ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันในละตินอเมริกา (ตอนที่ 3) เวเนซูเอล่า คอร์รัปชันในฐานะ “อาวุธซัด” ทางการเมือง

คอร์รัปชันในละตินอเมริกา (ตอนที่ 3) เวเนซูเอล่า คอร์รัปชันในฐานะ “อาวุธซัด” ทางการเมือง

7 พฤศจิกายน 2014


Hesse004

เมื่อเอ่ยถึงเวเนซูเอล่า… สิ่งแรกที่เรามักนึกถึง คือ ดินแดนที่เต็มไปด้วย ผู้หญิงสวย เพราะประเทศนี้มีนางงามจักรวาลมาแล้วถึง 7 คน

สัญลักษณ์อีกอย่างของเวเนซูเอล่า คือ อดีตประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ (Hugo Chavez) ผู้วายชนม์ ชาเวซเป็นหนึ่งใน “ตำนาน” ผู้นำหัวดื้อของโลกสมัยใหม่ที่แสดงตัวเป็นปรปักษ์ชัดเจนกับสหรัฐอเมริกาและเลือกที่จะใช้นโยบายประชานิยมจนกลายเป็นขวัญใจคนยาก

นอกจากนี้ เวเนซูเอล่ายังขึ้นชื่อเรื่อง ผลิตน้ำมัน เวเนซูเอล่าเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบติดหนึ่งในสิบของโลก มีแหล่งพลังงานน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก โดย Petróleos de Venezuela, S.A. หรือ PDVSA คือ รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำมันส่งออกรายใหญ่ติดอันดับ 5 ของโลก

แต่สำหรับเรื่องความโปร่งใสและการคอร์รัปชันแล้ว เวเนซูเอล่า คือ ประเทศที่ได้รับคะแนนความโปร่งใส (Corruption Perception Index หรือ CPI) ต่ำที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยค่า CPI ปี 2013 อยู่ที่ 20 จากคะแนนเต็ม100 คะแนน รั้งอันดับ 160 จาก 175 ประเทศ แถมครอง “ที่โหล่” ในภูมิภาคละตินอีกด้วย

คะแนนความโปร่งใสที่ต่ำเตี้ยเรี่ยราดเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดเวเนซูเอล่าถึงไม่สามารถลดปัญหาคอร์รัปชันลงได้เสียที

ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านคอร์รัปชันในเวเนซูเอล่าสรุปสั้น ๆ ว่า ปัจจัยที่ทำให้เวเนซูเอล่ากลายเป็น “เมืองขี้ฉ้อ” เกิดจากความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย คือ ตำรวจและศาลที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งคอร์รัปชันมากที่สุด

ดังนั้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ “ต้นทาง” ยัน “ปลายทาง” เป็นแบบนี้แล้วจึงเป็นเรื่องยากที่จะไปบังคับให้คนในประเทศเคารพหรือปฏิบัติตามกฎหมาย

ความฟอนเฟะของกระบวนการยุติธรรมเวเนซุเอล่าสะท้อนจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่อ้างอิงจากผลสำรวจของ Global Corruption Barometer ปี 2010/2011 และ Latinobarometro ปี 2010 ที่สรุปออกมาคล้าย ๆ กันว่า ชาวเวเนฯ ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจและผู้พิพากษาที่มักพัวพันกับการเรียกรับสินบน และที่ตลกร้ายไปกว่านั้น คือ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาถูกสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับสินบนการก่อสร้างอาคารศาล

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลก ที่คำตอบของคนส่วนใหญ่จะเห็นว่ากลุ่มอาชีพที่มีการคอร์รัปชันสูงสุด (Extremely corrupt) คือ ตำรวจและผู้พิพากษา

ขณะเดียวกัน นักการเมืองและข้าราชการ เป็นอีกกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็น “เสี้ยน” ตำเท้านักธุรกิจ เพราะผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุน พบว่า ส่วนใหญ่กล้ำกลืนที่จ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตต่าง ๆ ขณะที่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การติดสินบนของพ่อค้ากลายเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ต้องทำกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกิดขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในปี 1997 ชาเวซชูการปฏิรูปสังคมเวเนซูเอล่าในทุกมิติตามแนวทางสังคมนิยม (Socialism) ซึ่งชาเวซ เรียกการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นว่าเป็น Bolivarian Revolution

