ThaiPublica > เกาะกระแส > ฐานการผลิตรถยนต์ EV ของจีนในไทยยกระดับไทยสู่ “ศูนย์กลาง” รถยนต์ไฟฟ้า

ฐานการผลิตรถยนต์ EV ของจีนในไทยยกระดับไทยสู่ “ศูนย์กลาง” รถยนต์ไฟฟ้า

14 ธันวาคม 2023


รายงาน ปรีดี บุญซื่อ

ในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 40 วันที่ 30 พย. – 11 ธค. มีบริษัทรถยนต์กว่า 30 แห่งมาออกบูธ ปรากฏว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีน สามารถก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของยอดจองซื้อรถยนต์ในงาน จากยอดจองซื้อมากสุด 10 อันดับแรก ปรากฎว่า 6 อันดับเป็นรถยนต์ EV จากจีน โดยบริษัท BYD มียอดจองมากสุดอันดับ 3 AION มียอดจองอันดับ 4 MG อันดับ 5 Changan อันดับ 6 และ Great Wall Motor อันดับ 7 ส่วน NETA อันดับ 11

Ke Yubin ผู้จัดการทั่วของ BYD Thailand กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า งานมอเตอร์โชว์ปีนี้ ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ รถยนต์ของจีนเข้าตลาดมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยมีทางเลือกหลากหลาย กับสินค้าที่มีคุณภาพ ในราคาที่ซื้อได้ ปีนี้ยังเห็นถึงการพุ่งขึ้นของตลาดรถยนต์ EV ในไทย ปี 2024 BYD จะเริ่มผลิตรถยนต์ในไทย โดยมีทีมงานด้านวิจัย ที่จะพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดรถยนต์ของไทย

ที่มาภาพ : gwm-global.com

ขับเคลื่อนไทยสู่ยุครถยนต์ EV

บทความของ The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2023 เรื่อง Chinese EV Makers Move Into Thailand เขียนไว้ว่า นับจากที่บริษัท Nissan Motors เริ่มผลิตรถยนต์ในไทย เมื่อต้นทศวรรษ 1960 บริษัทญี่ปุ่นคือพลังขับเคลื่อนให้ไทย พุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่การประกอบและผลิตรถยนต์ แต่มาถึงเวลานี้ บริษัทคู่แข่งจากจีน กำลังเคลื่อนเข้ามา เพื่อยกระดับการผลิตรถยนต์ของไทย เข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า

ที่จังหวัดระยอง บริษัท BYD ของจีนกำลังก่อสร้างโรงงาน ที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ใหญ่สุดของไทย ส่วนอีกหลายบริษัทของจีนได้ผลิตรถยนต์ EV ออกมาแล้ว หรือมีแผนที่จะลงทุนทำการผลิต นอกจากจะมุ่งสนองตลาดในประเทศของไทยแล้ว ยังต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออก เนื่องจากได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีภายในภูมิภาค

การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ EV ในไทย สะท้อนเป้าหมายของบริษัทรถยนต์จีน ที่จะครองตลาดโลก เมื่อรถยนต์ EV จีนมีขายอย่างกว้างขวางในหลายส่วนของโลก บริษัทผู้ผลิตของจีนจึงหาทางที่จะตั้งโรงงานการผลิตนอกประเทศจีน เพื่อขยายตลาด ส่งเสริมการขาย และเอาประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศต่างๆ

การท้าทายต่อรถยนต์ญี่ปุ่น

The Wall Street Journal กล่าวว่า กลยุทธ์ของจีนเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิม บริษัทรถยนต์จีนเข้าตลาด แบบบริษัทที่เพิ่งประสบความสำเร็จมาได้ไม่นาน (upstart) พร้อมทุ่มเทไม่อั้นให้กับผลิตภัณฑ์ออกใหม่ ตรงข้ามกับบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ที่มีกลยุทธ์ให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปกป้องแหล่งรายได้จากเทคโนโลยีดั้งเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนแปลง

ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนสามารถครองตลาดรถยนต์ภายในประเทศของจีนได้แล้ว โดยก้าวล้ำหน้าบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียง เช่น Volkswagen และ Toyota การส่งออกรถยนต์ของจีนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนล้ำหน้าเกาหลีใต้และเยอรมัน ใน 3 ไตรมาสของปี 2023 จีนสามารถส่งออกรถยนต์ได้มากกว่าญี่ปุ่น

ที่มาภาพ : https://www.motorexpo.co.th/photos/

ความได้เปรียบของไทย

การเข้ามาลงทุนในไทยของ Great Wall Motor และ BYD เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV นับเป็นการลงทุนผลิตรถยนต์นั่งบุคคลครั้งแรก ที่อยู่นอกประเทศจีน แรงดึงดูดการลงทุนอย่างหนึ่งของไทยคือ การส่งออกรถยนต์จากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีภาษีนำเข้า

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์จีนสามารถเอาประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ที่ญี่ปุ่นใช้เวลาสร้างมานานหลายสิบปี จากจุดเริ่มต้นมาจนถึงความก้าวหน้าที่สมบูรณ์ ประเทศไทยที่ถูกเรียกว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” มีแรงงานที่มีทักษะสูง และมีประสบการณ์เรื่อง การทำตลาดรถยนต์ในต่างประเทศ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านไม่มีสิ่งนี้

