ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อรัสเซียเผชิญการรุกโต้กลับของยูเครน ปูตินจะ “โกนิวเคลียร์” หรือไม่?

เมื่อรัสเซียเผชิญการรุกโต้กลับของยูเครน ปูตินจะ “โกนิวเคลียร์” หรือไม่?

26 กันยายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่มาภาพ : https://www.themoscowtimes.com/2022/09/24/how-russian-solyanka-was-born-from-polish-bigos-a78881

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศระดมกองหนุนบางส่วน 300,000 คน เพื่อส่งไปรบในสงครามยูเครน ที่ดำเนินมา 7 เดือนแล้ว การระดมกองทุนแสดงชัดเจนว่า รัสเซียกำลังประสบปัญหาจากการทำสงครามยูเครน ผู้นำประเทศมหาอำนาจที่ติดหล่มกับสงครามที่ไม่สามารถชนะ มักจะยิ่งถล่ำลึกมากขึ้นไปอีก พฤติกรรมของปูตินคงไม่ต่างไปจากนี้

นัยยะการรุกกลับของยูเครน

ความสำเร็จในการรุกตอบโต้ของกองทัพยูเครน ทำให้พัฒนาการสงครามเปลี่ยนไป และรัสเซียตกอยู่สภาพยากลำบากทางทหาร ในระยะแรก แม้รัสเซียจะไม่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลยูเครน แต่ปูตินก็หันมายอมรับเป้าหมายที่แคบลง คือเข้ายึดครองดินแดนทางใต้ในเขตดอนบาส และรักษาพื้นที่ยึดมาได้ให้มากที่สุด สิ่งที่ปูตินเรียกว่า “ปฏิบัติการทางทหาร” จึงมีความหมายว่าคือ การปกป้องอิสรภาพของสาธารณรัฐโดเนตช์และลูฮันช์ ที่อยู่ในเขตดอนบาส

บทความของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ชื่อ Putin Wades Deeper into the Quagmire วิเคราะห์ว่า การเข้ายึดครองดินแดนยูเครนบางส่วนของรัสเซีย ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งกับยูเครนไปตลอด จุดนี้ทำให้รัสเซียมีอิทธิพลในการกำหนดอนาคตของยูเครน ยูเครนอาจใกล้ชิดกับตะวันตก

แต่ตราบใดที่ภาวะสงครามยังดำเนินอยู่ ยูเครนไม่มีวันที่จะเข้าเป็นสมาชิกทั้งนาโต้หรืออียู

การรุกโตกลับของยูเครนในเขตที่รัสเซียยึดครองอยู่ จึงสร้างความเสียหายต่อยุทธศาสตร์ถอยของปูติน ที่ลดเป้าหมายสงครามให้แคบลงมาแล้ว การรุกของยูเครนแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่สามารถรักษาพื้นที่ยึดครองที่มีอยู่ ยูเครนสามารถอาศัยอาวุธจากตะวันตก มาสร้างความได้เปรียบ ตะวันตกคาดว่า ทหารรัสเซียเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกัน 70,000-80,000 คน ประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังรบรัสเซีย ที่ทำสงครามยูเครน การระดมพลทหารสำรองของรัสเซีย จึงเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ยูเครนรุกคืบหน้าต่อไป

พื้นที่การยึดคืนของยูเครน ที่มาภาพ : csis.org

นอกจากนี้ รัสเซียยังจัดให้มีการลงประชามตินาน 5 วัน คือ 23-27 กันยายน ในพื้นที่รัสเซียยึดครองเรียกว่า สาธารณรัฐประชาชนลูฮันช์และโดเนตช์ โดยประชามติถามว่าสนับสนุนหรือไม่ที่ สาธารณรัฐจะเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย ส่วนในเขตเคอร์สัน (Kherson) ทางใต้ยูเครนที่รัสเซียยึดครอง ประชามิตถามว่า จะแยกตัวออกจากยูเครน ไปรวมกับรัสเซียหรือไม่

รัสเซียถือว่า การลงประชามติครั้งนี้ จะทำให้เขตลูฮันช์และโดเนตช์ กลายเป็นดินแดนของรัสเซีย ทำให้รัสเซียมีสิทธิใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้การรุกของยูเครน ในการปราศรัยเมื่อวันที่ 21 กันยายน ปูตินก็กล่าวว่า…

การใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องรัสเซีย จึงไม่ใช่การขู่ ถ้ารัสเซียใช้นิวเคลียร์

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า ความเสี่ยงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะมีมากที่สุด เมื่อยูเครนเป็นฝ่ายได้เปรียบเด็ดขาด สิ่งนี้คือสถานการณ์เดียว ที่จะทำให้รัสเซียมีแรงจูงในการกล้าเสี่ยงที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้เพื่อพยายามยับยั้งการแพ้สงคราม อาวุธนิวเคลียร์จะช่วยสกัดยังยั้งการรุกของยูเครน และการสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตก

บทความของ theatlantic.com ชื่อ What If Russia Uses Nuclear Weapons in Ukraine? เขียนถึงฉากทัศน์ที่เลวร้ายนี้ กับการตอบโต้ของสหรัฐฯว่า “กรมที่ 12” ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย คือหน่วยงานที่ดูแลสถานที่เก็บอาวุธนิวเคลียร์ ที่กระจายอยู่ทั่วรัสเซีย สถานที่เก็บอาวุธนิวเคลียร์นี้ รู้จักกันในนามว่า “Object S” รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์หลายพันลูก และระดับการทำลายที่หลากหลาย บทความอ้างคำพูดของ Pavel Podvig นักวิจัยเรื่องความเสี่ยงอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติที่กล่าวว่า ขีปนาวุธรัศมีระยะไกล ประจำการบนบกและในเรือดำน้ำ คืออาวุธนิวเคลียร์อย่างเดียวของรัสเซีย ที่พร้อมใช้งานได้ทันที

ห้องควบคมอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ตั้งอยู่นอกมอสโคว์ ที่มาภาพ : kyivpost.com

หากรัสเซียจะโจมตียูเครนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ด้วยขีปนาวุธระยะใกล้ ก็จะต้องขนย้ายขีปนาวุธออกจาก Object S เช่นที่ Belgorod-22 ที่อยู่ห่างพรมแดนยูเครน 40 กิโลเมตร แล้วลำเลียงไปยังฐานทัพทางทหาร จากนั้น ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ที่จะทำให้อาวุธจะพร้อมที่จะปฏิบัติการกับขีปนาวุธแบบครุส ในจุดนี้ สหรัฐฯคงจะติดตามการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทันทีทันใดแบบ real time จากดาวเทียมสอดแนม กล้องถายรูปซ่อนที่ถนน และการถ่ายภาพของสายลับ

ฉากทัศน์กรณีใช้นิวเคลียร์

ส่วนบทความชื่อ 3 Scenarios for How Putin Could Actually Use Nukes ใน politico.com นำเสนอฉากทัศน์ที่ปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน แม้ในปัจจุบัน การใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องอยู่เหนือการคาดคิดพิจารณาของโลกเรา

แต่แนวคิดทางทหารปัจจุบันของรัสเซีย ที่สรุปเป็นคำพูดที่ว่า “ขยายเพื่อไม่ขยาย” (escalate to deescalate) ปูตินอาจใช้ “การสาธิตทางนิวเคลียร์” เป็นการเตือนสหรัฐฯเรื่องการเพิ่มตวามช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ การใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี เป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาได้

อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีถูกเรียกว่าอาวุธทาง “สมรภูมิรบ” เพื่อแยกต่างจากอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ที่มีการทำลายล้างสูง อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี มีอำนาจการทำลายเท่ากับ TNT หลายร้อยตันขึ้นไปจนถึงหลายพันตัน บทความของ politico.com บอกว่า อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่เล็กสุดของรัสเซีย มีพลังเท่ากับ 5,000 ตันของ TNT หรือ 1 ใน 3 ของระเบิดปรมาณูที่ทิ้งที่ฮิโรชิมา บทความของ politico.com คาดการณ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทวิธีของรัสเซียใน 3 ฉากทัศน์ (scenario) คือ

ฉากทัศน์ที่ 1 ที่เป็นการยั่วยุน้อยที่สุด คือ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศเหนือพื้นดิน เช่น พื้นที่เก่าที่รัสเซียเคยทดลองมาแล้วในแถบอาร์คติก ซึ่งจะเป็นการทดลองนิวเคลียร์ในบรรยากาศครั้งแรกของมหาอำนาจ นับจากปี 1963 ที่สหรัฐฯและรัสเซียลงนามข้อตกลงห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศ

ฉากทัศน์ที่ 2 การละเบิดอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศเหนือยูเครน ในปี 1962 สหรัฐฯเคยทดลองระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 1.4 เมกะตัน ที่ความสูง 400 กม. (250 ไมล์) เหนือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าบนถนนและระบบโทรศัพท์ในหมู่เกาะฮาวาย ที่อยู่ห่างออกไป 1,440 กม.

