ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามวางยุทธศาสตร์ 2030 ดึงเงินลงทุนต่างชาติ

ASEAN Roundup เวียดนามวางยุทธศาสตร์ 2030 ดึงเงินลงทุนต่างชาติ

5 มิถุนายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม- 4 มิถุนายน 2565

  • เวียดนามวางยุทธศาสตร์ 2030 ดึงเงินลงทุนต่างชาติ
  • อินโดนีเซียร้องฟื้น ASEAN Power Grid เล็งขายไฟฟ้าให้สมาชิกอาเซียน
  • นายกฯลาวเยือนไทยกระชับสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์การเติบโต
  • เวียดนามวางยุทธศาสตร์ 2030 ดึงเงินลงทุนต่างชาติ

    นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งให้เห็นชอบ ยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือด้านการลงทุนจากต่างประเทศสำหรับปี 2564-2573

    ยุทธศาสตร์นี้มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนทุนจดทะเบียนต่างประเทศจากสาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน (จีน) มาเลเซีย ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน รัสเซีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ให้ไหลเข้าเวียดนามมากกว่า 70% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดภายในปี 2568 และ 75% ภายในปี 2573

    ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 9 แนวทางเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของความร่วมมือด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ ยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนทางธุรกิจและปรับปรุงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ, การพัฒนาระบบนิเวศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ยกระดับและส่งเสริมการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ, สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการกระจาย, ส่งเสริมขีดความสามารถภายในและการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของความร่วมมือด้านการลงทุนจากต่างประเทศ, ยกระดับประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและตำแหน่งของเวียดนามในเวทีระหว่างประเทศ, ส่งเสริมการลงทุนให้ทันสมัยและหลากหลาย และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารรัฐกิจด้านการลงทุนจากต่างประเทศ

    นอกจากนี้ยังมีจุดวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจในประเทศให้เข้มแข็ง มีความสามารถมากพอในการรับมือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ การสนับสนุนสตาร์ตอัป องค์กรนวัตกรรม และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการร่วมทุนและเชื่อมโยงกับภาคการลงทุนต่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีชั้นสูง เทคโนโลยีใหม่ และภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 บริการที่ทันสมัย ​​อุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน

  • นักลงทุนต่างชาติสนใจขยายลงทุนในเวียดนาม

  • ผลสำรวจของ HSBC พบว่า เวียดนามยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจในมุมมองของนักลงทุนต่างประเทศ โดยที่ธุรกิจจากอินเดียและจีนให้คำตอบว่า มีแผนที่จะขยายธุรกิจเข้าไปในเวียดนามในอีก 2 ปีข้างหน้า

    HSBC Holdings ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้เผยแผร่ผลการสำรวจบริษัทราว 1,600 แห่งจาก 6 ประเทศใหญ่ ซึ่งทั้งหมดมีการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ผลสำรวจที่มีชื่อว่า ‘HSBC Navigator: Southeast Asia (SEA) in Focus สอบถามความเห็นจาก 1,596 บริษัทในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส เยอรมนีและอินเดีย โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารในระดับมีอำนาจตัดสินใจของบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว หรือกำลังพิจารณาที่จะลงทุน

    ธุรกิจระหว่างประเทศเหล่านี้คาดว่า เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศเวียดนาม ซึ่งได้เดินหน้าการยอมรับและปรับใช้วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    ราว 21% ของบริษัทอินเดียและราว 26% ของบริษัทจีนที่ได้ทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้วหรือกำลังพิจารณาที่จะลงทุนระบุว่า มีแผนที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามในอีก 2 ปีข้างหน้า

    สำหรับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่เด่นชัด 3 ใน 10 ของธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าได้แก่ แรงงานที่มีทักษะ ขณะที่ 27% ชี้ไปที่ค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

    49% ของธุรกิจอินเดียที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า เชื่อมั่นในการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนามและสภาวะแวดล้อมในการกำกับดูแล ซึ่งในข้อนี้สัดส่วนของธุรกิจสหรัฐฯและจีนที่ให้คำตอบมีถึง 33% และ 30% ตามลำดับ

    ด้วยมั่นใจในสภาวะแวดล้อมในการกำกับดูแลสภา 36%ของบริษัทสหรัฐฯที่ตอบแบบสอบถามมุ่งมั่นที่จะใช้โอกาสในการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์รวมทั้งโซลูชันในตลาด