ตามปกติ ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนจะอาศัยห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง เช่น นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน หรือนำผู้ผลิตชิ้นส่วนติดตามเข้ามาด้วย แต่ทางการไทยก็กล่าวว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยกว่า 2,000 บริษัท มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ EV

บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นก็เริ่มปรับทิศทาง ในปีนี้ Honda มีแผนที่จะเริ่มผลิตรถยนต์ EV ในไทย ส่วนในปีหน้า Toyota จะเปิดตัวโครงการนำร่อง รถยนต์บรรทุกปิคอัพ EV ในไทย โฆษก Toyota แถลงว่า ตามแนวทางทั่วโลกของ Toyota คือการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเอเชีย

ที่มาภาพ : https://www.motorexpo.co.th/photos/

เป้าหมาย 30@30

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีการจดทะเบียนรถยนต์ EV ในไทยกว่า 5 หมื่นคัน จำนวนมากกว่า 7 เท่าของยอดจดทะเบียนเวลาเดียวกันปีที่แล้ว หรือ 15% ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ เดือนมกราคม 2024 รัฐบาลไทยจะให้การอุดหนุนแก่รถยนต์ EV หลายพันดอลลาร์ต่อคัน ปัจจุบันก็ลดภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ให้กับผู้นำเข้าและผู้ผลิตรถยนต์ EV ทำให้ส่วนต่างราคารถยนต์ EV กับรถยนต์ใช้น้ำมันลดน้อยลง เช่น ราคาของ Ora Good Cat อยู่ที่คันละ 828,500 บาท ส่วน Toyota Altis ราคาคันละ 894,000 บาท ไทยมีเป้าหมายเรียกว่า “30@30” คือ ในปี 2030 รถยนต์ที่ผลิตทั้งหมดในประเทศ 30% จะเป็นรถยนต์ EV

The Wall Street Journal รายงานว่า Great Wall Motor ได้ซื้อโรงงานผลิตรถยนต์เดิมของ General Motors และรับพนักงานเดิมทั้งหมดเข้าทำงาน ทำการปรับปรุงโรงงานให้ผลิตรถยนต์แบบ hybrid นับจาก 2020 ได้ผลิตรถยนต์ hybrid ออกมาแล้ว 20,000 คัน แต่มีความสามารถในการผลิตทั้งปีได้ 80,000 คัน

ในปีหน้า ทาง Great Wall Motor จะทำการผลิตรถ EV รุ่น Ora Good Cat รถขนาดเล็กที่ได้รับความนิยม ที่มีรูปทรงคล้าย Mini Cooper ออกสู่ตลาด และจะนำบริษัทในเครือติดตามมาด้วย เช่น MIND Electronics, HYCET และ Nobo Auto ที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบขับเคลื่อน และที่นั่งในรถ ทางบริษัทมีแผนลงทุนในไทยทั้งหมด 640 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้โรงงานเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV และ Hybrid ของภูมิภาคนี้

ส่วน BYD กำลังลงทุนเป็นเงิน 17.9 พันล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV ของ BYD ที่ระยอง คาดว่าจะเสร็จในกลางปี 2024 โรงงานนี้จะผลิตรถยนต์ EV ได้ปีหนึ่ง 150,000 คัน ส่วนหนึ่งจะส่งออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป Hozon New Energy Automobile ก็กำลังดำเนินการที่จะผลิตรถยนต์ NETA ในปีหน้า

ที่มาภาพ : https://www.motorexpo.co.th/photos/

ตั้งสถาบันวิจัยยานยนต์ในไทย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า จีนจะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยียานยนต์และการวิจัยของจีน หรือ China Automotive Technology and Research Center (CATARC) ขึ้นในไทย ถือเป็น CATARC แห่งที่ 4 ของจีนในโลก ก่อนหน้านี้ จีนได้ตั้งศูนย์นี้ขึ้นในเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น คาดว่า CATARC จะมีส่วนสนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV ของจีนในไทย

เว็บไซด์ asia.nikkei.com รายงานว่า CATARC จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูลแก่ผู้ผลิตรถยนต์จีน ที่ขยายตลาดมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำหน้าที่เก็บข้อมูลเรื่องระเบียบและมาตรฐาน เกี่ยวกับรถยนต์ในประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการทดสอบรถยนต์กับฝ่ายไทย CATARC จึงเป็นก้าวแรกของจีน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย

การที่ไทยกำลังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการผลิตรถยนต์ EV ถือเป็นการต่อยอดที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เริ่มต้นในปี 1962 หรือ 60 ปีมาแล้ว เมื่อ Nissan กับสยามมอเตอร์ ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ของญี่ปุ่นขึ้นมาครั้งแรก ในกรุงเทพฯ มีพนักงาน 120 คน ประกอบรถยนต์ได้วันละ 4 คัน แต่เมื่อถึงต้นทศวรรษ 2000 ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศ ที่ส่งออกรถยนต์มากที่สุดของโลก

เอกสารประกอบ
Chinese EV Makers Move into Thailand, 9-10 December, 2023 The Wall Street Journal.
Beijing opens Thai research institute to support Chinese carmakers, 9 December 2023, asia.nekkei.com