จริง ๆ แล้วด้วยชื่อของ Bolivarian Revolution น่าจะ “ขลัง” มากกว่าการปฏิรูปธรรมดาเพราะระดับความเข้มข้นนั้นไปไกลถึงการปฏิวัติเลยทีเดียว

โดยหนึ่งในวาระการปฏิรูป คือ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งชาเวซตั้งเป้าหมายไว้ว่าเขาจะทำให้สังคมเวเนซูเอล่าก้าวไปสู่ A Zero Tolerance Policy towards Corruption หรือสังคมที่ใสสะอาด ปราศจากการคอร์รัปชัน

การตั้งเป้าหมายอย่าง “ทะเยอทะยาน” เช่นนี้ ย่อมทำให้ชาวเวเนฯ อุ่นใจและเชื่อมั่นว่าประธานาธิบดีผู้มุ่งมั่นคนนี้จะเอาจริงกับการปราบปรามคอร์รัปชันเสียที

ในปี 1999 รัฐบาลชาเวซออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า The Organic Law of Poder Ciudadano ซึ่งรวมศูนย์การต่อต้านคอร์รัปชันไว้ที่ Poder Ciudadano ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน 3 หน่วยงาน คือ The Public Prosecutor (คล้าย ป.ป.ช.) The Comptroller General (คล้าย สตง.) และ The Human rights Ombudsman (คล้ายผู้ตรวจการแผ่นดิน)

ต่อมาในปี 2003 รัฐบาลของเขาผลักดันให้สภาผ่านกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันหรือ Ley Contra la Corruption
ดูเหมือนชาเวซพยายามสร้างระบบการต่อต้านคอร์รัปชันให้เป็นรูปธรรมและแสดงความตั้งใจจริงที่จะปฎิรูปไปสู่เป้าหมายสังคมสะอาด ปราศจากคอร์รัปชัน

ความพยายามของชาเวซในช่วงต้น ตั้งแต่ปี 1999-2001 ปรากฏว่า ค่า CPI ของเวเนซูเอล่าขยับขึ้นจาก 2.6 ในปี 1999 เป็น 2.7 ในปี 2000 และ 2.8 ในปี 2001 นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการเริ่มต้น (ก่อนปี 2013 คะแนน CPI ยังใช้ระบบ 0-10 ใครเข้าใกล้ 10 แสดงว่ามีระดับความโปร่งใสมาก)

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ค่า CPI ของเวเนซูเอล่ากลับดำดิ่งลงมาเรื่อย ๆ จากปี 2002 ที่ได้ 2.5 ปี 2003 เหลือ 2.4 ปี 2004-2006 เหลือ 2.3 ปี 2007 หล่นมาที่ 2.0 ปี 2008-2009 ลดลงอีกเหลือแค่ 1.9 ปี 2010 ขยับกลับมาที่ 2.0 และ ปี 2011-2012 เหลือ 1.9 ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อยในปี 2013 คือ 20 จาก 100 คะแนน

ฮูโก้ ชาเวซ ผู้นำหัวรั้นแห่งเวเนซูเอล่า ที่มาภาพ :http://www.theblaze.com/wp-content/uploads/2013/03/Screen-Shot-2013-03-06-at-8.02.13-AM-620x440.png
ฮูโก้ ชาเวซ ผู้นำหัวรั้นแห่งเวเนซูเอล่า
ที่มาภาพ :http://www.theblaze.com/wp-content/uploads/2013/03/Screen-Shot-2013-03-06-at-8.02.13-AM-620×440.png

ตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ชาเวซขึ้นครองอำนาจ ตลอดระยะเวลา 16 ปี ความโปร่งใสอยู่ในระดับต่ำตลอด เขาไม่ได้ทำตามสัญญาว่าจะสร้างสังคมให้โปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชัน อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนรับตำแหน่ง

ขณะเดียวกันหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั้งสามต่างถูกวิจารณ์ว่ากลายเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้กำจัดศัตรูคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาล โดยชาเวซมักจะเอาเรื่องคอร์รัปชันมาเป็น “อาวุธ” ซัดใส่เพื่อสกัดคู่แข่งทางการเมือง

