ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “เอ็กโก กรุ๊ป” เพิ่มพอร์ตโฟลิโอพลังงานสีเขียว 30% ตั้งเป้าสู่ Carbon Neutral ปี 2050

“เอ็กโก กรุ๊ป” เพิ่มพอร์ตโฟลิโอพลังงานสีเขียว 30% ตั้งเป้าสู่ Carbon Neutral ปี 2050

8 ธันวาคม 2022


เอ็กโก กรุ๊ป กาง Roadmap ตั้งเป้าลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้า ที่ผลิตได้ลง 10% และเพิ่มพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียน 30% ในปี 2030 มุ่งบรรลุ Carbon Neutral ภายในปี 2050 เร่งขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ด้านภาครัฐตั้งกรมโลกร้อน เร่งแจ้งเกิดตลาดคาร์บอนเครดิต หนุนเก็บภาษีคาร์บอน ขณะที่แบงก์กรุงศรีเพิ่มพอร์ตสินเชื่อธุรกิจสีเขียวสู่ Net Zero ปี 2050

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้เปิดเผย Roadmap การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในงานสัมมนา “EGCO Group Forum 2022: Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของเอ็กโก กรุ๊ป ในช่วงเสวนา “Carbon Neutral Roadmap” ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

นายเทพรัตน์กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ป กำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัย 4D+1E จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เอ็กโก กรุ๊ป และภาคพลังงานจึงต้องปรับตัว โดยเอ็กโก กรุ๊ป มีทิศทางการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และหาพันธมิตรที่แข็งแรง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

เอ็กโก กรุ๊ป ได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2050 และมีเป้าหมายระยะกลาง ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) ลง 10% พร้อมเพิ่มพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2030

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป ได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พลังงานจากชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ หรือ Geothermal Energy เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel cells และพลังงานลม ทำให้ปัจจุบันมีพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียนแล้ว 1,424 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตทั้งหมด 6,377 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าที่กระจายใน 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

“เอ็กโก กรุ๊ป” เพิ่มพอร์ตฯ พลังงานหมุนเวียน-ลดปล่อยคาร์บอนในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

หลังจากประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของ IEA หรือ International Energy Agency ซึ่งให้ความสำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.นโยบาย กติกา 2.Carbon tax 3.เทคโนโลยี 4. ชื่อเสียง เอ็กโก กรุ๊ป จึงจัดทำ Roadmap ที่จะมุ่งไปสู่ Carbon Neutral ภายในปี 2050

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า Roadmap ของเอ็กโก กรุ๊ป มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ การเพิ่มพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ดังนั้นปี 2564 ที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป จึงได้ลงทุนใน “เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” (APEX) ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในพอร์ตโฟลิมีโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 5 หมื่นกว่าเมกะวัตถ์ นอกจากนี้ ได้เตรียมเข้าร่วมการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในไทยที่ภาครัฐเปิดให้ประมูลกว่า 5,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม นายเทพรัตน์ เห็นว่า ยังมีความจำเป็นในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะพลังงานหมุนเวียนจากทั่วโลกใช้อยู่ไม่เกิน 20% ขณะที่ยังมีปัญหาในเรื่องของความมั่นคงและราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูง ดังนั้น เอ็กโก กรุ๊ป จึงยังมีโรงไฟฟ้าเชื้อหลักในพอร์ตโฟลิโอ แต่ได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่ถือหุ้นอยู่ โดยวางแผนจะใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาการเอาแอมโมเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไฮโดรเจน เข้าไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง และเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้มากที่สุด เอ็กโก กรุ๊ป อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนด้านเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน เช่น เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage – CCUS) แต่ขณะนี้ยอมรับว่ายังมีราคาสูง ถ้านำมาใช้จะส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยของไฟฟ้าสูงขึ้น จึงยังต้องพิจารณาทั้งในเรื่องของจังหวะเวลาและความเหมาะสมในเรื่องของราคาควบคู่กันไปด้วย”

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป

เร่งศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ป อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีจากพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและนำมาใช้กับโรงไฟฟ้า เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เชื้อเพลิงแอมโมเนีย การพัฒนาพลังงาน Fuel cells ซึ่งได้เซ็นเอ็มโอยูกับ Bloom Energy เพื่อนำเอาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แบบแข็ง (Solid Oxide Fuel Cell: SOFC) มาผลิตไฟฟ้า ส่วนเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor) ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบตั้งแต่ 50- 300 เมกะวัตต์ มีความปลอดภัยสูง สามารถขนส่งติดตั้งในโรงงานได้ ขณะนี้มีการพัฒนาและเริ่มทดลองในตลาดแล้ว ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าโดยไม่ปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

