ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > GSB Forum 2023 : CSV ฉบับธนาคารออมสินสร้างเครือข่ายร่วม “ลดความเหลื่อมล้ำ-ความยากจน”

GSB Forum 2023 : CSV ฉบับธนาคารออมสินสร้างเครือข่ายร่วม “ลดความเหลื่อมล้ำ-ความยากจน”

4 ธันวาคม 2023


21 พ.ย. 2566 ธนาคารออมสินจัดงานสัมมนา GSB Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ ESG : Social Pillar Driven “สังคมยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เปิดมุมมองการพัฒนาของโลกยุคปัจจุบัน ที่มี “ผู้คนและสังคม” เป็นเสาหลักขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

ต่อจากตอนที่แล้ว GSB Forum 2023 : ธนาคารออมสิน ชูแนวคิด CSV มุ่งเสาหลัก ‘คน’ และ ‘สังคม’ เดินหน้าสู่ความยั่งยืน 

นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRANDi and Companies

People & Planet คือข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRANDi and Companies กล่าวในหัวข้อ “The New Competitive and Collaborative Advantages : Creating Shared Value (CSV)” ว่า ในทางการตลาดพยายามพูดถึง ‘การเอาเงินออกจากกระเป๋าคน’ แต่ปัจจุบันเมื่อความยั่งยืนเป็นกระแสหลัก ธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีคิดเป็นการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างความยั่งยืนให้โลก เพราะถ้าไม่นำความยั่งยืนใส่เข้าไป ธุรกิจจะเจ๊งในที่สุด

นายปิยะชาติ เล่าว่า ตนมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศและพบว่าหลายองค์กรมักถามว่า “ความยั่งยืนต้องการธุรกิจไหม” หรือ “ไม่มีธุรกิจความยั่งยืนเกิดได้หรือไม่” ซึ่งเป็นคำถามสำคัญ

“วันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่าง People (คน) และ Planet (สิ่งแวดล้อม) สู้กับ Profit ฝั่งไหนชนะไม่รู้ แต่ถ้าเอกชนมองกำไรสูงสุด ปัญหาสังคมมันจะไม่จบ ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หรือสิ่งแวดล้อม”

นายปิยะชาติให้ข้อมูลว่า ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคือธุรกิจที่ดำเนินตามความต้องการของสังคม ดังนั้นธุรกิจที่สำเร็จจะต้องทำเรื่องคนและสิ่งแวดล้อมไปด้วย ไม่อย่างนั้นธุรกิจจะไม่ได้รับการยอมรับในรูปแบบ Social License to Grow

“People กับ Planet เป็น New Competitive Advantage (ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน) สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ใครทำเก่ง ดีกว่า มีประสิทธิภาพและ productivity สูงกว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่เมื่อ Landscape การแข่งขันเปลี่ยนไป มีปัญหาทั้งโลกร้อน โลกเดือด ความยากจน ถ้าธุรกิจแก้ปัญหาเหล่านี้จะประสบความสำเร็จทางการเงิน”

ความต้องการของโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ทำให้เกิดองค์กร BRANDi ด้วยจุดประสงค์เพื่อต้องการเปลี่ยนธุรกิจแบบเดิม (Conventional Business) เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business) จากนั้นไปร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก จนทำให้ทุกวันนี้ BRANDi สามารถบอกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีส่วนร่วมบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ครบ 17 ข้อ

นายปิยะชาติ กล่าวต่อว่า ธุรกิจหันมาทำ CSR (Corporate Social Responsibility) โดยใช้งบประมาณก้อนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่วิธี CSR ไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะแก้ปัญหาระยะสั้น ช่วยคนที่ล้มให้ลุกขึ้นยืนได้ แต่ยังไม่สามารถเดินด้วยขาตัวเอง อย่าง

จากนั้นจึงมีแนวคิดเรื่อง CSV (Creating Shared Value) โดยเน้นไปที่การให้คุณค่ากับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แล้วนำวิธีการปัญหาใส่ไปในกลยุทธ์ธุรกิจ

