ThaiPublica > คนในข่าว > “วิทัย รัตนากร”ตอกย้ำ ‘ออมสิน’ ธนาคารเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนด้วย ESG

“วิทัย รัตนากร”ตอกย้ำ ‘ออมสิน’ ธนาคารเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนด้วย ESG

14 กุมภาพันธ์ 2021


นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

เดือนกรกฎาคม 2563 “วิทัย รัตนากร” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 17 พร้อมประกาศบทบาท social bank ธนาคารแห่งการช่วยเหลือสังคม ในมิติการบรรเทาปัญหาหนี้สิ้นและลดภาระดอกเบี้ยให้กับสังคมฐานราก

นายวิทัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ภายใต้วิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นจากการกระบาดระลอกใหม่ ยิ่งกลายเป็นความท้าทายของธนาคาร เนื่องจากด้านหนึ่งธนาคารยังต้องดำเนินธุรกิจตามปกติ แต่อีกด้านก็ต้องช่วยเหลือประชาชนตามเจตนารมณ์และตามพันธกิจของรัฐบาล ดังนั้น ความท้าทายของธนาคารออมสินคือการเดินควบทั้งสองทางโดยตอบโจทย์ทั้ง ‘ธุรกิจ’ และ ‘สังคม’

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ “ไทยพับลิก้า” ว่า นับจากประกาศวิสัยทัศน์สู่การเป็น “social bank” หรือธนาคารเพื่อสังคมแล้ว การดำเนินงานทุกมิติของออมสินจะนำหลักการด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ทั้งภายในองค์กร และทำให้เกิดผลกระทบสู่สังคม โดยมีเป้าหมายหลักคือทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

อนาคตออมสินบนแนวทาง ‘ความยั่งยืน’

เบื้องหลังแนวคิดของนายวิทัย ได้นำหลักการสร้างความยั่งยืนทั้ง ESG, sustainability และ responsible banking มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบทบาทของธนาคารออมสิน ซึ่งแต่ละแนวคิดอาจแตกต่างกัน แต่สำหรับนายวิทัยมองว่า การยึดถือทั้ง 3 คำมาใช้ดำเนินงาน ทำให้แนวการทำงานของออมสินชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะทั้งสามคำมีเป้าหมายที่ใกล้เคียงกันคือการสร้างความยั่งยืนให้องค์กรและสังคม

“ผมทำทั้ง ESG, sustainability และ responsible banking การเป็นธนาคารที่รับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม ทั้งสามเรื่องมันมีสิ่งที่ทับซ้อนกัน วิ่งไปทางเดียวกัน สอดคล้องกัน แต่ไม่ตรงกันเป๊ะพอดี เช่น ถ้าจะเป็นResponsible Banking ธุรกิจก็ต้องสอดคล้องกับ ESG ต่อไปเราต้องมีทำหลายส่วน เป็น negative list ไม่ให้สินเชื่อเกี่ยวกับอบายมุข ต่อไปอาจจะเป็น positive list หรือให้คะแนน ทุกตัวต้องบอกคะแนน ESG ว่าต้องเท่าไหร่ ต้อง 3 ขึ้นไปถึงจะลงทุน หรือสกอร์ 7 ลดดอกเบี้ยให้อีก เป็นต้น”

“ถ้าเราทำเรื่อง sustainability ได้ ก็แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนได้ และมันก็เป็น ESG ของ social ด้วย ส่วน responsible banking เป็นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบในเรื่อง people, planet และ profit ดังนั้น ถ้าเราช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ มันก็เป็นเรื่องที่วิ่งสอดคล้องกัน ”

6 เดือนแรกของนายวิทัยหลังรับตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน’ คือปรับภาพลักษณ์และกำหนดทิศทางใหม่ให้ออมสินเป็นธนาคารที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม (impact) โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ ลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

นอกจากนี้บทบาทของออมสิน ประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ “เงินกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต” เน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมและเหมาะสม และมิติถัดมาคือ “การพัฒนาคน” โดยมุ่งเน้นไปที่ประชาชนฐานรากและเอสเอ็มอี

“ในภาพใหญ่ ผมใช้แคมเปญว่าเป็น social bank ให้เป็นมากกว่าการธนาคาร คือเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผมใช้คำว่า ‘social bank’ เพราะต้องการเน้นว่าทำจริงจัง เกิดอิมแพกต์ ผมถึงบอกทุกคนว่าถ้าทำแล้วไม่เกิดอิมแพกต์ อย่าทำดีกว่า ผมอาย ผมอายจริงๆ นะ ทำแล้วปลอมๆ… ผมบอกว่าเราเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผมเลยใช้ภาษาอังกฤษว่า making positive impact on society ผมไปที่ไหนก็พูดอย่างนี้”

