ThaiPublica > คอลัมน์ > ทฤษฎีชนชั้นช้อน The Golden Spoon

ทฤษฎีชนชั้นช้อน The Golden Spoon

5 พฤศจิกายน 2022


1721955

ซีรีส์เกาหลี 16 ตอนที่กำลังจะจบในสัปดาห์หน้า เรื่องนี้เป็นแนวดราม่า แฟนตาซี สืบสวนสอบสวน The Golden Spoon (2022) ดัดแปลงจาก เว็บตูนความยาว 106 ตอนของผู้เขียนนามปากกาว่า HD3 เมื่อปี 2016-2018 ที่เล่าช่วงชีวิตของตัวละครนำตั้งแต่วัยประถมจนอายุเกือบ 50

ขณะที่ฉบับเคดราม่าถูกปรับบทใหม่ โดยคู่พลังหญิงมือเขียนบทที่ห่างหายจากวงการนานถึง 8 ปีเต็ม นั่นก็คือ “ยุนอึนคย็อง” กับ “คิมอึนฮี” ที่ทั้งสองเคยเขียนซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Winter Sonata (2002 เพลงรักในสายลมหนาว), Scent of Summer (2003 อุ่นไอรักหัวใจดวงเดิม), The Snow Queen (2006 ลิขิตรักละลายใจ), My Fair Lady (2009 คุณหนูครับมีรักมาเสิร์ฟ), The Prime Minister and I (2013 รักวุ่นวายกับคุณชายนายกฯ) แต่คราวนี้จะแปลกต่างจากผลงานเก่าๆ ที่พวกเธอเคยเขียนไว้ ด้วยพล็อตสลับซับซ้อน บวกปมฆาตกรรมเล็กๆ และพูดถึงการห้ำหั่นกันในแวดวงธุรกิจ เป็นงานกำกับเรื่องล่าสุดของซงฮยอนอุก จาก The King’s Affection (2021), Graceful Friends (2020), The Beauty Inside (2018) ฯลฯ

The Golden Spoon เป็นเรื่องของ 2 ครอบครัวต่างชนชั้น อีซึงชอน (ยุกซองแจ วง BTOB เคยแสดงใน Reply 1994-2013, Mystic Pop-up Bar-2020) ผู้ยากจน กับฮวังแทยอง (อีจงวอน จาก Hospital Playlist 2-2021) ลูกคุณหนูสุดไฮโซ ทั้งคู่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกันเพราะซึงชอนแม้จะยากจนแต่ได้ทุนเรียนดี ถึงอย่างนั้นเขาก็ถูกเพื่อนร่วมห้องบูลลี่อยู่เสมอ ทำให้เขาโทษว่าที่ชีวิตตัวเองตกต่ำ ไร้อนาคต ไม่มีวี่แววเจริญรวยอย่างคนอื่นเขา เพราะมีพ่อแม่ยากจน ทันใดนั้น เขาก็ได้พบป้าอาจุมม่านางหนึ่งมาเสนอขายช้อนทองพลิกชะตาชีวิตให้ซึงชอน ซึ่งสามารถทำให้เขาสลับชีวิตกับลูกคนรวยได้

ทฤษฎีวรรณะช้อน

ไอเดียของการเขียนเว็บตูนเรื่องนี้ในปี 2016 มาจากศัพท์ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ในปี 2015 ในเว็บ DCinside (เว็บจัดอันดับความสนใจยอดฮิต มีแชร์บทความน่าสนใจคล้ายเว็บพันทิปของบ้านเรา) ในบทความจะว่าด้วยทฤษฎีวรรณะช้อน 수저 계급론 (Sujeo Gyegeumnon) ที่อนุมานว่าชีวิตแต่ละคนถูกกำหนดไว้อยู่แล้วโดยทรัพย์สินของพ่อแม่ และจะจำแนกลูกหลานของพวกเขาออกเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงหรือง่อนแง่น เป็นทฤษฎีมองโลกในแง่ร้ายที่สนับสนุนความเชื่อที่ว่า คนเราวาสนาไม่เท่ากันจึงไม่สามารถหลีกหนีไปจากจุดกำเนิดอันต่ำต้อยของต้นได้