“การเปลี่ยนจาก CSR เป็น CSV ไม่ใช่การกดสวิทซ์ แต่เป็น Transition โดยมองเป้าหมาย People และ Planet”

“ถ้าจะเป็นธุรกิจที่เป็น CSV ให้ถามตัวเองว่า ธุรกิจได้ทำให้ใครเติบโตหรือมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดมีรากฐานที่เข้มแข็ง ทำให้ตลาดมีบรรทัดฐานใหม่จากสิ่งที่ถูกต้องหรือยัง” นายปิยะชาติ กล่าว

เสวนาหัวข้อ “Inspiring Discussion: CSV Success Stories Well Told”

ออมสินชู CSV ลดความเหลื่อมล้ำ-แก้ปัญหาความยากจน

ถัดมาเป็นเวทีเสวนาหัวข้อ Inspiring Discussion: CSV Success Stories Well Told โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล, นายเจริญ ดวงสุวรรณ ผู้จัดการสถาบันการเงินประชาชน ตำบลน้ำขาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย, นายอภิวิชญ์ ประสาร โครงการน่าน ประธานวิสาหกิจชุมชนกาแฟแปลงใหญ่ไทยลั๊วะหกบ้านบนขุนน่าน และนางสาวมัลลิกา บุญสุขา นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรพณิชยการ ตัวแทนธนาคารโรงเรียน ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวไดอาน่า จงจินตนาการ

นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล กล่าวถึงบทบาทการทำ CSV ใน 2 มิติของธนาคารออมสินคือ (1) ลดความเหลื่อมล้ำ และ (2) แก้ปัญหาความยากจน โดยวิธีการคือเน้นการมีส่วนร่วมจากความต้องการของชุมชน พัฒนาชุมชนให้ความแข็งแรง และสร้างเครือข่ายพันธมิตร ทั้งหมดทำให้ชุมชนพึ่งพิงตัวเองได้และเกิดความยั่งยืน

นางบุญรักษ์ ยกตัวอย่างการลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการพัฒนา ‘ชุมชนบ้านท่าโพ’ จังหวัดอุทัยธานี โดยก่อนที่ธนาคารออมสินเข้าไปทำ CSV ชุมชนมีปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร เนื่องจากชุมชนอยู่นอกเขตชลประทาน ยิ่งกว่านั้นในปี 2562-2563 ยังเป็นวิกฤติหนักสุดในรอบ 50 ปี เพราะชาวบ้านต้องซื้อน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค

ธนาคารออมสินจึงใช้หลักการ “สร้าง พัฒนา รักษา” เริ่มจากสร้างบ่อบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ และดึงจุดขายเพลงพื้นฐานท่าโพ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนมาต่อยอด ตลอดจนรักษาระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อม เช่น สนับสนุนให้ทำเกษตรอินทรีย์และส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทน

“พอชุมชนมีแหล่งน้ำ น้ำก็จะสร้างทุกอย่างในชุมชน น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ นำไปสู่การทำเกษตร อาหาร ชุมชนเกิดการขับเคลื่อนและมีอาชีพเสริม เขาไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำ มีรายได้เพิ่มขึ้น”

อีกหนึ่งผลงานคือการพัฒนาชุมชน ‘เนตรฤทัย ทอด้วยใจ แทนตา’ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีผู้พิการทางสายตา และอยู่บนพื้นที่ภูเขาสูง ดังนั้นธนาคารออมสินจึงเข้าไปพัฒนาความรู้ทางการเงิน พัฒนาผลิตภัณฑ์ลายผ้าเนตรฤทัย เป็นภูมิปัญญาชุมชนที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์ จากนั้นยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว และในอนาคตมีแผนจะจัดตั้งกองทุนเนตรฤทัย เพื่อช่วยเหลือผู้พิการซ้ำซ้อน