“ผมใช้เวลา 6 เดือนแรกทำเรื่องการเคลื่อนธนาคารให้มีภาพของการเป็นธนาคารเพื่อสังคมชัดเจน สร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กรและทำให้เกิดอิมแพกต์ขึ้นจริง… ผมเลยปรับจุดยืนให้ไปในทางช่วยคน แต่เราก็ต้องไม่ขาดทุน ต้องมีกำไรบ้าง เพราะการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งมันต้องมีความสำเร็จระยะสั้นมาสนับสนุน เพราะการทำเรื่องใหญ่ให้สำเร็จมันใช้เวลาสอง-สามปีกว่าจะเห็นผล ไม่งั้นองค์กรมันอยู่ไม่ได้ ถึงจะมีซัพพอร์ตช่วงแรก แต่มันจะตก ดังนั้นจึงต้องมีความสำเร็จระยะสั้นเพื่อดึงขึ้นไปต่อจนกว่าจะถึงปลายทางอีกสามปีที่ทุกคนรอคอย”

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 คือ ออมสินให้สินเชื่อ 10,000 บาท เข้าถึงแล้วกว่า 1.7 ล้านคน จากเดิมที่ให้สินเชื่อประมาณ 400,000 คน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจากปกติที่มีลูกค้า 3.5 ล้านคนก็คาดหวังให้ดอกเบี้ยในตลาดลดลงจากสภาวะปกติ 

“แต่ละโครงการที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญหรือจุดยืนต้องเกิดผลจริง จับต้องได้เป็นตัวเงินหรือตัวคน เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เราต้องวัดผลได้ว่าดอกเบี้ยในตลาดจาก 28% ถึง 24% ต้องลดลงเหลือ 18% ให้ได้ มันอาจจะมีมากกว่า 18% บ้าง แต่ค่าเฉลี่ยต้องลดจากเดิม ถ้าทำได้ก็เกิดอิมแพกต์”

ถัดมาเป็นการสร้างศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ให้เข้าถึงตลาด และขยายความช่วยเหลือไปยังชุมชน ช่วยให้ประชาชนได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมี “สมุยโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทย

  • ออมสินชู “สมุยโมเดล” ต้นแบบโครงการพลิกฟื้นท่องเที่ยวไทย
  • ในมาตรฐานการปฏิบัติงานสินเชื่อ ออมสินมีหลักการ negative list โดยไม่สนับสนุนธุรกิจที่ผิดหลักการ ESG เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย อบายมุข สิ่งมอมเมาต่างๆ ตลอดจนธุรกิจที่ผิดหลักธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม หรือใช้แรงงานเด็ก

    “ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ตัว หลักๆ คือตัว G governance ธรรมาภิบาล ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน ผมมองว่าถ้าแก้ปัญหา governance ไม่ได้มันไปต่อยาก เราเป็นหลักในการช่วยแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้ ถึงออมสินไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด แต่ผมคิดว่าเรามีความแข็งแรงและเครือข่ายที่จะช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้มาก”

    “ตอนผมอยู่ กบข. เราทำ ESG score แปลว่าทุกตัวที่เป็นตราสารทุน ตราสารหนี้ ต้องมีการประเมินคะแนน แต่ละกลุ่มทั้ง E, S และ G มีอย่างละ 10 คะแนน สมมติคะแนนคุณต่ำกว่า 3 เราจะไม่ลงทุนเลย ถ้ามากกว่า 3 คะแนนลงทุนได้ แต่ถ้าเกิน 7 คะแนน ดอกเบี้ยที่เราจะซื้อจะลดให้ 10-20 ปี หรือถ้าหุ้น 100 บาท อาจจะกลายเป็น 105 บาท เงินลงทุนที่ลงตราสารหนี้ปกติลง 100 ล้านถ้าเกิน 7 อาจกลายเป็น 150 ล้าน ลงหุ้นตัวนี้ 1,000 ล้าน อาจจะเป็น 1,100 ล้าน เพราะความเสี่ยงต่ำลง นี่คือสิ่งที่ทำเสร็จที่ กบข. แล้วผมก็ออกมาเลย ไม่ได้พีอาร์ด้วย”

    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

    นายวิทัยกล่าวต่อว่า ในอนาคตจะมีการนำ ESG score เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น โดยจะพิจารณาการให้สินเชื่อว่าธุรกิจนั้นๆ ได้ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG หรือไม่ และนำมากำหนดเป็น positive list ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายย่อยสนใจประเด็น ESG มากขึ้น โดยช่วงแรกอาจเริ่มจากการประเมิน ESG กับธุรกิจที่มีรายได้ตั้งแต่ 100-500 ล้านบาท และตัดขาดจากธุรกิจที่เข้าข่าย negative list

    “ถามว่าเห็นภาพชัดแค่ไหน พูดตรงๆ ยังไม่เห็นภาพชัดขนาดนั้น แต่เริ่มแล้ว ปี 2564 คงเห็นภาพชัด แต่จะเสร็จถึงปลายทางไหม อาจจะยังไม่ถึง แต่เรามีนโยบายชัดเจน ธุรกิจผิดกฎหมายผิดศีลธรรมไม่ทำ อันที่ไม่ทำจะกว้างขึ้น และทำแล้วจะกระจายให้แบงก์รัฐอื่นๆ หวังว่าจะพัฒนาร่วมกัน”