ทฤษฎีนี้อ้างอิงจากสถิติการสัมภาษณ์งานตั้งแต่ช่วงปี 2010 พบว่าภูมิหลังทางวิชาการ วัย 20-30 ปี มีการไต่ระดับสูงขึ้นในหน้าที่การงาน ซึ่งแปรไปตามภูมิหลังครอบครัว เช่น มีพ่อแม่รวย หรือเป็นเด็กกำพร้า มีบางบทความในไทยอ้างว่าทฤษฎีนี้มีมาตั้งแต่ยุคโชซอน (คศ.1392-1910) แต่เว็บ namu ที่คล้ายเว็บวิกิของเกาหลีและให้ข้อมูลเชิงลึกมาก ยืนยันว่าไม่เคยมีแนวคิดนี้มาก่อนในสมัยโชซอน

แต่ประโยคเก่าแก่เกี่ยวกับคาบช้อนทองมาเกิดนั้น มีมาจากสำนวนอังกฤษที่ว่า “Born with a silver spoon in one’s mouth” ซึ่งปรากฏขึ้นในฉบับแก้ไขใหม่โดย จอห์น โอเซลล์ ในปี 1719 ของฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษปี1700 โดยปีเตอร์ แอนโทนี มอตเตอซ์ จากนิยายสุดคลาสสิก Don Quixote ต้นฉบับภาษาสเปน ปี 1605 ที่เขียนโดย มิเกล เดอ เซอร์บันเตส ซาอะเบดรา (คือ Don Quixote แต่งโดย เซอร์บันเตส ในปี 1605 เป็นภาษาสเปน, ก่อนจะแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1700 โดยมอตเตอซ์, ต่อมาฉบับมอตเตอร์ถูกแก้ไขใหม่โดยโอเซลล์ในปี 1719 อันทำให้เกิดประโยคนี้ขึ้นมาในฉบับแก้ไข) โดยในนิยายผู้พูดประโยคนี้คือ เทเรซา ฮวนนา ปันซา (ภรรยาของซานโช ปันซา ผู้ติดตามของดอน กิโฆเต้) นางกล่าวว่า ‘ไม่ใช่ทองทั้งหมดหรอกที่เปล่งประกาย และบุรุษทุกนายก็ใช่ว่าจะเกิดมาคาบช้อนเงินในปาก’

นอกจากนั้น ยังมีประโยคที่คล้ายกันในเพลง Substitute (1968) วง The Who ด้วยประโยคว่า “I was born with a plastic spoon in my mouth” และ เพลง Fortunate Son (1969) วง Creedence Clearwater Revival ด้วยประโยคที่ว่า “Some folks are born silver spoon in hand.”

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าในบ้านเราก็มีสำนวน “คาบช้อนเงินช้องทองมาเกิด” โดยลืมไปว่าแต่โบราณกาลชาติไทยเปิบมือมาก่อนจะรู้จักการใช้ช้อนอย่างชาวตะวันตก สำนวนนี้จึงเป็นสำนวนแปลอันมาจากชนชั้นสูงของอังกฤษโดยไม่ต้องสงสัย เพราะนอกจากพวกเขาจะรับประทานอาหารด้วยช้อนเงินแล้ว ยังมีธรรมเนียมพ่อแม่อุปถัมภ์ผู้มั่งคั่งมักจะมอบช้อนเงินเป็นของขวัญให้ลูกทูนหัวของตนในพิธีศีลจุ่ม ส่วนบันทึกล่าสุดในทางการเมือง คำนี้ถูกใช้ในปี 1988 โดย แอน ริชาดส์ เหรัญญิกรัฐเท็กซัส เมื่อเธอขึ้นปราศรัยกรณีอนุสัญญาแห่งชาติประชาธิปไตย และบรรยายถึง จอร์จ บุช ด้วยประโยคนี้เพื่อกล่าวว่า บุชเกิดมาจากพ่อแม่ร่ำรวย

ในเวลาต่อมาประโยค ทฤษฎีวรรณะช้อน ยังส่งอิทธิพลต่อญี่ปุ่นที่ระบาดคำว่า “Oyagacha” (โอยะกาฉะ) ออกมาในช่วงปี 2020 อันมีความหมายแบบเดียวกัน แต่ความหมายของญี่ปุ่นคือ “พ่อแม่กาชาปอง” กาชาปองหรือเครื่องกดไข่สุ่มหยอดเหรียญที่เราเดาไม่ได้เลยว่าจะได้ของดีหรือของที่ไม่อยากได้จากการสุ่มนั้น เช่นกันกับการเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะมาอยู่ในครอบครัวที่มีพ่อแม่แบบใด

