ThaiPublica > Sustainability > Headline > ซีพีเอฟ ประกาศ ‘ยกเลิกใช้ถ่านหิน 100%’ ในไทย เพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 30%

ซีพีเอฟ ประกาศ ‘ยกเลิกใช้ถ่านหิน 100%’ ในไทย เพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 30%

20 มกราคม 2023


นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ

CPF ประกาศยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% กับธุรกิจในไทย ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ดันสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแตะ 30% ชู ‘3 Smart’ผลักดันการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำตามแนวทางรักษ์โลกด้วยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติมาใช้ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ (Smart Sourcing) การบริโภค (Smart Consumption) และกระบวนการผลิต(Smart Production) เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน CPF ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจผลิตอาหาร ครอบคลุมการเลี้ยงสัตว์บก-น้ำ คือ ไก่ เป็ด สุกร กุ้ง ปลา โดยการดำเนินธุรกิจจะคำนึงถึง 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การควบคุมต้นทุนราคาสินค้า (Cost Control) ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2050 และเป้าหมาย Zero Waste ภายในปี 2030

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ดังนั้น ซีพีเอฟ จึงมุ่งมั่นดูแลการผลิตอาหารให้เพียงพอรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤติ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมสนับสนุนเป้าหมายของโลกในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)

วิธีการหนึ่งที่จะไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนและ net zero คือการยกเลิกการใช้ถ่านหิน โดยในปี 2022 ซีพีเอฟสามารถยกเลิกการใช้ถ่านหินได้ 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 และหันมาใช้พลังงานจากชีวมวลทดแทน สอดคล้องกับหลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และพร้อมจะขยายการยกเลิกการใช้ถ่านหินไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ ให้ข้อมูลว่า จากการยุติการใช้ถ่านหิน ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของซีพีเอฟอยู่ที่ประมาณ 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ถือเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 64 ล้านต้น หรือ 320,000 ไร่

ทั้งนี้ สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของซีพีเอฟสำหรับธุรกิจในประเทศ ในปี 2565 ประกอบด้วย

  • ก๊าซชีวภาพ (Biogas) 30% โดยมีวัตถุดิบจากมูลสัตว์ และนำพลังงานไปใช้ในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ มากกว่า 100 แห่ง
  • ก๊าซชีวมวล (Biomass) 68% โดยมีวัตถุดิบจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เศษไม้ ซังข้าวโพด นำพลังงานไปใช้ในโรงงานผลิต 18 โรงงานในประเทศไทย
  • พลังงานแสงอาทิตย์ 2% (Solar Energy) นำพลังงานไปใช้ในโรงงานและฟาร์ม 36 แห่ง

อย่างไรก็ตามนายพีรพงศ์ กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาทดแทนถ่านหินคือ ‘ก๊าซชีวมวล’ แต่ก๊าซชีวมวลยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ก๊าซชีวมวลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 40 เท่า และมีอัตราการปล่อยเพียงแค่ 2.5% ของการปล่อยก๊าซจากถ่านหิน

นายพีรพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันซีพีเอฟยังนำนวัตกรรม เทคโนโลยี AI IoT และระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามแนวทาง 3 Smart เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย net zero ด้วย

นายพีรพงศ์ เสริมว่า แนวทาง 3 Smart จะเข้ามาสนับสนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ(Smart Sourcing) กระบวนการผลิต (Smart Production) และการบริโภค (Smart Consumption)

Smart Sourcing การจัดหาวัตถุดิบ ยกระดับมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยกำหนดเป้าหมาย ในปี 2030 (พ.ศ.2573) ในวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง 100% จากการจัดหาทั่วโลกของซีพีเอฟจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ยกระดับการจัดการข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการจัดหาข้อมูลแบบบล็อกเชน (Blockchain Technology) เพื่อพัฒนาความรวดเร็วในการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบ

Smart Consumption การบริโภค โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันพลาสติกที่บรรจุอาหาร 99.9% สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ และบริษัทมีการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มากกว่า 600 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองของประเทศไทย

Smart Production กระบวนการผลิต การใช้พลังงานชีวมวลใน 18 โรงงาน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน และการจัดการมูลสัตว์และน้ำเสียมาใช้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ด้วยระบบก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ และนำก๊าซมีเทนที่ได้จากก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ในฟาร์มซึ่งสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในฟาร์มได้ถึง 50-70%

ทั้งนี้ในปี 2023 ซีพีเอฟทั้งกิจการในไทยและต่างประเทศทั่วโลก จะร่วมกันกำหนดแผนภาพรวม (Roadmap) และแผนลงมือปฏิบัติ (Climate Transition Action Plans) โดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของซีพีเอฟทั่วโลกในปี 2020 (พ.ศ.2563) เป็นปีฐานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระยะใกล้ (ปี 2030) และระยะไกล (ปี 2050) ภายใต้ข้อกำหนดขององค์กร Science Based Initiatives (SBTi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CDP, United Nations Global Compact , World Resources Institute และ World Wide Fund for Nature โดยตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) มีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่ง เข้าร่วมเพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม