Hesse004
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Netflix ปล่อยซีรีส์ไทยเรื่อง Analog Squad ผลงานการกำกับของคุณนิธิวัฒน์ ธราธร หนึ่งในกลุ่มผู้กำกับ “แฟนฉัน (2546)”
หลังจากที่คุณต้น นิธิวัฒน์ โด่งดังจากผลงานขึ้นหิ้งคลาสสิกอย่าง “แฟนฉัน” แล้ว คุณต้นได้ทำหนังอีกหลายเรื่อง เป็นแนว feel good ทั้ง Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) หนีตามกาลิเลโอ (2552) คิดถึงวิทยา (2557) และผลงานล่าสุดจากซีรีส์งานดีอย่าง Analog Squad (2566)
หนังของคุณต้น นิธิวัฒน์ เป็นหนังที่ถ่ายทำด้วยความละเมียดละไม บทหนังดีมาก เลือกสถานที่ถ่ายทำสวยๆ ทำให้ตัวหนังมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
Analog Squad เป็นซีรีส์ประเภท comedy drama ดูแล้วอบอุ่น ถวิลหา (nostalgia) วันวานในอดีตซึ่งหนังเรื่องนี้วางฉากหลังไว้ในปี 1999 ก่อนเหตุการณ์ Y2k หรือเข้ายุคมิลเลเนี่ยม
เอาเฉพาะแค่ฉากหลังก่อนยุค Y2K… ทำให้รู้สึกคิดถึงวันวาน ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม ดนตรี แฟชั่นเสื้อผ้า ฟุตบอล รวมถึงหนังต่างๆ ที่ Analog Squad เอ่ยถึง… โดยมี “เพจเจอร์” เป็นตัวแทนเครื่องมือสื่อสารแห่งยุคสมัย
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว หลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “ต้มยำกุ้ง Crisis” ทำให้ผู้คนจำนวนมากเผชิญพิษเศรษฐกิจที่ถดถอยครั้งรุนแรง… เด็กเรียนจบใหม่ว่างงานเต็มไปหมด เกิดหนี้เสียครั้งมโหฬาร และท้ายที่สุดหลายประเทศต้องเข้ารับการช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF
เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม… ยุค analog ค่อยๆ เลือนหาย จากไปอย่างช้าๆ พร้อมกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค digital
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ลองมาไล่เรียงทบทวนกันว่าเราเปลี่ยนผ่านจากโลก analog สู่ digital กันอย่างไร
…แม้เราจะพูดถึง work-life-balance กันมากขึ้น ท่ามกลางการแสวงหาความสมบูรณ์แบบในชีวิต คำถามคือ ทำไม เรากลับยิ่งเปลี่ยวเหงา สับสน ไม่รู้จักตัวเอง และห่างจากสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข”
สำหรับผมแล้ว ซีรีส์ Analog Squad สะท้อนภาพคุณค่าของคำว่า “ครอบครัว”
ครอบครัวที่เราอาจกลับมาตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วความหมายของครอบครัวคืออะไรกันแน่ ระหว่างครอบครัวที่มาจากสายเลือดเดียวกัน หรือครอบครัวที่เราสามารถสร้างขึ้นมาเองได้
วันที่เราอยู่ในยุค Analog การพบปะสื่อสารเรื่องราวของผู้คนในครอบครัว อาจเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร กินข้าวด้วยกัน ใช้เวลาร่วมกันวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือพักผ่อนด้วยกัน
อย่างไรก็ดี โลกยุคดิจิทัลแทบทุกครอบครัวมี Line ครอบครัวกันเกือบทุกบ้าน
Line ครอบครัว เปรียบเสมือนช่องทางสื่อสาร พบปะของคนในครอบครัวผ่านห้องแชท
