ThaiPublica > เกาะกระแส > การสร้างเมืองที่ยิ่งใหญ่และน่าอยู่ด้วยคุณสมบัติ 6 ประการของ “พื้นที่สาธารณะ”

การสร้างเมืองที่ยิ่งใหญ่และน่าอยู่ด้วยคุณสมบัติ 6 ประการของ “พื้นที่สาธารณะ”

7 ตุลาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นิตยสาร Monocle เลือกโตเกียวเป็นเมืองอันดับ 1 ของปี 2017 ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Tokyo#/media/File:Tokyo_Montage_2015.jpg

นิตยสาร Monocle ได้จัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2017 ปรากฏว่า โตเกียวครองอันดับ 1 ส่วนเมืองอันดับ 1 ในยุโรปคือ เวียนนา ขณะเดียวกัน เบอร์ลินและมิวนิกของเยอรมัน ก็ติดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดของโลกเช่นกัน นาย Tyler Brûlé บรรณาธิการของ Monocle อธิบายหลักเกณฑ์การคัดเลือกเมืองที่ดีสุดในโลก ให้กับเว็บไซต์ข่าว dw.com ว่า ปัจจัยหนึ่งคือ การเป็นเมืองที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก (seamless) ระบบขนส่งสาธารณะทำงานได้ผล การติดต่อสื่อสารสะดวก ทำให้คนที่อยู่ในเมืองดังกล่าวมีชีวิตอย่างต่อเนื่อง

นิตยสาร Monocle กล่าวว่า จุดเด่นของเบอร์ลินคือ เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ (public space) ให้คนทุกคนได้ใช้ประโยชน์ ส่วนมิวนิกมีจุดเด่นคือ การเชื่อมโยงกับทั่วโลก โดยเฉพาะจุดเด่นของสนามบินมิวนิก ที่นักเดินทางอยากใช้บริการ ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นและจุดปลายทางของการเดินทาง แต่จุดอ่อนของเมืองในเยอรมันคือ การมีชีวิตชีวา 6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้โตเกียวมีความได้เปรียบ เพราะเป็นเมืองที่มีสีสันตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ เมืองที่จะน่าอยู่ในอนาคต ต้องดูแบบอย่างของญี่ปุ่น เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเยาวชนและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนสูงวัยอีกด้วย

“บิลเบา” แบบอย่างการพัฒนาเมืองที่ยิ่งใหญ่

ในหนังสือชื่อ What Make a Great City ผู้เขียนคือ Alexander Garvin ที่เป็นอาจารย์สอนด้านการวางแผนและบริหารเมือง มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า คนทั้งหลายเข้าเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น เข้ามาทำงาน มาร่วมกิจกรรมทางสติปัญญา มาทำธุรกิจ มาซื้อของจากร้านสรรพสินค้า หรือมาท่องเที่ยว เพราะเหตุนี้ เมืองที่ยิ่งใหญ่จึงต้องสะดวกที่คนจะเข้าออก มีความปลอดภัย และคุ้นเคยเป็นมิตร รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ดูแลรักษาอย่างดี เปิดให้บริการแก่คนทั่วไป และที่สำคัญ ต้องเปิดโอกาสให้คนเราบรรลุความใฝ่ฝันของตัวเอง

แต่คุณลักษณะเมืองที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าวยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่สร้างเมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา เพื่อค้นหาคำตอบที่ว่า ทำอย่างไร เราจึงจะสร้างเมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ Alexander Garvin ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็พบคำตอบว่า คือ แบบอย่างการพัฒนาเมืองบิลเบา (Bilbao) ของสเปน

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เมืองบิลเบามีชื่อเสียงเป็นเมืองเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง คนทั่วไปอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมต้องไปเมืองบิลเบา ในปี 1983 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในบิลเบา สะพาน 2 แห่งพังลง ทำให้มีคนเสียชีวิต 37 คน หลังจากนั้น ในปี 1991 ผู้นำท้องถิ่นและของประเทศก็กำหนดแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเมืองบิลเบา ที่จะจัดการปัญหาการเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อมที่บิลเบาประสบในช่วงที่ผ่านมา

