ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนขีดเส้นทางพัฒนาประเทศใหม่ ก้าวข้าม GDP มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี แซงหน้าสหรัฐฯ

จีนขีดเส้นทางพัฒนาประเทศใหม่ ก้าวข้าม GDP มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี แซงหน้าสหรัฐฯ

26 ตุลาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/content/1204528.shtml

จีนเตรียมพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 5 ปีฉบับที่ 14 ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ปี 2578 ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน(Communist Party of China :CPC) ชุดที่ 19 ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 26-29 ตุลาคม 2563 ในกรุงปักกิ่ง

แผน 5 ปีฉบับที่ 14 จะกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าและสร้างผลที่กว้างไกลเกินกว่าปีสุดท้ายของแผน

จีนได้จัดทำแผนพัฒนา 5 ปีขึ้นทุกๆ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 1953 เพื่อกำหนดเป้าหมายการเติบโตและกำหนดนโยบายการพัฒนา อันเป็นคุณลักษณะหลักของระบบการปกครองของจีน ที่ช่วยให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมและก้าวหน้าต่อเนื่องมาเป็นระยะ เพราะไม่ว่าผู้กำหนดนโยบายจะมีความเห็นแตกต่างกัน ในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เฉพาะเจาะจง เมื่อแผน 5 ปีผ่านการตกลงแล้ว ก็จะดำเนินการตามนั้น ด้วยความซื่อสัตย์ ตามมาตรการที่ตรงเป้าหมายสำหรับการดำเนินการที่ระบุไว้ในแผนอย่างเข้มงวดและตามกลไกการกำกับดูแลที่กำหนดเพื่อให้แน่ใจว่าบรรลุผล

จนถึงปัจจุบันจีนได้จัดทำแผน 5 ปี(Five-Year Plan :FYP)ไปแล้วทั้งหมด 13 แผน ยกเว้นช่วงการปรับตัวทางเศรษฐกิจระหว่างปี 1963 ถึง and 1965

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในแผน 5 ปีฉบับที่ 13

ส่วนใหญ่กว่า 90% ของงานที่ระบุไว้ในแผน 5 ปีที่ผ่านมาทั้ง 3 แผนตั้งแต่ปี 2548 บรรลุเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนว่า กระบวนการจัดทำแผนนั้นมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ แผนพัฒนาฯไม่เพียงคำนึงถึงภาพรวมที่แท้จริงและครบถ้วนของขั้นตอนการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรและจะบรรลุผลได้อย่างไร อีกทั้งต้องให้น้ำหนักและคำนึงถึงประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้ผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มมีความสมดุลด้วยความเด็ดขาดและการมองการณ์ไกล

แถลงการณ์ของที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ซึ่งเป็นเลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการกลาง CPC และประธานคณะกรรมาธิการกลางกองทัพเป็นประธานในการประชุม ระบุว่า ในช่วงที่เผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่รุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด -19 จีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความเข้มแข็งของประเทศก็ได้รับการเสริมสร้างให้รอบด้าน ในช่วงแผน 5 ปี ฉบับที่ 13

รายงานที่นำส่งต่อการประชุมสมัยที่ 3 ของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 13 ระบุว่า เป้าหมายและภารกิจหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของปีประสบความสำเร็จ และมีความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายหลักที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 (2016-2020) ตามความคาดหวัง

“ความสำเร็จทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับปานกลางให้สำเร็จลุล่วงทุกประการ” รายงานระบุ

เป้าหมายและภารกิจของแผน 5 ปีฉบับที่ 14

ที่ประชุมคณะกรรมการกลาง CPC เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้พิจารณา รายงานผลการรับฟังความเห็นของสาธารณะต่อเกี่ยวกับการจัดทำแผน 5 ปีฉบับที่ 14 และเป้าหมายสำหรับปี 2578

จีนได้เรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์เกี่ยวกับการจัดทำแผน 5 ปีฉบับที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นประธานในการประชุมสัมมนาหลายงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผน 5 ปีฉบับที่ 14

“นี่คือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของประชาธิปไตยสังคมนิยมในประเทศ” รายงานระบุ

ในระหว่างการประชุม เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกหลายประเด็นที่จะส่งเสริมการพัฒนาประเทศในช่วงแผน 5 ปีฉบับที่ 14 ทั้งการสนับสนุนความเป็นผู้นำโดยรวมของพรรค ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก สร้างรูปแบบใหม่ของการพัฒนา และทำให้การปฏิรูปของจีนลึกมากข้นและเปิดกว้างมากกว่าเดิม

แผนพัฒนาฉบับที่ 14 จะเป็นช่วง 5 ปีแรกของการเดินทางครั้งใหม่ของจีนในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างเต็มที่และก้าวไปสู่เป้าหมายของศตวรรษที่สอง ซึ่งต่อยอดจากความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับปานกลางทุกด้านและการบรรลุเป้าหมายใน 100 ปีแรก

พรรคมิวนิสต์จีน ได้ตั้งเป้าหมายการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับปานกลางในทุกด้านไว้ภายในสองศตวรรษหรือเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 และสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มั่งคั่ง เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตยมีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและมีความสามัคคีภายในปี 2592

นอกจากนี้ได้มีการกล่าวถึง “วิสัยทัศน์ระยะยาว” 15 ปีพร้อมกับแผน 5 ปีฉบับที่ 14 ในปีนี้ โดยตั้งเป้าไว้ที่ปี 2578 เมื่อเป้าหมายการพัฒนาสังคมนิยมของประเทศให้ทันสมัยประสบความสำเร็จ

แผนพัฒนาที่ประชาชนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธานในการประชุมซึ่งมีผู้แทนท้องถิ่นเข้าร่วมเพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับแผน 5 ปี ครั้งที่ 14 ในฉางชาเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน ที่มาภาพ:https://news.cgtn.com/news/2020-09-19/Xi-Jinping-encourages-public-advice-on-China-s-14th-Five-Year-Plan-TUir7L6CoU/index.html

ประธานาธิบสี จิ้นผิง สนับสนุนให้ประชาชนออกความคิดเห็น ต่อแผน 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมาธิการการทหารกลางในปลายเดือนกันายนที่ผ่านมา ระหว่างการเป็นประธานในการประชุมซึ่งมีผู้แทนท้องถิ่นเข้าร่วมเพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับแผน 5 ปี ครั้งที่ 14 ในฉางชาเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน กล่าวย้ำ ถึงความสำคัญในการผสมผสานความเห็นจากระดับบนและจากประชาชนทั่วไปไว้ในการจัดทำแผน 5 ปีครั้งที่ 14

“การตอบสนองความต้องการของผู้คนที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขคือภารกิจของเรา” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าว

เป็นที่สังเกตว่าแผน 5 ปีครั้งที่ 14 นี้เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้านและมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับชีวิตของชาวจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สนับสนุนให้ผู้คนจากทุกภาคส่วนของสังคมให้คำแนะนำความคิดเห็นแก่แผน 5 ปีครั้งที่ 14 สำหรับการพัฒนาใน 5 ปีข้างหน้า

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่าการจัดทำแผน 5 ปีครั้งที่ 14 ควรตอบสนองความต้องการของประชาชนและเข้าใจความคิดและความคาดหวังของผู้คนด้วย

ในระหว่างการประชุมผู้แทนระดับล่าง 10 คนได้เสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาในชนบท การบรรเทาความยากจนผ่านการสนับสนุนทางอุตสาหกรรม และการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมรวมถึงด้านอื่นๆ

ความคิดของผู้แทนกลุ่มนี้พวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของคนระดับรากหญ้า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาอย่างรอบคอบและรับฟังข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่า การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย จึงเรียกร้องให้มีความพยายามมากขึ้นในการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเร่งพัฒนารูปแบบการพัฒนาใหม่ๆที่ “ยึดตลาดในประเทศเป็นแกนนำ ขณะที่ให้ตลาดภายในและภายนอกส่งเสริมซึ่งกันและกัน”

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวอีกว่า การจัดทำแผน 5 ปีครั้งที่ 14 ควรมีความพยายามมากขึ้นในการปรับปรุงจุดอ่อนในการเชื่อมโยงการดำรงชีวิตของผู้คนขณะที่มุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง โดยขอให้มีมาตรการที่ตรงเป้าหมายมากขึ้นเพื่อดำเนินการในด้านที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงการรวมระบบการกำกับดูแลในระดับประถมศึกษา การรวมกลุ่มและชี้นำประชาชนให้มีความกระตือรือร้น ริเริ่มและสร้างสรรค์ในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น

แผน 5 ปีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 จะเริ่มใช้ในปี 2564 ในระหว่างการจัดทำแผนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชนตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ

แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 มีอะไรบ้าง

หวัง เตา หัวหน้าเศรษฐกรจาก ยูบีเอส อินเวสเม้นท์ แบงก์ วิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนน่าจับตามองในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีฉบับที่ 14

แผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีฉบับที่ 14 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 19 ซึ่งเริ่มขึ้นในวันนี้(26 ตุลาคม 2563) ไปจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 จะเป็นการทบทวนและอนุมัติร่างแผน 5 ปีฉบับที่ 14 (2564-2568) โดยแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะนำเสนอต่อสภาประชาชนแห่งชาติในการประชุมเดือนมีนาคม 2564

  • แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 วางรากฐานสำหรับการเริ่มต้นใหม่
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนและทำให้การบรรลุเป้าหมายแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่รวมถึงเป้าหมายด้านการขยายตัวของเมืองและสิ่งแวดล้อมน่าจะประสบความสำเร็จได้ในปลายปี 2563 ยกเว้นการเติบโตของ GDP และการเติบโตของรายได้ครัวเรือน