แนะปรับแผน PDP เพิ่มการสนับสนุนพลังานสะอาดใหม่ ๆ

นายเทพรัตน์ กล่าวด้วยว่า แนวทางของภาคเอกชน ภาครัฐ ค่อนข้างชัดเจนในการมุ่งไปสู่ Carbon Neutral แต่จะทำอย่างไรให้ไทยไปสู่ศูนย์กลางของผู้นำเทคโนโลยี ผู้ผลิต และส่งออก ไม่ใช่เพียงการนำเข้าเทคโนโลยีอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสร้างเทคโนโลยีไว้ใช้เองและส่งออก

นอกจากนี้ อยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ไฮโดรเจน ซึ่งมีเสถียรภาพ ราคาแข่งขันได้ และตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพิ่มเติม นอกเหนือจากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนใน PDP เป็น 50% ด้วย

นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ตั้งกรมแก้โลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก

ด้าน นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ในส่วนของภาครัฐได้เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของนโยบาย การกำกับดูแลและกติกา เพื่อบังคับใช้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออก พ.ร.บ. climate change เพื่อเตรียมเปลี่ยนโครงสร้างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาเป็นกรมเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ทั้งนี้ กรมเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะดูเรื่องการออกมาตรการกำกับดูแลในเรื่องการลดโลกร้อน เช่น ภาษีคาร์บอน (carbon tax), การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon price), คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit), หรือการสร้างระบบค้าขายคาร์บอน เป็นตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market)

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า การเดินไปสู่ Carbon Neutral จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้ 120 ล้านตันคาร์บอน อย่างไรก็ตามภายในปี 2030 คาดว่าประเทศไทยจะปล่อยคาร์บอน 555 ล้านตันคาร์บอน ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างเดียวไม่เพียงพอ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงานอาจต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนมาช่วย เช่น เทคโนโลยีกรีนไฮโดเจน รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน เช่น CCS หรือ CCUS จึงจะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

อบก. เร่งมาตรฐานวัดปล่อยคาร์บอน

ด้าน นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า ในปี 2018 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ล้านตัน แต่ค่าการดูดซับคาร์บอนของไทยอยู่ที่ประมาณ 86 ล้านตัน ทำให้ไทยยังมีช่องว่างในการลดคาร์บอนจำนวนมาก โดยคาดว่าการปล่อยคาร์บอนจะเพิ่มขึ้นจนดึงจุดสูงสุดในปี 2025

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการปล่อยคาร์บอนจะเริ่มลดลงได้จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การนำเข้าเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน อาทิ ระบบ CCS หรือ CCUS จนทำให้สามารถควบคุมการปล่อยคาร์บอนลดลงไปได้

หนุนเก็บภาษีคาร์บอน สู่ Net zero

นายเกียรติชาย กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดการควบคุมการปล่อยคาร์บอน ในหลายประเทศเริ่มใช้ Carbon Pricing Instrument คือ ผู้ปล่อยคาร์บอนต้องจ่ายหรือรับผิดชอบ หรือเรียกได้ว่าเป็นภาษีคาร์บอน โดยผู้ที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ต้องจ่ายภาษีมาก เช่น ในสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดอัตราการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจบางประเภทว่าต้องมีอัตราการปล่อยเท่าไร หากปล่อยเกินอัตราที่กำหนดจะมีค่าปรับตั้งแต่ 100-150 ยูโร อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีมาตรการดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการออก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

นายเกียรติชาย ยังบอกอีกว่า คาร์บอนเครดิตจะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญให้ประเทศเปลี่ยนผ่าน โดยใช้หลักของการส่งเสริมให้คนทำโครงการดี ๆ โดยบทบาทของ อบก. นอกจากมีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดโครงการดี ๆ แล้ว ก็จะพัฒนามาตรฐานการวัดค่าการปล่อยคาร์บอน และให้ทุกคนวัดว่าตนเองเป็น Net Zero หรือไม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการมีมาตรฐานรับรองที่ชัดเจนเชื่อถือได้

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรี หนุนภาคเอกชนเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจไปสู่ Carbon Neutral ว่า จาการประเมินของ “บลูมเบิร์ก” ระบุว่าตั้งแต่ปี 2022 ไปจนถึงปี 2050 ภาคธุรกิจมีช่องว่างทางการเงินเพื่อการลงทุนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคพลังงาน และภาคเกษตร เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านไปยัง Net Zero ปีละประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายพูนสิทธิ์กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral และ Net Zero ได้ตามเป้าหมาย ธนาคารจะมีบทบาทเป็นตัวกลางในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในปี 2050 พอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคารทั้งหมดต้องเป็น Carbon Neutral หรือ Net Zero โดยจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่พลังงานหมุนเวียน หรือโครงการสีเขียวอื่น ๆ

“เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องเก็บข้อมูลลูกค้าอย่างละเอียด เนื่องจากธนาคารได้ตั้งเป้าหมายลดสินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เหลือศูนย์ในปี 2050 และจะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาทให้ได้ภายในปี 2030” นายพูนสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย