ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปัดไม่เกี่ยว ‘กรมราชทัณฑ์’ออกระเบียบคุมขังนอกคุก – มติ ครม.ถอนวาระขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทบทวนใหม่

นายกฯปัดไม่เกี่ยว ‘กรมราชทัณฑ์’ออกระเบียบคุมขังนอกคุก – มติ ครม.ถอนวาระขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทบทวนใหม่

12 ธันวาคม 2023


เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมถาษณ์สื่อมวลชน หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯปัดไม่เกี่ยว ‘กรมราชทัณฑ์’ออกระเบียบคุมขังนอกคุก
  • คาดชง ครม.ขึ้นค่าแรงอีกครั้ง 25 ธ.ค.นี้
  • โยน สตช.แก้ปัญหา หลังขยายเวลาปิดสถานบันเทิง
  • มติ ครม.ถอนวาระขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทบทวนใหม่
  • มอบ ทส.ส่งเสริมชาวบ้านปลูก “ไม้พะยูง”
  • ยกเว้นวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่น 30 วัน 3 ปี
  • ตั้ง ‘ชาติชาย พยุหนาวีชัย’ ที่ปรึกษา ‘วราวุธ ศิลปอาชา’
  • เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    สั่ง “กลาโหม-เกษตร” ช่วย ปชช.แก้ปมที่ดินทำกิน

    นายเศรษฐา กล่าวว่า การประชุม ครม. วันนี้่เป็นเรื่องพิจารณาทั่วไป โดยตนได้สั่งการ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกงานกาชาด ขอให้รัฐมนตรีช่วยไปเที่ยวงานกาชาด ประจำปี 2566 จัดระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2566 ที่สวนลุมพินี และช่วยสนับสนุนสินค้าโอทอปด้วย

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มีเรื่องต่อเนื่องที่ต้องให้หลายกระทรวงเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ที่ดินทำกิน ซึ่งได้มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย และต้องตกลงร่วมกันเรื่องพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงสินทรัพย์เป็นทุนสามารถกู้ได้ และเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ด้วย

    คาดชง ครม.ขึ้นค่าแรงอีกครั้ง 25 ธ.ค.นี้

    การประชุม ครม. วันนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอต่อที่ประชุมเรื่อง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ โดยนายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวว่า “จะต้องนำกลับไปตั้งข้อสังเกตและพิจารณาสูตรการคิดค่าแรงใหม่ ท่านนำมาเสนอและดึงกลับไปเอง จึงแจ้งเพื่อทราบ”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นายเศรษฐา ตอบว่า “เป็นการตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ซึ่งก็ต้องแล้วแต่และต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี พูดได้แค่นี้”

    ถามต่อว่าจะทันช่วงปีใหม่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่าว่า “คิดว่าอาทิตย์หน้าอาจจะนำเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่เกิน 2 อาทิตย์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธันวาคมนี้ หรือ อะไรสักอย่าง”

    เมื่อถามถึงตัวเลขที่นายกฯ คาดหวัง นายเศรษฐา นิ่งไปขณะหนึ่ง และตอบว่า “ก็ต้องฟังเขาก่อน มีข้อกฎหมายอะไรหลายอย่าง”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะได้ตัวเลข 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ นายเศรษฐา ไม่ตอบคำถาม และกล่าวว่า “คำถามต่อไปครับ”

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้า พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยนายเศรษฐา ตอบสั้น ๆ ว่า “เป็นไปตามขั้นตอน”

    โยน สตช.แก้ปัญหา หลังขยายเวลาปิดสถานบันเทิง

    เมื่อถามถึงกรณีการขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิง ซึ่งอาจจะมีปัญหาสังคมตามมา เช่น ปัญหายาเสพติด นายเศรษฐา ตอบว่า “ปัญหาเรื่องยาเสพติด หรือ อาวุธทั้งหลายเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้วที่ต้องบริหารจัดการเรื่องนี้ไป”

    เผย ปปง. อายัดทรัพย์คดี ‘หมูเถื่อน’ แล้ว

    นายเศรษฐา ตอบคำถามเรื่องความคืบหน้าการแก้ปัญหาหมูเถื่อนว่า “ก็พยายามตามอยู่ เมื่อวาน (11 ธ.ค. 2566) มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมกรรมการป้องกันและปราบการการฟอกเงิน (ปปง.) ว่าได้มีการอายัดทรัพย์ไปบางส่วนแล้ว ซึ่งก็ต้องสาวต่อไป และทำงานกันต่อไป”