    แม้จะมีการเติบโตน้อยลงในปีนี้เนื่องจากการระบาดของไวรัส -19 แต่ GDP ต่อหัวของจีนมีแนวโน้มสูงถึง 10,400 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เทียบกับ 8,000 ดอลลาร์เมื่อ 5 ปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้นประชากรชนชั้นกลางของจีนมีจำนวนมากกว่า 400 ล้านคนแล้ว (ประชากรที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีระหว่าง 100,000-500,000 หยวนตามเกณฑ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) และความยากจน (โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท) ลดลงอย่างมาก

    แผน 5 ปีฉบับที่ 13 ยังได้มีการดำเนินการปฏิรูปด้านอุปทานซึ่งช่วยลดการใช้กำลังการผลิตที่มากเกินไปในภาคอุตสาหกรรม และลดการใช้มาตรการซึ่งนำไปสู่กฎระเบียบด้านสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น การจัดการกับสินเชื่อด้อยคุณภาพเร็วขึ้น และการรักษาเสถียรภาพของอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP แม้จะมีแนวโน้มที่จะถูกกดดันจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 ปีนี้และการกระตุ้นสินเชื่อ

    เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะจากภายนอก การระบาดใหญ่นำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ขีดความสามารถของนโยบายมหภาคลดลงในเกือบทุกประเทศและแรงต้านโลกาภิวัตน์กระจายวงมากขึ้น

    ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ – จีนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกด้าน หลังจากสงครามการค้าทวิภาคีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 และการระบาดของไวรัสโควิด -19 ในปีนี้นำไปสู่การเพิ่มความเข้มงวดด้านเทคโนโลยีต่อจีนจากสหรัฐฯและเพิ่มแรงกดดันในการตัดความสัมพันธ์ระหว่างกัน

    จากแรงกดดันทั้งสองด้านนี้ จึงมีแนวโน้มที่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานจะเร่งตัวขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศของจีนเอง จำนวนประชากรสูงวัย ปัญหาคอขวดด้านเทคโนโลยีและประสิทธิภาพต่ำในบางพื้นที่ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตในระยะยาวของจีน

    ยูบีเอส อินเวสเม้นท์ แบงก์ประเมินว่า ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่เข้มงวดขึ้นจากสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจตามศักยภาพของจีนในอีก 10 ปีข้างหน้าราว 0.05 จุดต่อปี แม้จีนจะยังคงเป็นแรงหลักการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

  • ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจในภาพรวม
  • การเติบโตของ GDP ที่ช้าลง เน้นการปรับสมดุลและคุณภาพของการเติบโตมากขึ้น

    เมื่อเทียบกับเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่มากกว่า 6.5% ที่กำหนดไว้ในแผนฉบับที่ 13 คาดว่ารัฐบาลจะไม่กำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน หรือกำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ต่ำและยืดหยุ่นกว่า (เช่นประมาณ 5%)

    แม้จะมีการฟื้นตัวมาที่ 7.6% ในปี 2564 แต่คาดว่าจีนจะเติบโตของเฉลี่ยเพียง 5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะประชากรสูงอายุ อัตราการออมที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน และข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่เข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศ

    ยูบีเอส อินเวสเม้นท์ แบงก์คาดว่า แผนพัฒนาฉบับที่ 14 จะเน้นย้ำถึงการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในประเทศและปรับปรุงคุณภาพของการเติบโต ตามแนวคิดยุทธศาสตร์สองวงจร หรือวงจรคู่ ที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้

    นั่นหมายความว่า แผนพัฒนาฉบับที่ 14 มีแนวโน้มที่จะตั้งเป้าหมายสำหรับการขยายตัวของเมืองไว้สูง (ทะเบียนบ้านน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5 จุด) การเติบโตของการจ้างงานในเมืองใหม่ (อาจเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านคนในปี 2564-2568) การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนภาคการบริโภคและบริการ การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและการวิจัยและพัฒนา

    ที่มาภาพ: https://news.cgtn.com/news/2020-09-25/UBS-What-to-expect-from-China-s-14th-Five-Year-Plan–U4WJo9IoWA/index.html

  • ยุทธศาสตร์วงจรคู่ เน้นไปที่การเพิ่มความต้องการภายในประเทศ

  • ในแง่ของความท้าทายจากสภาพแวดล้อมภายนอกและศักยภาพการเติบโตที่ลดลง แผน 5 ปีฉบับใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “วงจรคู่”(dual circulation) โดยเน้นที่ “การหมุนเวียนภายในประเทศ” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาในอีก 5 ปีข้างหน้า

    ยุทธศาสตร์วงจรคู่นี้ เพิ่มความเร่งด่วนให้กับนโยบายของรัฐบาลที่มีอยู่หลายข้อ ในการเพิ่มความต้องการภายในประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงการส่งเสริมความเป็นเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง มาตรการเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน SME และปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมและการบริโภค

    นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างที่ลึกมากขึ้น หรือการปฏิรูปด้านอุปทาน เพื่อช่วยปรับรูปแบบการจัดหาสินค้าและบริการภายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งเพิ่มผลผลิตและความยั่งยืน แต่ไม่ได้หมายความว่าจีนจะปิดประตูใส่โลก เพราะมีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างต่อไป แม้จะมีความท้าทายภายนอกเพิ่มขึ้นก็ตาม

  • การปฏิรูปในระบบทะเบียนบ้าน ที่ดิน พื้นที่รัฐวิสาหกิจ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพในการเติบโต
  • หลังจากที่อัตราส่วนการขยายตัวของเมืองวัดจากทะเบียนบ้าน(hukou) เพิ่มขึ้น 5 จุด เป็น 45% ในปี 2020 ยูบีเอส อินเวสเม้นท์คาดว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าหมายสูงขึ้นอีกเป็น 50% ภายในปี 2568 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีผู้อยู่อาศัยในเมืองตามทะเบียนบ้าน เพิ่มขึ้นกว่า 80 ล้านคนในช่วงปี 2564-2568

    ทั้งนี้ต้องมีการผ่อนคลายข้อจำกัดของระบบทะเบียนบ้านมากขึ้นในเมืองใหญ่ และการเข้าถึงบริการสาธารณะที่เท่าเทียมกันซึ่งจะช่วยเพิ่มการเคลื่อน ย้ายแรงงาน สนับสนุนการบริโภคในเมือง และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น (จากภาคที่มีประสิทธิภาพต่ำไปถึงสูง)

    ในขณะเดียวกันมีการปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ที่ดินในชนบทเข้าสู่ตลาดโดยตรงมากขึ้น และเร่งการพัฒนาตลาดแลกเปลี่ยนที่ดิน สามารถปล่อยปริมาณที่ดินได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรของตลาดที่ดิน ทั้งระบบทะเบียนบ้าน และการปฏิรูปที่ดินจะช่วยสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้บ้าง

    นอกจากนี้จีนกำลังดำเนินแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ระยะ 3 ปี (2563-2565) ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการเป็นเจ้าของแบบผสมผสานมากขึ้น การถอน ทุนของรัฐออกจากภาคการแข่งขัน และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การปฏิรูปเหล่านี้สามารถช่วยยกระดับการแข่งขันสำหรับองค์กรเอกชนและต่างชาติให้เท่าเทียมกัน ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจ

    ที่มาภาพ: http://www.chinadaily.com.cn/a/202010/25/WS5f9578c3a31024ad0ba80c1d.html

  • เปิดกว้างเพื่อรับมือกับความยากลำบาก
  • ยูบีเอส อินเวสเม้นท์แบงก์ เชื่อมั่นว่า ด้วยยุทธศาสตร์สองวงจร จีนจะผลักดันการเปิดกว้างขึ้นตามแผนพัฒนา 5 ปีต่อไปมากกว่าที่จะแสวงหาความโดดเดี่ยว

    จีนได้เร่งการเปิดกว้างมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงการออกกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่เพื่อทำให้การแข่งขันนักลงทุนต่างชาติมีความเท่าเทียมกัน ด้วยโครงการ ” negative list ” การยกเลิกข้อจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติในสถาบันการเงิน ยกเลิกโควต้าการลงทุนทั้ง QFII (Qualified Foreign Institutional Investor) และ RQFII (Renminbi Qualified Foreign Institutional Investor I) รวมทั้งได้เปิดใช้โครงการเชื่อมต่อหุ้นและพันธบัตร

    มองไปข้างหน้าคาดว่า จีนจะเปิดตลาดในประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติในเกือบทุกภาคธุรกิจ ลดรายชื่อใน negative list ลงอย่างมาก และลดภาษีนำเข้าและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในอีก 5 ปีข้างหน้า มาตรการเหล่านี้พร้อมกับตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม น่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และกระแสการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเร็ว ๆ นี้

  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและกำลังซื้อผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
  • ในบริบทของ “วงจรในประเทศ” นักลงทุนอาจมีโอกาสในการผลักดัน ให้เกิดความเป็นเมืองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาพื้นที่มหานครและกลุ่มเมือง และการผ่อนคลายข้อจำกัดของระบบทะเบียนบ้านเพิ่มเติม

    ในด้านการพัฒนาเมืองใหม่ จีนมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง แม้ชะลอตัวลงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะในเมือง และการก่อสร้างในภูมิภาคที่ด้อยพัฒนา

    ด้านทะเบียนบ้าน การปฏิรูประบบ hukou และการขยายตัวของเมืองที่มาจากคน บ่งชี้ถึงการลงทุนใหม่ในบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริโภคในเมืองมากขึ้น จีนมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นผู้นำในการขยายตัวของการบริโภคทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว เนื่องจากการบริโภครวมของจีนคาดว่าจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568 ซึ่งมากกว่าปี 2563 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์

