ThaiPublica > เกาะกระแส > EU เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ร่วมกันคัดค้านกฎหมายรถยนต์ EV “Made in America” ของสหรัฐฯ

EU เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ร่วมกันคัดค้านกฎหมายรถยนต์ EV “Made in America” ของสหรัฐฯ

30 มกราคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/2022/08/16/1117709411/biden-signs-sweeping-climate-health-care-tax-bill-into-law

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในกฎหมายชื่อว่า Inflation Reduction Act (IRA) ในอเมริกา กฎหมาย IRA ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาลไบเดน เพราะบรรลุคำมั่นสัญญาของไบเดนที่ว่า จะทำให้ค่าใช้จ่ายของครอบครัวคนอเมริกันลดลง สร้างงานที่ดีขึ้นมา และทำให้เศรษฐกิจเติบโต

แต่สำหรับประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ กฎหมาย IRA คืออีกรูปแบบหนึ่งของการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ เป็นการสานต่อนโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ในสมัยของไบเดน เป็นการกีดกันการค้า ที่ทำอย่างสุภาพอ่อนโยน (polite protectionism)

นับจากที่ IRA ผ่านเป็นกฎหมายออกมา ประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และกลุ่ม EU ต่างก็ออกมาปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของตัวเอง โดยคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะมาตรา 45W เรื่องเครดิตภาษี สำหรับรถยนต์ EV

Hyundai ลงทุนสร้างรถยนต์ EV ในสหรัฐฯ ที่มาภาพ : electriv.com

มาตราเกี่ยวกับรถยนต์ EV

บทความชื่อ IRA and the EV Tax Credit ของ Center for Strategic & International Studies (CSIS) กล่าวว่า มาตราเรื่องรถยนต์ EV ในกฎหมาย IRA มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด ที่สหรัฐฯ ยังตามหลังประเทศชั้นนำอื่นๆ ในปี 2021 ตลาดรถยนต์ EV ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรถยนต์ EV ที่จดทะเบียนใหม่ในโลก ขณะที่จีนมีสัดส่วน 50% และกลุ่ม EU 35%

เมื่อถูกถามว่าทำไมยังลังเลที่จะซื้อรถยนต์ EV คนอเมริกันจำนวนมากตอบว่า ราคารถยนต์แพงและค่าดูแลรักษาที่สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์พลังงานสะอาด มาตรารถยนต์ EV ในกฎหมาย IRA มีเป้าหมายต้องการสร้างแรงจูงใจทางการเงินแก่การซื้อรถยนต์ EV โดยการเสนอเครดิตภาษี (tax credit) 4,000 ดอลลาร์ แก่คนรายได้ระดับกลางและล่าง ที่ซื้อรถยนต์ EV มือสอง และเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์สำหรับการซื้อรถยนต์ EV ใหม่

นอกจากนี้ มาตรารถยนต์ EV ของกฎหมาย IRA ยังมีเป้าหมายช่วยห่วงโซ่อุปทานของบริษัทสหรัฐฯ และต่อต้านการครองตลาดของจีน ในการผลิตแร่ที่ใช้ในการประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ EV ปัจจุบัน จีนมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของกำลังการผลิตแบตเตอรี่ EV ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ ผลิตแร่ lithium, cobalt และ nickel เพียงบางส่วน จากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สหรัฐฯ จึงต้องการที่จะดึงการผลิตแร่แบตเตอรี่ EV และรถยนต์ EV มายังสหรัฐฯ

มาตรา EV ของกฎหมาย IRA กำหนดว่า นับจากปี 2023 การที่จะได้รับเครดิตภาษีนั้น 40% ของแร่แบตเตอรี่ EV และ 50% ของชิ้นส่วนรถยนต์ จะต้องมาจากสหรัฐฯ หรือประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ ในปี 2027 สัดส่วนจากสหรัฐฯ ในเรื่องแร่แบตเตอรี่ EV เพิ่มเป็น 80% และชิ้นส่วนรถยนต์ EV เพิ่มเป็น 100% สรุปก็คือว่า ถ้าคนอเมริกันจะได้การลดหย่อนภาษี 7,500 ดอลลาร์ ต้องเป็นรถยนต์ EV ใหม่ที่ประกอบการผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น

ผลกระทบต่อเกาหลีใต้

ก่อนหน้าที่ไบเดนจะลงนามในกฎหมาย IRA 3 เดือน บริษัทรถยนต์ Hyundai ประกาศการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV และแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ เป็นเงิน 5.5 พันล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มผลิตในปี 2025 คาดว่าปีหนึ่งจะผลิตรถยนต์ EV ได้ 300,000 คัน สร้างงานกว่า 8,000 งานขึ้นมาในสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้พบปะกับประธานของ Hyundai และกล่าวว่า “เราจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง
แต่บริษัทเกาหลีใต้ต่างผิดหวังอย่างมากกับกฎหมาย IRA ฉบับนี้ ประเด็นปัญหาอยู่ที่มาตรา 30D (b) (1) (G) ที่จำกัดสิทธิประโยชน์เครดิตภาษี สำหรับรถยนต์ EV “ที่การประกอบการผลิตขั้นตอนสุดท้าย เกิดขึ้นในอเมริกาเหนือ”

