ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานโลก ด้วยกลยุทธ์ กราฟ “รอยยิ้มของผลกำไร”

ญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานโลก ด้วยกลยุทธ์ กราฟ “รอยยิ้มของผลกำไร”

30 กรกฎาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสสตรี ที่ก้าวขึ้นแท่นจุดครบเพลิง ที่สร้างเป็นรูปทรงภูเขาไฟฟูจิ ที่มาภาพ : https://olympics.com/tokyo-2020

ในพิธีเปิดกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักกีฬาที่ก้าวขึ้นแท่นจุดครบเพลิง ที่สร้างเป็นรูปทรงภูเขาไฟฟูจิ คือนาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสสตรี ที่บิดาเป็นคนอเมริกันและมารดาเป็นคนญี่ปุ่น ทีมนักกีฬาญี่ปุ่น 583 คน เป็นนักกีฬาเชื้อชาติผสม 35 คน สิ่งนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น ที่ต้องการนำเสนอต่อโลกว่า ญี่ปุ่นกำลังกลายมาเป็นสังคมเชื้อชาติผสมมากขึ้น

ก้าวพ้น “ทศวรรษการสูญเสีย”

หนังสือ The Business Reinvention of Japan (2020) เขียนไว้ว่า ในทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาท้าทายเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ 20 ปีต่อมา ฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดระเบิดขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น หายไปถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นเข้าสู่ระยะที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “ทศวรรษการสูญเสีย” (lost decade) ที่การเติบของเศรษฐกิจ มีสภาพเหมือนคนกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดภาวะเงินฝืด ปัญหาหนี้เสีย และผลดำเนินงานของธุรกิจตกต่ำ

เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย แต่จากปี 2000-2007 มูลค่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวจาก 4.9 มาเหลือ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ จนนักวิเคราะห์บางคนบอกว่าเป็น “ช่วงทศวรรษการสูญเปล่าครั้งที่ 2” ของญี่ปุ่น ในปี 2011 เกิดสึนามิ และก่อนหน้านั้น ในปี 2010 จีนก้าวล้ำหน้าญี่ปุ่น กลายมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ทุกวันนี้ นักวิเคราะห์วงการต่างๆ แทบไม่พูดถึงญี่ปุ่นเลย

แต่ The Business Reinvention of Japan บอกว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีความสำคัญ นอกจากเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก เมื่อวัดจากมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นยังอยู่อันดับ 3 รองจากสหรัฐฯและจีน ทั้งๆที่ แรงงานญี่ปุ่นมีทั้งหมดเพียง 65 ล้านคน เท่ากับจำนวนประชากรเมืองใหญ่ 3 เมืองของจีนมารวมกัน

ธุรกิจในย่านกินซ่า ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/0e/Car_Free_Ginza_201806.jpg/1024px-Car_Free_Ginza_201806.jpg

แม้จะประสบกับ “ทศวรรษการสูญเปล่า” ถึง 2 ครั้ง แต่ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศพัฒนาแล้วในระดับสูง มีประชาธิปไตยที่มั่นคง เศรษฐกิจมีผลิตภาพระดับสูง คอร์รัปชันและอาชญากรรมที่ต่ำ ระบบสาธารณสุขที่ทั่วถึง การศึกษาระดับประถมและมัธยมที่ดีเลิศ เมืองต่างๆสะอาด ในโตเกียว แทบไม่เห็นการพ่นข้อความตามกำแพงต่างๆ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษคนหนึ่งไปญี่ปุ่นช่วงต้นทศวรรษ 2000 เห็นความคึกคักธุรกิจในย่านกินซ่า แล้วพูดว่า…

“หากเศรษฐกิจถดถอย แล้วมีสภาพแบบนี้ ผมก็อยากจะได้แบบนี้เหมือนกัน”

ที่สำคัญ บริษัทธุรกิจญี่ปุ่นสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือกับการพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน รวมทั้งการเกิดขึ้นมาของกระบวนการการผลิตที่เรียกว่า “ห่วงโซ่อุปทานโลก” (global supply chain) ธุรกิจญี่ปุ่นสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ ทั้งในเชิงกลยุทธธุรกิจและการดำเนินธุรกิจ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่กลับมามีความสำคัญต่อธุรกิจโลกอีกครั้งหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่

Ulrike Schaede ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นของมหวิทยาลัย San Diego เขียนไว้ใน The Business Reinvention of Japan ว่า ญี่ปุ่นกลับมามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง โดยอาศัยกลยุทธ “การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่” (reinvention) บริษัทญี่ปุ่นได้บูรณาการตัวเอง เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก และสามารถครองการผลิตด้านชิ้นส่วนและวัสดุที่มีความสำคัญ ทำให้การผลิตของโลกต้องพึ่งพาอาศัยญี่ปุ่น และช่วยเสริมฐานะอำนาจเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเอเชีย

แม้จะเผชิญกับเศรษฐกิจชะงักงันหลายสิบปี การท้าทายจากการพุ่งขึ้นมาของจีน และพลวัตการแข่งขันที่ไม่หยุดนิ่งของประเทศในเอเชียเหนือ ธุรกิจญี่ปุ่นก็สามารถปรับธุรกิจตัวเองสู่สิ่งใหม่ และสร้างความสามารถด้านการผลิตชิ้นของอุตสาหกรรม ที่มีความเข้มข้นสูงทางเทคโนโลยี แม้ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะมีลักษณะตลาดเฉพาะ แต่เมื่อเอาหลายอย่างมารวมกัน ก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขอบเขตขนาดใหญ่เช่นกัน

บริษัทญี่ปุ่นได้ยกระดับการผลิตจากตลาดมูลค่าต่ำ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ไฮเทคที่เป็นต้นน้ำ มีมูลค่าสูง ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นเหล่านี้ อาจไม่ได้เขียนคำว่า Japan Inside แบบเดียวกับชิ้นส่วนตัวชิปของอินเทล ที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะบอกว่า Intel Inside แต่สินค้าที่คนเราใช้อยู่ประจำวัน จะมีชิ้นส่วนสำคัญจากญี่ปุ่นทั้งนั้น เช่น รถยนต์ หรือ สมาร์ทโฟน เทคโนโลยีญี่ปุ่นคือพื้นฐานของแบตเตอร์รี่รถยนต์ Tesla เครื่องบิน Boeing หรือผลิตภัณฑ์ Apple

ญี่ปุ่นยังมีความสำคัญ

The Business Reinvention of Japan บอกว่า เดิมคนทั่วไปรู้สึกว่า ญี่ปุ่นไม่ได้เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจอีกแล้วกับชีวิตคนเรา การผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีสัดส่วนแค่ 10% ของโลก แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวชายฝั่งพื้นที่โทโฮกุ (Tohoku) และวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคูชิมา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 คนทั่วโลกตระหนักเลยว่า 10% ของการผลิตจากญี่ปุ่นนั้น คือชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าพวกแบตเตอร์รี่ จอภาพ LCD เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์การแพทย์

ที่มาภาพ : amazon.com

พื้นที่โทโฮกุเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การแพทย์กว่า 30 แห่ง โรงงานเคมีภัณฑ์และวัสดุ โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง และโรงงานซับพลายเออร์รถยนต์กว่า 20 แห่ง โดยรวม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ต่างๆของญี่ปุ่น มาจากเขตโทโฮกุ 10% พวกสินค้าการขนส่ง 3% แผ่นดินไหวปี 2011 ทำให้โรงงานในเขตนี้เสียหาย การผลิตไฟฟ้า ระบบโลจิสติกส์ และแรงงานชะงักงันทั้งหมด แต่ 3 เดือนหลังแผ่นดินไหว โรงงานเหล่านี้กลับมาส่งของให้ลูกค้าได้อีกครั้งหนึ่ง

The Business Reinvention of Japan ยกกรณีการผลิตชะงักงัน และสภาพคอขวด จากแผ่นดินไหวที่มีต่อการผลิตของบริษัท Renesas Electronics ที่ตั้งขึ้นในปี 2010 โดยการรวมธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ของ NEC, Hitachi และ Mitsubishi Electric บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกด้าน Microcontroller มีส่วนแบ่งตลาด 44% ของแผงควบคุมในรถยนต์ ตัวชิปนี้ทำหน้าที่ควบคุมทุกอย่างเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ เช่น ถุงลม เครื่องปรับอากาศ หรือแฝงหน้าปัดรถ

