ThaiPublica > คอลัมน์ > สิทธิคนหูหนวกในเกาหลี

สิทธิคนหูหนวกในเกาหลี

2 ธันวาคม 2023


1721955

ความน่าสนใจอย่างแรกของซีรีส์สุดละมุน Tell Me That You Love Me คือได้ดาราตัวท็อป ช็อง อู-ซอง พระเอกเบอร์ต้น ๆ ที่โด่งดังมาจากวงการหนังตั้งแต่ยุค 90 อาทิ Innocent Witness (2019), Daisy (2006), Sad Movie (2005) และนาน ๆ ทีจะโดดลงมาเล่นซีรีส์ ซึ่งผลงานซีรีส์ก่อนหน้านี้ของเขาคือเมื่อปี 2011 โน่นเลย ใน Padam Padam (เสียงเรียกจากหัวใจ) ที่พลิกบทบาทให้เขาเป็นพระเอกกักขฬะแสนละมุน ส่วนนางเอกก็ใช่ย่อยเพราะได้ ชิน ฮยอน-บิน ที่เมื่อปีก่อน Reborn Rich (2022) ของเธอได้ขึ้นแท่นเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลในอันดับ 2 ทั้งยังมีผลงานซีรีส์เด่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ Hospital Playlist ทั้ง 2 ภาค (2020 และ 2021) และ Confession (2019)

หนำซ้ำซีรีส์เรื่องนี้ยังได้ฝีมือกำกับของ คิม ยุน-จิน ที่แม้ก่อนนี้จะเคยกำกับมาแค่เรื่องเดียว แต่เชื่อว่าซีรีส์เรื่องนั้นน่าจะอยู่ในใจของใครหลายคน นั่นก็คือ Our Beloved Summer (2021-2022) แถมยังได้หนึ่งในมือเขียนบทอย่าง คิม มิน-จุง แห่ง Love in the Moonlight (รักเราพระจันทร์เป็นใจ, 2016 มีผู้เขียนบท 2 คน) ที่โด่งดังสุดขีดในบ้านเรา ซ้ำเธอยังเคยเขียนบท มินิซีรีส์ 6 ตอนจบ The Sound of Magic (2022) ให้ผู้กำกับ Itaewon Class คิม ซุง-ยุน (หนึ่งในผู้ร่วมกำกับ Love in the Moonlight)

‘เขาเป็นนักวาดภาพที่พูดด้วยมือ ส่วนเธอเป็นนักแสดงที่ฟังด้วยหัวใจ’

ชา จิน-อู (ช็อง อู-ซอง) หนุ่มนักวาดภาพเป็นใบ้หูหนวก เขาคิดว่า “คนแบบผมที่ไม่ได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัว…ต้องมีระยะห่างเพื่อความปลอดภัย”

จอง โม-อึน (ชิน ฮยอน-บิน) อดีตแอร์โฮสเตสสายการบินที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงตอนอายุ 33 ปีที่อนาคตยังไม่มีแววจะรุ่ง เธอว่า “ไม่เคยมีใครเรียกฉันว่านักแสดงเลย…ตัวประกอบ ตัวรอง พวกอยู่หลังฉาก ผู้คนเรียกฉันแบบนั้นตลอดเลย”

คนสองคนเผอิญพบกันบนเกาะเชจู ก่อนจะห่างหายกันไปแล้วกลับมาพบกันใหม่อีกครั้งในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล จิน-อู พูดในใจว่า “ผมคิดมาตลอดว่าผมต้องเป็นฝ่ายที่พยายาม ใช้ชีวิตเข้ากับคนอื่นให้ได้ เพราะในโลกนี้มีคนที่ได้ยินมากกว่าคนที่ไม่ได้ยิน แต่จากคนมากมายนั้น มีคนคนหนึ่งเข้าหาผม และทักทายผมก่อน เธอบอกว่า เธอดีใจที่ได้เจอผมอีก”

พล็อตเรื่องง่าย ๆ มีเท่านี้เอง แต่ความดีงามหลายอย่างในซีรีส์นี้คือสร้างความเข้าใจอย่างยิ่งแก่ผู้ชมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของคนหูหนวกที่ต้องเผชิญในสังคมเกาหลีปัจจุบัน ตั้งแต่การเตือนภัยที่คนหูหนวกจะไม่ได้ยินเสียงตะโกนเมื่อเกิดเหตุร้าย อคติที่มีมาแต่โบราณในหมู่คนหัวเก่า ไปจนถึงความเข้าใจผิดตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงภัยร้ายแรง

