ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > Sustainability > ออมสินโชว์ผลงาน “CSV – น่าน” ต้นแบบพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ออมสินโชว์ผลงาน “CSV – น่าน” ต้นแบบพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

25 ธันวาคม 2023


ครบรอบ 1 ปี โครงการ “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” ออมสินโชว์ผลงาน “CSV” ลุยพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม 10 มิติ จุดประกายความคิดภาครัฐ-เอกชนใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอกย้ำจุดยืน “ธนาคารเพื่อสังคม” ปันกำไรช่วยสังคม ล่าสุด ‘วิทัย รัตนากร’ สั่งทีมงานหาพื้นที่ – เดินหน้าโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม เฟส 2 ในพื้นที่อื่นต่อไป

หลังจากที่ธนาคารออมสินปรับบทบาทภารกิจ สู่การเป็น ธนาคารเพื่อสังคม หรือ “Social Bank” เต็มรูปแบบ โดยนำกำไรจากธุรกิจหลักมาช่วยเหลือสังคม พร้อมปรับเปลี่ยนแนวคิดการช่วยเหลือสังคมรูปแบบใหม่ จาก CSR เป็น CSV (Created Share Value) ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม (Holistic Area-Based Development) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ภายใต้โครงการ “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” ระยะที่ 1 โดยธนาคารออมสินเริ่มเข้าไปพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่เป้าหมาย 5 หมู่บ้าน ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน อาทิ บ้านเปียงซ้อ , บ้านห้วยฟอง , บ้านสะจุก , บ้านสะเกี้ยง และบ้านห้วยเต๋ย

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 โดยกำหนดภารกิจของธนาคารที่ต้องเข้าไปพัฒนาพื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมมิติด้านต่าง ๆมีทั้งหมด 10 ด้าน อันได้แก่ ภารกิจด้านแหล่งทุนและปัญหาหนี้สิน , ด้านความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออม , ด้านการแพทย์และคุณภาพชีวิต , ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน , ด้านจัดการขยะ , ด้านศาสนาและการศึกษา , ด้านการท่องเที่ยว , ด้านสร้างงานสร้างอาชีพ , ด้านเพิ่มรายได้เกษตรกรและแก้ปัญหาการทำลายป่าต้นน้ำ , ด้านปลูกป่าเศรษฐกิจ และป่าอนุรักษ์ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ เพื่อลดการถางป่าทำเกษตรเลื่อนลอยทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ทุ่มงบฯ 6.9 ล้าน สร้างโรงแปรรูปกาแฟ – ช่วยชาวบ้านเพิ่มรายได้

ครบ 1 ปี หลังจากที่ธนาคารออมสินเข้าไปวางรากฐาน และงานโครงสร้างต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อย จึงนำคณะสื่อมวลชนไปลงพื้นที่จังหวัดน่านอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น พบว่ามีความก้าวหน้าไปกว่า 90% ของแผนงาน เริ่มจากโครงการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมาปลูกกาแฟคุณภาพตามาตรฐานประเทศญี่ปุ่น เพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ โดยในปี 2565 ธนาคารออมสินร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าไปส่งเสริมเกษตรกร 481 ครัวเรือน หันมาปลูกกาแฟในพื้นที่ 10,015 ไร่ ทดแทนการปลูกข้าวโพด โดยธนาคารออมสินได้จัดงบประมาณ 6,900,000 บาท มาสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานแปรรูปกาแฟให้กับชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และเปิดดำเนินงานแล้ว (100%) และมีเกษตรกรนำเมล็ดกาแฟเชอร์รี่ (สีแดง) มาใช้บริการโรงแปรรูป เป็นเมล็ดกาแฟกะลา ก่อนส่งขายให้โรงคั่ว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จากเดิมมีรายได้จากการขายเมล็ดกาแฟเชอร์รี่กิโลกรัมละ 20 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากนำมาแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟกะลา ขายได้ราคากิโลกรัมละ 200 บาท

หนุนชาวบ้าน 37 ราย ทำ “โฮมสเตย์” อาชีพเสริม

และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศของพื้นที่เป้าหมาย ส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงาม โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็น จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยธนาคารได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ “อพท.” , กรมการท่องเที่ยว และบริษัท AIRBNB ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ธุรกิจโฮมสเตย์รายใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบกิจการโฮมสเตย์เป็นรายได้เสริมในช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยธนาคารได้จัดวิทยากรมาฝึกอบรมให้ชาวบ้านมีความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ รวมทั้งยังสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ประกอบกิจการ ปัจจุบันมีชาวบ้านในพื้นที่ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์เพิ่มขึ้นเป็น 37 ราย จากเดิมที่มีโฮมสเตย์เพียง 11 ราย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว

ตั้งธนาคารโรงเรียน 8 เดือน เด็กแห่ออมเงินกว่า 8 แสนบาท

หลังจากที่ธนาคารเข้าช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ภารกิจต่อไปก็ต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านออมเงิน โดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านห้วยฟองให้เริ่มมีเงินออมเป็นครั้งแรก รวมทั้งจัดตั้งธนาคารโรงเรียนรูปแบบพิเศษให้กับเด็กนักเรียนและครูของโรงเรียนบ้านห้วยฟอง และโรงเรียนบ้านเปียงซ้อ เปิดดำเนินการมาได้แค่ 8 เดือน ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้มีเงินออมรวมกันกว่า 8 แสนบาท นับเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งด้วยการปลูกฝังการออมให้กับเด็กนักเรียน

นอกจากนี้ธนาคารยังไปติดตามความคืบหน้าของภารกิจด้านอื่นอีกหลายด้าน อาทิ มิติด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ธนาคารออมสินได้ติดตั้งระบบ Solar System หรือ “แผงโซล่าเซลล์” ให้กับโรงเรียนบ้านห้วยฟอง ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงเรียน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้โรงเรียนและชุมชนข้างเคียง ช่วยประหยัดงบประมาณของโรงเรียน จากเดิมโรงเรียนมีภาระต้องจ่ายไฟฟ้าเดือนละ 15,000 บาท หลังติดตั้งระบบ Solar System ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือเดือนละ 3,000 บาท อีกทั้งยังปรับปรุงระบบน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยติดตั้งถังกักเก็บน้ำขนาดใหญ่พร้อมระบบกรองน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการบริโภค และจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ ปรับปรุงระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งยังสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียน , อุปกรณ์การเรียน , ปรับปรุงสนามกีฬา และสนับสนุนทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ , บ่อเลี้ยงปลา และแปลงปลูกผัก ผลไม้สำหรับโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน

ส่วนภารกิจด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต ธนาคารได้มอบจักรยานยนต์ ชุดอุปกรณ์การแพทย์ และอาคารส่งเสริมสาธารณสุขหมู่บ้านให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย และผู้สูงอายุในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงสนับสนุนระบบอากาศมาตรฐานการแพทย์สำหรับคลินิคทันตกรรม และอุปกรณ์การแพทย์ห้องฉุกเฉินให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวย้ำว่า “โครงการ Holistic Area-Based Development ของออมสิน คือ การพัฒนาชุมชนแบบองค์ร่วม คำว่า องค์รวม หมายถึงทำหลายด้านพร้อม ๆกัน ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดโยงกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่ และตอบโจทก์การเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยนำกำไรจากการประกอบธุรกิจมาช่วยเหลือสังคมภายใต้กรอบแนวคิด CSV : Creating Shared Value และเหตุที่พาสื่อมวลชนมาดูงานในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้ คือ ผมอยากจุดประกายให้หน่วยงานอื่น ๆ ใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชน ช่วยกันเข้ามาดูแล อาจจะแบ่งกันคนละชุมชน หรือ คนละพื้นที่ ต่อกันเป็นจิ๊กซอว์ทั้งประเทศ ผมเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ล่าสุดผมได้สั่งให้ทีมงานหาพื้นที่ ขยายผลทำโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมในพื้นที่อื่นต่อไป”

  • GSB Forum 2023 : ธนาคารออมสิน ชูแนวคิด CSV มุ่งเสาหลัก ‘คน’ และ ‘สังคม’ เดินหน้าสู่ความยั่งยืน
  • GSB Forum 2023 : CSV ฉบับธนาคารออมสินสร้างเครือข่ายร่วม “ลดความเหลื่อมล้ำ-ความยากจน”
  • ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “วิทัย รัตนากร” ชู Social Bank เต็มรูปแบบ นำแบงก์รัฐมุ่ง “ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน”
  • ‘วิทัย รัตนากร’ ผอ.ออมสิน คว้ารางวัล “Banker of the Year” 3 ปีซ้อน