ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > GSB Forum 2023 : ธนาคารออมสิน ชูแนวคิด CSV มุ่งเสาหลัก ‘คน’ และ ‘สังคม’ เดินหน้าสู่ความยั่งยืน

GSB Forum 2023 : ธนาคารออมสิน ชูแนวคิด CSV มุ่งเสาหลัก ‘คน’ และ ‘สังคม’ เดินหน้าสู่ความยั่งยืน

30 พฤศจิกายน 2023


21 พ.ย. 2566 ธนาคารออมสินจัดงานสัมมนา GSB Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ ESG : Social Pillar Driven “สังคมยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เปิดมุมมองการพัฒนาของโลกยุคปัจจุบัน ที่มี “ผู้คนและสังคม” เป็นเสาหลักขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ภารกิจ Duo Mission แตกธุรกิจช่วยคนตัวเล็ก

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในหัวข้อ “How Does Social Bank Work on The Journey toward Sustainability?” ว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศคือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน แต่อย่างน้อยถ้าทุกคน-ทุกองค์กรช่วยกัน ก็จะบรรเทาปัญหาได้

“นอกเหนือจากเรื่อง ESG และ Net Zero ที่เราต้องเดินหน้า ผมอยากให้เราช่วยกันทำเรื่องสังคม ช่วยคนจน บรรเทาปัญหาความยากจน มันเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวมาก และอิมแพคจริงๆ”

นายวิทัย กล่าวต่อว่า หลายหน่วยงานทำงานด้านสังคมในลักษณะ ‘CSR’ (Corporate Social Responsibility) ซึ่งมักจะมองเป็น ‘ต้นทุนในการทำเพื่อสังคม’ โดยเฉพาะการใส่งบประมาณไปในโครงการแล้วจบ ไม่เกิดความต่อเนื่อง และไม่ได้แก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน

นายวิทัย จึงเสนอให้องค์กรเปลี่ยนมุมมองแนวคิดการช่วยเหลือสังคมจาก CSR เป็น CSV (Creating Share Value) เพราะ CSV เป็นการเอาปัญหาสังคมใส่ไปในธุรกิจ หรือปรับทิศทางการทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม และองค์กรจะไม่เห็นว่าโครงการด้านสังคมคือต้นทุนในการดำเนินการ แต่การช่วยสังคมคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาโครงสร้างอายุ-ประชากร การกระจายรายได้ ปัญหาความไม่แน่นอน ตลอดจน โควิด-19 สงคราม และวิกฤติโลกรวน (climate change)

ดังนั้น ธนาคารออมสิน จึงปรับแนวคิดเป็น ‘ธนาคารเพื่อสังคม’ หรือ Social Bank นับตั้งแต่วันที่ตนเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฯ จากนั้นใช้กลยุทธ์ Duo Mission โดยด้านหนึ่งทำธุรกิจแบบธนาคารพาณิชย์คือ ขณะเดียวกันก็นำกำไรจากธุรกิจหลัก ไปทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Project) เพื่อสนองกลยุทธ์ในด้าน people (คน) และ planet (สิ่งแวดล้อม)

“เราสร้างสองธุรกิจแยกออกจากกัน ด้านหนึ่งเราทำเหมือนแบงก์ปกติ มีกำไรพอสมควร เราเอากำไรจากฝั่งหนึ่ง ไปทำอีกธุรกิจที่เป็นภารกิจเชิงสังคม มันอาจเริ่มจากการขาดทุน ไม่มี Break Even (จุดคุ้มทุน) เพราะเราเอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาช่วยธุรกิจเล็ก…เราเอากำไรมาช่วยคนตัวเล็ก”

นายวิทัย กล่าวต่อว่า ธุรกิจช่วยคนดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 1 คือ ลดความยากจน (No poverty) และข้อ 10 คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน (Reduces Inequalites) แม้ที่ผ่านมาธุรกิจเพื่อคนตัวเล็กจะมีมูลค่าสินเชื่อไม่สูงมาก แต่ในแง่ปริมาณสามารถช่วยคนได้หลักล้านคน

