ThaiPublica > เกาะกระแส > สี จิ้นผิง กับตำแหน่งผู้นำตลอดชีพ จีนจะหลุดจาก “กับดักช่วงเปลี่ยนผ่าน” ได้หรือไม่?

สี จิ้นผิง กับตำแหน่งผู้นำตลอดชีพ จีนจะหลุดจาก “กับดักช่วงเปลี่ยนผ่าน” ได้หรือไม่?

13 มีนาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่มาภาพ : http://www.globaltimes.cn/content/1092961.shtml

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดเผยว่า ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ประจำปี ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคมนั้น ที่ประชุมจะมีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญของจีน ให้ยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย การระบุ “ความคิดสี จิ้นผิง” ไว้ในรัฐธรรมนูญ และการตั้งหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันใหม่ ชื่อว่า คณะกรรมการตรวจสอบแห่งชาติ (National Supervision Commission) ที่ผ่านมานั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญของจีน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย

เว็บไซต์ข่าวของทางการจีน globaltimes.cn อธิบายว่า การระบุความคิดสี จิ้นผิง ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้เป็นความคิดชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์และของประเทศ ในช่วงการพัฒนาสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนสำหรับยุคใหม่ ในปี 1999 ก็มีการระบุ “ทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิง” ไว้ในรัฐธรรมนูญ จีนมีความแตกต่างจากประเทศอื่น โดยรัฐธรรมนูญจีนจะมีระบุไว้ชัดเจนถึงภารกิจพื้นฐาน เส้นทางการพัฒนา และเป้าหมาย ที่จะเป็นความพยายามของคนทั้งประเทศ

ในเมื่อความคิดสี จิ้นผิง กลายเป็นแนวคิดหลักของประเทศ การดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคและรัฐของสี จิ้นผิง จึงต้องไม่มีข้อจำกัดของระยะเวลา ปัจจุบัน ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่มีการจำกัดระยะเวลา ก็หมายความว่า ทำให้ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐกลมกลืนกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค

เว็บไซต์ globaltimes.cn อธิบายว่า สิ่งที่เป็นความจำเป็นสำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญของจีน คือเสถียรภาพของประเทศ ในช่วงปี 2020-2035 เป็นระยะเวลาที่จีนจะพัฒนาป็นประเทศทันสมัยและรุ่งเรือง จีนจึงต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง “ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้” จีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ ในเส้นทางการพัฒนาที่สูงขึ้น ต้องเผชิญปัญหาที่ยากลำบาก โดยในระยะเวลาอันสั้น จะต้องนำพาผู้คนนับพันล้านคนไปสู่สังคมที่รุ่งเรืองระดับกลาง และในที่สุด พัฒนาไปสู่สังคมรายได้สูง ภาระกิจดังกล่าวเหมือนกับการสร้างโลกตะวันตกขึ้นมาใหม่อีกแห่งหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จึงเผชิญกับปัญหาท้าทายต่างๆ

การจำกัดวาระการเป็นผู้นำรัฐ

ในทศวรรษ 1980 เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีนที่ดำเนินการให้มีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำจีน ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้จีนกลับไปสู่ยุคผู้นำเผด็จการ และความปั่นป่วนที่จะเกิดขึ้นตามมา เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ในสมัยของประธานเหมา เจ๋อตุง และการปฏิวัติวัฒนธรรม จีนเป็นประเทศที่ไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลแบบประเทศประชาธิปไตยตะวันตก การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำจึงเป็นวิธีการถ่วงดุลแบบจีน เพื่อป้องกันการปกครองโดยผู้นำสูงสุดคนเดียว และเกิดลัทธิการบูชาผู้นำ

นับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของผู้นำจีนกำหนดให้มีได้ 2 สมัย รวมระยะเวลา 10 ปี ข้อกำหนดนี้กลายแนวปฏิบัติทางพฤตินัยว่า การดำรงตำแหน่งเลขาธิการ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีได้ 2 สมัยเช่นกัน ในปี 2002 เมื่อหู จิ่นเทา ก้าวขึ้นเป็นผู้นำจีนต่อจากเจียง เจ๋อหมิน เป็นที่คาดการณ์กันว่า หู จิ่นเทา จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคเพียง 2 สมัยเท่านั้น

นับจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989 เป็นต้นมา จีนประสบความสำเร็จทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการเปลี่ยนอำนาจของผู้นำรุ่นหนึ่งไปสู่ผู้นำอีกรุ่นหนึ่งเกิดขึ้นอย่างสันติ Andrew Nathan ผู้เชี่ยวชาญจีนเรียกสิ่งนี้ว่า “ความยืดหยุ่นของระบบอำนาจนิยม” (authoritarian resilience) ความยืดหยุ่นทางการเมืองนี้ประกอบด้วย การจำกัดเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีไว้ 2 สมัย และการใช้ระบบผู้นำรวมหมู่

“ความชอบธรรมทางการเมือง”

หนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีนอธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งมากกว่า 2 สมัย ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดำรงตำแหน่งไปตลอดชีพ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนระบบเกษียณของผู้นำรัฐและพรรค และก็ไม่ได้หมายถึงระบบการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตของเจ้าหน้าที่ชั้นนำ แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อเสถียรภาพของพรรคและประเทศ

แต่การยกเลิกข้อกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ก็ทำให้จีนเกิดความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการพัฒนาทางการเมืองที่หันเหออกจากระบบ ที่ทำให้การเปลี่ยนผู้นำประเทศของจีนเกิดขึ้นอย่างสันติ โดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาที่เคยกำหนดไว้ จุดนี้เคยทำให้การเมืองระบอบอำนาจนิยมของจีนแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมเหมือนกัน

สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้ว เสถียรภาพของระบอบการเมือง ขึ้นอยู่กับความชอบธรรมทางการเมือง เพราะความชอบธรรมหมายถึง “สิทธิในการปกครอง” นักรัฐศาสตร์จึงมักจะอ้างความเห็นของ Max Weber นักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียง ที่แบ่งความชอบธรรมของระบอบการปกครองเป็น 3 แบบ คือ แบบธรรมเนียมดั่งเดิม แบบผู้นำมีบารมี และแบบกฎระเบียบทางกฎหมาย

ระบอบจักรพรรดิของจีน คือตัวอย่างความชอบธรรมการเมืองที่มาจากธรรมเนียมดั้งเดิม จีนในสมัยของประธานเหมา เจ๋อตุง มีความชอบธรรมทางการเมืองที่มาจากผู้นำที่มีบารมี ประชาชนจีนทุ่มเทให้กับผู้นำสูงสุด ส่วนความชอบธรรมที่มาจากกฎระเบียบทางกฎหมาย เป็นลักษณะของการเมืองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนให้การยอมรับผู้นำ เพราะมาจากกระบวนการทางกฎหมาย

ความชอบธรรมของระบอบการเมืองจีนในปัจจุบัน อาจไม่เข้าข่ายความชอบธรรมที่ Max Weber ได้กล่าวไว้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า รัฐบาลจีนได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากคนจีน ที่อาจจะมากกว่าการสนับสนุนที่รัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกได้รับจากคนในประเทศ นักวิชาการจีนเองส่วนหนึ่งอธิบายว่า การดำรงอยู่ของระบอบคอมมิวนิสต์จีนมาจาก “ความชอบธรรมด้านผลงาน” ที่หลังจากยุคเหมา เจ๋อตุง จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และฐานะของจีนในเวทีนานาชาติก็พุ่งสูงขึ้น

แม้ระบอบการปกครองของจีนจะไม่ได้เป็นแบบประชาธิปไตยตะวันตก แต่จีนในยุคปฏิรูปก็พยายามสร้างความชอบธรรมของการเมืองที่ตั้งบนพื้นฐานกฎระเบียบทางกฎหมาย โดยการปฏิรูปตัวโครงสร้างหรือสถาบัน เช่น จัดประชุมสมัชชาพรรคและสมัชชารัฐขึ้นเป็นประจำ แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน ระหว่างความรับผิดชอบของพรรคกับรัฐบาล ใช้ระบบผู้นำรวมหมู่ กำหนดอายุการเกษียณของเจ้าหน้าที่รัฐและพรรค และจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำพรรคและรัฐ

ผลกระทบต่ออนาคตของจีน

การที่สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดของจีน และมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ ที่จะกลายเป็นผู้นำตลอดชีพ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสที่ผู้นำแบบอำนาจนิยม กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก ผู้นำประชานิยมได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ อินเดีย และตุรกี แม้แต่ประเทศประชาธิปไตยตะวันตกอย่างสหรัฐฯ คนที่อยู่นอกแวดวงระบบการเมืองอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ระบอบปกครองของจีนเองก็กลายเป็นโมเดลของระบอบอำนาจนิยม การเมืองจีนไม่ใช่เผด็จการทหารหรือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในอดีต จุดนี้ทำให้ระบอบการเมืองของจีนกลายเป็นแบบอย่าง เพราะนับจากปี 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละกว่า 10% จีนไม่ประสบปัญหาสงครามกลางเมือง และเป็นประเทศที่โครงการพัฒนาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว อย่างเช่น เขื่อน 3 ผาของแม่น้ำแยงซี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณที่ปากีสถานใช้ทั้งประเทศ

แต่การเมืองของจีนพัฒนาไปสู่ระบอบผู้นำสูงสุด อาจสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสังคม เพราะจีนในยุคการปฏิรูป ได้พัฒนาไปสู่ความหลากหลายทางสังคม ในสมัยประธานเหมา เจ๋อตุง จีนมีผลประโยชน์เดียว คือ “ผลประโยชน์มวลชน” ในยุคนี้ การปกครองไม่ใช่การประสานผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่หลากหลาย แต่เป็นการขจัดความหลากหลาย แต่นับจากการปฏิรูปเป็นต้นมา สังคมจีนพัฒนาจนเกิดกลุ่มคนที่หลากหลาย และมีผลประโยชน์ที่ต่างกัน

ท่ามกลางความหลากหลายดังกล่าว ปัญหาท้าทายของจีนคือ จะบริหารจัดการความหลากหลายนี้อย่างไร เพื่อให้พัฒนาไปสู่ความร่วมมือและการสร้างสรรค์ สิ่งนี้ต้องการมากกว่า “ความชอบธรรมจากผลงาน” แต่สังคมต้องการกลไกทางการเมือง ที่ยึดถือกฎระเบียบ เป็นช่องทางการแก้ไขปัญหาทางสังคม เป็นกลไกธรรมาภิบาล ที่คนมีอำนาจและคนทั่วไป นำไปปฏิบัติซ้ำซาก จนเกิดความเชื่อมั่นว่า เป็นกลไกการแก้ไขปัญหาในหมู่ประชาชน และในที่สุด กฎเกณฑ์นี้กลายเป็นสถาบัน

เอกสารประกอบ
Following the Leader: Ruling China from Deng Xiaoping to Xi Jinping, David M. Lamptpm, University of California Press, 2014.