ในปี 2011 Global Integrity Report รายงานว่า ชาเวซและนักการเมืองในปีกรัฐบาลพยายามแทรกแซงการทำงานของ Poder Ciudadano เสมอ ถึงขนาดกล่าวกันว่า The Comptroller General ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ซึ่งโดยหลักการแล้ว “ความเป็นอิสระ” คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานตรวจสอบ แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานนี้กลับถูกควบคุมโดยนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าชาเวซใช้กลไกการปราบปรามคอร์รัปชันเป็นอาวุธทางการเมืองที่นำมาใช้ซัดใส่ฝ่ายตรงข้าม โดยหวังผล “ดิสเครดิต” คู่แข่งทางการเมือง

ยกตัวอย่าง กรณีนายมานูเอล โรซาเลส (Manuel Rosales) ซึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองมาราไคโบ (Maracaibo) โรซาเลส เคยเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ ชาเวซ ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2006 นอกจากนี้โรซาเลสเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับ ชาเวซ มาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2008 เขาถูกอัยการสั่งฟ้องข้อหาพัวพันกับการฉ้อฉลเงินงบประมาณสมัยที่เป็นนายกเทศมนตรี ท้ายที่สุดโรซาเลสต้องหนีคดีและขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่เปรู

โรซาเลสปฏิเสธทุกข้อหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและเปิดโปงว่าเบื้องหลังที่เขาถูกอัยการสั่งฟ้องนั้นมาจากการบงการของ “ฮูโก้ ชาเวซ” นั่นเอง

…เท่านั้นยังไม่พอ ในปี 2009 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันเวเนซูเอล่าได้เปิดโผ Blacklist รายชื่อบุคคลที่น่าสงสัยว่าจะพัวพันกับการคอร์รัปชัน ซึ่งโผดังกล่าวประกอบด้วยรายชื่อผู้ท้าชิง “ดาวรุ่ง” ที่จะลงชิงชัยสมัครประธานาธิบดีแข่งกับชาเวซด้วย

ในทำนองกลับกัน รัฐบาลของชาเวซเต็มไปด้วยเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศ ตัวเขาเองมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับที่มาของเงินบริจาคจากนักลงทุนต่างประเทศเพื่อใช้รณรงค์หาเสียง หรือ กรณีความไม่โปร่งใสในการอนุมัติจัดหาอาวุธให้กองทัพ และเลี่ยงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเพื่อจะจัดซื้อเครื่องบินส่วนตัวในสเปคที่ตัวเองชอบ เป็นต้น

ขณะที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของชาเวซอย่างอดีตนายพลราอูล บาดูเอล (Raul Baduel) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างปี 2006-2008 ก็ถูกชาเวซถอดออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาพัวพันกับการยักยอกเงินงบประมาณ 14 ล้านดอลลาร์ และชาเวซให้ศาลทหาร (Military court) เป็นผู้ตัดสิน

นายพลบาดูเอล นับเป็นตัวอย่างในคนใกล้ชิดกับนายชาเวซที่ภายหลังต้องมา “หัก” กันเพราะความขัดแย้งและไม่ลงรอยในเรื่องอำนาจ ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกอาวุธทางการเมืองเรื่องคอร์รัปชันซัดเข้าใส่จนนายพลผู้นี้ต้องติดคุก

นายพลราอูล บาดูเอล เติบโตมาพร้อมกับ ฮูโก้ ชาเวซ ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์สังคมนิยมและเป็นหนึ่งในกลุ่ม Movimiento Bolivariano Revolucionario 200 หรือ MBR-200 ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพรรคการเมือง Fifth Republic Movement ก่อนจะสลายรวมเป็น United Socialist Party of Venezuela หรือ PSUV ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยม

ทั้งบาดูเอลและชาเวซเป็นทั้งมิตรร่วมรบ และสหายร่วมอุดมการณ์ จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่ออำนาจ “บังตา” สัจธรรมที่ว่า “เพื่อนพร้อมจะฆ่าเพื่อนได้เสมอ” ยังคงใช้ได้เสมอ

ดูเหมือนว่า เรื่องราวคอร์รัปชันในเวเนซูเอล่าจะเป็นภาพสะท้อนการคอร์รัปชันของบางประเทศได้ดีนะครับ เพราะข้อหาคอร์รัปชัน คือ อาวุธทางการเมืองอันทรงประสิทธิภาพที่พร้อมจะซัดใส่ฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดเวลา

หมายเหตุ ท่านที่สนใจเรื่องของฮูโก้ ชาเวซ ในเรื่องอือฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น สามารถอ่านบทความเรื่อง Corruption, Mismanagement, and Abuse of Power in Hugo Chavez’s Venezuela ของ Gustavo Coronel