มิติถัดมาคือ การแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการออมตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็น โครงการส่งเสริมการออมรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนธนาคารโรงเรียน เพื่อให้เด็กซึมซับเรื่องการออม

“เราส่งเสริมการออมเป็นภารกิจหลัก ทำเรื่องธนาคารโรงเรียน ให้เด็กเป็นนายแบงก์กันเอง ในอดีตไม่ยั่งยืนเพราะพอเด็กจบก็ปิดบัญชี ไม่ออมต่อ วันนี้ยกระดับธนาคารโรงเรียนเป็น Digital School Bank เมื่อเด็กจบไป เงินฝากเป็นเงินฝากจริงกับธนาคาร เขาออมต่อวัยทำงานไปจนถึงวัยเกษียณ”

“ออมสินขับเคลื่อนเป็นธนาคารเพื่อสังคม ช่วยเป้าหมายการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และโลกที่ยั่งยืน ในการเป็นสถาบันการเงินที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน กลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ”

“เราคงไม่สำเร็จในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและโลกที่ยั่งยืนได้ ถ้าพวกเราทุกคนในประเทศไทยไม่ร่วมมือกันขับเคลื่อน ออมสินเป็นหน่วยงานหลักในการเป็นสถาบันการเงินที่ทำเรื่องนี้ อยากทำให้ทุกองค์กรในประเทศไทยยกระดับความร่วมมือการช่วยกันสร้างโลกและสังคมที่ยั่งยืน”

การเงินภาคประชาชน

นายเจริญ ดวงสุวรรณ ผู้จัดการสถาบันการเงินประชาชน ตำบลน้ำขาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า สถาบันการเงินประชาชน มีสถานะเป็นนิติบุคคล ได้รับการรับรองจาก พ.ร.บ. สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 มีบทบาททางการเงินต่อคนในชุมชน และช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน

“สถาบันการเงินประชาชนจะใกล้ชิดกับสมาชิกมากที่สุด คนในชุมชนเป็นหนี้นอกระบบ ผมdHทราบว่าเขาติดขัดเรื่องอะไร เราก็ช่วยกัน ใช้เวลา 2 ถึง 3 วันก็ปล่อยสินเชื่อปิดหนี้นอกระบบได้ แต่ถ้าไปธนาคารของรัฐ กว่าจะจะเดินทางไปก็นานโข ใช้เวลานาน”

นายเจริญ กล่าวต่อว่า ธนาคารออมสินเข้ามาสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันฯ จนทำให้สถาบันการเงินประชาชน ตำบลน้ำขาวอำเภอจะนะ เป็นสถาบันการเงินฯ แห่งแรกในภาคใต้ และแห่งที่ 2 ของประเทศไทย นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังช่วยพัฒนาให้สถาบันฯ มีระบบอย่างมืออาชีพมากขึ้น เพราะธนาคารฯ เข้ามาให้ความรู้ จัดการเอกสาร รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการตรวจสอบบัญชีมาต่อเนื่องทุกปี

ขณะที่ นางสาวมัลลิกา บุญสุขา นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรพณิชยการ และตัวแทนธนาคารโรงเรียน กล่าวว่า ธนาคารออมสินส่งเสริมการออมด้วยการเข้ามาพัฒนาระบบธนาคารโรงเรียน ฝึกอบรม ให้ความรู้และสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ

วิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรพณิชยการร่วมโครงการธนาคารโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 และเปลี่ยนเป็นธนาคารดิจิตอลวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยมีบทบาทเรื่องการรับฝากเงิน มีครูและนักศึกษาจิตอาสาทุกระดับ 6 คนต่อเทอม มาให้บริการภายในโรงเรียน

“การปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโรงเรียน ทำให้มีทักษะการทำงานจริง เช่น การคีย์ข้อมูล หรือกรอกเอกสารที่เกี่ยวกับการออม การบริหารเวลา ทำให้นักศึกษาทุกคนมีอาวุธทางการออม และมีนวัตกรรม ‘3ต’ คือ ต้องตั้งเป้าหมาย ต้องเริ่มทำทัน และต้องต่อเนื่องทุกวัน จนเป็นรากฐานการดำเนินชีวิต”