Tell Me That You Love Me ช่อง ENA เป็นซีรีส์เรื่องที่ 2 ของเกาหลีในปีนี้ที่มีตัวละครหลักเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้ ต่อจาก Twinkling Watermelon (2023) ของช่อง tvN ซึ่งน่าสนใจว่าทั้ง 2 เรื่องได้รับการสนับสนุนจาก KOCCA ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ คนหูหนวกเป็นใบ้ ในเกาหลีนั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว อันเป็นผลมาจาก เกาหลีใต้เคยลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2007 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2008 จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2021 เกาหลีใต้มีประชากรหูหนวกเป็นใบ้ราว 435,000 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 115 คนของจำนวนประชากรทั้งหมด

แล้วนับตั้งแต่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ประกาศพระราชบัญญัติภาษามือเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2016 อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 สิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งบังคับให้เจ้ากระทรวงนี้ต้องสนับสนุนและพัฒนาพ.ร.บ.ภาษามือนี้ทุก ๆ 5 ปีเพื่อให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และเพื่อไม่ให้ถูกล้มล้างไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร แม้จะมีผลอย่างเชื่องช้า แต่ข่าวล่าสุดในเกาหลีระบุว่าพ.ร.บ.นี้เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากปี 2020 ที่ผ่านมานี้เอง

เนื้อหาสำคัญในพ.ร.บ.นี้คือ

มาตรา 1 (วัตถุประสงค์) พระราชบัญญัตินี้ชี้แจงว่าภาษามือเกาหลีเป็นภาษาเฉพาะของคนหูหนวกและมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับภาษาเกาหลี และสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนาและการรักษาภาษามือเกาหลีเอาไว้ก็เพื่อปรับปรุงสิทธิทางภาษาและชีวิตของผู้ใช้ภาษามือคนหูหนวกและภาษาเกาหลี จุดประสงค์คือ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตพลเมือง

แนวคิดพื้นฐาน

1 ภาษามือเกาหลี ถือเป็นภาษาทางการของคนหูหนวกในสาธารณรัฐเกาหลี

2.ประเทศและประชาชนจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือเกาหลีสร้างอัตลักษณ์ภายในท้องถิ่นของตนและส่งเสริมภาษามือเกาหลีและวัฒนธรรมคนหูหนวก ส่งเสริมให้ความร่วมมือกันรักษาเป็นมรดกและมีการพัฒนา

3. คนหูหนวกและผู้ใช้ภาษามือเกาหลี จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในทุกด้านของชีวิต รวมถึงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากการใช้ภาษามือภาษาเกาหลี และจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในทุกด้านของชีวิต ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตและรับข้อมูลที่จำเป็นผ่านภาษามือภาษาเกาหลี

4.คนหูหนวก มีสิทธิได้รับการศึกษาภาษามือเกาหลี

มาตรา 4 (ความรับผิดชอบของรัฐและส่วนราชการท้องถิ่น)

1.รัฐและส่วนราชการท้องถิ่นจะต้องกำหนดและดำเนินนโยบายเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการใช้ภาษามือเกาหลีสำหรับคนหูหนวก เช่น การให้ความรู้ เผยแพร่ และส่งเสริมภาษามือเกาหลี

2.รัฐและส่วนราชการท้องถิ่นจะต้องกำหนดอัตลักษณ์ของคนหูหนวกในชนบท ที่จำเป็นสำหรับการสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมภายในท้องถิ่น ต้องมีการจัดตั้งและดำเนินตามแนวนโยบายอย่างเหมาะสม

ระดับความพิการ ในเดือนกรกฎาคม 2019 ระดับความพิการแบบเดิมที่เคยถูกแบ่งเป็น 5 ระดับได้ถูกยกเลิก และมีการจำแนกตามระดับความพิการอย่างเป็นทางการเพื่อแบ่งระดับความพิการออกเป็น 6 ระดับ ตั้งแต่ขั้นรุนแรงไปจนถึงเล็กน้อย

ระดับความพิการที่รุนแรงสอดคล้องกับผู้พิการระดับ 1 ถึง 3 และระดับความพิการเล็กน้อยสอดคล้องกับผู้พิการระดับ 4 ถึง 6 (ในปี 2021 ผู้ที่มีความบกพร่องทางการทรงตัว เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน ยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินอีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้สูญเสียการได้ยินเพียงข้างเดียว แม้จะเป็นการถาวร จะไม่ถูกนับเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน เพราะถือว่ายังคงได้ยินอยู่)

