ThaiPublica > คอลัมน์ > สื่ออิสระกับภารกิจหมาเฝ้าบ้าน

สื่ออิสระกับภารกิจหมาเฝ้าบ้าน

4 พฤษภาคม 2017


Hesse004

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) หรืออีกชื่อใช้ว่า Reporters Sans Frontières (RSF) ได้เปิดเผย รายงานดัชนีเสรีภาพของสื่อทั่วโลก (Freedom of the Press Worldwide) ปี 2016 ทั้งนี้ RSF พบว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เสรีภาพสื่อของทุกประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสื่อในลาตินอเมริกาที่พยายามรายงานปัญหาคอร์รัปชัน องค์กรอาชญากรรมและการใช้ความรุนแรง

ปี 2016 ประเทศที่สื่อมีเสรีภาพน้อยที่สุด (Least free) คือ เอริเทีย ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน จีน และเกาหลีเหนือ ขณะที่ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ นั้น สื่อมีเสรีภาพมากที่สุด (Most free)1

…สำหรับบ้านเรา ปีที่ผ่านมาสื่อไทยถูกจัดอันดับเรื่องเสรีภาพในการรายงานข่าวอยู่ที่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ2

ในรอบหลายปีมานี้ “สื่ออิสระ” โดยเฉพาะสื่อมวลชนสายสืบสวนสอบสวน (Investigate Journalism) เติบโตขึ้นมาก

ทั่วโลก ต่างมีสื่อจำพวกนี้ผุดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเผยความจริงอีกด้านที่รัฐไม่ยอมเปิดเผย หรือข้อมูลที่สังคมยังขาดความเข้าใจ… โดยความยากเย็นของการทำสื่อแนวนี้ คือ การขุดหาข้อมูลและเชื่อมโยงให้สังคมเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น

ดังนั้น Investigative report หรือรายงานสื่อเชิงสืบสวน จึงมักมาคู่กับ Data Journalism ที่อาศัยข้อมูลอ้างอิงที่เป็นทางการ และมีความน่าเชื่อถือมารองรับ…เปรียบได้กับรายงานวิจัยเชิงคุณภาพชั้นดีชิ้นหนึ่งก็ว่าได้

ปัจจุบัน นักข่าวสืบสวนสอบสวนจากทั่วทุกมุมโลกได้สร้างเครือข่ายรวมตัวกันในชื่อ The Global Investigative Journalism Network หรือ GIJN

การรวมกลุ่มของสำนักข่าวอิสระ “นอกกระแส” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ด้วยเหตุผล คือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคนิคการทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน รวมถึงเรียกร้องให้คุ้มครองผู้สื่อข่าวที่ถูกคุกคาม

สมาชิกของ GIJN มาจากสำนักข่าวอิสระที่ทำข่าวแนวนี้กว่า 145 สำนักข่าว จาก 62 ประเทศ ที่คุ้นๆ หูกันในวงการ เช่น Philippine Center for Investigative Journalism หรือ PCIJ ของฟิลิปปินส์

GIJN มีการประชุมเชิงวิชาการ (Conference) กัน ทุกๆ 2 ปี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของเครือข่ายสื่อเชิงสืบสวนสอบสวน ตลอดจนอัปเดตข้อมูลการทำข่าวเจาะเชิงลึกจากทั่วโลก โดยในปีนี้จะประชุมกันที่โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้

จะว่าไปแล้ว สำนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนทำหน้าที่เหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” …แน่นอนว่าจุดยืนของสำนักข่าวเหล่านี้ “ชัดเจน” ในแง่เป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นักข่าวต้องพยายามขุดหา ศึกษาวิเคราะห์ และเขียนข่าวให้ง่ายต่อความเข้าใจ

โดยทั่วไป สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนที่มีฝีมือมักจะอยู่ในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันมาก เช่น PCIJ ของฟิลิปปินส์

ที่มาภาพ: https://www.occrp.org/

ขณะที่ในยุโรปเอง สำนักข่าวอิสระที่ทำตัวเป็นทั้งสื่อและ NGO ก็เช่น The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

ทั้งนี้ เราอาจไม่คุ้นหูนักกับชื่อของ OCCRP แต่ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางแล้ว OCCRP นับเป็น International NGO ด้านต่อต้านคอร์รัปชันที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง

…ในรายชื่อ International NGO ทั่วโลก OCCRP ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 500 เป็น NGO ที่ดีที่สุดในโลก

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/2/28/Organized_Crime_and_Corruption_Reporting_Project_logo.png

OCCRP ถือกำเนิดเมื่อปี 2006 โดยสองผู้สื่อข่าวสาย Investigative Journalism คือ Paul Radu และ Drew Sullivan จากสำนักข่าวสืบสวนสอบสวนในบูคาเรสต์ โรมาเนีย …ผลงานเด่นของทั้งคู่ คือ การช่วยกันขุดคุ้ยเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลโรมาเนีย โดยที่รัฐบาลเสียเปรียบเรื่องสัญญามาโดยตลอด