แผ่นดินไหวปี 2011 ทำให้โรงงาน 8 แห่งของ Renesas Electronics เสียหายทั้งหมด โรงงาน 7 แห่งซ่อมแซมได้ใน 1 เดือน แต่โรงงานใหญ่สุดที่เสียหายมาก ต้องใช้เวลาสร้างใหม่ 1 ปี จะทำให้ 50% ของการผลิตรถยนต์ในโลกหยุดชะงักลง แต่ในที่สุด โรงงานก็สร้างเสร็จใน 3 เดือน เพราะบริษัทรถยนต์ต่างก็ระดมพนักงานมาช่วย Renesas Electronics เนื่องจากกลัวว่าบริษัทคู่แข่งจะได้โอกาสไล่ตาม แล้วดึงลูกค้าไป

กราฟรอยยิ้มผลกำไร ที่มาภาพ : The Business Reinvention of Japan (2020)

กราฟห่วงโซ่อุปทานรูป “รอยยิ้ม”

พลวัตการแข่งขันในเอเชียเหนือที่ไม่หยุดนิ่ง ระหว่างจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องยกระดับสู่เทคโนโลยีสูงขึ้น สู่การผลิตที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในเทคโนโลยีใหม่ เช่น เคมีภัณฑ์ วัตถุก้าวหน้า และชิ้นส่วนไฮเทค ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์เฉพาะส่วน ที่เมื่อเอามารวมกัน กลายเป็นตลาดที่ส่วนต่างกำไรสูง ล้ำหน้าคู่แข่งอื่นในเอเชีย

สิ่งที่เป็นตัวเร่งให้บริษัทญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่คือ โลกาภิวัตน์ของห่วงโซ่อุปทาน ที่เริ่มในทศวรรษ 1990 แต่เดิมนั้น ห่วงโซ่การผลิตจะอยู่ในประเทศเดียว หรือภายในบริษัทเดียวกัน แต่นับจากทศวรรษ 1990 เมื่อต้นทุนค่าขนส่งลดลง ทำให้บริษัทผู้ผลิตกระจายการผลิตออกไปหลายประเทศ ที่ทำให้ต้นทุนผลิตลดลง

ในแง่มุมของกลยุทธธุรกิจ ห่วงโซ่คุณค่าการผลิต (value supply chain) หมายความว่า ธุรกิจจะต้องแยกแยะกระบวนการผลิตออกเป็นขั้นตอนต่างๆ ตามคุณค่าของการผลิตในแต่ละช่วง แล้วก็วิเคราะห์ต้นทุนกับผลกำไรในแต่ละขั้นตอนนั้นๆ ดังนั้น ในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต จะมีส่วนต่างกำไรที่ไม่เท่ากัน

การที่จีนพัฒนาก้าวขึ้นมาเป็น “โรงงานโลก” ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้บริหารบริษัทคอมพิวเตอร์ ACER ของไต้หวัน เขียนกราฟรูปทรง “รอยยิ้มกำไร” (smile curve of profit) ออกมาอธิบายผลกำไรในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต โดยขั้นตอนที่มีกำไรมากสุด อยู่ที่ต้นน้ำคือ การออกแบบ ชิ้นส่วน เครื่องจักรการผลิต และปลายน้ำ คือร้านขายปลีก ผู้บริหาร ACER กลัวว่า ACER จะติดอยู่กับส่วนที่ต่ำสุดของกราฟรอยยิ้มนี้

กราฟรอยยิ้มผลกำไรนี้ กลายมาเป็นอุปกรณ์การวิเคราะห์ ในด้านนโยบายและกลยุทธ์สำคัญทั้งรัฐบาลและบริษัทญี่ปุ่น เพราะตัวกราฟรอยยิ้มเองอธิบายได้ดี ในสิ่งที่เรียกว่า “พลวัตการแข่งขันในเอเชียเหนือ” ภาพกราฟยังช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถวางตำแหน่งการแข่งขัน เพื่อสร้างความสามารถในผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีมูลค่าสูง และเป็นส่วนที่มีมูลค่ามากสุด ในห่วงโซ่อุปทาน

เอกสารประกอบ

The Business reinvention of Japan, Ulrike Schaede, Stanford University Press, 2020.