หากนั่งสังเกตการณ์ Line ครอบครัว เราจะเห็นคนแต่ละเจนที่ยังแสดงความรัก ความผูกพันกันในวันที่เราไม่ค่อยพบปะกันแบบซึ่งๆ หน้า
การส่งรูปภาพดอกไม้ สวัสดีวันจันทร์ ถึงวันนักขัตฤกษ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเตือนความทรงจำให้เห็นว่า “เรายังมีชีวิตอยู่” และยังระลึกกันอยู่ทุกวัน
เมื่อ 25 ปีก่อน สมัยผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมจำได้ว่า ทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน “อาม่า” ของผมมักมานั่งรอส่งผมกับน้องสาวไปทำงาน พร้อมกับให้ศีลให้พร ก่อนออกจากบ้าน เช่น ขอให้พระคุ้มครอง เดินทางปลอดภัย ขับรถดีๆ นั่งรถดีๆ นะ
คำพูดเหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำของผมจนถึงวันนี้… สิ่งที่อาม่าพูดเมื่อหลายสิบปีก่อน คล้ายๆ กับวันที่พวกเราได้รับภาพดอกไม้ สติกเกอร์ไลน์ คำพูดดีๆ จากผู้ใหญ่ที่เขายังนึกถึงเรา
Analog Squad เล่าถึงความผูกพันของคนสี่คนที่มาทำงานร่วมกันด้วยการสร้าง fake family เพื่อเล่นบทครอบครัว (พ่อ แม่ ลูกสาว ลูกชาย)
จุดประสงค์ของ fake family เพื่อทำให้คนแก่ ปู่กับย่าสบายใจที่ได้เห็นครอบครัวลูกชายมาเยี่ยมในวันที่ปู่กำลังจะตาย… ทั้งที่ความจริงแล้ว ครอบครัวลูกชายได้แตกสลายไปนานแล้ว หย่ากับเมีย และไม่ได้อยู่กับลูกตัวเอง
ประเด็นการสร้าง fake family ใน Analog Squad จึงเป็นการทำให้คนอื่นมีความสุขด้วยการโกหกจากการแสดงอย่างแนบเนียน
ความจริงบ่อยครั้งมันทำให้เราเจ็บปวด การยอมรับความเจ็บปวดนั้นได้และอยู่กับมันจึงเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่ง
ผมชอบบทของ “เก็ก” ตัวละครที่ถูกจ้างให้มาเล่นเป็นลูกชาย…ในชีวิตจริงของเก็กนั้นเขามีปมเรื่องแม่ที่เป็นนางแบบนู้ดยุค 90 แต่สิ่งที่เก็ก มีคือ ทัศนคติที่ดีและมีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อวันหน้า
คำพูดหนึ่งที่เก็กพูดไว้ คือ บางครั้งเขาจำเป็นต้อง “โกหกเพื่อให้คนอื่นมีความสุข”
fake family คือ ครอบครัวปลอมๆ ที่ถูกจ้างและสร้างขึ้นมา เพื่อรักษาคุณค่าบางอย่าง ของคำว่า “ครอบครัว” ไว้
“คุณค่า” ที่ว่า คือ ความรัก ความอบอุ่น การมีชีวิตที่ดี เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้สึกสบายใจและจากโลกนี้ไปอย่างตายตาหลับ
หนังแนว fake family เท่าที่เห็นมีหนังเกาหลีอย่าง Parasite (2019) ที่ได้รางวัลออสการ์ และ Shoplifter (2018) หนังญี่ปุ่นที่ได้รางวัลปาล์มทองคำ
สมาชิกในครอบครัวแบบ fake family ต่างไม่มีสายใยอะไรยึดโยงกันเลย พวกเขาไม่ผูกพันกันทางสายเลือด… แต่ต้องมาอยู่ด้วยกัน สร้างครอบครัวกันในฐานะ fake family สร้างครอบครัวกันแบบปลอมๆ
อย่างไรก็ตาม มนุษย์เรายังมีความรู้สึก ความรัก ความผูกพัน… แม้ความปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่อย่างน้อยที่สุดมันกลับช่วยสร้าง “สายใย” ให้รัดเกี่ยวกันจนเกิดเป็นความรักที่เหมือนคนในครอบครัวจริงๆ