คุณคือช้อนแบบไหน

จริงๆ แล้วทฤษฎีชนชั้นช้อน ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ก่อผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อมันเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ในปี 2015 ที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และเกิดการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยต้นฉบับเดิมแบ่งสัดส่วนของประชากรออกเป็น 7 ชนชั้น ได้แก่ ช้อนเพชร ช้อนทอง ช้อนเงิน ช้อนสัมฤทธิ์ ช้อนทองเหลือง ช้อนพลาสติก และช้อนดินสกปรก โดยแบ่งตามทรัพย์สินมรดกและรายได้ของพ่อแม่ ที่กล่าวว่าพวกช้อนเพชรเป็นแค่คน 0.001% คือเป็นคนกลุ่มน้อย แต่มีอำนาจอย่างมากในการแสวงผลประโยชน์ให้ตนเอง ขณะที่พวกขั้วตรงข้ามอันเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ กลับขัดสนไม่สามารถถีบตัวเองออกไปจากสถานะยากจนข้นแค้นของตนเองได้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรพวกเขาก็จะไม่มีวันลืมตาอ้าปาก เพราะไม่มีอำนาจอันเนื่องมาจากสินทรัพย์ของพ่อแม่

ไม่มีคนรวยสร้างตัวในเกาหลี

ตามดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) เมื่อปี 2015 มีชาวเกาหลีเพียง 5 คนอยู่ในลิสต์รายชื่อผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 400 อันดับแรก ข้อมูลน่าสนใจที่สนับสนุนทฤษฎีช้อนนี้พบว่าทั้ง 5 คนล้วนมั่งคั่งมาจากมรดกที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อ พวกเขาไม่มีใครสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองเลย ในทางตรงกันข้าม ดัชนีนี้ได้ระบุว่ามีชาวอเมริกัน 125 คนในดัชนีนี้ และมีมากถึง 89 คนที่สร้างตัวขึ้นมาเองจากครอบครัวยากจน แม้แต่ในจีน ก็มีแค่ 1 คนเท่านั้น (จาก 29 คน) ที่รวยมาจากมรดก

FYI

รายชื่อของบลูมเบิร์ก คือ 1. อีคุนฮี ประธานบริษัท ซัมซุงกรุป 11.9 พันล้านดอลล์ 2. ซูเคียงแบ ประธานบริษัทอะมอร์ แปซิฟิก 8.5 พันล้านดอลล์ 3. อีแจยอง รองประธานบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ 7 พันล้านดอลล์ 4. ช็องมองกู ประธานบริษัทฮุนไดมอเตอร์ 4.8 พันล้านดอลล์ 5. เชแทวอน ประธานบริษัทเอสเคกรุป 4.2 พันล้านดอลล์

(จากซ้าย) คิมจุงจู, อีแจยอง, ซอจุงจิน, อีคุนฮี และช็องมองกู

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจล่าสุดในปี 2020 พบว่ามีการเปลี่ยนอันดับ คือ 1. อีคุนฮี 16.4 พันล้านดอลล์ 2. ซอจุงจิน ซีอีโอบริษัทยา เซลล์ทริออน 8.2 พันล้านดอลล์ 3. คิมจุงจู ประธานบริษัทเกมออนไลน์ นิกซอน และประธานบริษัทผู้ถือหุ้นสกุลเงินดิจิทัล เอ็นเอ็กซ์ซี 7.2 พันล้านดอลล์ 4. อีแจยอง 5.8 พันล้านดอลล์ 5. ช็องมองกู 3.1 พันล้านดอลล์