    ขณะเดียวกันการยกระดับการบริโภคของจีนมีแนวโน้มที่จะไปสู่การให้บริการมากขึ้น คุณภาพที่ดีขึ้น การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น การสร้างเสริมประสบการณ์กับการพัฒนาตนเองมากขึ้น และการช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น

    ที่มาภาพ:
    https://news.cgtn.com/news/2020-09-25/UBS-What-to-expect-from-China-s-14th-Five-Year-Plan–U4WJo9IoWA/index.html

  • เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญอันดับต้นๆ

  • จีนมีแนวโน้มที่จะกำหนดเป้าหมายสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP จาก 2.5% ในปี 2563 (350-400 พันล้านดอลลาร์) เป็นประมาณ 3% ในปี 2568 (600-650 พันล้านดอลลาร์) และเพิ่มการใช้จ่ายด้านการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เมื่อประเมินจากแรงกดดันที่อาจจะต้องตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่เข้มงวดจากสหรัฐฯ จีนอาจจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยขั้นแนวหน้าและพื้แก้ปัญหาคอขวดเทคโนโลยี (เช่น ชิปและเซมิคอนดักเตอร์ ซอฟต์แวร์ เครื่องจักรที่มีความแม่นยำ สารเคมีชั้นดี หุ่นยนต์ขั้นสูง วัสดุใหม่ การบินและอวกาศและเทคโนโลยีการบิน) ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดียิ่งขึ้น และเสนอสิ่งจูงใจทางการตลาดให้กับนักวิจัยมากขึ้น

    นอกจากนี้บุคคลากรที่มีความสามารถของจีน (ผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยประมาณ 8 ล้านคนต่อปีซึ่งกว่า 4 ล้านคนมีการศึกษาสาขา STEM) ขนาดตลาดที่ใหญ่ และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่ผ่อนคลายจะช่วยหนุนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเร่งการประยุกต์ใช้ผลการวิจัยและพัฒนา

  • ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

  • ยูบีเอส อินเวสเมนท์แบงก์ คาดว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลและมีผลที่เกี่ยวข้องในแผนพัฒนาฉบับใหม่การระบาดของไวรัสโคสิด-19 ได้เร่งให้เป็นดิจิทัลเร็วขึ้น ทั้งนี้คาดว่ายอดขายออนไลน์ของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 21% ในปี 2562 และ 25% จากต้นปีในปี 2563 ขณะที่การจัดหาบริการอื่น ๆ ทางออนไลน์รวมถึงการทำงานทางไกล การศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการทางการเงินจะเติบโตอย่างรวดเร็ว

    อีกทั้งยังคาดว่ารัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ บริษัทจีนในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจด้วยบริการดิจิทัลมากขึ้น เช่น การค้าปลีกอัจฉริยะ และการผลิตอัจฉริยะ โดยจัดให้มี “โครงสร้างพื้นฐานใหม่” รวมถึงศูนย์ข้อมูล, เครือข่าย 5G, ระบบ AI, อินเทอร์เน็ตออฟธิง (IoT) เป็นต้น แม้การลงทุนประจำปีของ “โครงสร้างพื้นฐานใหม่” ที่กำหนดไว้อย่างเป็นทางการจะยังคงมีน้อยในขณะนี้ (ประมาณ 1 ล้านล้านหยวนหรือคิดเป็น 5% ของ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด) และคาดว่าแผนฉบับที่ 14 จะเพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องเร็วกว่า “โครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม” ในอีก 5 ปีข้างหน้า

  • ปกป้องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว

  • จีนน่าจะสามารถบรรลุข้อผูกพันส่วนใหญ่ในแผน 5 ปีฉบับที่ 13 ได้สำเร็จ ด้วยความทะเยอทะยานในระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จึงคาดว่าจีนจะกำหนดมาตรฐานการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษที่สูงขึ้นในแผนพัฒนาฉบับใหม่ ที่ครอบคลุมการใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลในสัดส่วน 18% ต่อการใช้พลังงานทั้งหมด (เทียบกับ 15.3% ใน 2562 และเป้าหมาย 15% ตั้งไว้ในปี 2563) การลดการใช้พลังงานต่อหน่วยของ GDP และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตลอดจนกำหนดให้สัดส่วนของวันที่คุณภาพอากาศดีสูงขึ้นด้วย

    ความต้องการอุปกรณ์บริการและการลงทุนที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่รวดเร็วขึ้น ในช่วงปี 2559-2562 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน (FAI) ของจีนในส่วนที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 36% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เราคาดว่า ขนาดการลงทุนของ FAI จะเพิ่มเป็นสองเท่าจากปี 2019 เป็นมากกว่า 1.5 ล้านล้านหยวนภายในปี 2568