ฉากทัศน์ที่ 3 การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ยุทธวิธี ต่อเป้าหมายทางทหาร หรือเป้าหมายโลจิสติกส์ในยูเครน แต่วิธีการนี้อันตรายที่สุด ทำให้ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้

บทความ politico.com วิเคราะห์ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ฉากทัศน์ทั้ง 3 ยังไม่น่าเป็นไปได้ ที่ปูตินจะตัดสินใจใช้นิวเคลียร์ เพราะไม่มีเหตุผลต้องทำเช่นนั้น ยกเว้นรัสเซียจะพ่ายแพ้ทางทหาร หรือเกิดเหตุการณ์สู้รบที่สร้างความอัปยศแก่รัสเซีย เหมือนกรณีการสูญเสียเรือรบ Moskva หรือความไม่พอใจของคนรัสเซียต่อภาวะสงคราม ที่มีสภาพยืดเยื้อคาลาคาซัง

ที่มาภาพ : https://www.abc.net.au/news/2022-09-26/russia-nuclear-capabilities-ukraine-vladimir-putin/

“รัสเซียต้องไม่ชนะ และก็ต้องไม่แพ้”

แต่สงครามเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ แม้แต่คนที่ทำสงครามเองยังไม่รู้ว่า สงครามจะไปจบลงอย่างไร เพราะเหตุนี้ หลังจากรัสเซียบุกยูเครนได้ 3 เดือน สหรัฐฯและพันธมิตรในยุโรป จึงมีการหารืออย่างเงียบๆว่า ทำอย่างไรที่สงครามยูเครนจะยุติลง

อะไรคือความหมายของคำว่า “ชัยชนะ” แต่สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน คำๆนี้มีความหมายว่า “รัสเซียต้องไม่ชนะ และรัสเซียก็ต้องไม่แพ้”

บทความของ foreignaffairs.com เรื่อง How to Build Putin a Gilded Bridge Out of Ukraine เสนอว่า การถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน เมื่อ 33 ปีมาแล้ว อาจให้บทเรียนแก่การสร้างสะพาน ที่ปูตินจะถอนตัวออกจากยูเครน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1989 นายพลโซเวียต Boris Gromov เดินข้ามสะพานมิตรภาพ ออกจากอัฟกานิสถานมายังดินแดนสหภาพโซเวียต หลังจากทำสงครามนานสิบปี Boris Gromov เป็นทหารคนสุดท้ายที่ออกจากอัฟกานิสถาน รัฐบาลโซเวียตสมัยนั้นถือเอาภาพ Boris Gromov เดินบนสะพานมิตรภาพ เป็นชัยชนะของความสำเร็จทางภารกิจ เทียบกับอเมริกาถอนตัวจากเวียดนามใต้ คือภาพคนอเมริกันที่แย่งกันขึ้นเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ บินออกจากนครไซ่ง่อน

แต่ 33 ปีหลังจากถอนตัวจากอัฟกานิสถาน รัสเซียตกอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกันนี้ คือเข้าไปทำสงครามที่ไม่มีโอกาสชนะ ทหารรัสเซียทั้งตายและบาดเจ็บหลายหมื่นคน เทียบกับจำนวนที่ตายเป็นทางการในอัฟกานิสถาน 14,000 คน ส่วนยูเครนยังคงเป็นประเทศเอกราช นิยมตะวันตกมากขึ้น

สงครามยูเครนกลายเป็นสงครามในรูปแบบ ที่ไม่ใช่การรบเด็ดขาด (decisive war) แต่เป็นการบั่นทอนความสามารถฝ่ายตรงกันข้าม โดยการทำลายทรัพยากรทางทหาร และโครงสร้างพื้นฐาน (war of attrition)

สงครามอัฟกานิสถานและยูเครนแม้จะมีบริบทการเมืองแตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะคล้ายกัน คือความเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป ทำให้รัสเซียบุกประเทศเพื่อนบ้าน เผชิญคู่ปรปักษ์ที่ตะวันตกให้การสนับสนุน แต่ในที่สุด โซเวียตก็หันมาเจรจา เมื่อเผชิญกับความเสียหายมากขึ้น ในจุดหนึ่ง ปูตินเองก็ต้องหันมาเจรจาหาทางออก

สำหรับยูเครน หากว่าไม่เกิดสภาพที่กองทัพรัสเซียพังพินาศลงไปครั้งใหญ่ ยูเครนจำเป็นที่จะต้องลดเป้าหมายสูงสุดของตัวเองลง ได้แก่ การเรียกร้องให้รัสเซียถอนออกจากแหลมไครเมีย กับเขตดอนบาส และให้รัสเซียจ่ายค่าเสียหายจากสงครามมหาศาล หากต้องการจะให้สงครามสิ้นสุดลง

เอกสารประกอบ

Putin Wades Deeper into the Quagmire, September 21, 20220, Center for Strategic & International Studies (CSIS)

What If Russia Uses Nuclear Weapons in Ukraine, Eric Schlosser, June 20, 2022, theatlantic.com
3 Scenarios for How Putin Could Actually Use Nukes, Gregg Herken and others, May 16, 2022, politico.com

How to Build Putin a Gilded Bridge Out of Ukraine, Dominic Tierney, May 24, 2022, foreignaffairs.com