ซึ่งถ้าวัดจากมหาเศรษฐีแชโบล 5 คนล่าสุดนี้ กลับพบว่ามี 2 คนที่รวยขึ้นมาจากการสร้างตัวเอง คือ ซอจุงจิน ที่อดีตเคยเป็นคนขับแท็กซี่ก่อนจะกลายมาเป็นพนักงานบริษัทรถแดวู หลังจากแดวูล้มละลายก็ร่วมมือกับเพื่อนเปิดบริษัทยา ส่วนอีกคนคือ คิมจุงจู เจ้าของค่ายเกมยักษ์ใหญ่ที่มีเกมยอดฮิตอย่าง MapleStory, Dungeon & Fighter, Sudden Attack และ Kart Rider ที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 350 ล้านคนใน 72 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม คิมจุงจูเพิ่งเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปฮาวายเมื่อปลายกุมภาปีนี้เอง ซึ่งอาจมีผลพวงจากภาวะซึมเศร้าที่ย่ำแย่ลงในวัย 54 ปี และอีกหนึ่งรายที่เสียชีวิตไปก่อนแล้ว คือ ประธานซัมซุง อีคุนฮี เมื่อ 25 ตุลาคม 2020 ด้วยอาการหัวใจวายในวัย 78 ปี

นอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในแง่ของการเผชิญโอกาสทางสังคม ได้ถ่างกว้างขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่พร้อมกับภาระทางสังคมที่เพิ่มขึ้น นั่นคือ เด็กที่เกิดมาพร้อมกับช้อนทองหรือเงินในปากของเขา มีโอกาสมากมายที่จะประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน เด็กที่เกิดจากครอบครัวที่ยากจน เรียกว่า “ช้อนสกปรก” ตามทฤษฎีระดับช้อน ที่แม้จะผลักดันตัวเองจนได้เรียนในมหาวิทยาลัย แต่พอจบมาก็ต้องใช้เวลาหมดไปกับการใช้หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่ดี รวมไปถึงเพศชายยังต้องเสียเวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีในกองทัพ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่คนกลุ่มนี้จะหนีพ้นไปจากความยากจน จากการวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดยสถาบันสุขภาพและสังคมแห่งเกาหลี (KIHASA) พบว่า 35.1% ของผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนยังคงยากจนอยู่ ในขณะที่มีเพียง 2.9% เท่านั้นที่สามารถถีบตัวเองรอดพ้นจากความยากจนไปได้

แนวคิดนี้อันตราย

ในบทความของ อีจุน จากเว็บ Inhapress เมื่อเดือนพฤศจิกาปีนี้ได้ชี้ถึงอันตรายของแนวคิดเรื่องทฤษฎีช้อนนี้ว่า
‘เนื่องจากเป็นทฤษฎีที่แพร่หลายที่สุดในหมู่เยาวชนปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดปัญหาบางประการขึ้น สิ่งแรกคือ ทฤษฎีนี้ทำให้เกิดความรู้สึกถูกกีดกันในระดับที่เข้มข้นขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ เมื่อพวกเขาเอาตัวเองไปเปรียบกับบรรทัดฐานทางสังคมอันไม่สมบูรณ์นี้ กลายเป็นว่าพวกเขาจะยิ่งเชื่อว่าเป็นการยากที่จะหลบหนีจากต้นทุนกำเนิดของตนเอง ทำให้หลายคนเลิกพยายามถีบตนเองไปสู่สถานะทางการเงินที่ดีกว่า บางคนถึงกับซึมเศร้าสิ้นหวัง คนยากจนยิ่งทนทุกข์ทรมานจากแนวคิดนี้ เนื่องจากพวกเขาพบว่าไม่ว่าจะดิ้นรนมากแค่ไหนก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะพวกเขาเกิดมาเป็นเช่นนี้ ในที่สุดก็หมดหวังต่อการพัฒนาตนเอง’

อีกประการที่บทความนี้บอกคือ ‘ในแบบสำรวจของแพลตฟอร์ม Saramin ในปี 2019 ระบุด้วยว่ามีเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากถึง 3 ใน 4 ที่เชื่ออย่างยิ่งเกี่ยวกับทฤษฎีชนชั้นช้อน และเชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถเจริญกว่านี้ได้ เพราะมาจากต้นทุนของพ่อแม่ที่ต่ำต้อย อันเป็นแนวคิดอันตราย จากเดิมทีที่คนเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองรับรู้ถึงคุณค่าความสำเร็จ ก็จะผลักดันตนเองให้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่แนวคิดนี้ได้ขัดขวางอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างทางสติปัญญา นับตั้งแต่มีทฤษฎีนี้ จำนวนบุคคลที่เชื่อว่าไม่สามารถจะออกไปจากชนชั้นของตนเองได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การก่ออาชญากรรมอันโหดร้าย หรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย’