  • ระดับ 1 สูญเสียการได้ยินในหูทั้ง 2 ข้างโดยสิ้นเชิงและไม่ได้ยินเลย
  • ระดับ 2 สูญเสียการได้ยินบางส่วน: ผู้ที่สูญเสียการได้ยินทั้งสองข้างมากกว่า 90 เดซิเบล หรือมากกว่า (ผู้ที่ไม่ได้ยินแม้ว่าจะพูดเสียงดังโดยเอาปากแนบหูก็ตาม)
  • ระดับ 3 สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ 80 เดซิเบลขึ้นไป
  • ระดับ 4 สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ 70 เดซิเบลขึ้นไป
  • ระดับ 5 สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ 60 เดซิเบลขึ้นไป (หรือไม่ได้ยินเสียงพูดในระยะห่าง 40 เซนติเมตรขึ้นไป)
  • ระดับ 6 สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ 50 เดซิเบลขึ้นไป
  • อย่างไรก็ตามความบกพร่องทางการได้ยินที่ต่ำกว่า 60 เดซิเบล หรือข้างหนึ่งต่ำกว่า 80 เดซิเบล และอีกข้างต่ำกว่า 40 เดซิเบล จะไม่ถูกนับว่าเป็นผู้พิการ แต่จะจัดอยู่ในกลุ่มผู้สูญเสียการได้ยิน

    ข้อมูลน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยส่งผลให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินจำนวนมากเริ่มประสบปัญหาในการสื่อสารกะทันหันและเป็นปัญหาใหญ่มาก เนื่องจากหลายรายต้องใช้วิธีอ่านปากช่วยในการสื่อสาร จนแม้ทุกวันนี้ที่หลายคนยังมีความหวาดกลัวเชื้อโรคจนไม่กล้าถอดหน้ากากออก ได้สร้างปัญหาอย่างมากต่อกลุ่มผู้บกพร่องทางการได้ยิน

    อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2010 เมื่อมีการวิจัยและสวัสดิการเกี่ยวกับประสาทหูเทียม (cochlear implant) เริ่มดีขึ้น จำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินก็กลับมาได้ยินและพูดได้ก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเกิดที่ต่ำลง เนื่องจากหลักประกันสุขภาพของเกาหลีครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อันรวมถึงค่าอุปกรณ์ การผ่าตัด และค่ารักษาในโรงพยาบลที่เคยสูงถึง 20 ล้านวอน(ราวห้าแสนสี่หมื่นบาท)ต่อหูหนึ่งข้าง ช่วยลดหย่อนให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เหลือเพียง 4 ล้านวอน (ราวหนึ่งแสนบาท) สำหรับเด็ก และสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านวอน (ราวหนึ่งแสนหกหมื่นบาท) สำหรับหูทั้งสองข้าง

    ในเกาหลีการผ่าตัดมักทำในทารกและเด็กเล็ก และอายุที่ได้รับคำแนะนำให้ทำการผ่าตัดมักจะทำก่อนอายุ 2 ขวบเป็นอย่างช้าที่สุด (ในประเทศไทยคือต้องเป็นเด็ก 2 ขวบขึ้นไป) ในปี 2021 หากไม่มีเหตุผลอื่น การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมสามารถทำได้เร็วสุดคือเด็ก 10 เดือน และในกรณีแรก ๆ จริง ๆ เคยมีการผ่าตัดสำหรับเด็กอายุน้อยที่สุดในเกาหลี คือ เด็ก 7 เดือน อย่างไรก็ตามกรณีนี้มีการวิจารณ์ว่าพ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจทำการผ่าตัดแทนเด็ก

    แต่ในปัจจุบันแพทย์ยืนยันว่ายิ่งทำในอายุน้อยยิ่งดีเนื่องจากการได้ยินมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก เพราะเมื่อระยะเวลาที่ไม่ได้สามารถได้ยินกินเวลานานขึ้น พื้นที่ในศูนย์กลางการได้ยินในสมองก็จะเล็กลง หากไม่มีการกระตุ้นการได้ยิน เด็กจะใช้ศูนย์ประสาทสัมผัสอื่นมาแทนที่การได้ยิน และพัฒนาการทางภาษาของมนุษย์จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วง 0-2 ขวบ ซึ่งได้รับการยืนยันในเกาหลีแล้วว่า เด็กประมาณ 90% ที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก่อน 2 ขวบสามารถเข้าเรียนในโรงเรียปกติได้ ซึ่งหมายความว่าหากพลาดช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาทางภาษานี้ จะส่งผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยรวมของเด็กคนนั้นด้วย หากคุณรอจนกว่าเด็กโตพอจะตัดสินใจได้เองว่าจะเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่ ก็ไม่ต่างจากการตัดโอกาสเด็กให้ได้ยินหรือพูดคุย

    ส่วนตัวผู้เขียนหลังจากรับรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้วรู้สึกอิจฉาที่เกาหลีสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างยั่งยืนได้ด้วย คือกฎหมายไหนที่เขาเห็นว่าดี จะไม่ถูกล้มล้างไปเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา และน่าสนใจมากตรงกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับผู้พิการ ที่ในบางสังคมประเทศแทบไม่ให้ความใส่ใจเลย หลายประเทศหมดเงินไปกับงบกองทัพหรือกฎหมายช่วยเหลือบรรดาเจ้าสัวหรือผู้มีอันจะกินมากกว่าคนขัดสนหรือด้อยโอกาสในสังคม