  • ให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยง

  • จีนอาจไม่ได้ร่างแผนอย่างชัดเจนในการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงินไว้ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 เช่นเดียวกับแผน 5 ปีฉบับก่อนหน้านี้ แต่ยูบีเอส อินเวสเม้นท์ แบงก์ประเมินว่ารัฐบาลได้พิจารณาแล้วในการจัดทำแผนว่ามีแนวโน้มที่จะควบคุมความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดภาระหนี้ ควบคุมภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ และเสถียรภาพทางสังคม ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการควบคุมความเสี่ยง

    การลดภาระหนี้ คาดว่าหนี้ของภาคที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต่อGDP ของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราว 25 จุด เป็นเกือบ 300% ของ GDP ในปี 2563 เนื่องจากการกระตุ้นสินเชื่อและการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ก่อนที่จะมีเสถียรภาพในปี 2564

    แม้จะประเมินว่าจีนจะไม่เผชิญกับความเสี่ยงด้านหนี้ทั้งระบบ เป็นผลจากปัจจัยพิเศษหลายข้อ แต่การใช้ประโยชน์จากหนี้ในระดับมหภาคของจีนนั้นสูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหนี้ในภาคธุรกิจ และคาดว่าจีนอาจเพิ่มความพยายามอีกครั้งหลังปี 2564 เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของหนี้โดยรวมและผลักดันการลดหนี้ในบางภาค โดยธุรกิจที่มีหนี้สูงและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

    การควบคุมภาวะฟองสบู่ กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการระบาดของโควิด-19 พร้อมกับราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนได้เรียนรู้บทเรียนอันขมขื่นจากการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ก่อนหน้านี้และต้องปรับนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เข้มงวดขึ้นในเร็วๆนี้ สะท้อนว่า จีนไม่สามารถปล่อยให้อสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงได้ เนื่องจากมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

    ทั้งนี้คาดว่า นโยบายอสังหาริมทรัพย์จะคงแยกตามประเภทและระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเติบโตเกินไปหรือโอเวอร์ฮีท หรือตกต่ำรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่กิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์อาจค่อยๆลดลง เพราะปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทานของอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เอื้ออำนวย

    ความมั่นคงทางสังคม แนวโน้มประชาสูงวัยจะเร่งตัวขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยส่วนแบ่งของกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2563 เป็น 14% ในปี 2568 และ 17% ในปี 2573 เมื่อเทียบกับเพียง 8-9 % ในช่วงปี 2553-2558 การใช้จ่ายของจีนในการดูแลผู้สูงอายุและภาระประกันสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งต้องมีการปฏิรูประบบบำนาญต่อไป รวมถึงการโอนหุ้นรัฐวิสาห กิจ ไปยังกองทุนประกันสังคมมากขึ้น

    ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในภูมิภาคและในชนบท กับในเมืองได้เพิ่มแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางสังคมและรัฐบาลอาจปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมต่อเนื่อง และเพิ่มการโอนงบประมาณเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว

    ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีขั้นสูงรับมือสหรัฐฯ

    จีนให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ระยะยาวกับสหรัฐฯ

    ก่อนการประชุมครั้งสำคัญที่จะกำหนดเส้นทางการพัฒนาของจีนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสิ้นสุดลง นักเศรษฐศาสตร์ของจีนคาดการณ์ว่า ผู้กำหนดนโยบายของประเทศจะลดเป้าหมายการเติบโตของ GDP ของประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยคงเป้าหมายไว้ที่ระดับที่ต่ำที่ประมาณ 5% หรืออาจจะยกเลิกการกำหนดเป้าหมายแบบเจาะจงไปเลย เนื่องจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้พร้อมที่จะหันหลังให้กับการเติบโตที่เน้นปริมาณและมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างและคุณภาพเพื่อเผชิญกับสิ่งที่อาจเป็น “ปีที่ยากที่สุด” รออยู่ข้างหน้า

    เป้าหมายการเติบโตของ GDP เป็นจุดเด่นของแผนพัฒนามาตลอด

    สำหรับแผน 5 ปีฉบับที่ 13 ซึ่งจะสิ้นสุดในปีนี้ จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอย่างน้อย 6.5% ส่วนเป้าหมายแผน 5 ปีฉบับที่ 12 (2554-15) คือ 7%

    “จีนจะลดเป้าหมายการเติบโตของ GDP ในครั้งนี้อย่างแน่นอน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาของจีน และสภาพแวดล้อมภายนอกที่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่จะตั้งเป้าหมายที่ต่ำลง เนื่องจากจีนได้เปลี่ยนไปสู่รูปแบบการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและการลงทุน” เหลียน ผิง หัวหน้าสถาบันวิจัยการลงทุนจื่อซิน( Zhixin) ให้ความเห็น

    “เป้าหมายการเติบโต 4.5% มีความเป็นไปได้สูง” หู ฉีมู่ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจซิโนสตีล อิโคโนมิก (Sinosteel Economic Research Institute) คาดการณ์