ปัจจุบันนี้ รถยนต์ EV ทั้งหมด 32 รุ่นที่ขายในสหรัฐฯ 26 รุ่นเป็นรถยนต์ EV ที่ประกอบในสหรัฐฯ ดังนั้น รถยนต์ EV ผลิตจากโรงงาน GM, Tesla และ Toyota ล้วนมีสิทธิได้รับเครดิตภาษี แต่รถยนต์ EV ของบริษัทเกาหลีใต้ เช่น Kia และ Hyundai ขายในสหรัฐฯ แต่ผลิตจากเกาหลีใต้ ไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษี ปัจจุบัน การส่งออกรถยนต์ EV ของเกาหลีใต้มีส่วนแบ่ง 29% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของเกาหลีใต้ และ 70% ของรถยนต์ EV ที่ส่งออก จะมุ่งไปที่ตลาดอเมริกาเหนือ

หลังจากที่มีกฎหมาย IRA ของสหรัฐฯ ขึ้นมา ทางการเกาหลีใต้พยายามใช้ช่องทางต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเพื่อผลกระทบ เช่น การเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ รวมทั้งใช้กลไกแก้ไขความขัดแย้งผ่านองค์การการค้าโลก และข้อตกลง FTA

ผลกระทบต่อกลุ่ม EU

Von der Leyen ประธาน EU กล่าวต่อที่ประขุม WEF 2023 ที่มาภาพ : Worled Economic Forum

เว็บไซต์ nytimes.com รายงานว่า ในการประชุมประจำปี 2023 ของ World Economic Forum (WEF) เมื่อมีการคาดหมายเกี่ยวกับอนาคตในระยะยาวของยุโรป ก็มีความเห็นที่สะท้อนความกังวลต่อกฎหมาย IRA ของสหรัฐฯ กฎหมาย IRA ที่ให้เงินทุน 369 พันล้านดอลลาร์ แก่อุตสาหกรรมพลังงานที่มีมลพิษต่ำและเทคโนโลยีสะอาด สิ่งนี้จะทำให้การลงทุนและการจ้างงานไหลออกจากยุโรป จนนำไปสู่การลดการผลิตด้านอุตสาหกรรมลง

ยุโรปกังวลว่า บริษัทต่างๆ จะเลือกสร้างโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ EV และโรงงานประกอบรถยนต์ EV รวมทั้งโครงการลงทุนอื่นๆ ในสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเครดิตภาษี กฎหมาย IRA ที่มีเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ จะทำให้การผลิตในยุโรป และการลงทุนในอนาคต จะหันไปลงทุนในสหรัฐฯ แทน เช่น คนอเมริกันซื้อรถยนต์ EV จะได้รับเครดิตภาษี ก็ต่อเมื่อเป็นรถยนต์ EV ที่ “ผลิตในอเมริกา” (Made in America)

นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการ EU กล่าวต่อที่ประชุม WEF ว่า ที่น่ากังวลคือ กฎหมาย IRA มีเป้าหมายที่ใช้แรงจูงใจอย่างมีเป้าหมายต่อบริษัทธุรกิจ โอลาฟ โชลซ์นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็กล่าวต่อที่ประชุมว่า ข้อกำหนดของกฎหมาย IRA เรื่องการใช้ชิ้นส่วนจากในประเทศ จะต้องไม่กีดกันต่อธุรกิจของยุโรป

ประธานกรรมาธิการ EU ยังกล่าวอีกว่า ทางกลุ่ม EU จะออกแผนงานด้านอุตสาหกรรมของยุโรปในลักษณะ “Made in Europe” ที่ตอบโต้กฎหมาย IRA ของสหรัฐฯ ทางกลุ่ม EU จะผ่อนคลายเรื่องการอุดหนุนของรัฐ และทำให้ธุรกิจเข้าถึงเงินทุนอุดหนุนได้ง่ายขึ้น มีกองทุนเรียกว่า “European Sovereignty Fund” ทางยุโรปจะใช้การอุดหนุนอย่างมีเป้าหมาย กับการตั้งโรงงานการผลิตอุตสาหกรรม ด้านห่วงโซ่การผลิตในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เพื่อรับมือกับการย้ายการผลิต ไปสู่การอุดหนุนทางการเงินของประเทศที่สาม เช่น สหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ เดือนธันวาคม 2022 เมื่อประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางไปเยือนทำเนียบขาว มาครงได้กล่าวตรงไปตรงมากับไบเดนว่า กฎหมาย IRA จะทำให้ประเทศตะวันตกแยกเป็นส่วนๆ และการลงทุนข้ามแอตแลนติกจะหดหายไป หากประเทศพันธมิตรไม่มีการประสานการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ต้นเดือนมกราคม 2023 มาครงก็ประกาศว่า ยุโรปต้องการยุทธศาสตร์ Made in Europe เพื่อปกป้องฐานอุตสาหกรรมของยุโรป สร้างงานมากขึ้น แข่งขันได้มากขึ้น และเร่งรัดการผลิตพลังงานสีเขียว

มาตรารถยนต์ EV ในกฎหมาย IRA มีลักษณะกีดกันการค้าแบบ “America First” ของโดนัลด์ ทรัมป์ ความขัดแย้งในเรื่องรถยนต์ EV เกิดขึ้นในช่วงสำคัญที่สหรัฐฯ กำลังสร้าง “พันธมิตรทางเศรษฐกิจ” เช่น ข้อตกลง Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) หรือหุ้นส่วนความมั่นคงทางแร่ (Minerals Security Partnership) มาตรากำหนดให้รถยนต์ EV ที่จะได้รับการอุดหนุน จะต้อง Made in America อาจทำให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ กับประเทศพันธมิตรชะงักงันขึ้นมา

เอกสารประกอบ

At Davos, European Distress Over a “Made in America” Law, JAN 21, 2023, nytimes.com
IRA and the EV Tax Credit: Disruption or Expansion of Trade Alliance? December 2022, Center for Strategic & International Studies (CSIS)