รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2023 การประชุมประจำปีของสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ COP28 ถูกจัดให้มีขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) COP28 เป็นการประชุมของ 197 ประเทศ ที่เป็นภาคีลงนามในข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศปี 1992 คำว่า COP มาจาก Conference of the Parties ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 28
ภาพลักษณ์จาก Brand Dubai
บทความของ The Guardian เรื่อง Brand Dubai: how the city-state is using COP28 climate talks to build influence กล่าวว่า การที่ดูไบเป็นเจ้าภาพการประชุม COP28 ไม่ใช่อาบูดาบี นครหลวงของ UAE เพราะเหตุผลเรื่อง Brand Dubai ภาพลักษณ์ของดูไบ คือศูนย์กลางการขนส่งและการค้าเสรี
นักวิเคราะห์คนหนึ่งกล่าวว่า อัตลักษณ์ของแบรนด์ดูไบ เป็นการผสมผสานระหว่าง Wall Street กับ Disneyland
การที่ UAE ถูกมองเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคตะวันออกกลาง จะเกี่ยวข้องกับอาบูดาบี ที่เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายภายในและต่างประเทศ ส่วนดูไบกลายเป็นศูนย์กลางของ soft power เป็นศูนย์กลางที่คนทั่วโลกต้องการมาอยู่ ทำงาน และทำธุรกิจ ส่วนอาบูดานีเป็นเรื่องเกี่ยวกับ hard power คือเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายความมั่นคงและการป้องกันประเทศ
การท่องเที่ยวกับ Brand Dubai
หนังสือชื่อ Dubai: Gilded Cage เขียนไว้ว่า ดูไบมีแหล่งน้ำมัน แต่การผลิตมีปริมาณสูงสุดในปี 1991 หลังจากนั้นก็ลดลง ทำให้ผู้นำดูไบเริ่มกระจายเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น จุดนี้ ทำให้ดูไบได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเริ่มกระจายเศรษฐกิจล่วงหน้า 20 ปีก่อนประเทศเพื่อนบ้าน
การเปลี่ยนแปลงดูไบเป็นมหานครระดับโลก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้นำดูไบมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้มาเป็นรายได้เสริมกับรายได้น้ำมันที่ลดน้อยลง
แต่ดูไบต้องสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไรเลย เพราะดูไบไม่มีธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว
สิ่งแรกที่ต้องทำในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือทำให้คนมาเยือนดูไบ ผู้นำดูไบอนุมัติการตั้งสายการบิน Emirates ขึ้นมาในปี 1985 ด้วยเงินกู้จากรัฐบาล 10 ล้านดอลลาร์ ช่วงแรกเช่าเครื่องบินจาก Pakistan International Airlines ใช้บิน ดูไบ-การาจี แล้วต่อมาเพิ่มจุดบินไปเดลี และบอมเบย์ สองประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ด้านแรงงานของดูไบ ต่อมา สายการบิน Emirates ได้ประโยชน์จากที่ตั้งของดูไบ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างยุโรป แอฟริกา และเอเชีย อย่างเช่น เซี่ยงไฮ้-ไคโร
ในทศวรรษ 1990 รัฐบาลดูไบตัดสินใจสร้างดูไบให้เป็นแหล่งชอปปิ้ง เพราะดูไบได้เปรียบเทียบประเทศ ในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ที่นักท่องเที่ยวหาซื้อสินค้าต่างๆได้ยาก หรือถ้ามีขายก็ค่าแพงมาก ผู้บริหารของหน่วยงานส่งเสริมดูไบกล่าวว่า “เราเป็นเกาะเล็กๆที่มีสินค้าลดราคา ท่ามกลางทะเลของบรรดาประเทศ ที่ไม่มีอะไรขาย”
ในปี 1993 การสร้างแหล่งชอปปิ้ง “ปลอดภาษี” เริ่มต้นที่สนามบินนานาชาติดูไบ ต่อมากลายเป็นหนึ่งในสนามบิน ที่มีพื้นที่ขายสินค้าปลอดภาษีใหญ่สุดของโลก มีสินค้าราคาแพงขาย เช่น รถยนต์ระดับหรู และทองแท่ง
ปี 1996 รัฐบาลดูไบดำเนินการอีกขั้นหนึ่ง ในการเสริมจุดแข็งให้ดูไบ ในฐานะศูนย์กลางการชอปปิ้งของตะวันออกกลาง โดยการจัด “เทศกาลชอปปิ้งดูไบ” (Dubai Shopping Festival) ที่ปีแรกดึงนักท่องเที่ยวได้ 1.6 ล้านคน ปีต่อๆมา ดูไบจัดเทศกาลชอปปิ้งในช่วงฤดูร้อน ชื่อว่า Dubai Summer Surprise เพื่อดึงนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากตะวันออกกลางและเอเชียใต้ เป็นเทศกาลที่บรรดาศูนย์การค้าต่างๆ แข่งขันกันในการลดราคาสินค้าพร้อมกับงานฉลองต่างๆ
ฐานะมหานครโลก
นักวิชาการด้านโลกาภิวัตน์มีความเห็นว่า “เมือง” คือสถานที่พื้นฐานของการเชื่อมโยงในระดับโลก ระหว่างมหานครด้วยกัน เป็นการเชื่อมโยงด้านการไหล่เวียนของเงินทุน ความคิด และประชาชน การพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ดูไบมีฐานะเป็น “มหานครโลก” เทียบเท่านิวยอร์ก ลอนดอน สิงคโปร์ และโตเกียว