    “อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจีนจะไม่ยึดเป้าหมายการเติบโตของ GDP เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในแนวคิดของผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งการเติบโตอย่างรวด เร็วไม่ได้หมายถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนอีกต่อไป” หวัง อี้เว่ยศาสตราจารย์ของ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน(School of International Relations of Renmin University of China )ให้ความเห็น

    “จีนไม่ได้ตั้งเป้าหมาย GDP ในปีนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปักกิ่งอาจละทิ้งสิ่งที่เรียกว่า ‘กำไรสูงสุด’ 6% สิ่งที่ปักกิ่งกำลังดำเนินการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถหลักในการแข่งขัน และสร้างงานเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน”“หวัง อี้เว่ยอธิบาย

    ในเดือนพฤษภาคมจีนยกเลิกเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขในปี 2020 เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษท่ามกลางวิกฤตการณ์โคโรนาไวรัส

    ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/content/1202492.shtml

    จนถึงขณะนี้จีนได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถฝ่าฟันความยากลำบาก(headwinds )ได้ ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจของจีนขยายตัว 3.2% สวนทางกับการหดตัว 6.8% ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณของความยืดหยุ่นที่ฝังรากลึกในเศรษฐกิจของจีนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่หยุดนิ่ง จากการระบาดของโคโรนาไวรัสที่ทำให้เศรษฐกิจหลัก ๆ ส่วนใหญ่ชะงักงัน

    ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจีนจะเติบโตได้ถึง 2% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การส่งออกที่แข็งแกร่ง และจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะหดตัว 3.5%

    “หากสามารถสกัดการแพร่ระบาดทั่วโลกได้ในเร็วๆนี้ เรามีเหตุผลทุกประการที่จะเชื่อว่า GDP ของจีนสามารถเติบโตได้ประมาณ 8-10% ในปี 2564” เหลียน ผิงกล่าว

    โตแซงหน้าสหรัฐฯใน 10-15 ปี

    อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์กล่าวว่า ในปีนี้ซึ่งมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นจากความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯและการระบาดของโควิด -19 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทดสอบที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจของจีน

    “จีนจะประสบกับความยากลำบากอย่างมากในอีก 10 -15 ปีข้างหน้า ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯที่ขัดแย้งรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำอีกครั้ง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จะก่อให้เกิดความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและทำให้แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 สำคัญกว่าที่เคยมากขึ้น” เหลียน ผิงกล่าว

    สหรัฐฯเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผล เช่น มาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงกับสหรัฐฯมีแนวโน้มมากที่จะมีสัดส่วนถึง 30% ในแผน 5 ปีฉบับถัดไป หู ฉีมู่กล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า จีนต้องเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ระยะยาวกับการสกัดของสหรัฐฯและความเสี่ยงที่จะมีการตัดความสัมพันธ์

    เหลียน ผิง คาดการณ์ว่า ในแผน 5 ปี จีนจะเน้นยุทธศาสตร์วงจรคู่ มีนโยบายที่แข็งแกร่งสนับสนุนในภาคธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง แม้ต้องแบกต้นทุนสูงมากในระยะสั้น และยังคงเปิดกว้างอย่างต่อเนื่อง

    ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ช่วงปี 2564-2568 จะเป็นช่วงสำคัญสำหรับจีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่จะเข้าใกล้การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือเข้าใกล้สหรัฐซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกมากขึ้น

    เทียน หยุน รองผู้อำนวยการสมาคมการดำเนินการเศรษฐกิจปักกิ่ง(Beijing Economic Operation Association)กล่าวว่า ตราบใดที่จีนขยาย GDP ขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีใน 15 ปีข้างหน้า วอชิงตันจะถูกบีบให้ยกเลิกคิดแผนการทำลายปักกิ่งโดยปริยาย

    “หาก GDP เราเพิ่มไปที่ 30 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 เราจะเห็นตลาดในประเทศใหญ่กว่าสหรัฐฯถึง 2 เท่า ด้วยเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในเราจะสามารถขับไล่การรุกรานของสหรัฐฯได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ” เทียน หยุนให้ข้อสังเกต

    หลิน อี้ฟู คณบดีกิตติมศักดิ์ของวิทยาลัยแห่งการพัฒนา(National School of Development) แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง คาดการณ์ว่า GDP ของจีนจะสูงกว่าสหรัฐฯภายในปี 2573 คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนและอาจเป็น 2 เท่าของสหรัฐฯภายในปี 2593

    ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของแผน 5 ปีข้างหน้า คือ การช่วยให้ประชาชน อีก 1,000 ล้านคนของจีนขยับขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลาง

    ไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศและในประเทศจะเป็นอย่างไร จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงโดยมี GDP เฉลี่ยต่อหัวเกินเกณฑ์ 12,700 ดอลลาร์ หากยังคงสามารถมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ของประเทศและเพิ่มศักยภาพในการเติบโตได้อย่างเต็มที่ รายงานสื่อท้องถิ่นอ้างคำพูดของ หลิน อี้ฟู