    ความคาดหวังให้ช่วยเหลือสังคม

    นายวิทัยกล่าวต่อว่า ธนาคารออมสินปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบและช่วยให้คนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขณะเดียวกันออมสินก็ต้องดำเนินธุรกิจตามปกติ แต่ถูกคาดหวังให้ช่วยเหลือสังคมมากกว่าธนาคารพาณิชย์

    วิธีการที่ออมสินใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความคาดหวังว่าจะต้องช่วยเหลือสังคมมี 2 วิธี

    วิธีการแรกขอ ‘เงินสนับสนุน’ จากรัฐบาลในบางกรณี โดยนายวิทัยยกตัวอย่าง กรณีคิดดอกเบี้ย 0.1% ของ 10,000 บาทให้กับ 1.7 ล้านคน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยที่ 2% โดยกรณีนี้ออมสินได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งยังสร้างอิมแพกต์ให้สังคมโดยทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม

    วิธีการถัดมาคือ ‘ลดดอกเบี้ย’ โดยอาศัยกำไรดอกเบี้ยส่วนเกินในตลาด โดยนายวิทัยอธิบายว่า

    “ผมเล่นกับส่วนต่างส่วนเกินที่มีการเอาเปรียบคนมากเกินไป อย่างสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ดอกเบี้ย 28% หรือ 24% แต่เราไปเริ่มที่ 16%, 18% ผมเข้าไปแทรกแซงทำผลิตภัณฑ์โดยอาศัยกำไรส่วนเกิน ผมลดกำไรที่เขาคิดเกินมากมายมาช่วยคน ถามว่าผมเสียหายไหม ผมก็นึกไม่ออกว่าจะเสียหายยังไง ลูกค้าก็กลุ่มเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาผมไม่เคยคิดดอกเบี้ย 18% แต่คนอื่นชาร์จเกินเลยเท่านั้นเอง”

    นายวิทัยกล่าวต่อว่า ภารกิจระยะสั้นอีก 3-4 เดือนคือแก้ไขปัญหาหนี้-ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น ‘หนี้เสีย’ (NPL) ทำให้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปในตัว รวมถึงแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการครูและตำรวจ

    อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติโควิด-19 ออมสินได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด บรรเทาปัญหาทางการเงินแก่ผู้เดือดร้อน ซึ่งวิธีการดังกล่าวเปรียบเสมือนการ ‘ซื้อใจ’ ระหว่างธนาคารและลูกค้า เพราะต่อให้ต้องจ่ายชำระหนี้ก็จะไม่สามารถเก็บเงิน ดังนั้นทางออมสินจึงตัดสินใจให้พักชำระหนี้เพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด

    นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

    ความยั่งยืนทั้งภายนอกและภายใน

    นายวิทัยกล่าวต่อว่า ก่อนจะสร้าง ‘ความยั่งยืน’ ให้มีภาพจำว่าเป็น social bank และสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม จำเป็นต้องมี 2 องค์ประกอบ คือ

    (1) งบแสดงฐานะการเงิน (balance sheet) ที่แข็งแรง เพื่อให้องค์กรไปต่อได้โดยมีเงินในกองทุนฯ สูงกว่าหมื่นล้าน เพื่อให้สูงกว่าเกณฑ์

    (2) ภายในองค์กรต้องแข็งแรง โดยเฉพาะคณะผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะต้องมองเห็นภาพเดียวกัน และวิ่งไปทางเดียวกัน

    การปรับตัวภายในองค์กรให้พนักงานมองเห็นภาพปลายทางเดียวกันไม่ใช่โจทย์ที่ยากสำหรับออมสิน โดยนายวิทัยอธิบายว่า ออมสินเป็นธนาคารที่ทำงานกับชุมชนและชาวบ้านมาโดยตลอด ทำให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจการเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารเพื่อสังคม เนื่องจากเห็นภาพปลายทางแบบเดียวกัน

    “พนักงานกับลูกจ้างต้องแข็งแรง ผมต้องดูแลพนักงานและลูกจ้างภายใน ทุกคนต้องวิ่งไปทางเดียวกัน ไม่ใช่ข้างล่างไม่ชอบข้างบน ข้างบนไม่สนใจข้างล่าง เราช่วยแต่คนข้างนอก แต่ข้างล่างไม่อยู่ดีกินดีก็อยู่ไม่ได้ มีปัญหา จะให้แข็งแรง ข้างล่างต้องแข็งแรงต้องไปกับผู้บริหาร เป็นธนาคารเพื่อสังคมต้องเต็มใจเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน”

    “เวลาผมพูดถึงคำว่ายั่งยืน sustainability มันต้องยั่งยืนทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือผมช่วยลูกค้า แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และผมทำตามนโยบายรัฐบาล ความยั่งยืนเราคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนับสนุนเรา รัฐ ลูกค้า พนักงาน ต้องเห็นว่าสิ่งที่คุณทำถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือธุรกิจ”

    “เวลาบอกว่า ‘ความยั่งยืน’ มันไม่ใช่กดปุ่มแล้วฉันยั่งยืน แล้วจบ”