    ถามต่อว่าจะสามารถสาวถึงต้นตอตัวการใหญ่ได้หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็มีความพยายาม ต้องดูว่าตัวการใหญ่นั้น ใหญ่แค่ไหนเท่านั้นเอง”

    ทั้งนี้ นายเศรษฐา ย้ำว่า ความคืบหน้าคดีหมูเถื่อนอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของดีเอสไอ ทำให้ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เมื่ออยู่ในขั้นตอนสุดท้ายจะสามารถเปิดเผยรายชื่อได้หรือไม่ นายเศรษฐา จึงตอบว่า “ก็ต้องว่าไปตามขั้นตอนกฎหมาย เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปิดชื่อ ถ้าหากไม่เสียรูปคดี”

    หวังแก้หนี้นอกระบบ ช่วยบรรเทาทุกข์ ปชช.ได้

    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้เห็นข่าวคุณตาเสียชีวิต เพื่อหนีปัญหาหนี้นอกระบบ หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า .ไม่ได้อ่านรายละเอียด แต่เข้าใจว่าปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย วันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไปแล้ว…หวังว่าจะช่วยบรรเทาความทุกข์ของพี่น้องประชาชนได้”

    ปัดไม่เกี่ยว ‘กรมราชทัณฑ์’ออกระเบียบขังนอกคุก

    นายเศรษฐา ยังตอบคำถามถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ซึ่งถูกมองว่าเอื้อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “ไม่ทราบเรื่องเลย เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ผมไม่เกี่ยว”

    ถามต่อว่า จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร นายเศรษฐาไม่ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันที

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ถอนวาระขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทบทวนใหม่

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้กระทรวงแรงงานได้นำเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2567 เสนอที่ประชุม ครม.เพื่อทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรา 2 – 16 บาทต่อวัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งรายงานที่ประชุม ครม.ว่า ตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีจะต้องคำนึงถึง ฐานค่าจ้างแรงงานเดิม , ดัชนีค่าครองชีพ , อัตราเงินเฟ้อ, มาตรฐานการครองชีพ , ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ , ความสามารถของภาคธุรกิจว่าจะจ่ายได้หรือไม่ , ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ตัวเลข หรือ ข้อมูลดังกล่าวย้อนหลัง 5 ปี มาคำนวณหาค่าเฉลี่ยอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปี

    ปรากฏว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าการนำตัวเลขของปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงมากๆ เพราะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิดฯ มาร่วมคำนวณด้วย อาจทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าความเป็นจริง ควรจะมีวิธีคำนวณที่เป็นมาตรฐาน และอยากให้นำตัวเลขดังกล่าวออกไป ซึ่งที่ประชุม ครม.ก็รับทราบ และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ประชุม ครม.ก็ให้สิทธิแก่นายพิพัฒน์ว่าจะยืนยันเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.รับทราบหรือไม่ ปรากฎว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน

    “สรุปถือว่าที่ประชุม ครม.ได้ยินเฉย ๆ แต่ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ ขอเน้นย้ำนะครับ การถอนออกไปเกิดจากข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจไปสั่งการให้คณะกรรมการค่าจ้างให้ทบทวนอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่ากระทรวงแรงงานจะนำข้อสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างนั้นมานำเสนอต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้งเมื่อไหร่ ส่วนจะมีการทบทวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ครม. แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากนายจ้าง , ลูกจ้าง และส่วนราชการ ฝ่ายละ 5 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติปรับขึ้นค่าจ้างแรงานทั่วประเทศต่ำที่สุด 2 บาทต่อวัน และสูงที่สุด 16 บาทต่อวัน ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้าง 77 จังหวัดทั่วประเทศ กำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ตวันละ 370 บาท ถัดมาคือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันละ 363 บาท และต่ำที่สุดอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันละ 330 บาท

    จัดงบกลาง 750 ล้าน เยียวยาแรงงานไทยในอิสราเอล

    นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบฯ ปี 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 750 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ปีงบฯ 2567 ต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 และยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยซึ่งพำนักในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับเป็นตัวประกัน รวมทั้งยังมีความกังวลถึงค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับและกังวลว่าจะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้ภายหลังจากสถานการณ์สงบลง

    โดย ครม. ได้มีมติ (24 ต.ค. 2566) มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือชดเชยให้แก่แรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลให้เหมาะสมเป็นกรณีพิเศษ และต่อมา ครม. ได้มีมติ (7 พ.ย. 2566) เร่งรัดการพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือชดเชยดังกล่าวให้แล้วเสร็จครบถ้วน รวมทั้งเร่งรัด กำกับ ติดตามการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยต่างๆ ให้ถึงมือแรงงานไทยถูกต้อง ทั่วถึงโดยด่วน