บทความของอีจุนอาจจะฟังดูเวอร์ แต่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในปลายปี 2015 เมื่อมีนักเรียนมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (SNU) อันเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเกาหลี วัย 19 ปี (ต้นฉบับบทความปกปิดชื่อและเพศ) ตัดสินใจกระโดดตึกมหาลัยลงมาตาย พร้อมทิ้งจดหมายลาตายไว้ว่า “ฉันยอมจำนนต่อสังคมที่ประกอบขึ้นจากตรรกะของผู้ชายที่เกิดมาเป็นลูกคนโต รวย และมีอำนาจทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นอกจากนี้ นักเรียนคนนี้ยังคร่ำครวญถึงสังคมภายใต้ทฤษฎีชนชั้นช้อนว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่า “ฉันเป็นแค่ช้อนสกปรก” เหตุการณ์นี้บอกเป็นนัยว่าลำดับชั้นทางสังคมที่ยากลำบากซึ่งมองไม่เห็นและผ่านไม่ได้นั้นมีอยู่จริง แม้แต่นักเรียนระดับหัวกะทิก็ตระหนักว่าพวกเขาไม่สามารถเอาชนะสิ่งนี้ได้เลย

ห้องคับแคบแบบโกชิ-วอน

บทความของรอยเตอร์ส ปลายปี 2019 ตามไปสัมภาษณ์ฮวาง ซึ่งอาศัยอยู่ในชั้นกึ่งใต้ดินในแบบที่เรียกว่าโกชิ-วอน ห้องพักราคาถูกที่แต่เดิมทำไว้สำหรับให้พวกเด็กเตรียมสอบเข้ามหาลัยหรือสอบราชการเช่าไว้สำหรับตั้งใจท่องตำรา แต่ปัจจุบันถูกแปลงเป็นบ้านราคาถูกสำหรับครอบครัวหรือคนที่ไม่มีปัญญาหาบ้านเช่าราคาเกินเอื้อมได้ในกรุงโซล

ฮวางอายุ 25 ปี ระบุว่าตนเองเป็นช้อนดินสกปรก เกิดมาในครอบครัวรายได้น้อย เขาตั้งคำถามว่า “ถ้าผมพยายามมากพอ ได้งานดีๆ ผมจะมีปัญญาซื้อบ้านไหม ผมจะสามารถถมช่องว่างระหว่างชนชั้นที่มันถ่างกว้างมากๆ ให้แคบลงได้หรือ” รอยเตอร์สรายงานต่อว่า แนวคิดปี 2015 นี้ปะทุขึ้นในสมัยประธานาธิบดีมุนแจอิน (พฤษภาคม 2017 – พฤษภาคม 2022) ที่แม้จะมีแนวคิดเสรีนิยม แต่หลังจากเขาเข้ามามีอำนาจในปี 2017 ด้วยนโยบายด้านการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ แต่กลับไม่สามรถลดความเหลื่อมล้ำลงได้ หนำซ้ำกลับยิ่งรุนแรงขึ้น หลังจากพบว่าเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้สูงกับต่ำที่สุดอยู่ในระดับ 5.5 เท่าหลังจากมุนเข้ารับตำแหน่ง จากที่ก่อนหน้านี้ระดับความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 4.9 เท่า

ฮวังผู้อยู่ชั้นปี 3 เรียนเอกด้านการสื่อสาร กล่าวอีกว่า “หรือเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นกับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมโชกุก (ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้ามุน) ยิ่งเป็นการปลุกให้ตาสว่างว่า สำหรับพวกช้อนดินสกปรกอย่างผม ที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าการทำงานหนักจะสร้างตัวให้ไปสู่ชีวิตที่แตกต่างได้ กลับพบว่าอย่างกรณีโชกุกและภรรยาของเขาผู้เป็นถึงศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ก็ยังใช้ตำแหน่งงานของตนเองเพื่อช่วยดันให้ลูกสาวของพวกเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ในปี 2015 ได้” โชเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นพวกกังนัมเสรีนิยม (หมายถึงเศรษฐีใหม่หัวก้าวหน้า) และเป็นพวกช้อนทองที่เติบโตมาจากความเท่าเทียมกันของสังคม แต่คำสัมภาษณ์นั้นก็ย้อนมาทำให้เขาพลาดท่า เมื่อมีคนขุดพบว่าภริยาของเขาปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงทางการเงินเพื่อให้บุตรสาวของพวกเขาได้เรียนหมอ ส่งผลให้โชต้องลงจากตำแหน่ง และเมียของเขาต้องขึ้นสู่ศาล