    บริษัทอินเดีย 39% ยังได้คำตอบว่า สนใจเวียดนามเพราะมีโครงสร้างพื้นฐาน และที่น่าสนใจ 49% ของบริษัททั้งตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จากจีน อินเดีย และสหรัฐฯแสดงออกถึงความคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอียูและเวียดนาม(EU – Vietnam Free Trade Agreement:EVFTA) เพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าในภูมิภาค

    การเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานได้ง่ายและเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองของเวียดนาม ทำให้ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบเยอรมนีระบุว่าเป็นคุณลักษณะเชิงบวกของตลาดเวียดนาม

    “เวียดนามกำลังก้าวไปข้างหน้าในการยอมรับและปรับใช้วาระความยั่งยืนเพื่อเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) 17 ข้อ” HSBC ระบุในการสำรวจ

    เวียดนามติดอันดับ 51 ใน SDG Index จากการประเมิน 162 ประเทศ จึงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงมากกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายอื่นยกเว้นไทย

    อย่างไรก็ตามราว 31% ของธุรกิจที่ดำเนินงานในเวียดนามกังวลว่ากฎเกณฑ์และระเบียบใหม่เกี่ยวกับการลดคาร์บอนจะกระทบต่อการดำเนินงาน ขณะที่ 36% ชี้ว่าการจ้างพนักงานที่มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความยั่งยืนเป็นเรื่องยาก

    HSBC คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.2% ในปีนี้จาก 2.6% ในปีก่อน และกลายเป็นดาวรุ่งศูนย์กลางการผลิตของโลก จากสิทธิประโยชน์จูงใจจากรัฐบาล โดยเฉพาะการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ

  • รัฐบาลเตรียมพัฒนานิคมอุตสากรรมอีก 3 แห่ง

  • ด้านรัฐบาลเห็นชอบในหลักการที่จะใช้เงินราว 268 ล้านดอลลาร์ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่งในไฮฟอง บั๊กซาง และห่านาม
    โดยนิคมอุตสาหกรรมในไฮฟองมีพื้นที่ 410 เฮกตาร์ ที่บั๊กซางมีพื้นที่ 85เฮกตาร์ และที่ห่านามมีพื้นที่ 49 เฮกตาร์

    รัฐบาลยังเห็นชอบในหลักการที่จะเพิ่มการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฟู้ ถ่วน ในเขตบิ่ญ ได่ ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในจังหวัดเบ๊นแจ เป็นมากกว่า 3.58 ล้านล้านด่องจาก 2.12 ล้านล้านด่องที่กำหนดไว้ในปี 2560

  • จังหวัดบิ่ญเซืองดึง FDI สูงสุดใน 5 เดือนแรก
  • ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้จังหวัดบิ่ญเซือง ดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct investment:FDI)ได้มากที่สุดด้วยมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

    ในช่วงต้นปีนี้คณะกรรมการเมืองได้ให้ความเห็นชอบโครงการลงทุน 22 โครงการที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัด และการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม-สิงคโปร์แห่งที่ 3 ที่มีพื้นที่ใหญ่ถึง 1,000 เฮกตาร์

    ปัจจุบันจังหวัดบิ่ญเซืองมีโครงการลงทุน FDI กว่า 4,033 โครงการมูลค่ารวมกว่า 38 พันล้านดอลลาร์ และมีนิคมอุตสาหกรรม 29 แห่งรวมพื้นที่ราว 13,000 เฮกตาร์ และมีอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ย 83.4%

    โว วาน มิงห์ ประธานคณะกรรมการเมือง ระบุว่า จังหวัดบิ่ญเซืองมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

    การลงทุนจากนักลงทุนในประเทศที่ไหลเข้าไปในจังหวัดบิ่ญเซืองมีมูลค่าราว 31 ล้านล้านด่อง (1.33 พันล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

    อินโดนีเซียร้องฟื้น ASEAN Power Grid เล็งขายไฟฟ้าให้สมาชิกอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2022/06/01/indonesia-looks-to-asean-community-to-offload-excess-electricity
    รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซียเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ Asean Power Grid (APG) หรือการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน เพราะจะช่วยให้อินโดนีเซียจัดการกับปริมาณไฟฟ้าที่มีมากเกินความต้องการได้ ซึ่ง รวมถึงการส่งออกส่วนเกินไปประเทศเพื่อนบ้าน

    ในที่ประชุมนัดพิเศษรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซียแสดงความต้องการที่จะให้ประเทศสมาชิกเริ่มโครงการ APG ที่ริเริ่มไว้นานแล้วเพื่อรับมือกับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น

    ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว หลังจากการยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ขณะเดียวกันมาตราการคว่ำบาตรรัสเซียจากการรุกรานยูเครนก็ยิ่งทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น

    APG เป็นการเชื่อมโยงระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าในอาเซียน ด้วยการเดินหน้าจากข้อตกลงข้ามแดนทวิภาคีไปสู่ข้อตกลงระดับอนุภูมิภาคและเชื่อมโยงระดับภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ

    ทั้งนี้การเดินหน้าตามแผนต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างสายส่งพื้นฐานให้เป็นระบบเดียวและหลักเกณฑ์การซื้อขายไฟฟ้า

    นายมูฮัมหมัด ลุตฟี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย กล่าวว่า การกระชับความร่วมทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้ลึกมากขึ้นมีความจำเป็น เนื่องจากระบบการค้าพหุภาคีในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่อาจทำให้องค์การการค้าโลกไม่มีประสิทธิภาพ

    “เรามีความคิดริเริ่มบางอย่างในช่วงทศวรรษ 1980 [และ 1990] เกี่ยวกับธุรกิจที่เราจัดการร่วมกันเพื่อจัดหาให้พวกเราด้วยกัน [และ] นี่คือสิ่งที่เราจะทบทวน […] ส่วนหนึ่งก็คือ APG” นายลุตฟีกล่าวในการแถลงข่าวที่หลังการประชุมพิเศษ AEM ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม

    ดีนา เคอร์เนียซารี ผู้อำนวยการฝ่ายเจรจาของกระทรวงการค้าของกระทรวงการค้ากล่าวว่า APG จะเสริมห่วงโซ่คุณค่าของภูมิภาคเพราะเพิ่มความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของภูมิภาค และในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาค

    โครงการ Asean Power Grid มีบทบาทในการแบ่งปันทรัพยากรตั้งแต่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในปี 2550 ความคิดริเริ่มนี้คาดว่าจะแก้ปัญหาไฟฟ้าล้นเกินในอินโดนีเซียได้” ดีน่าระบุในข้อความที่เขียนถึงหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม

    เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ดาร์มาวัน ปราโซโจ ประธานบริษัทไฟฟ้าของรัฐ PLN ยืนยันว่า อินโดนีเซียมีไฟฟ้าล้นตลาดอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะชวา

    “ขณะนี้ PLN กำลังประสบปัญหาอุปทานล้นเกินจำนวนมาก” ดาร์มาวันกล่าวกับผู้สื่อข่าวและให้ข้อมูลว่า อุปทานบนเกาะชวาเพิ่มขึ้นประมาณ 6 กิกะวัตต์ในปี 2564 ในขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 800 เมกะวัตต์ “จึงมีส่วนเกิน 5 กิกะวัตต์”

    PLN จึงขานรับแผนการส่งออกไฟฟ้าในขณะที่ยังคงคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินงานและการเงินของโครงการที่จะเกิดขึ้น

    “PLN พร้อมที่จะสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับภูมิภาคด้านที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน” ดิอาห์ อายู เปอร์ตาซารี รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรและ CSR ของ PLN กล่าว

    ภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อความร่วมมือด้านพลังงาน (Asean Plan of Action for Energy Cooperation:APAEC) ปี 2559-2568 ประเทศสมาชิกตกลงที่จะเริ่มการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีภายในกรอบเวลาที่กำหนด ปัจจุบันอินโดนีเซียมีการเชื่อมต่อโครงข่ายหนึ่งแห่งกับมาเลเซียที่กำลังดำเนินการอยู่ เรียกว่า P6 ซาราวัก-กาลิมันตันตะวันตก

    อินโดนีเซียวางแผนที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายอีก 2 แห่งกับมาเลเซีย ได้แก่ คาบสมุทร P4 มาเลเซีย-สุมาตรา และ P15 ตะวันออกซาบาห์-กาลิมันตันตะวันออก

    รัฐบาลยังวางแผนที่จะสร้างเชื่อมต่อกับสิงคโปร์สองแห่ง ได้แก่ P5 บาตัม-สิงคโปร์ และ P16 สิงคโปร์-สุมาตรา

    แฟ้บบี้ ตูมิวา ผู้อำนวยการ Institute for Essential Services Reform (IESR) กล่าวว่า แนวทางการส่งออกไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกิน เนื่องจากไฟฟ้าของอินโดนีเซียส่วนใหญ่มาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน เช่น ถ่านหิน ขณะที่ประเทศอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ไม่ต้องการนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

