กมินตั๋ง ได้ส.ส. ทั้งหมด 52 ที่นั่ง ดีพีพี หลงเหลือเพียง 51 ที่นั่ง ส่งผลให้ พรรคทีพีพี ที่ได้ส.ส. 8 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคที่มีนัยสำคัญสูงสุดในแง่ของการทำงานในสภาฯ

สภาพการบริหารประเทศโดยปราศเสียงข้างมากรองรับในสภาฯ เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลดีพีพีมาแล้วในช่วงระหว่างปี 2000-2008 ภายใต้ประธานาธิบดี เฉิน สุ่ยเปียน สภาฯซึ่งมีส.ส.ก๊กมินตั๋งเป็นเสียงข้างมาก สร้างปรากฏการณ์ “คว่ำ” ร่างงบประมาณด้านการทหารของรัฐบาลรวมแล้วถึงกว่า 60 ครั้ง บีบให้รัฐบาลต้องยอมหั่นงบฯ จาก 19,600 ล้านดอลลลาร์ เหลือเพียง 320 ล้านดอลลาร์ในปี 2007

พรรคทีพีพี ที่มีแนวนโยบาย “ไม่ก่อเรื่อง” จนเกิดเหตุยุ่งยากวุ่นวายกับทางการปักกิ่ง มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง เพื่อดำเนินการทำนองเดียวกัน สร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาลพรรคดีพีพี เพื่อกดดันให้แนวนโยบายทางทหารเป็นไปในทิศทางที่ต้องการให้มากที่สุด

ไม่แน่นัก หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงปัจจัยประกอบทั้งหมดเหล่านี้ ความเกรี้ยวกราดจากปักกิ่ง อาจไม่รุนแรงใหญ่โตอย่างที่คิดก็เป็นได้