หน้าต่างบ้านคนรวยกับคนจนต่างกันลิบลับ ใน Parasite

วัฒนธรรมป๊อป

แนวคิดเรื่องช้อนดินช้อนทองปรากฏชัดเจนในวัฒนธรรมสมัยนิยม ไม่เพียงในซีรีส์ The Golden Spoon เท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือในหนังเรื่อง Parasite (2019) หนังทำเงินสูงสุดในปีนั้นที่คว้ารางวัลได้ทั้งจากคานส์และออสการ์ ก็พูดถึงสองบ้านที่บ้านหนึ่งเป็นกึ่งใต้ดินแบบโกชิ-วอน อยู่แออัดกัน4-5 คน ส่วนอีกบ้านหรูหรากว้างขวาง

หรืออย่างเพลงของวงบอยแบนด์ BTS ที่ได้ชื่อว่าเป็นไอดอลในหมู่ช้อนดินสกปรก (เพราะแจ้งเกิดมาจากค่ายเล็กๆ บางคนเคยเป็นแรปเปอร์ใต้ดิน ยากจนก็มี โดนโกงบ้าง เรียกว่าฟันฝ่ามาจากฐานะช้อนดินโดยแท้ จนทุกวันนี้กลายเป็นศิลปินเกาหลียอดขายอันดับหนึ่งที่ขายได้มากกว่า 30 ล้านอัลบัม) นับตั้งแต่ปี 2015 พวกเขาก็มีเพลงที่มีแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีช้อนนี้หลายเพลง เช่น

เพลงปี 2015 Baepsae (뱁새) (Crow Tit/Try-Hard/Silver Spoon)

“เขาเรียกผมว่านกกระจอก สมัยนี้เขาด่ากันแบบนี้สินะ
รีบๆ ตามเขาให้ทันนะ ต้องขอบใจพวกนกกระสานะ ที่เล่นเอาขาผมแทบหัก
เขาด่าผมแบบนี้แหละ ไอ้นกกระจอก
พวกที่ด่าก็บรรดาครูที่คาบช้อนเงินมาแต่เกิดไง”

เพลงนี้มีความหมายถึง นกกระจอกขาสั้น (Crow Tit) บ้างก็เรียกเพลงนี้ว่า พยายามให้หนักขึ้น หรือในชื่อว่า ช้อนเงิน จากสุภาษิตเกาหลีที่ว่า “ถ้านกกระจอก(ขาสั้น)เดินเลียนแบบอย่างนกกระสา(ขายาว)ขาจะหัก”

“ไปทำงานพิเศษก็ยังได้แค่ ‘passion pay’ ไปโรงเรียนก็เจอครูตำหนิ พวกเจ้านายก็ใช้ความรุนแรง สื่อก็เอาแต่เรียกพวกเราว่า ‘รุ่น N-po’”

Passion Pay หรือ ยอลจองเพ คือ การจ้างงานวัยรุ่นด้วยค่าแรงน้อยนิดหรือบางทีก็เบี้ยวไม่จ่ายก็มี เพราะพวกบูมเมอร์มักจะต่อรองด้วยคำอ้างว่าพวกหนุ่มสาวไฟแรง ไม่ต้องจ่ายมากหรอก หรือสั่งให้พวกเขาทำงานถูกๆ จะได้ขยันๆ เพื่ออนาคตที่ดี

ส่วนคำว่า N-po generation มีความหมายว่ายอมแพ้ในทุกๆ เรื่อง หรือจะแปลว่าพวกรุ่นขี้แพ้ก็ได้ เพราะยุคนี้สังคมมันอยู่ยาก คนรุ่นใหม่จึงไม่อยากแข่งขัน ไม่ว่าจะการเรียน การงาน หรืออนาคตที่มั่นคง ก่อนจะมีคำว่า N-po เคยมีคำว่า Sam-po มาก่อน หมายถึงยอมแพ้ 3 อย่าง คือ แพ้ในเรื่องความรัก แพ้ในการแต่งงาน แพ้ในการมีลูก ซึ่งต่อมาสังคมเริ่มบีบให้ต้องพยายามหลายอย่าง จากแค่ 3 (sam) เลยกลายเป็น N (infinity) ยอมแพ้เป็นอนันต์ หรือ คนรุ่นขี้แพ้ไปเสียทุกอย่าง อันเป็นผลจากวิกฤติการว่างงาน ราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อ และแรงกดดันจากคนรุ่นบูมเมอร์ที่มีอำนาจมากกว่าในสังคม เนื่องจากคนยุคเก่าสะสมเงินได้มากในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่วิกฤติขนาดนี้ ขณะที่คนรุ่นใหม่หาเงินลำบากขึ้นมาก เมื่อเงินน้อย อำนาจการต่อรองในสังคมก็น้อยลงไปด้วย

เพลงปี 2016 Fire
เพลงนี้มีการเล่นคำในคำภาษาเกาหลีที่ถ้าแปลทื่อๆ เลย คือ
“เอ็งมันพวกช้อนชนชั้นไหน พร่ำบอกข้าอยู่ได้เพื่อ? อย่ามาเรียกข้าว่าช้อน เพราะข้าคือมนุษย์”
แต่ในภาษาอังกฤษแปลความหมายเพลงนี้เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “พวกเอ็งเป็นใครมาเปรียบเทียบข้ากับคนอื่น ข้ามันเป็นแค่มนุษย์… แล้วไงวะ”

เพลงปี 2017 MIC Drop
“ไหนใครบอกผมมันช้อนดินสกปรก
ผมไม่แคร์หรอก แค่จับไมค์ผมก็มีช้อนทองเยอะแยะแล้วเว้ย”

เพลงนี้ RM (คิมนัมจุน แรปเปอร์ นักแต่งเพลง และหัวหน้าวง) ได้ให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจของเพลงนี้ได้มาจากฉาก การทิ้งไมค์อำลาตำแหน่งของ บารัก โอบามา เมื่อปี2016 ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกระแสประธานาธิบดีมุนแจอินตกต่ำ และแม้ BTS จะชอบแต่งเพลงจวกด่าพวกรุ่นบูมเมอร์ แต่มุนก็พยายามพลิกสถานการณ์ด้วยการแต่งตั้งให้ BTS เป็น “ผู้แทนประธานาธิบดีเพื่อส่งต่อวัฒนธรรมและเยาวชนวันหน้า” เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2021 และเป็น “ทูตวัฒนธรรมแห่งโลกอนาคต” เมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ส่งผลให้บังทัน (ชื่อเกาหลีของ BTS) ได้ร่วมประชุมสากล เช่น สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 76 ที่นิวยอร์ก และกิจกรรมต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ความยากจน ความไม่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลาย

ซึ่งน่าสนใจว่าปัญหาทั้งหมดนี้ขยายกว้างอย่างมากในยุคของมุนแจอินนี่เอง โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มุนเคยแถลงไว้ในช่วงหาเสียงทางทีวีว่า เขาต่อต้าน LGBTQ เพื่อเอาใจกลุ่มคนรุ่นเก่าที่เป็นฐานเสียงสำคัญของเขา ทำให้ในปี 2020 เขาถึงกับถูก Human Rights Watch เรียกร้องผ่านการรายงานสถานการณ์โลกในปีนั้น และขุดจวกว่า พรรคของมุนเป็นพรรคเสรีนิยมอันดับต้นๆ แล้วตัวมุนเองก็เคยเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อน ทำไมจึงมีแนวคิดต่อต้านความหลากหลายทางเพศ

ย้อนกลับไปในซีรีส์ที่พยายามโลกสวยในแบบ romanticize พอสมควร เมื่อสร้างให้ฝ่ายคนรวยเป็นพวกร้ายลึก มีแนวคิดไม่แบ่งปันให้คนนอกสายเลือด และปั้นให้ฝ่ายครอบครัวยากจนอบอุ่นมีความสุขกันอัตภาพ แม้จะมีความลำบากกายใจต่างๆ นานา แต่คำว่าครอบครัวจะเยียวยาทุกสิ่ง ซึ่งอาจไม่เป็นจริงเสมอไป ท่ามกลางสังคมที่มีแรงบีบเค้นอย่างสูงในชีวิตจริงแบบเกาหลีใต้