จำนวนเที่ยวบินและปลายทางของของสายการบิน Emirates สะท้อนการเป็นศูนย์กลางคมนาคม เชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ยุโรป เอเชียตะวันออก และแอฟริกา
บริษัทต่างชาติย้ายมาตั้งสำนักงานในดูไบ เพื่อเอาประโยชน์ด้านบรรยากาศธุรกิจ สิ่งที่เกิดตามมาคือ ชาวต่างชาติที่มาจากทุกประเทศ อพยพมาทำงานในดูไบ เช่น คนงานก่อสร้าง แม่บ้าน พนักงานโรงแรม ศูนย์การค้า ภัตตาคาร สถาปนิก นายธนาคาร ตัวแทนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอาชีพอื่นๆ ภาคเอกชนแทบทั้งหมดในดูไบ ล้วนมีพนักงานเป็นคนต่างชาติ
สำหรับพนักงานทางวิชาชีพ การทำงานที่ดูไบให้โอกาสความก้าวหน้าที่สูงขึ้นและเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับทำงานในประเทศตัวเอง ส่วนแรงงานต่างชาติจากอินเดีย บังคลาเทศ และฟิลิปปินส์ การทำงานในดูไบได้ค่าแรงที่สูงกว่าที่ทำงานในประเทศตัวเอง มีรายได้เหลือพอที่จะส่งกลับประเทศ การดึงดูดแรงงานต่างประเทศ แทบทุกสาขาอาชีพ ทุกทักษะ และจากหลายประเทศ ช่วยเสริมฐานะของดูไบ ในการเป็นมหานครโลก
กลยุทธ์ของดูไบในการเสริมฐานะการเป็นมหานครโลก ได้แก่การดึงคนต่างชาติฐานะมั่งคั่ง ให้มาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในดูไบ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ปี 2002 ดูไบอนุญาตให้คนต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างมาก จนถึงปี 2008 ที่เกิดวิกฤตการณ์เงินโลก และดูไบได้รับผลกระทบ จนต้องอาศัยความช่วยเหลือทางการเงินจากอาบูดาบี
วัฒนธรรมการบริโภคของดูไบ ส่วนใหญ่มีรากฐานอยู่ที่ศูนย์การค้า ที่มีขนาดใหญ่โตและมีร้านค้านานาชาติมีมากกว่าศูนย์การค้าประเทศอื่น แม้การชอปปิ้งจะเป็นกิจกรรมในชีวิตปกติของคนทั่วโลก แต่สำหรับดูไบ สิ่งนี้เป็นความจริงมากกว่าที่อื่นใด เพราะดูไบขาดพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนพักผ่อน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือจัตุรัส รวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนมาก ที่คนดูไบประสบนานครึ่งหนึ่งของปี ที่บางช่วงอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ทำให้คนดูไบต้องหลบอยู่ในอาคาร ศูนย์การค้าหรือช้อปปิ้งมอลล์จึงกลายเป็นแหล่งนัดพบ เป็นจัตุรัสของเมือง ช่วงเทศกาลช้อปปิ้งจึงเต็มไปด้วยงานแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การนำเอาเศรษฐกิจกับวัฒนธรรมมารวมกัน เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน George Soros นักการเงินเคยกล่าวว่า “เราสามารถมีเศรษฐกิจแบบกลไลตลาด (market economy) แต่เราไม่สามารถมีสังคมแบบกลไกตลาด (market society)” หมายความว่า สังคมจะอันหนึ่งอันเดียวกันได้นั้น ต้องการค่านิยมทางศีลธรรม ที่มากกว่าค่านิยมที่ได้มาจากกลไกตลาด
แต่หนังสือ Dubai: Gilded Cage บอกว่า ดูไบโมเดลที่ทำงานได้ผล แม้จะขาดประชาสังคมและการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ก็เพราะการเป็น “สังคมแบบกลไกตลาด” อำนาจการดึงดูดของวัฒนธรรมผู้บริโภค ที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของดูไบ คือสิ่งที่ดึงดูดและรักษาคนงานต่างชาติ ที่จะมาทำงาน หาเงิน และใช้เงินบริโภค
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตย ที่มีอยู่ในตะวันตก คือสิ่งที่ไม่มีอยู่ในดูไบ คำว่าเสรีภาพที่มีหมายถึงเสรีภาพในการทำธุรกิจ และเสรีภาพในการบริโภคที่มองเห็นได้ทั่วไป พลเมืองและคนต่างชาติในดูไบ ไม่สนใจหรือมองข้ามสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพการเมือง
โมเดลดูไบถือเป็นการทดลองทางสังคม ในการสร้างมหานครโลกแบบใหม่ขึ้นมา เป็นประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าคือตัวอย่างที่แนวคิด “เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ” ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา รัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะเป็น “ปัจจัยการผลิต” ดูไบคือ “สังคมที่กำหนดโดยกลไกตลาด” แบบที่ George Solos ว่าไว้ โดยที่ประชาสังคมถูกเบียดขับออกไป
เอกสารประกอบ
Brand Dubai: how the city-state is using Cop28 climate talks to build influence, 01 December 2023. Theguardian.com
Dubai: Gilded Cage, Syed Ali, Yale University Press, 2010.