ทางลงสถานีรถไฟใต้ดิน เมืองบิลเบา (Bilbao) ของสเปน ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Bilbao#/media/File:Metro_bilbao_bagatza.jpg
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Bilbao#/media/File:San_Mames,_Euskal_Herria.jpg
พิพิธภัณฑ์ เมืองบิลเบา ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Bilbao#/media/File:Guggenheim_Museum,_Bilbao,_July_2010_(06).JPG

แผนพัฒนาฟื้นฟูเมืองบิลเบาประกอบด้วย การขจัดการเน่าเสียของแม่น้ำ Nervión ที่ไหลผ่านตัวเมือง ขจัดพื้นที่เสื่อมโทรมของที่ดินตามริมฝั่งแม่น้ำ ย้ายพื้นที่กิจกรรมเดินเรือต่างๆ จากริมแม่น้ำไปยังท่าเรือ และพัฒนาพื้นที่เลียบตามริมฝังแม่น้ำ ที่เดิมเป็นพื้นที่ธุรกรรมเดินเรือและอุตสาหกรรมต่างๆ ลงทุนด้านการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟใต้ดิน ขยายระบบรถไฟแบบเบา เชื่อมโยงตัวเมืองกับชานเมืองต่างๆ เป็นต้น

ทุกวันนี้ บริเวณริมฝั่งเลียบแม่น้ำของบิลเบายาว 4.7 ไมล์ ที่เดิมเคยเป็นบริเวณอุตสาหกรรมที่เสื่อมโทรม ถูกเปลี่ยนให้เป็นทางเดินเล่นสาธารณะ และมีรถไฟขนาดเบาวิ่งขนานกับเส้นทางเดิน ผู้คนต่างวัยต่างอายุล้วนมาใช้ประโยชน์บนทางเดินเล่น เช่น นั่งที่ม้านั่ง วิ่ง หรือถีบจักรยาน บริเวณที่เป็นจัตุรัสมีการออกแบบใหม่ หากมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทางลงสถานีจะมีการออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ สวนสาธารณะมีการยกระดับ เพื่อให้คนทุกส่วนมาใช้ประโยชน์

การสร้างทางเดินเล่นเลียบแม่น้ำ การปรับปรุงถนนให้มีทางเท้า การปรับปรุงจัตุรัสต่างๆ กับสวนสาธารณะ และการสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ล้วนเพื่อให้เมืองบิลเบาเป็นเมืองแห่งศตวรรษที่ 21 การลงทุนกับพื้นที่สาธารณะดังกล่าวทำให้คนจำนวนนับหมื่นๆ คนสามารถเข้าออกเมืองได้สะดวก พื้นที่เสื่อมโทรมตามริมแม่น้ำ ถนนหนทาง และสวนสาธารณะ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและมีการดูแลอย่างดี เพื่อให้กลายเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกแก่คนทุกชั้นชน การลงทุนครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูเมืองบิลเบา นอกจากจะทำให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่อาศัยแล้ว ยังเปลี่ยนทัศนะคติของคนที่เคยมีต่อเมืองนี้ คนทั่วไปเริ่มคิดว่าบิลเบาเป็นเมืองที่ตนอยากมาอยู่ และอยากมาลงทุนทำธุรกิจ

ความสำคัญของ “พื้นที่สาธารณะ”

หนังสือที่กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะของเมือง คือสิ่งที่ทำให้เกิดเมืองที่ยิ่งใหญ่

หนังสือ What Makes a Great City กล่าวถึงเมืองบิลเบา ที่กลายเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาเพราะการลงทุนในการปรับปรุงถนนหนทาง จัตุรัส สวนสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่คนทั้งหลายมาใช้ประโยชน์ร่วมกันและต้องใช้งานในแต่ละวัน พื้นที่สาธารณะนี้จึงมีความสำคัญต่อคนทุกคน คนที่ดูแลสิ่งเหล่านี้จะทุ่มเทเวลา งบประมาณ และความพยายาม เพื่อให้พื้นที่นี้สามารถสนองความต้องการใหม่ๆ ของคนที่มาใช้บริการ

