ThaiPublica > เกาะกระแส > เช็คลิสต์ “EASY E-Receipt”

เช็คลิสต์ “EASY E-Receipt”

8 มกราคม 2024


เช็คลิสต์ “EASY E – Receipt” เลือกซื้อสินค้า – บริการจากร้านค้าแบบไหน หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ – ไม่ได้ คนจน – คนรวยใครได้ประโยชน์สูงสุด

เริ่มแล้วโครงการ “Easy E-Receipt” มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกเข็นออกมาขัดตาทัพในระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 500,000 ล้านบาท แจกคนละ 10,000 บาท ผ่านโครงการ Digital Wallet ยังลูกผีลูกคน ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่

โดยกรมสรรพากรเปิดให้ผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล นำค่าซื้อสินค้า หรือ ค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาหักลดหย่อนภาษีได้ ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งมีหลักการคล้ายกับโครงการช้อปช่วยชาติ หรือ ช้อปดีมีคืน ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ต่างกันตรงที่รัฐบาลเศรษฐาให้วงเงินลดหย่อนภาษีมากกว่า และสะดวกสบายกว่า โดยโครงการนี้กำหนดให้ใช้ใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ที่เรียกว่า “e-Tax Invoice” ดังนั้น ผู้เสียภาษีไม่ต้องเก็บรวบรวมใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ และที่สำคัญข้อมูลการซื้อสินค้าและบริการของผู้เสียภาษีทั้งหมด จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากร เตรียมไว้ใช้ประกอบการพิจารณาลดหย่อน หรือ คืนภาษีในช่วงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปี 2568 โดยอัตโนมัติ

คำถามถัดมา ผู้เสียภาษีต้องซื้อสินค้า หรือ ใช้บริการประเภทไหน อย่างไร ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 391 (พ.ศ.2566) ซึ่งมีรายละเอียดของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ ๆดังนี้

1. ผู้เสียภาษีสามารถซื้อสินค้าทุกประเภทจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้เสียภาษีต้องได้รับใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ออกจากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร

ยกเว้น กรณีการซื้อสินค้า หรือ ค่าบริการดังต่อไปนี้ แม้ผู้ประกอบการจะจดทะเบียน VAT แต่ก็เอามาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่

    1.1 ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
    1.2 ค่าซื้อยาสูบ
    1.3 ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
    1.4 ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
    1.5 ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
    1.6 ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการ (ค่าสมาชิก หรือ Member Card) โดยผู้เสียภาษีไปใช้บริการนอกเหนือจากระยะเวลาที่กำหนด คือ วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
    1.7 ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

2. ผู้เสียภาษีจ่ายเงินซื้อสินค้า หรือ บริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และได้รับใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ ผู้เสียภาษีไม่ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้า หรือ บริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT ก็ได้ แต่ผู้ประกอบการในกรณีดังกล่าวนี้ ต้องสามารถออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า “e-Receipt” จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรได้ โดยใบรับอิเล็กทรอนิกส์จะต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้า หรือ ผู้รับบริการไว้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยบทยกเว้นดังกล่าวประกอบด้วยรายการดังนี้

    2.1 ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
    2.2 ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e – Book)
    2.3 ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

สรุปหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ภายใต้โครงการ EASY E-Receipt มีหลักการสำคัญๆคือ 1. ต้องเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่ไม่ใช้นิติบุคคล) 2. ซื้อสินค้าและบริการในประเทศ กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรได้ 3. ยกเว้นซื้อสินค้าและบริการสินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการ 7 รายการตามที่กล่าวข้างต้น นำมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ และ 4. ยกเว้นกรณีซื้อหนังสือ หรือ จ่ายค่าบริการ e-Book และซื้อสินค้า OTOP ไม่ต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT ก็ได้ แต่ผู้ประกอบการต้องออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ให้ผู้เสียภาษีได้

ยกตัวอย่างการซื้อสินค้า หรือ บริการประเภทไหนถึงได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีตามโครงการ EASY E-Receipt เริ่มจากการจ่ายเงินซื้อแพ็กเกจทัวร์ในประเทศ กรณีนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องท่องเที่ยวในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และที่สำคัญผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบ e – Tax Invoice ให้กับผู้เสียภาษีได้ ส่วนกรณีไปท่องเที่ยวเองจ่ายเงินค่าโรงแรม ที่พัก ค่าบริการนำเที่ยว หรือ พาครอบครัวไปรับประทานอาหารในโรงแรม ภัตตาคาร ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไปใช้ซื้อสินค้า หรือ บริการในเวลาที่กำหนด คือ วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบ e – Tax Invoice ให้กับผู้เสียภาษีได้ รวมทั้งค่าซ่อมรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ก็มีหลักการเช่นเดียวกัน

ถัดมาเป็นเรื่องการซื้อทองคำแท่ง ถ้ากรณีนี้นำมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะการซื้อ-ขายทองคำเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้น VAT ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

แต่ถ้าซื้อทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เฉพาะค่ากำเหน็จ และผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบ e – Tax Invoice ให้กับผู้เสียภาษีได้ เช่นเดียวกับค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม ก็นำมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะสถานพยาบาลได้รับยกเว้น VAT จึงไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้

ส่วนการซื้อบัตรของขวัญ (Gift voucher) จากห้างสรรพสินค้า หรือ บัตรของขวัญสำหรับซื้ออาหารของโรงแรม , บัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ และบัตรสมาชิก หรือ Member Card กรณีนี้นำมาหักลดหย่อนภาษีตามโครงการนี้ไม่ได้ เพราะการขายบัตรของขวัญเหล่านี้ไม่อยู่ในข่ายเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายจึงไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี

แต่ถ้านำบัตรของขวัญ หรือ Member Card ไปซื้อสินค้า หรือ ใช้บริการในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยขอให้ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบ e – Tax Invoice ตามจำนวนเงินที่ใช้ซื้อสินค้า หรือ บริการ ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการมีการทำสัญญา หรือ ข้อตกลงกับลูกค้าให้มาใช้บริการในระยะยาว โดยเริ่มต้นสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และสิ้นสุดสัญญาหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้จะมีส่วนที่ชำระเงินและใช้บริการในช่วงระยะเวลาที่กำหนดก็ตาม กรณีนี้ผู้เสียภาษีนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาระยะยาว ตามข้อยกเว้นที่กล่าวข้างต้น เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้เสียภาษีชำระค่าบริการภายในช่วงเวลาที่กำหนด แต่มาใช้บริการหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ไม่สามารถนำรายจ่ายส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการซื้อประกันชีวิต กรณีนี้ไม่สามารถนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนภาษีได้ เพราะบริการดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (1) (ง) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 ข้อ 2 (61) ส่วนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ประกันวินาศภัย ถือเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งมีลักษณะเป็นรายจ่ายปกติเหมือนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หากไม่มีโครงการนี้ ผู้เสียภาษีก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว ไม่มีผลต่อการกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากนัก จึงเข้าข่ายบทยกเว้นในข้อ 1.7 ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีในโครงการนี้ได้ ส่วนการสั่งซื้อสินค้าและบริการจากแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ LAZADA , SHOPEE เป็นต้น ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เฉพาะร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยให้สังเกตป้าย EASY E-Receipt ที่หน้าร้าน และที่สำคัญก่อนที่ผู้เสียภาษีจะจ่ายเงินชำระค่าสินค้า ให้กดเมนูขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากร้านค้า และกรอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เลขที่บัตรประจำตัวประชาชนให้ครบถ้วน ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี

สุดท้ายเป็น เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผู้เสียภาษีจะได้รับจากโครงการ EASY E-Receipt โดยโครงการนี้เปรียบเสมือนรัฐบาลมาช่วยจ่ายเงิน หรือ มอบส่วนลดจากการซื้อสินค้าและบริการในรูปแบบของการลดหย่อน หรือ คืนภาษี ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ โดยผู้เสียภาษีแต่ละรายจะได้รับสิทธิลดหย่อน หรือ คืนเงินภาษีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับช่วงชั้นเงินได้สุทธิของผู้เสียภาษี และอัตราภาษีที่เสียตามฐานะของผู้เสียภาษีแต่ละราย

ยกตัวอย่าง ผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกินกว่า 5,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตราสูงสุด 35% หากซื้อสินค้าหรือบริการครบ 50,000 บาท และนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักลดหย่อน หรือ ช่วยประหยัดเงินค่าภาษี หรือได้คืนเงิน 17,500 บาท เท่ากับว่าผู้เสียภาษีรายนี้จ่ายเงินซื้อสินค้า หรือ บริการแค่ 32,500 บาท ขณะที่ผู้มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ ส่วนผู้มีเงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% หากช้อปครบ 50,000 บาท ได้รับเงินคืนแค่ 2,500 บาท เทียบกับค่าเดินทาง หรือ ค่าขนส่งสินค้าแล้ว อาจไม่คุ้ม แต่ยังดีกว่าไม่ได้อะไร

ด้านนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการ EASY E-Receipt ว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สมัครเข้าใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรประมาณ 5,060 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT จำนวน 4,289 ราย ซึ่งมีร้านค้า หรือ สาขาทั่วประเทศ 127,323 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT แต่สามารถออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวน 771 ราย จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ EASY E – Receipt ให้มาลงทะเบียน e-Tax Invoice เพื่อออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ etax.rd.go.th ส่วนผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถมาลงทะเบียน เพื่อออกใบกำกับภาษีโดยการประทับรับรองเวลา หรือ e-Tax Invoice by Time stamp ได้ที่ เว็บไซด์กรมสรรพากร สำหรับผู้เสียภาษีที่ต้องการหาซื้อสินค้า หรือ บริการจากผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มในรูปแบบของ e-Tax Invoice & e-Receipt ให้สังเกตป้าย EASY E-Receipt ที่หน้าร้านค้า หรือ สาขาของผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการได้ที่ https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/registered#top และตรวจรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีโดยการประทับรับรองเวลา (e-Tax Invoice by Time Stamp) ได้ที่ https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php

  • ของขวัญปีใหม่ “บิ๊กตู่” ให้มนุษย์เงินเดือน 3 ล้านคนช็อปปิ้งช่วยชาติ – 63 ล้านคน แห้ว
  • ของขวัญปีใหม่ 2566 คลังให้ “ช้อปดีมีคืน-ลดภาษีที่ดิน” แบงก์รัฐมอบ “Cashback – บัตรกำนัล”
  • มาตรการ “คนละครึ่ง” VS “ช้อปดีมีคืน” ผู้บริโภคควรเลือกแบบไหน!