แก้ปัญหาความยากจน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน-เด็กออทิสติก

นายอภิวิชญ์ ประสาร ประธานวิสาหกิจชุมชนกาแฟแปลงใหญ่ไทยลั๊วะหกบ้านบนขุนน่าน กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกาแฟฯ เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ทำให้ชุมชนมีผลิตภัฑณ์การแฟที่มีมูลค่าสูงขึ้น

“การรวมกลุ่มกันครั้งแรกตั้งเป็นกลุ่มกาแฟแปลงใหญ่ไทยลั๊วะ ทำกาแฟเพิ่มมูลค่า จากที่ขายแค่เชอร์รี่ มาต่อยอดแบบคั่ว มีแพคเกจจิ้ง มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยส่งเสริม เรื่องดิน ปุ๋ย เครื่องมือจักร เครื่องคั่วกาแฟ พอปี 2564 เป็นวิสาหกิจชุมชน ทำแปลงใหญ่รวมสมาชิก 6 หมู่บ้าน ไม่ต่ำกว่า 144 คน พื้นที่ 585 ไร่”

“สมัยก่อนกาแฟตกเกรดไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีคนซื้อถูกก็ขายไป แต่ธนาคารออมสินเห็นว่าสามารถเอามาแปรรูปเป็นแชมพูกาแฟได้ พอเราทดลองทำการตลาด 100 ขวด ออกงานที่อิมแพคเมืองทอง ขายหมดจนออเดอร์ตามมา วันนี้นำร่องแชมพูกาแฟ ต่อยอดไปครีมนวด และกาแฟดริป” นายอภิวิชญ์ กล่าว

ด้านนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่ามูลนิธิออทิสติกไทยสร้างขึ้นจากการรวมกลุ่มผู้ปกครอง ปัจจุบันมีสาขา 40 แห่งทั่วประเทศ และมีสมาชิกมากกว่า 10,000 ครอบครัว

“ผมค้นพบว่าเด็กออทิสติกมีความสามารถที่แฝงอยู่ เราทำศิลปะบำบัดให้ลูกทุกวัน และเอาผลงานทิ้งไปเรื่อยๆ ไม่เคยเก็บมาชื่นชม สุดท้ายเริ่มเห็นคุณค่า และมีลูกค้า ไม่ใช่แค่ภูมิใจ สังคมให้การยอมรับคนพิการ ยอมรับในศักยภาพ ไม่ใช่แค่สงสาร แต่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เด็กทำ”

โดยธนาคารออมสินเข้ามาช่วยสนับสนุนสินค้าจากเด็กออทิสติก โดยเฉพาะผลงานศิลปะบนกระปุกออมสิน ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานรูปแบบต่างๆ ของมูลนิธิ

“สักวันเราไม่อยู่แล้ว เราจะมีอะไรให้ลูกหลานเด็กพิเศษบ้าง เลยคิดเรื่องอาชีพ มีคนมาจ้างงาน สร้างงานและยอมรับในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ขอให้ยอมรับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราก็พอใจ เคารพในคุณค่า ไม่ได้มองว่าเด็กออทิสติกเป็นผู้มีความแตกต่างในสังคม เราพยายามเปลี่ยนวิธีคิดและดึงศักยภาพเด็กออกมา”

นายชูศักดิ์กล่าวว่า “กลไกความยั่งยืนคือ เขาพึ่งตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิต การสนับสนุนผลงานคนพิการ 1 ชิ้นไม่ได้มีมูลค่าแค่ราคา แต่มันคือ CSV ทำให้เขามีแรงบันดาลใจที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีงาน มีอาชีพ มีเงิน มีเงินฝากออม ครอบครัวมีพลังเดินต่อไป”