ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มาตรการ “คนละครึ่ง” VS “ช้อปดีมีคืน” ผู้บริโภคควรเลือกแบบไหน!

มาตรการ “คนละครึ่ง” VS “ช้อปดีมีคืน” ผู้บริโภคควรเลือกแบบไหน!

23 ตุลาคม 2020


เริ่มแล้ววันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บรรดาขาช้อปทั้งหลายที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือลงทะเบียน “คนละครึ่ง” เตรียมตัวขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากร้านค้าและบริการที่อยู่ในระบบ VAT ตลอด 3 เดือนนี้ รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือนมีนาคม 2564

โดยช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน และวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมทั้งหมด 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการแรก เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่ผู้ถือบัตรคนจน 14 ล้านคน เพิ่มให้อีกคนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ตุลาคมถึงธันวาคม 2563 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ถือบัตรคนจนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เดิมได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 300 บาท เพิ่มเป็น 800 บาท และกลุ่มผู้ถือบัตรคนจนที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี เดิมเคยได้รับเงินเดือนละ 200 บาท เพิ่มวงเงินให้เป็น 700 บาท โดยใช้แหล่งเงินสนับสนุนจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ไม่เกิน 21,000 ล้านบาท

มาตรการที่ 2 “คนละครึ่ง” มาตรการนี้มีเป้าหมาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 10 ล้านคน และเพิ่มรายได้จากการขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าค้าทั่วไปให้กับประชาชน 50% แต่ไม่เกินคนละ 150 บาทต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 รวมตลอดระยะเวลาไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน โดยใช้แหล่งเงินสนับสนุนจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 30,000 ล้านบาท มาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบ 60,000 ล้านบาท

สำหรับประชาชนและร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องลงทะเบียนที่ www.คนละครึ่ง.com เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา จำกัดจำนวนไม่เกิน 10 ล้านคน โดยผู้ที่ได้รับสิทธิต้องยืนยันตัวตนผ่าน g-wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก่อน ถึงจะสามารถใช้จ่ายเงินกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องเริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน ถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ หรือ วันที่เปิดให้เริ่มใช้จ่ายเงิน มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ และไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก โดยสิทธิที่ถูกตัดจะนำไปเปิดให้ลงทะเบียนใหม่

ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) (คนกลาง)

ล่าสุด ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว 6,733,557 คน ในจำนวนนี้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบซึ่งได้รับสิทธิใช้จ่ายตามโครงการจำนวน 6,402,927 คน ยังคงเหลือสิทธิให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อีกกว่า 3 ล้านคน และมีร้านค้าทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 300,000 ร้านค้า โดยประชาชนสามารถสังเกตร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้จากสัญลักษณ์ “คนละครึ่ง” ที่หน้าร้านค้า หรือค้นหารายชื่อและที่ตั้งร้านค้าได้จากเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com

ส่วนการใช้จ่ายเงินแต่ละครั้ง ดร.พรชัย กล่าวว่า รัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน และไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน ยกตัวอย่าง การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหาร 200 บาท ผู้ที่ได้รับสิทธิต้องเติมเงินในแอปฯ “เป๋าตัง” อย่างน้อย 100 บาท เพื่อสแกนจ่ายเงินกับร้านค้า “ถุงเงิน” โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ร้านค้าอีก 100 บาท เมื่อชำระค่าสินค้าเรียบร้อย ผู้ที่ได้รับสิทธิคงเหลือวงเงินร่วมจ่ายจากรัฐ 2,900 บาท และถ้าหากจะซื้อสินค้า 400 บาท ต้องเติมเงินในแอปฯ “เป๋าตัง” อย่างน้อย 250 บาท โดยรัฐจะร่วมจ่ายให้ร้านค้า 150 บาท ผู้ที่ได้รับสิทธิคงเหลือวงเงิน 2,850 บาท เป็นต้น

  • คลังเปิดตัว “คนละครึ่ง – เติมเงินบัตรคนจน” คาดเงินสะพัด 8.1 หมื่นล้าน ปั้ม GDP เพิ่ม 0.25%
  • มาตรการ 3 “ช้อปดีมีคืน” เป้าหมายของมาตรการนี้ เน้นกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยกรมสรรพากรจะเปิดให้ผู้เสียภาษีประมาณ 11 ล้านคน นำค่าซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงค่าซื้อหนังสือ หรือ บริการหนังสือทางอินเทอร์เน็ต (e-book) และสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน มาหักลดหหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยผู้เสียภาษีต้องขอหลักฐานใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากผู้ประกอบการร้านค้าที่อยู่ในระบบ VAT เพื่อใช้เป็นหลักฐาน ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือนมีนาคม 2564

    ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการดังต่อไปนี้ 1) สุรา เบียร์ และไวน์ 2) ยาสูบ 3) น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 4) ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 5) ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งในรูปแบบกระดาษและออนไลน์ 6) ค่าบริการนำเที่ยว และ 7) ค่าที่พักในโรงแรม

    ผู้ที่ใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ “คนละครึ่ง” หรือ “เติมเงินบัตรคนจน” หรือ เลือกเข้าร่วมได้เพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งเท่านั้น

    “รวมทั้ง 3 มาตรการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 192,000 ล้านบาท ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.54% ต่อปี” ดร.พรชัยกล่าว

    “คนละครึ่ง” VS “ช้อปดีมีคืน” เลือกมาตรการไหนดี

    ถามว่าระหว่างมาตรการ “คนละครึ่ง” กับ “ช้อปดีมีคืน” เลือกใช้มาตรการไหนดี วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ให้ดูตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นำมาแสดงว่าท่านมีเงินได้สุทธิต่อปีอยู่ในช่วงไหน เสียภาษีในอัตราเท่าไหร่ คำว่า “เงินได้สุทธิ” หมายถึง รายได้ทั้งตลอดทั้งปี 2563 หักด้วยค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หักด้วยค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ค่าดอกเบี้ยบ้าน, เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ, หน่วยลงทุน RMF หรือ SSF ฯลฯ เหลือเท่าไหร่ นั่นคือเงินได้สุทธิต่อปี

    จากตารางที่นำมาแสดงจะเห็นได้ว่า กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ คือ ผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 500,001 บาทต่อปีขึ้นไป

    • เงินได้สุทธิต่อปี 500,001–750,000 บาท เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 15% ของเงินได้ หากซื้อสินค้าหรือบริการในระบบ VAT ครบ 30,000 บาท จะได้ภาษีคืน หรือลดภาระค่าภาษีได้สูงสุด 4,500 บาท
    • ถเงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 20% ซื้อครบ 30,000 บาท ได้เงินคืนภาษี 6,000 บาท
    • เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001–2,000,000 บาท เสียภาษี 25% ซื้อครบ 30,000 บาท ได้เงินคืน 7,500 บาท
    • เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001–5,000,000 บาท เสียภาษี 30% ซื้อครบ 30,000 บาท ได้เงินคืน 9,000 บาท
    • เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษี 35% ซื้อครบ 30,000 บาท ได้ภาษีคืนสูงสุดคือ 10,500 บาท

    ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช้อปดีมีคืน คือ กลุ่มคนที่อยู่นอกระบบภาษี หรือผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่มีรายได้สุทธิ 150,001–300,000 บาทต่อปี เสียภาษี 5% ถ้าซื้อสินค้าหรือบริการครบ ได้เงินคืนภาษีแค่ 1,500 บาท, รายได้สุทธิ 300,001–500,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 10% ของเงินได้ ซื้อสินค้าหรือบริการครบได้เงินภาษีคืนไม่ถึง 3,000 บาท

    ดังนั้น ผู้เสียภาษีกลุ่มหลังที่มีเงินได้สุทธิต่อปีต่ำกว่า 500,000 บาท แนะนำให้ไปใช้มาตรการ “คนละครึ่ง” จะคุ้มกว่า ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท ส่วนผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปี 500,000 บาทต่อปี แนะนำเลือกให้ใช้มาตรการ “ช้อปดี มีคืน” ได้คืนภาษีขั้นต่ำ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10,500 บาท

    ถามว่า ซื้อสินค้าหรือบริการประเภทไหนบ้างที่สามารถขอคืนภาษีได้ ดร.พรชัยตอบว่า “ยกเว้นสินค้าและบริการ 7 รายการตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว หากขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากร้านค้าและบริการที่อยู่ในระบบ VAT มาได้ ก็สามารถนำไปยื่นหักลดหย่อนภาษีในปีหน้าได้ทั้งหมด ซื้อทองได้เฉพาะค่ากำเหน็จ ส่วนค่าประกันภัยรถยนต์หรือสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบ VAT ลดหย่อนไม่ได้”