พื้นที่สาธารณะของเมืองหมายถึงถนนหนทาง บริเวณจัตุรัสและสวนสาธารณะ ซึ่งต่างก็มีหน้าที่และประโยชน์ต่างกันไป ถนนหนทางเป็นเส้นทางเฉลียงการเคลื่อนย้ายของคน สินค้า และยานพาหนะ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ถนนจึงทำให้เมืองมีพลังชีวิต และทำให้จุดต่างๆ เชื่อมต่อกัน ส่วนจัตุรัสเป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางสังคม การเมือง และธุรกิจ ส่วนสวนสาธารณะทำหน้าที่เป็นแหล่งพักผ่อนของคนที่อยู่ในเมือง

แต่ก็มีพื้นที่สาธารณะบางอย่างที่ไม่เข้าข่ายถนนหนทาง จัตุรัส หรือว่าสวนสาธารณะ หนังสือ What Makes a Great City ยกตัวอย่าง National Mall ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่เป็นบริเวณเชื่อมต่อระหว่างอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ กับอนุสาวรีย์วอชิงตัน National Mall เป็นสถานที่การจัดชุมนุมทางการเมืองใหญ่ เช่น การต่อต้านสงคราม การประท้วงเรื่องสิทธิพลเมือง รวมทั้งเป็นสถานที่การทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คุณสมบัติ 6 ประการ

What Makes a Great City กล่าวว่า ลอนดอน ปารีส และโรม ไม่ได้เป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมืองใหญ่ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม มีวิวัฒนาการที่สร้างขึ้นมาจากคนหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ ประชากรของเมือง เจ้าของทรัพย์สิน หรือธุรกิจต่างๆ คนต่างๆ เหล่านี้ในหลายรุ่นที่ผ่านมา ได้สร้างพื้นที่สาธารณะให้มีลักษณะสำคัญๆ 6 ประการ คือ

สวนสาธารณะ ปารีส ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Paris#/media/File:Parc_des_Buttes-Chaumont,_22_April_2007.jpg

ประการแรก พื้นที่สาธารณะของเมืองที่ยิ่งใหญ่จะเปิดกว้างให้แก่คนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ ผู้อาศัย นักท่องเที่ยว ธุรกิจ ลูกค้า คนเดินทาง พื้นที่สาธารณะจะต้องมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ทำให้คนทั่วไปสะดวกและง่ายที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ ทางลงไปยังรถไฟใต้ดินของปารีส (The Paris Metro) เป็นตัวอย่าง สัญลักษณ์ทางลงสถานีนั้นคนในปารีสทุกคนรู้จักและคุ้นเคยอย่างดี ทางลงนี้ออกแบบมาตั้งแต่ปี 1900 และกลายเป็นป้ายสัญลักษณ์ที่มีพลังของสถานีรถไฟใต้ดินปารีส

ประการที่ 2 พื้นที่สาธารณะจะต้องให้ประโยชน์บางอย่างแก่กลุ่มคนต่างๆ พื้นที่สาธารณะของเมืองคือแหล่งที่คนเราไปทำกิจกรรมบางอย่าง หรือไปดูอะไรบางอย่าง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จำเป็นจะต้องมีสถานที่ที่จะพบปะสังสรรค์กับคนอื่นๆ พื้นที่สาธารณะจึงต้องมีกิจกรรมที่จะทำให้คนเราได้มาพบปะกัน สวนสาธารณะ Central Park ของนิวยอร์กออกแบบมาแต่แรกที่จะให้คนเราได้มาพบปะกัน ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือยากจน คนหนุ่มหรือคนแก่

ประการที่ 3 พื้นที่สาธารณะจะต้องสามารถดึงดูดและรักษาความต้องการของตลาด หากไม่มีการปรับตัว ก็จะสูญเสียฐานลูกค้า เมืองใหญ่อย่างลอนดอน ปารีส และโรม ดำเนินการมาตลอดที่จะให้พื้นที่สาธารณะปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนอาศัย หลังจากนั้น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เข้ามามีบทบาทในการยกระดับสิ่งปลูกสร้าง ถนนสาย North Michigan Avenue ของชิคาโก ที่พัฒนาขึ้นมาในปี 1920 คือตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่สาธารณะตามความต้องการของตลาด ทำให้ทุกวันนี้ North Michigan Avenue กลายเป็นถนนที่เป็นแหล่งช็อปปิ้งที่สำคัญสุดของแถบมิดเวสต์ สหรัฐฯ

North Michigan Avenue ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Michigan_Avenue_(Chicago)#/media/File:Michigan_Avenue_-_Chicago.jpg

ประการที่ 4 พื้นที่สาธารณะของเมืองจะต้องเป็นกรอบให้กับการพัฒนาขยายตัวของเมือง เครือข่ายถนนของนิวยอร์กที่มีลักษณะเป็นตารางหมากรุก ได้ชื่อว่า นอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่คนที่อาศัยอยู่ การเดินด้วยเท้า และมองดูสวยงามแล้ว เครือข่ายถนนยังเป็นแนวทางให้แก่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเมือง นับตั้งแต่ปี 1916 นิวยอร์กมีกฎหมายผังเมืองออกมา กำหนดว่า อาคารสูงมีได้เฉพาะบนถนนที่กว้าง ส่วนถนนที่แคบกว่า เป็นพื้นที่สร้างอาคารพักอาศัยเท่านั้น

ประการที่ 5 การรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของเมือง ในรายงานชื่อ Our Common Future ของ The Brundtland Commission กล่าวถึงเป้าหมายของการรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการอาศัยว่า คือ การสนองความจำเป็นของคนในปัจจุบัน โดยไม่ไปปิดโอกาสแก่ความสามารถของคนในอนาคต ที่จะบรรลุถึงสิ่งที่เป็นความจำเป็นของพวกเขา การดำเนินการของเมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เรื่องการควบคุมความแออัดของจราจรในเมือง คือตัวอย่างในเรื่องนี้ ระบบตรวจจับจำนวนรถยนต์ที่เดินทางเข้าเมืองจะชะลอสัญญาณจราจรไฟเขียวหากจำนวนรถยนต์ในเมืองมีปริมาณถึงจุดที่กำหนด ทำให้ซูริกเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า คนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพียง 26% เท่านั้น

ซูริกเป็นตัวอย่างของเมืองที่รักษาสภาพแวดล้อมที่น่าที่อยู่ ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Z%C3%BCrich#/media/File:SWX_Swiss_Exchange_1_cropped.jpg

และประการสุดท้าย พื้นที่สาธารณะ เช่น จัตุรัสของเมือง จะต้องเกื้อกูลสนับสนุนประชาสังคม (civil society) ที่กลุ่มคนต่างๆ สามารถมาทำกิจกรรมโดยไม่ไปก้าวก่ายคนอื่น ถนนของเมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) เดนมาร์ก ก็เป็นตัวอย่างพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาสังคม โคเปนเฮเกนเริ่มคิดที่จะมีเส้นทางจักรยานมาตั้งแต่ปี 1920 ทุกวันนี้ เส้นทางจักรยานมีระยะทาง 396 กิโลเมตร รัฐบาลเดนมาร์กคาดว่า การขี่จักรยานไปทำงานช่วยให้รัฐประหยัดรายจ่ายด้านสาธารณสุขได้ปีหนึ่ง 91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุกวันนี้ คนเดินบนทางเท้า คนขี่จักรยาน คนขับรถยนต์ และคนใช้บริการรถโดยสาร ล้วนมีพฤติกรรมที่เอื้ออาทรต่อกันบนถนนทุกสายของโคเปนเฮเกน

โคเปนเฮเก้น ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Copenhagen#/media/File:Amagertorv,_Copenhagen.jpg
โคเปนเฮเกนมีเส้นทางจักรยานยาวทั้งหมด 396 กิโลเมตร ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Copenhagen#/media/File:Royal_Danish_Theatre,_Copenhagen.jpg

เมื่อกล่าวถึงเมืองที่ยิ่งใหญ่ คนทั่วไปมักจะหมายถึงเมืองที่สวยงาม สะดวกสะบายที่จะอยู่อาศัย และมีการบริหารจัดการที่ดี จนเมืองอื่นๆ ชื่นชม และต้องการนำเป็นแบบอย่าง ทำให้คนเราคิดถึงถนนสาย Champs-Elysees ของปารีส หรือผังเมืองของนครชิคาโก แต่หนังสือ What Makes a Great City กลับให้คำตอบที่ว่า คนเราแต่ละคนจะทำอย่างไร เพื่อให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา

เอกสารประกอบ
What Makes a Great City. Alexander Garvin, Island Press, 2016.