    กระทรวงแรงงาน จึงขอรับการจัดสรรงบฯ ปี 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 750 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ปีงบฯ 2567 สรุปได้ดังนี้

    กรอบวงเงินโครงการ – จำนวน 750 ล้านบาท (แรงงานไทยกลุ่มเป้าหมาย 15,000 คน) ได้รับเงินเยียวยา คนละ 50,000 บาท

    กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 4 กลุ่ม –

      1. แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล และเดินทางกลับไทยหลังวันที่ 7 ต.ค. 2566 จำนวน 9,475 คน วงเงิน 473.75 ล้านบาท
      2. แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล จำนวน 39 คน วงเงิน 1.95 ล้านบาท
      3. แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลและเดินทางกลับไทยก่อนวันที่ 7 ต.ค. 2566 โดยใช้ Re-entry Visa แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้ เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในอิสราเอล จำนวน 960 คน วงเงิน 48.00 ล้านบาท และ
      4. ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่าจะประสงค์เดินทางกลับไทย/เดินทางกลับไทยเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกัน จำนวน 4,526 คน วงเงิน 226.30 ล้านบาท

    รวมทั้งสิ้น 15,000 คน วงเงิน 750 ล้านบาท

    วิธีดำเนินการ

      1. สป.กระทรวงแรงงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาครับคำร้องขอรับเงินเยียวยาเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล
      2. ตรวจสอบเอกสารข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่ สป. กระทรวงแรงงาน กำหนด
      3. ดำเนินการเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของแรงงานไทย
      4. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน

    ระยะเวลาดำเนินการ เริ่มเดือน ธ.ค. 2566 – ก.ย. 2567 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ

    การติดตามผล

      1. รายงานผลการเบิกจ่ายเงินเยียวยาฯ เป็นประจำทุกวัน
      2. กระทรวงแรงงาน ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน

    ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ นร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบฯ รายจ่ายงบกลางฯ เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้เห็นชอบด้วยแล้ว และควรกำกับดูแลค่าใช้จ่ายงบฯให้เป็นไปอย่างรัดกุม พร้อมทั้งควรเร่งดำเนินการสื่อสารให้แรงงานกลุ่มเป้าหมายทราบถึงสิทธิและช่องทางเยียวยาและการช่วยเหลือ ทั้งด้านการจัดหางาน และเพิ่มพูนทักษะที่ดำเนินอยู่ เพื่อให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานและการประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐในระยะยาว

    มอบ ทส.ส่งเสริมชาวบ้านปลูก “ไม้พะยูง”

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง และไม้หวงห้ามอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ส่วนราชการทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทั้งระบบ การส่งเสริมการปลูกไม้พะยูง แนวคิดในการจัดการป่าไม้และทรัพยากร การทบทวนหลักเกณฑ์การอนุญาตสัมปทานป่าไม้ การดำเนินนโยบายที่สร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานไม้

    นายคารม กล่าวว่า ไม้พะยูงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงควรส่งเสริมการปลูก เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยให้มีการขึ้นทะเบียนการปลูกไม้พะยูงกับภาครัฐ รวมถึงไม้ที่มีมูลค่าอื่นด้วย เช่น ไม้สักตะแบก ตะเคียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรสร้างแรงจูงใจให้คนที่มีที่ดินเป็นของตัวเองปลูกไม้มีค่า เพื่อป้อนสู่ตลาด เนื่องจากการปลูกต้นไม้เพื่อการพาณิชย์ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยในระหว่างปลูกต้นไม้ เจ้าของที่ดินจะไม่สามารถนำที่ดินนี้ใช้ในการสร้างรายได้อื่นๆ เช่น การลดหรือยกเว้นภาษีที่ดินสำหรับคนที่นำที่ดินของตัวเองไปปลูกป่า หรืออุดหนุนเงินให้บุคคลที่ไม่สามารถที่จะใช้ที่ดินของตัวเอง ในการสร้างรายได้ เช่น การให้กู้ยืมระยะยาว

    “ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหลักรับผิดชอบ โดยให้ไปดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสม พร้อมกับสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป” นายคารม กล่าว

    ยกเว้นวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่น 30 วัน 3 ปี

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจ ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2569 เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

    นายคารม กล่าวว่า การกำหนดให้ผู้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจ ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ จะช่วยส่งเสริมให้นักธุรกิจเดินทางมาขยายความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเป้าจะส่งเสริม ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า การแทพย์ ชีวภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

    ‘SDC’จัด 7.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. พัฒนาฝีมือแรงงานข้ามชาติ

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมียนมา และไทย ระยะที่ 2 โดยอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

      1. เห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิสร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินการความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา และไทย ระยะที่ 2 (หนังสือแสดงเจตจำนงฯ) (โครงการ PROMISE ระยะที่ 2)
      2. อนุมัติให้อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ และ
      3. หากมีความจำเป็นต้องปรับแก้ถ้อยคำในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

    นายคารม กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนไตรภาคี [3 ฝ่าย ได้แก่ (1) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (กต. ฝ่ายไทย) (2) SDC (องค์การฝ่ายสมาพันธรัฐสวิส) และ (3) IOM (องค์การระหว่างประเทศ)] ภายใต้โครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดระยะเวลาระหว่างเดือนกันยายน 2564 – สิงหาคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดจากการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 1* (เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 – สิงหาคม 2564 ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ) ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานสัญชาติกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำกับแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานข้ามชาติ สำหรับเป้าหมายของโครงการ ประกอบด้วย แรงงานงานข้ามชาติจำนวนมากกว่า 450,000 ราย ใน 4 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย) จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้

    “ในเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจาก SDC จำนวน 7.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากไทยเข้าร่วมโครงการและมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศ (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) โดยจะพิจารณาให้การสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นรายกรณีไป โดยแรงงานข้ามชาติ 150,000 ราย จะสามารถเข้าถึงการพัฒนาและการรับรองทักษะฝีมือรวมถึงการส่งต่องาน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และแรงงานข้ามชาติ 300,000 ราย จะได้รับข้อมูลข่าวสาร การขยายเครือข่ายและการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น เพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสต่าง ๆ ที่มีอยู่”

    ทั้งนี้ นายจ้าง 300 ราย จะสร้างกลไกการจัดฝึกอบรมแก่แรงงานข้ามชาติภายในสถานประกอบการนั้น ๆ และได้รับการฝึกอบรม ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะฝีมือและการคุ้มครองแรงงานในการโยกย้ายถิ่นฐาน และผู้แทนจากภาครัฐ นายจ้าง และภาคประชาสังคม 400 ราย จะได้รับการฝึกอบรมด้านการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมและมีความยุติธรรม ตลอดจนการตรวจสอบลักษณะการจ้างงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน

    “โครงการดังกล่าวจะมีส่วนขับเคลื่อนงานการทูต เพื่อการพัฒนากับกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ของไทยและผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งส่วนช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของไทย ให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้การรับรองในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย และยังส่งเสริมการทำงานของกลไกในระดับภูมิภาคด้านแรงงานข้ามชาติ เช่น เวทีการประชุมอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ อันจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและได้รับการพัฒนาทักษะจนเป็นกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันนำไปสู่การเติบโตที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และช่วยลดปัญหาความยากจนของภูมิภาคในระยะยาว” นายคารม ย้ำ

    ผ่านร่างคำมั่นไทยต่อที่ประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2566 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจในเวทีการประชุมผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 จะช่วยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้หนีภัยและกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงของประเทศและสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน

    ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำร่างคำมั่นสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 โดยพัฒนามาจากประเด็นที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 1 หรือในกรอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอคำมั่น 8 ข้อต่อที่ประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ดังนี้ (1) เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคัดกรอง (2) แก้ปัญหา คนไร้รัฐไร้สัญชาติ (3) ทบทวนและปรับปรุงการใช้มาตรการทางเลือกแทนการกักตัวเด็กและครอบครัวในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง (4) ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะตามช่วงวัยของเด็กผู้หนีภัยกลุ่ม ต่าง ๆ (5) พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนต่างด้าวกลุ่มต่าง ๆ ในไทย รวมถึงผู้หนีภัย คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบคัดกรองฯ (6) ขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามในการหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย (7) ให้ความช่วยเหลือ ชาวโรฮีนจาผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮีนจาในบังคลาเทศอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีข้างหน้า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่เมียนมา และ (8) ดำเนินการถอนข้อสงวนต่อข้อ 22 (เรื่องการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กแสวงหาที่พักพิง) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

    ตั้ง ‘ชาติชาย พยุหนาวีชัย’ ที่ปรึกษา ‘วราวุธ ศิลปอาชา’

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้ง นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้ง นายชาติชาย พยุหนาวีชัย เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายนนทภูมิ ตั้งปณิธานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพิ่มเติม