นายวิทัย กล่าวถึงภาพรวมหนี้สินของประเทศของคนฐานรากกว่า 80% ของประเทศไทยว่า ก่อนโควิด-19 หนี้ครัวเรือนแตะที่ 44% แต่หลังจากโควิด-19 หนี้ขยับไปถึง 51% และในจำนวนนี้มีคนถึง 7-8% ที่กู้หนี้นอกระบบ และยอดหนี้ดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นจาก 110,000 บาท/คนเป็น 130,000 บาท/คน มิหนำซ้ำบางคนยังโดนดอกเบี้ยสูงถึง 100%

นายวิทัย ย้ำว่า ดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงสร้างความไม่เป็นธรรม หมุนกลับให้เกิดความยากจนและวงจรความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกต่อเนื่อง

สิ่งที่ธนาคารออมสินเข้าไปแก้ปัญหาคือ เข้าไปสู้ แข่งขันในตลาดที่มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม โดยเอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาโปะขาดทุนธุรกิจเล็ก ตัวอย่างเช่น ธนาคารออมสินเข้าไปในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ที่มีดอกเบี้ยเฉลี่ย 28% แต่ธนาคารเข้าไปแข่งขันด้วยลดดอกเบี้ย 10% จนเหลือ 18% ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เข้าไปแข่งขันเกือบ 2 ปี สามารถช่วยคนได้ถึง 5 ล้านคน

นอกจากนี้ยังสร้างอาชีพผ่านการความรู้เรื่องการเงิน โดยตลอด 3 ปีสามารถสร้างอาชีพให้คนกว่า 400,000 คน และมีการปล่อยสินเชื่อให้อีก 5,000 – 6,000 คน

“ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราออกไปมากกว่า 63 โครงการ ดึงคนเข้าระบบได้มากกว่า 3 ล้านคน วันนี้ลูกค้าฐานราก จากเดิมแค่ 1.59 ล้านคน ตอนนี้เป็น 3.59 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 ล้านคน”

“เรามั่นใจว่าดอกเบี้ยเราต่ำที่สุด ต่ำแบบไม่มีกำไรเหลือเลย เพราะภารกิจส่วนนี้ไม่ได้ต้องการเอากำไร เรามีกำไรจากธุรกิจส่วนใหญ่มาหล่อเลี้ยง เรามีคุณภาพหนี้ที่ดีของธุรกิจใหญ่มาหล่อเลี้ยงธุรกิจเล็ก ทำให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีมาก ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออมสินไม่ถึง 3% กำไรออมสินปีนี้สูงสุด สูงกระทั่งก่อนโควิด-19”

ใส่ปัญหาสังคมในทุกกระบวนการ

นอกจาก Duo Mission แล้ว นายวิทัย กล่าวต่อว่า ธนาคารออมสินได้เพิ่มภารกิจที่ชื่อ ‘Social Mission Integration’ โดยให้พนักงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์ ดูแลคนและดูแลกระบวนการที่สำคัญ ต้องเอาปัจจัยทางสังคมใส่เข้าไปในกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมด และมานำเสนอให้ผู้บริหารฟัง

“เราเห็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่การสั่งกระปุกออมสิน แทนที่จะสั่งบริษัทจีน เปลี่ยนเป็นคนออกแบบโดยมูลนิธิออทิสติก จ้างธุรกิจเพื่อสังคมทำ หรือเมื่อสองปีที่แล้วมีงานกฐิน เราร่วมกับเอกชนซ่อมคอมพิวเตอร์ที่หมดสภาพ ราคา 500 บาท/เครื่อง แล้วไปบริจาคโรงเรียนทุรกันดาร เห็นว่าใช้เงินน้อยมากหรือแทบไม่ใช้อะไรเลย…หรือตู้เอทีเอ็มคนพิการทางสายตา การซื้อของแจก ต้องเชื่อมถึงชุมชน และใส่มิติทางสังคมทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม นายวิทัย ไม่ปฏิเสธว่า ธนาคารออมสินก็ทำ CSR เหมือนกัน แต่ทว่า CSR ก็ต้องเชื่อมโยงกับชุมชนและสังคม ตัวอย่างเช่น การพัฒนาชุมชนร่วมกับแม่ฟ้าหลวงให้เป็น area base โดยพัฒนาชุมชนห่างไกลจังหวัดน่าน เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเป็นกาแฟ เข้าไปช่วยทำโรงคั่วกาแฟให้ได้รายได้สูงขึ้น ทำเตาเผาขยะชุมชน ทำอาหารเด็กชุมชน แก้ปัญหาหนี้ ฯลฯ

