ThaiPublica > เกาะกระแส > การสิ้นสุด “ความรุ่งเรือง” ทางเศรษฐกิจของจีนจะตามมาด้วยการตกต่ำยาวนานแบบญี่ปุ่นหรือไม่

การสิ้นสุด “ความรุ่งเรือง” ทางเศรษฐกิจของจีนจะตามมาด้วยการตกต่ำยาวนานแบบญี่ปุ่นหรือไม่

26 สิงหาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : The Wall Street Journal

เมื่อสิ้นสุดปี 2022 ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็คาดหวังกันว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตแบบพุ่งทยานขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจโลกพลอยได้อนิสงค์จากจีนไปด้วย เพราะช่วง 3 ปีที่จีนใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ทำให้อุปสงค์ทางเศรษฐกิจถูกจำกัด การผลิตก็ยากลำบาก ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และเศรษฐกิจจีนเกิดชะลอตัวครั้งใหญ่

หลังจากจีนประกาศยกเลิกนโยบายเรื่องโควิด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆพุ่งขึ้นทันที เช่น น้ำมันดิบ หรือทองแดง เพราะตลาดคาดหมายว่า ความต้องการในตลาดโลกจะสูงขึ้น เดือนมีนาคม 2023 นายกรัฐมนตรี หลี่ เคอเฉียง ประกาศเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ 5% ในไตรมาสแรก 2023 เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมา เช่น การท่องเที่ยวในประเทศ การค้าปลีก และการส่งออก รวมทั้งวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่เมื่อเข้าไตรมาส 2 เศรษฐกิจจีนโตเพียง 0.8% เทียบกับไตรมาสที่ 1 ที่เติบโต 2.2% หากเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 เศรษฐกิจโต 6.3% เนื่องจากฐานเศรษฐกิจในปี 2021 มีอยู่ในระดับต่ำลง

ดังนั้น ทิศทางล่าสุดเศรษฐกิจจีนจึงอยู่ในขาลง การเติบโตโดยรวมอ่อนแอ สะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในสภาพก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจจีน

The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2566 รายงานเรื่อง “การสิ้นสุดของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของจีน” ที่ดำเนินมานาน 40 ปี ว่า ทำให้เกิดความวิตกกังวลในสิ่งที่จะเกิดตามมา คือภาวะตกต่ำที่ยาวนาน นับเป็นเวลาหลายสิบปี จีนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการลงทุนในโรงงานการผลิต ตึกสูงระฟ้า และเส้นทางคมนาคม การเติบโตที่ยาวนานหลายสิบปี ช่วยยกประเทศจีนให้ออกจากความยากจน และกลายเป็นยักษ์ใหญ่การผลิต ที่สามารถส่งออกสินค้าไปทุกแห่งในโลก

นโยบายต่างๆที่นำมาใช้อย่างได้ผล ในช่วงที่จีนไล่ตามการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในเวลานี้ นโยบายเหล่านี้ มีความหมายและได้ผลน้อยลง เพราะจีนกำลังประสบปัญหาหนี้สินและไม่สามารถมีโครงการการก่อสร้างใหม่ ปัญหาเศรษฐกิจจีน ส่วนหนึ่งจึงมาจากสะพานและสนามบิน ที่ใช้ประโยชน์ต่ำ ห้องพักจำนวนหลายล้าน ที่ไม่มีคนเข้าพักอาศัย และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ลดลงอย่างมาก

The Wall Street Journal รายงานว่า สัญญาณแสดงปัญหาทางเศรษฐกิจ มีมากกว่าสิ่งที่เป็นตัวเลขเลวร้ายทางเศรษฐกิจ แต่ขยายไปถึงมณฑลที่อยู่ห่างไกล อย่างเช่นยูนาน ที่เร็วๆนี้ประกาศว่า จะใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ สร้างศูนย์กักกันโรคโควิด-19 ที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับ 3 สนามฟุตบอล ทั้งๆที่จีนได้ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ไปแล้ว หลายมณฑลก็ดำเนินการแบบเดียวกันนี้

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า จีนกำลังเข้าสู่ยุคการเติบโตที่ต่ำลง โดยสถานการณ์ถูกซ้ำเติมจากปัญหาโครงสร้างประชากร ที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะสูงอายุมากขึ้น และการแบ่งแยกที่ขยายตัวมากขึ้น ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ผลกระทบต่อการลงทุนต่างประเทศและการค้า การชะลอตัวอาจไม่ใช่การอ่อนตัวของเศรษฐกิจ ภายในเพียงระยะเวลาหนึ่ง แต่อาจเป็นการตกต่ำเป็นเวลานาน

ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2023/08/22/business/china-economy-property.html

อนาคตข้างหน้าของจีน

IMF คาดการณ์ว่า ในหลายปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตปีละ 4% ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งที่จีนเคยเติบโตในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา บริษัทวิจัยของอังกฤษ Capital Economics คาดการณ์ว่า แนวโน้มการเติบโตของจีนจะอ่อนตัวลง จาก 5% ในปี 2019 มาที่ 3% ในปี 2023 และ 2% ในปี 2030

หากเศรษฐกิจจีนขยายตัวในระดับที่คาดการณ์ดังกล่าว จีนก็จะไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ สี จิ้นผิง ได้วางไว้ในปี 2020 ว่า ภายในปี 2035 ขนาดเศรษฐกิจจีนจะต้องเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้จีนยากลำบากมากขึ้น ที่จะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง รวมทั้งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก แทนที่สหรัฐฯ

แต่ในอดีต การพยากรณ์เกี่ยวกับจีน เคยผิดพลาดมาแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ EV และพลังงานทดแทน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของจีน ที่จะกลายเป็นผู้นำตลาด ความขัดแย้งกับสหรัฐฯสามารถเป็นปัจจัยเร่ง ทำให้จีนสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่นปัญญาประดิษฐ์ และเซมิคอนดัคเตอร์

แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปเชื่อว่า จีนได้เข้าสู่ช่วงการท้าทายใหม่มากขึ้น ที่การอาศัยวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ จะให้ผลตอบแทนลดน้อยลง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ เคยมีสัดส่วนถึง 25% ของ GDP ความสำเร็จของจีนในการควบคุมโควิด-19 และการใช้จ่ายซื้อสินค้าของคนอเมริกัน ในช่วงโรคระบาด มีส่วนช่วยปิดบังปัญหาเศรษฐกิจของจีน แต่ทุกวันนี้ เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ความต้องการสินค้าจีนในประเทศตะวันตกค่อยๆลดลง และปัญหาหนี้สินการกู้เงิน มาถึงจุดที่ขยายเพิ่มไม่ได้แล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมืดมน การผลิตอ่อนตัว การส่งออกลดลง และการว่างงานของเยาวชนสูงเป็นประวัติการณ์ Country Garden Holdings อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดที่ยังเหลืออยู่ อาจล้มละลาย เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในภาวะเงินฝืด (deflation)

เศรษฐกิจชะงักงันแบบญี่ปุ่นหรือไม่

หากรัฐบาลจีนไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา รวมทั้งการส่งเสริมภาคเอกชนให้มีบทบาทคึกคักขึ้นมาใหม่ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีน จะขยายตัวเป็นภาวะชะงักงันที่ยาวนาน เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกขึ้นมา ทำให้เกิดภาวะเงินฝืดและการเติบโตที่ต่ำติดต่อกันนานหลายปี

หากจีนตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับญี่ปุ่น แต่สิ่งที่จะแตกต่างก็คือว่า จีนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนาน ก่อนที่ประเทศจะมีฐานะร่ำรวย ปี 2022 รายได้ประชาชาติต่อคนของจีนอยู่ที่ 12,850 ดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารโลกกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในปัจจุบันคือ 13,845 ดอลลาร์ ที่ถือเป็นขั้นต่ำของประเทศ “รายได้สูง” ส่วนญี่ปุ่น ปี 2022 รายได้ต่อคนอยู่ที่ 42,40 ดอลลาร์ และสหรัฐฯ 76,400 ดอลลาร์

แต่โฆษก กระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็ตอบโต้เรื่องที่ฝ่ายตะวันตกมองเกินความจริงในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของจีน โดยกล่าวว่า

“นักการเมืองและสื่อตะวันตกบางส่วนมองปัญหาและสร้างเรื่องเลวร้ายกว่าความเป็นจริง เกี่ยวกับปัญหายากลำบากของจีน ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด ข้อเท็จจริงจะพิสูจน์ว่า คนพวกนี้เป็นฝ่ายผิด”

ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/business/china-business/article/3232328/china-unveils-raft-home-buying-rules-bid-prop-slumping-property-market-and-economy

ความสำเร็จที่ผ่านมาของจีน

The Wall Street Journal บอกว่า หากจีนประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่ยาวนาน จะถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นับจากที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1978 จีนสามารถต่อสู้กับวัฏจักรการขึ้นลงของเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ในช่วง 40 ปีดังกล่าว รายได้ต่อคนของจีนเพิ่มขึ้น 25 เท่า ทำให้คนจีน 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน โดยธนาคารโลกระบุว่า กรณีจีน ทำให้คนยากจนในโลกทั้งหมด ลดลงถึง 70% จีนเปลี่ยนจากประเทศที่เคยเผชิญกับความอดอยาก กลายมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก นักวิชาการบางส่วน มองบทบาทและอิทธิพลจากการพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของจีนว่า เป็น “ศตวรรษของจีน”
ทุ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

รายงานของ The Wall Street Journal ชี้ว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของจีน อาศัยการค้ำจุนจากการลงทุนที่สูงมาก ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสินทรัพย์ทางกายภาพ นับจากปี 2008-2021 การลงทุนนี้มีสัดส่วนถึง 44% ของ GDP จากข้อมูลของธนาคารโลก การลงทุนของโลกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25% ในสหรัฐฯอยู่ที่ 20%

การลงทุนดังกล่าว ทำให้จีนมีทางด่วนเพิ่มขึ้นหลายหมื่นไมล์ สนามบินเพิ่มขึ้นหลายร้อยแห่ง และมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงใหญ่สุดของโลก แต่ผ่านไประยะหนึ่ง หลักฐานการก่อสร้างที่มากเกินไป ก็ปรากฏขึ้นมา รายงานการศึกษาของ Southwestern University of Finance and Economic ของจีนเองระบุว่า ในปี 2018 1ใน 5 ของอาคารชุดในเมือง หรือ 130 ล้านหน่วย ไม่มีคนเข้าพักอาศัย

มณฑลกุ้ยโจว รายได้ต่อคนอยู่ที่ 7,200 ดอลลาร์ ประกาศว่า มีสะพานทั้งหมดถึง 1,700 สะพาน และสนามบิน 11 แห่ง มากกว่าสนามบินเมืองใหญ่ 4 แห่งของจีนมารวมกัน ปี 2022 กุ้ยโจวมีหนี้สินค้างชำระ 388 พันล้านดอลลาร์ จนต้องขอความช่วยทางการเงินจากรัฐบาลกลาง มาพยุงฐานะการเงินของมณฑล

มณฑลยูนานเอง อาศัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2015-2020 เป็นมณฑลหนึ่งที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุด มีทางด่วน 6,000 ไมล์ และมีสนามบินมากกว่ามณฑลอื่นอีกหลายแห่งของจีน

The Wall Street Journal บอกว่า จากการอาศัยเงินกู้มาใช้ในลงทุนโครงการก่อสร้างต่างๆ ในปี 2022 หนี้สินรวมของหน่วยงานรัฐบาล มีสัดส่วน 300% ของ GDP มากกว่าสัดส่วนของสหรัฐฯ โดยเพิ่มจากเกือบ 200% ในปี 2012

ผู้นำระดับสูงของจีนเองก็ยอมรับว่า โมเดลการเติบโตในอดีตเดินมาถึงจุดปลายทางแล้ว เมื่อปีที่แล้ว สี จิ้นผิง เองก็กล่าวกับผู้นำพรรครุ่นใหม่ตรงๆ ในเรื่องผู้นำระดับต่างๆ อาศัยการเงินกู้ที่ลงทุนในโครงการก่อสร้าง มากระตุ้นเศรษฐกิจ

“บางคนเชื่อว่า การพัฒนาหมายถึงการลงทุนในโครงการ แล้วก็เพิ่มขนาดการลงทุนมากขึ้น เราไม่สามารถเดินบนเส้นทางใหม่ ด้วยรองเท้าเก่า”

เอกสารประกอบ
The End of China’s Economic Miracle, Adam S. Posen August 2, 2023, foreignaffairs.com
China’s 40-Year Boom Is Over, Raising Fear of Extended Slump, 21 August 2023, The Wall Street Journal.