การทำข่าวเจาะมานานทำให้ทั้งคู่ได้รับการยอมรับในวงการว่าเป็น “ของจริง” ที่ทำข่าวรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนจนสะเทือนกันทั้งแถบยุโรปตะวันออก

หลังจากนั้น OCCRP เริ่มได้รับการยอมรับจน “ติดลมบน” และมีเครือข่ายเข้ามาสนับสนุนมากมาย โดยเฉพาะการขยายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ไปสู่กลุ่มประเทศเอเชียกลางและละตินอเมริกา ซึ่งงานข่าวแถบนี้ OCCRP จะมีความเชี่ยวชาญมาก

ความพิเศษของ OCCRP ไม่ใช่แค่เรื่องการเกาะติดเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียว หากแต่เข้าไปขุดข้อมูลความสัมพันธ์ของเหล่าองค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) ธุรกิจการพนันผิดกฎหมาย ธุรกิจค้าอาวุธเถื่อน ที่โยงใยเกี่ยวพันกับผู้นำระดับสูงของประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ แม่ทัพนายกอง และนักการเมือง

พูดง่ายๆ คือ …อะไรที่อยู่ใต้ดิน เชื่อมโยงกับคอร์รัปชัน OCCRP แกจะขุดออกมาหมด

OCCRP ยังรายงานข่าวเชิงลึกอีกหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา คอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Grand corruption) ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง เช่น กรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Telecom สวีเดนและฟินแลนด์ต้องติดสินบนให้กับลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอุซเบกิสถาน เพื่อเข้าไปลงทุนในอุซเบกิสถาน เป็นต้น

นอกจากนี้ OCCRP ยัง “ครีเอท” สร้างสรรค์มอบรางวัลเสียดสี เหน็บแนม แกมประชดประชันแห่งปี ที่เรียกว่า “Person of Year Award” รางวัลที่มอบให้กับผู้นำที่สร้างนวัตกรรมด้านคอร์รัปชันและส่งเสริมให้องค์กรอาชญากรรมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยปีแรกที่มอบรางวัล ประธานาธิบดี Jlham Aliyev แห่งอาเซอร์ไบจานได้รางวัล Person of Year Award ไป Aliyev ครองอำนาจยาวนานมาตั้งแต่ปี 2003 รัฐบาลของเขาติดอันดับเรื่องคอร์รัปชันสูงสุดที่สุดในยุโรปตะวันออก

และปีล่าสุด 2016 รางวัล (อันไม่ทรงเกียรติ) นี้ ตกเป็นของ Nicolas Maduro ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมือง และกำลังเตรียมตัวนับถอยหลังลงจากอำนาจ

ความสำเร็จของ OCCRP นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ตั้งแต่ทำให้ประชาชนตื่นตัวออกมาขับไล่ผู้นำฉ้อฉล รายงานข่าวที่ช่วยเร่งรัดกระบวนการดำเนินคดีให้ไวขึ้น เพราะสังคมจับตามอง กดดันให้ผู้สมรู้ร่วมคิดต้องลาออกหรือปิดกิจการหนี รวมถึงอายัดทรัพย์สินผู้ต้องหา

ทุกวันนี้ OCCRP “ติดลมบน” เพราะได้รับเงินทุนสนับสนุนมากมาย แหล่งเงินอุดหนุนสำคัญมาจาก USAID นอกจากนี้ ยังมี Google Ideas เข้าร่วมเป็นพันธมิตรอีกด้วย

… โลกเรายังเต็มไปด้วยสื่อที่รายงานทั้ง “ความเท็จ” และ “ความจริง” ปนๆ กันไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองในมุมใด …แต่ในมุมที่ควรจะเป็น การรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและนำเสนอรายงานข่าวอย่างรอบด้าน นับเป็นภารกิจที่สื่อพึงกระทำ

เพราะตรงนี้เอง ที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสื่อที่ทำตัวเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” กับสื่อที่ปฏิบัติตัวเยี่ยง“สุนัขรับใช้”

หมายเหตุ :

1. ค่าคะแนนดัชนี Press Freedom Index ที่ RSF กำหนดว่าสื่อมีอิสระ เสรีภาพในการรายงานข่าวหรือไม่อย่างไรนั้น RSF ใช้วิธีวัดโดยยิ่งค่าคะแนนน้อยเท่าไหร่ หรือติดลบ นั่นหมายถึง ประเทศนั้นเปิดโอกาสให้สื่อมีเสรีภาพได้เต็มที่ ในทางกลับกันยิ่งค่าคะแนนมากเท่าไหร่ แสดงว่า สื่อของประเทศนั้นถูกควบคุมจำกัดเสรีภาพในการรายงานข่าว

2. นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา เสรีภาพในการรายงานข่าวของสื่อไทยเคยได้รับคะแนน Press Freedom Index สูงสุด เท่ากับ 14 เมื่อปี 2004 จัดว่ามีเสรีภาพในการรายงานข่าวอย่างเป็นอิสระมาก โดยในปีนั้นเสรีภาพของสื่อไทยอยู่อันดับที่ 59 ของโลก