นายวิทัย กล่าวต่อว่า ภารกิจ Social Mission Integration ตรงกับแนวคิด CSV เนื่องจากธนาคารนำเรื่องการทำเพื่อสังคมผสมเข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจและทำให้กำไร และเกิดความยั่งยืน

“ทั้งหมดจะทำไม่ได้ถ้าเราไม่แข็งแรง ปี 2566 เราคาดว่าจะมีกำไรประมาณ 33,000 ล้าน สูงกว่าก่อนโควิด-19 มีเงินสำรองสูงสุดตั้งแต่ตั้งออมสินมาเป็นประวัติการณ์ เรามีความแข็งแรง ถ้าไม่แข็งแรงเราทำไม่ได้”

ความยั่งยืนต้องจับมือเดินไปด้วยกัน

ถัดมาเป็นเวทีเสวนาหัวข้อ Inspiring Discussion: Social Pillar Does Matter in Sustainability โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ MR. Renaud Meyer Resident Representative, UNDP Thailand, ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

MR. Renaud Meyer Resident Representative, UMDP Thailand กล่าวว่า เวลาคนนึกถึง ESG จะให้น้ำหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการเป็นสีเขียวเป็นหลัก ทำให้มองข้ามเรื่องสังคม ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นความเท่าเทียม รายได้ โอกาส การมีส่วนร่วม ซึ่งการทำเรื่องสังคมจะช่วยทำให้องค์กรมีศักยภาพการแข่งขันมากขึ้น

MR. Renaud กล่าวต่อว่า เป้าหมายการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 1 คือลดความยากจน แต่การมองแค่จีดีพีต่อหัว ไม่ใช่การดูคุณภาพชีวิตที่แท้จริง หากสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วม (Inclusion) โดยเอาทุกคนมาใส่ในสมการ และส่งเสริมพลังให้เติบโต

“การจะบรรลุเป้าหมาย ไม่ได้มองแค่ตัวเลข แต่มีเรื่องการทำงาน พฤติกรรมในองค์กร การปรับฐานคิดให้เกิดความยั่งยืนในสังคม คือสมการใหม่ของโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้าเราคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจ แยกคนละสมการ โดยไม่คิดถึงตัวแปรสังคม ซึ่งแทรกซึมทุกจุด เราก็ไม่สามารถจะเดินหน้าได้”

MR. Renaud Meyer Resident Representative, UMDP Thailand

MR. Renaud ทิ้งท้ายว่า การที่สังคมจะอยู่อย่างกลมกลืนและเติบโตอย่างยั่งยืน จึงต้องใช้แนวคิด social co-creation ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเติบโต

สังคมแข็งแรง ธุรกิจแข็งแรง

ด้าน ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราอยู่ในประเทศที่ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตขึ้น คนที่รวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนขึ้น ช่องว่างจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ม.ล. ดิศปนัดดา ตั้งคำถามว่า “หากเราอยู่ในประเทศแบบนี้ ธุรกิจจะมั่นคงหรือไม่” เพราะฐานการเติบโตของธุรกิจมาจากความเข้มแข็งของสังคม นำไปสู่คำถามอีกว่า “วันนี้ธุรกิจเป็นเครื่องมือในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือไม่”

ม.ล. ดิศปนัดดา กล่าวต่อว่า การสร้างความยั่งยืนต้องเดินไปพร้อมกันทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม ถ้ามองแต่เงิน ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายธุรกิจจะไปต่อได้อย่างไม่ยั่งยืน

“ปรัชญาการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คือเรื่องการให้โอกาส แต่ถ้าเราให้ ไม่ถูกวิธี มันอาจเป็นการให้เพราะสงสาร เห็นใจ แต่ไม่ได้ให้เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เราต้องสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงาน ผู้รับประโยชน์ควรเข้ามาอยู่ในกระบวนการวางแผนร่วมกับเรา…บางครั้งเราจะมองเป็นน้ำเต็มแก้วตลอดเวลาไม่ได้”

สิ่งที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทำคือ ‘การพาทำ’ ไม่ทำให้ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ แล้วองค์ความรู้จะซึมซึมเข้าไปในคนที่ร่วมงานด้วย แต่ก็มีหลายครั้งที่เข้าไปบริหารแล้วเขาไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ ชุมชนไม่สามารถบริหารงาน หรือจัดการความเห็นที่แตกต่างกันได้ ดังนั้น มูลนิธิฯ จึง ‘พาทำ’ โดยใส่เรื่องศีลธรรมเข้าไปด้วย เพื่อสร้างมวลชนที่มีภูมิคุ้มกัน และเดินต่อได้ในระยะยาว

ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

“วันนี้ธนาคารออมสิน ทำให้เราเห็นว่าการไปด้วยกัน ไปได้ และสำเร็จได้ สิ่งที่อยากเห็นคือคนอื่นๆ พยายามใช้ปรัชญานี้ในการทำธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น”

“ผมเปรียบความยั่งยืนเหมือนการทำบุญ ไม่ได้ทำบุญแบบแจกเงิน แต่เป็นการทำบุญที่เวลาทำแล้ว เราไม่หวังได้อะไรตอบแทน บางครั้งไม่เห็นผลทันตา ผลบุญจริงๆ เรากลับคิดด้วยซ้ำว่าอยากให้ตกเป็นของลูกหลาน การพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการทำบุญที่เราอาจไม่ได้รับผลบุญนั้น แต่คนที่จะได้รับคือลูกและหลาน”

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง-สำเร็จไปด้วยกัน

ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มองว่า กลยุทธ์ของธุรกิจที่ยั่งยืนคือ ‘สำเร็จไปด้วยกัน’ การที่เราใส่ใจคนที่เกี่ยวข้องและทำให้สำเร็จไปด้วยกัน คือกุญแจสำคัญสำหรับทางธุรกิจ

“เราทำงานกับองค์กรต่างๆ ตัวอย่างแรกเรื่องการศึกษา เราไม่เน้นการบริจาค แต่เน้นทำให้เด็กเป็นคนดีและคนเก่ง ทำให้เขามีวินัยการเงิน ทำธุรกิจเป็น อัพเกรดจากโรงเรียนไป OTOP Junior และมีการตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำเรื่องผ้าขาวม้า”

ดร.เอกพล กล่าวต่อว่า บริษัทชวนวิสาหกิจเพื่อสังคมมาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน และมีเป้าหมายว่าต้องสำเร็จเท่านั้น เพราะถ้าไม่สำเร็จ ธุรกิจเหล่านั้นจะตายจากไป ฉะนั้น ต้องเอาพลังทั้งหมดทำให้เกิดความยั่งยืน

“คำพูด Leave No One Behind เป็นโจทย์สำคัญมาก แต่เป็นเรื่องยาก แต่เราเลือกแล้ว”

ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

ดร.เอกพล กล่าวต่อว่า บริษัทไม่อยากให้ทุกคนตกรถไฟ จึงต้องใส่ใจการพัฒนาศักยภาพคน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ แม้ว่าสุดท้ายพนักงานจะลาออกไป แต่เขาก็เข้าใจว่าเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท

“CSV สำคัญมากในการสื่อสารให้เกิด Share Value ทำให้คนเข้ามาทำอะไรดีๆ ถ้าเราเก่งก็อยากมีคนมาจับมือด้วย เป็นแรงจูงใจที่จะดึงคนมาทำงานร่วมกัน”