    “หากจีนสามารถ ‘อยู่รอด’ ซึ่งหมายถึงการรักษาการเติบโต 4% ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จีนก็สามารถรับมือกับความท้าทายภายนอกที่อาจเกิดขึ้นได้และยังเอาชนะกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ” เหลียน ผิงกล่าว

    แผน 5 ปีที่ยาว 30 ปี

    การประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ชุดที่ 19 เพื่อพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีมีขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกกำลังปั่นป่วนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    แผนพัฒนา 5 ฉบับสมบูรณ์จะเปิดตัวในปีหน้า ในการประชุมสภาประชาชนซึ่งมักจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม

    แดน หวัง หัวหน้านักเศรษฐกร จากหั่ง เส็ง ไชน่า มองว่า “ สิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะโดดเด่น คือ ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน”

    “และยังมองว่าจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพราะแผน 5 ปีฉบับที่ 14 นี้เป็นแผนระยะยาว ไม่ใช่แผนฉุกเฉิน” แดน หวัง กล่าว “แผนจะผลักดันประเด็นระยะยาว ประกอบกับการแข่งขันกับฯบางด้าน จะมีแรงกดดันอย่างมากในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน”

    ทางด้าน อวี่ ซู นักเศรษฐศาสตร์จาก Economist Intelligence Unit (EIU)คาดว่าแผน 5 ปีจะเน้นการสนับสนุนเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และยังคาดว่า ในแผนจะมีประเด็นเกี่ยวกับการสร้างความยืดหยุ่นในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน แทนที่จะพึ่งพาการนำเข้าปิโตร เลียมและสร้างความมั่นใจในความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อเผชิญกับความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศผู้ผลิตทางการเกษตร และการขาดแคลนเนื้อหมูซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในครัวเรือนจีน

    ส่วนด้านสังคม คาดว่าจีนจะหาวิธีอื่น ๆ ในการกระตุ้นการบริโภครวมถึง การยกเลิกการจำกัดการมีบุตรต่อครอบครัว ซึ้งทั้งหมดนี้จะทำให้จีนเติบได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว

    นอกจากนี้ยังมองกันว่าจีนหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในประเทศ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับหนี้ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้แผน 5 ฉบับที่ 13 ซึ่งระบุสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญของตั้งแต่ปี 2559-2563 นั้น จีนค่อยๆพึ่งพาการบริโภคเพื่อการเติบโตมากกว่าการส่งออกทีละน้อย

    ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้พูดถึงวลีใหม่ที่คาดว่าจะเน้นย้ำแผนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ “สองวงจร” แบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างกว้าง ๆ ได้แก่ “การหมุนเวียนภายใน” ที่เน้นการเติบโตของตลาดในประเทศจีนและ “การหมุนเวียนภายนอก” หรือการค้ากับประเทศอื่น

    “แผน 5 ปีฉบับที่ 14 ไม่ได้เป็นเพียงแค่ 5 ปีข้างหน้า แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า” ฉิน กัง ผู้ก่อตั้ง YaSong (Ode & Song) City Strategy และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการให้ความเห็น ซีเอ็นบีซีรายงานจากคำพูดของ ฉิน กัง ที่แปลมาจากภาษาจีนกลาง

    จากความสำเร็จทางเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้ “จีนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในสิ่งที่คิดว่าสำคัญ” ฉิน กังกล่าวและว่า จีนยังต้องใช้เวลานานในการปล่อยให้กลไกตลาดมีบทบาทมากขึ้นในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ “แผน 5 ปีฉบับที่ 14 โดยรวมเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศของจีนเป็นหลัก”

    ด้วยการให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศจีนมากขึ้น นักวิเคราะห์โดยทั่วไปคาดว่า แผนพัฒนาฉบับใหม่นี้จะสนับสนุนด้านสาธารณสุข การศึกษากีฬาและวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวมากขึ้น

    “ในอีกห้าปีข้างหน้าจีนจะเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพสูงอย่างแท้จริง ดังนั้นความเร็วจึงอาจไม่มากเหมือนเมื่อก่อน” ซ่ง เหลียง หัวหน้านักวิจัยของธนาคารแห่งประเทศจีนกล่าวในการสัมภาษณ์เป็นภาษาจีนกลาง

    นอกจากนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปสู่ระดับใหม่ และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

    เรียบเรียงจาก
    China to discuss 14th Five-Year Plan, vision for 2035 at key meeting on Oct. 26
    Xi Jinping encourages public advice on China’s 14th Five-Year Plan
    UBS: What to expect from China’s 14th Five-Year Plan
    14th Five-Year Plan a roadmap that leads beyond the year 2025: China Daily editorial
    Why China’s five-year plan matters to the world
    China’s top leaders meet this week to plan for the next five years. Here’s what to expect