    “ในปี 2564 ประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ และหนึ่งในการดำเนินการคือพยายามที่จะลดโรงไฟฟ้าถ่านหินลงเป็นระยะๆ” เป้าหมายนี้จึงทำให้ประเทศต่างๆ เลิกใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิล และใช้พลังงานหมุนเวียนแทน ในบันทึกข้อตกลงก่อนหน้านี้ มาเลเซียตกลงที่จะนำเข้าจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ บางทีตอนนี้อาจไม่ต้องการอีกแล้ว”

    ดังนั้น แทนที่จะผลักดันนโยบายการส่งออกแฟ้บบี้แนะนำให้รัฐบาลเลิกใช้โรงไฟฟ้าฟอสซิลแห่งเก่าและเจรจาสัญญาใหม่กับโรงไฟฟ้าเอกชนเพื่อลดปริมาณไฟฟ้า “รัฐบาลต้องเจรจาใหม่กับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) เพื่ออย่างน้อยลดกำลังการผลิตไฟฟ้า”

    ปัจจุบัน PLN ทำสัญญากับ IPP โดยพิจารณาจากหน่วยที่ผลิตได้จริง ที่[ยังคง] สูงกว่า 80% ซึ่งแฟ้บบี้และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าสูงเกินไป ตามหลักการแล้วการใช้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 55-60%

    เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะ ภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลในการจัดการกับอุปทานส่วนเกินคือ พัฒนาการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างเกาะ เช่น จากชวาไปยังสุมาตรา หรือจากชวาไปยังกาลิมันตัน เพื่อให้อุปทานส่วนเกินในชวาสามารถถ่ายโอนไปยังที่อื่นได้

    นายกฯลาวเยือนไทยกระชับสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์การเติบโต

    การแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/8985
    วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit)

    โดยนายกรัฐมนตรีไทยและลาวได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม และได้หารือข้อราชการเต็มคณะ ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือข้อราชการ โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมด้วย ดังนี้

    พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

    นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และคณะในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมยินดีที่ช่วงเช้าวันนี้นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้รับมอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เข้าเฝ้าในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลต่างประเทศในรัชกาลปัจจุบัน เป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ทั้งนี้ การเยือนของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้กลับมาเปิดประเทศให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันอีกครั้ง เพื่อกระชับความร่วมมือ เสริมสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งกับประเทศอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคและในภูมิภาคอาเซียนด้วย

    ด้านนายกรัฐมนตรี สปป.ลาวขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น การเยือนไทยครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันคำหมายมั่นของ สปป.ลาวที่จะส่งเสริมและสานต่อมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเป็น “บ้านใกล้เรือนเคียง” ที่ดี เป็นพี่เป็นน้อง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและคล้ายคลึงกัน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน พร้อมยืนยันว่า ลาวยินดีให้ความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตลูกหลานของประชาชนทั้งสองประเทศให้อยู่ดีกินดี นำมาสู่ความสงบสุขและความมั่นคงยืนยาวตลอดไป รวมทั้งเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เสนอแนะว่า ทั้งสองฝ่ายควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือที่สำคัญระหว่างกันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

    โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและ สปป.ลาว ได้กลับมาเปิดให้มีการไปมาหาสู่ของประชาชนและการขนส่งสินค้าผ่านจุดผ่านแดนทางบกอีกครั้ง ซึ่งในวันนี้ (1 มิถุนายน 2565) ได้มีการเปิดจุดผ่านแดนถาวร/ด่านสากลระหว่างทั้งสองประเทศครบทุกแห่งแล้ว เป็นการช่วยฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนไทยและลาว และกระตุ้นเศรษฐกิจกับการค้าชายแดน ขณะที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวว่าไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ของลาว ซึ่งพร้อมที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในอนาคต โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยพร้อมที่จะจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรลาว และพร้อมสนับสนุนด้านเทคนิคและการฝึกอบรมทักษะแก่บุคลากรลาวในการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในวงกว้าง

    ด้านการเชื่อมโยงท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่ง นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไทยและลาวสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเดินทางข้ามแดนและนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ โดยจะเน้นเส้นทางที่มีศักยภาพระหว่างแขวงหลวงพระบางกับจังหวัดน่าน และจังหวัดในภาคเหนือของไทย ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency: NEDA) ของไทยพร้อมสนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง

    ด้าน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนได้ไปมาหาสู่ระหว่างกัน สร้างความใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อมูลค่าท่องเที่ยวในภาพรวม รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทย-ลาว ให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน ด้านการคมนาคมขนส่ง นายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุนนโยบายของ สปป.ลาวในการเปลี่ยนให้เป็นประเทศ land-linked โดยให้กระทรวงคมนาคมทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการก่อสร้างโครงการสำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ 1. การเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนกับระบบรางของไทย 2. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่จะเป็นประธานร่วมกับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาวในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ 3. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) และ 4. การพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) (แขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) – นาเพ้า)

    ด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมให้แรงงานระหว่างสองประเทศเดินทางเข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบ โดยผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายเท่านั้น โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของแรงงานต่างชาติ และให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานต่างชาติในไทยให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ด้านนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับไทย ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถประสานความร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญในประเด็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามแดนและความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เน้นย้ำว่ารัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และยินดีจัดการหารือนผ่านกลไกความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ด้านนายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อมั่นว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ของไทยพร้อมสนับสนุนลาวในการจัดการฝึกอบรม พัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ขยายผลการจับกุมและสนับสนุนอุปกรณ์สืบสวนสอบสวนที่ทันสมัย รวมทั้งทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่งจะให้หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งสองฝ่าย ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ทางฝ่ายไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) พร้อมที่จะเริ่มการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย- ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แบบครบวงจร ที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งได้มีการพิธีการมอบภาพต้นแบบของศูนย์พัฒนาฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ

    ด้านความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ไทยพร้อมจะสานต่อการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ สปป.ลาว ภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ฉบับใหม่ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความด้านสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้แสดงความพร้อมจะมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก แก่เยาวชนลาว รวมกว่า 700 ทุน ในระยะปี ค.ศ. 2022 – ค.ศ. 2025 ขณะที่ด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเพื่อควบคุมโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้ต่อยอดความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลในจังหวัดและแขวงตามแนวชายแดนไทย – ลาว ให้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

    ด้านความร่วมมือทางการเกษตร ไทยยินดีที่โครงการความร่วมมือด้านการเกษตรของไทยใน สปป.ลาว ประสบความสำเร็จและมีส่วนสนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนชาวลาว ซึ่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาลไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต่อยอดความสำเร็จด้วยการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพิ่มเติมในอนาคต

    ด้านความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นบนพื้นฐานของภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการสนับสนุนโยบาย Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยยินดีให้กระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศจัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมร่วมกัน

    ด้านความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ในระดับอนุภูมิภาค ไทยพร้อมสนับสนุน สปป.ลาว อย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 ในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศในอนุภูมิภาคจะจับมือกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดและรุ่งเรือง ขณะที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ยืนยันว่า รัฐบาลลาวพร้อมให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปกของไทย เชื่อมั่นในประสบการณ์การทำงานและศักยภาพของรัฐบาลไทยที่จะสามารถดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ดี เเละทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน สำหรับระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและลาว อยู่ในครอบครัวอาเซียนด้วยกัน จึงควรประสานงานและร่วมกันกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้อาเซียนเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน โดยไทยเชื่อว่าอาเซียนที่มีความเป็นปึกแผ่นจะเป็นอาเซียนที่มีพลังและสามารถมีบทบาทสำคัญในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้

    ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และคณะที่ได้เดินทางเยือนไทยและหารือร่วมกันในบรรยากาศฉันท์มิตร เสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย นำผลการหารือไปปฏิบัติเพื่อให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

    นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ได้ปาฐกถาพิเศษ เปิดงาน Thai-Lao Business Talk and Networking ที่มาภาพ:https://www.mfa.go.th/th/content/thailaobusinessevent01062565?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b

    ในวันเดียวกันนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ได้ปาฐกถาพิเศษเปิดงาน Thai-Lao Business Talk and Networking ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมคณะภาคเอกชน สปป. ลาว

    โดยมีผู้แทนภาคธุรกิจของไทย – สปป. ลาว กว่า 200 คน จาก 9 สาขาธุรกิจเข้าร่วม และผู้แทนของภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะถึงโอกาสการขนส่งสินค้าข้ามแดน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการเปิดใช้รถไฟลาว – จีน ตลอดจนการเจรจาหารือทางธุรกิจที่จะช่วยขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทย – สปป. ลาวได้สะดวกมากขึ้น