ThaiPublica > คอลัมน์ > องค์กรตรวจสอบกับการต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนจบ): Vinod Rai องค์กรตรวจสอบไม่ใช่เชียร์ลีดเดอร์ของรัฐบาล

องค์กรตรวจสอบกับการต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนจบ): Vinod Rai องค์กรตรวจสอบไม่ใช่เชียร์ลีดเดอร์ของรัฐบาล

26 มิถุนายน 2014


Hesse004

วิโนด ไร (Vinod Rai) อดีตผู้ว่า สตง.อินเดีย ผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์ความเป็นผู้ตรวจสอบ จนกลายเป็นหนึ่งในไอดอลการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในอินเดีย ที่มาภาพ : http://www.thehindu.com/multimedia/dynamic/01261/vinod_rai_1261762f.jpg
วิโนด ไร (Vinod Rai) อดีตผู้ว่า สตง.อินเดีย ผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์ความเป็นผู้ตรวจสอบ
จนกลายเป็นหนึ่งในไอดอลการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในอินเดีย
ที่มาภาพ : http://www.thehindu.com/multimedia/dynamic/01261/vinod_rai_1261762f.jpg

อินเดีย…ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชันไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อปีที่แล้ว Transparency International ได้จัดอันดับความโปร่งใสของอินเดียไว้ที่อันดับ 94 จาก 177 ประเทศ โดยได้รับคะแนนความโปร่งใสเพียง 36 จาก 100 คะแนน (ใกล้เคียงกับบ้านเรา)

หลายปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนในอินเดียต่างพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยภาคส่วนที่ว่านี้ประกอบไปด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ในส่วนภาคประชาสังคมอินเดีย ผู้เขียนเคยเขียนถึงขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันซึ่งนำโดยนายอันนา ฮาซาเร (Anna Hazare) และนายอาร์วินด์ เคจ์ริวาล (Arvind Kejriwal) ไปแล้ว โดยการเคลื่อนไหวของทั้งคู่ได้ปลุกสำนึกให้สังคมอินเดียตื่นขึ้นมาต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง แม้ต่อมาทั้งคู่จะเคลื่อนไหวกันคนละแนวทาง

สำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันที่กระทำโดยรัฐนั้น ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทในการป้องกัน (Prevention) และปราบปรามการทุจริต (Suppression) ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐบาลอินเดียหลายแห่งที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มตั้งแต่ Supreme Court (หรือ ศาลสูงสุด) The Central Vigilance Commission (CVC) The Central Bureau of Investigation (CBI คล้ายๆ DSI บ้านเราที่รับสืบสวนเฉพาะคดีคอร์รัปชันใหญ่ๆ) The Chief Information Commission (CIC ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร) และ Office of the Comptroller & Auditor General (C&AG หรือ สตง.อินเดีย)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สตง.อินเดีย หรือ C&AG ดูจะมีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชันมากที่สุด โดยเฉพาะการแสดงความ “กล้าหาญ” ที่รายงานเรื่องราวความผิดปกติในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลอินเดีย เช่น การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่โปร่งใสในจัดการแข่งขันกีฬาในเครือจักรภพหรือ Commonwealth Game ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้ C&AG ยังแสดงบทเป็น “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ที่คอยพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้กับคนอินเดีย เช่น กรณีการจัดสรรคลื่นความถี่ 2G (Licenses and Allocation of 2G Spectrum) และ การจัดสรรสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหิน (Coal Mines Allocation) เป็นต้น

ความกล้าหาญดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรตรวจสอบแห่งนี้กลายเป็น “ที่พึ่ง” ยามยากและเป็น “ความหวัง” ของชาติในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันที่นับวันดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม กว่า C&AG จะได้รับการยกย่องเช่นนี้ ชาวอินเดียต้องขอบคุณผู้ชายคนหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงและทำให้ภาพของ C&AG ได้รับการยอมรับอย่างสูงในช่วงเวลาเพียงแค่ 5-6 ปี

บุคคลที่ว่านี้ คือ นายวิโนด ไร (Vinod Rai) อดีตผู้ว่า สตง.อินเดีย (2008- 2013)

วิโนด ไร เกิดที่แคว้นอุตรประเทศ เขาจบปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์สองใบจาก Delhi School of Economics มหาวิทยาลัย Delhi และทางรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard

วิโนดเริ่มต้นรับราชการตำแหน่ง Sub-Collector ในตำบลเล็กๆ ของรัฐ Kerela ก่อนจะค่อยๆ เติบโตเป็น Collector and Magistrate ประจำรัฐ ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์การทำงานด้านการคลังและงบประมาณ ทำให้เขาถูกดึงตัวให้เข้ามาช่วยงานหลายด้านในรัฐบาลกลาง เช่น เป็นผู้ชำนาญการของ Ministries of Commerce and Defence ดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดต่างๆ ในสถาบันการเงินของรัฐ จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่า สตง.อินเดีย เมื่อปี 2008

วิโนด ไร (Vinod Rai)  ที่มาภาพ : http://www.firstpost.com/wp-content/uploads/2011/11/vinod380.jpg
วิโนด ไร (Vinod Rai)
ที่มาภาพ : http://www.firstpost.com/wp-content/uploads/2011/11/vinod380.jpg

ผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้ชื่อ วิโนด ไร เป็นที่รู้จักของชาวอินเดีย คือ การตรวจสอบการออกใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่ 2G (Licenses and Allocation of 2G spectrum) ซึ่งมี United Progressive Alliance (UPA) เป็นผู้รับผิดชอบ

ผลการตรวจสอบพบว่า รัฐบาลอินเดียต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวคิดเป็นเงินถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์!!!

ตัวเลขดังกล่าว สร้างความตื่นตะลึงและเกิดคำถามต่อกระบวนการประมูลจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2G ว่ามีการฮั้วประมูลกันระหว่างผู้ประมูลและผู้ออกใบอนุญาตหรือไม่

หลังจากรายงานการตรวจสอบนี้แจ้งถึงรัฐบาล รัฐบาลอินเดียมองว่าตัวเลขที่ C&AG ของวิโนดรายงานนั้น “เกินจริง” และที่สำคัญ C&AG เล่นบทบาทเกินอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดีย เพราะ C&AG ไม่มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล เพราะการประมูลดังกล่าวเป็นเรื่องของการขยายเครือข่ายความถี่ 2G เป็นการโปรโมตอุตสาหกรรมสื่อสารในอินเดียให้เติบโต

แต่วิโนด “สวน” กลับออกมาว่า เขาไม่ได้วิจารณ์นโยบายของรัฐ แต่ C&AG กำลังชี้ให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้ รัฐต่างหากที่ไม่ได้ยึดหลักเรื่องผลประโยชน์สูงสุดจากการจัดเก็บรายได้จากการประมูล (Revenue maximization) จึงทำให้รัฐต้องสูญเสียประโยชน์จากที่ควรจะได้เป็นมูลค่ามหาศาล

วิวาทะทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคที่วิโนด ไร เป็นผู้ว่า สตง.อินเดีย เพราะเขาพยายามตรวจสอบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอินเดียมากกว่าที่จะ “เชลียร์” นักการเมืองฝั่งรัฐบาล

วิโนด ไร จึงกลายเป็น ไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลของนายมาโมฮานซิงห์ มาโดยตลอด

นอกจากกรณีการตรวจสอบการจัดสรรคลื่น 2G แล้ว C&AG ในยุคของเขายังตรวจสอบเรื่องการจัดสรรการให้ใบอนุญาตเหมืองถ่านหิน (Coal Mines Allocation) ซึ่งผลการตรวจสอบ พบว่า รัฐเสียเปรียบอีกตามเคย

วิโนด ไร ทำหน้าที่ผู้ว่า สตง.อินเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าองค์กรตรวจสอบที่กล้าหาญและปราศจากอคติในการทำงาน และพร้อม “ปะ-ฉะ-ดะ” กับ นักการเมืองขี้โกงหรือข้าราชการขี้ฉ้อ

การทำงานตรวจสอบเป็นเพียงแค่ “ด่านแรก” ของการต่อต้านการทุจริต เพราะหน้าที่สำคัญของผู้ตรวจสอบคือการรายงานข้อเท็จจริง หากเจอหรือพบอะไรที่ผิดปกติหรือมีความเสี่ยงที่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องรายงานอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ครั้งหนึ่งวิโนด ไร เคยกล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้ตรวจสอบไว้ว่า We cannot do the role of cheerleaders. We strive to provide objective feedback on the functioning of the various department of the government1

แน่นอนที่สุด คนทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คงไม่สามารถลุกขึ้นมาเต้นเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้กับรัฐบาลได้

หมายเหตุ: 1 ผู้สนใจเรื่องราวของวิโนด ไร และข่าวเกี่ยวกับปาฐกถาดังกล่าว โปรดดู http://archive.indianexpress.com/news/cag-we-can-t-don-the-role-of-cheerleaders/1013949/0