ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > COP28 ผู้นำกว่า 130 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นบูรณาการอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศ

COP28 ผู้นำกว่า 130 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นบูรณาการอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศ

2 ธันวาคม 2023


ที่มาภาพ:เพจ COP28

ผู้นำกว่า 130 คนทั่วโลกให้คำมั่นบูรณาการอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศ ในปฏิญญา COP ฉบับแรก ในการประชุม COP28

วันที่ 1 ธันวาคม ประธาน COP28 ประกาศว่า ผู้นำระดับโลก 134 คนได้ลงนามในปฏิญญาการดำเนินการด้านการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปฏิญญาที่สำคัญฉบับแรก นอกจากนี้ ยังมีการประกาศระดมเงินทุนมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารในขณะที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือใหม่ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับมูลนิธิบิลและเมลิดา(Bill and Melinda Gates Foundation)ด้านนวัตกรรมระบบอาหารที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

‘ปฏิญญา COP28 UAE เกี่ยวกับการเกษตรที่ยั่งยืน ระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่น และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ’ หรือ COP28 UAE Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action ได้มีการประกาศในช่วงพิเศษของการประชุมสุดยอดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลก (World Climate Action Summit-WCAS) ซึ่งนำโดยโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรี ของอิตาลี เฟียเม นาโอมิ มาตา อาฟา นายกรัฐมนตรีซามัว และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ปฏิญญาดังกล่าวมุ่งถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ไม่มีทางใดที่จะบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปารีส และการรักษาอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสไว้ได้ หากไม่ได้จัดการความสัมพันธ์ระหว่างระบบอาหาร เกษตรกรรม และสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน” มาเรียม บินท์ โมฮัมเหม็ด อัลม์ไฮรี รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และผู้นำด้านระบบอาหารของ COP28 กล่าว

“ประเทศต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับระบบอาหารและการเกษตรของความมุ่งหวังด้านสภาพอากาศ โดยจัดการทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และการปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับแรก ความมุ่งมั่นในวันนี้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะช่วยสร้างระบบอาหารระดับโลกที่เหมาะกับอนาคต” มาเรียม บินท์ โมฮัมเหม็ด อัลม์ไฮรี กล่าว

ประเทศที่ลงนามในปฏิญญา 134 ประเทศมีประชากรรวมกันกว่า 5.7 พันล้านคนและมีเกษตรกรเกือบ 500 ล้านคน ผลิตอาหารที่ทั่วโลกกิน 70% และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากระบบอาหารทั่วโลก 76% หรือ 25% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก

การรับรองปฏิญญาจะช่วยเสริมสร้างระบบอาหาร สร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และมีส่วนช่วยในการต่อสู้กับความหิวโหยทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ปฏิญญาฉบับนี้ถือเป็นปฏิญญาฉบับแรกของ COP ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศและชุมชนที่มีความเปราะบาง

“วันนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่มีการบูรณาการเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบอาหาร ให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างระบบอาหารที่เหมาะกับอนาคต เราจะส่งมอบการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสำหรับครอบครัว เกษตรกร และอนาคตร่วมกัน” อัลม์ไฮรีกล่าว

แม้ระบบอาหารมีความสำคัญต่อการตอบสนองความต้องการของสังคมและช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้ แต่ก็มีส่วนต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 ของโลกอีกด้วย เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางก็เผชิญกับความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มาภาพ: https://www.cop28.com/en/news/2023/12/COP28-UAE-Presidency-puts-food-systems-transformation

ประกาศสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงพิเศษวันที่ 1 ธันวาคมระหว่างการประชุม COP28

ได้แก่

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และมูลนิธิบิลและเมลิดา เกตส์ เปิดตัวความร่วมมือมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับระบบอาหาร นวัตกรรมการเกษตร และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นไปที่การวิจัยทางการเกษตร การยกระดับนวัตกรรมทางการเกษตร และให้ทุนสนับสนุนความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อการดำเนินการตามปฏิญญา

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เข้าร่วม CGIAR ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับโลกที่รวบรวมองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความสามารถในการฟื้นตัว และการปรับตัวของสภาพภูมิอากาศ

COP28 และกลุ่มพันธมิตรได้ประกาศความร่วมมือเพื่อให้ความร่วมมือทางเทคนิคที่มีคุณภาพแก่ประเทศต่างๆ และเพื่อช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ของปฏิญญา โดยพันธมิตรที่อยู่เบื้องหลัง Technical Cooperation Collaborative ให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนอีกกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะเพิ่มการประสานงานในพอร์ตโฟลิโอที่ครอบคลุมมากขึ้น

COP28 UAE ร่วมกับสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council on Sustainable Development-WBCSD) และ Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UN Climate Change High-Level Champions ได้เปิดตัว Action Agenda on Regenerative Landscapes ซึ่งองค์กรอาหารและการเกษตรชั้นนำร่วมมือกันเพื่อขยายระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู(regenerative agriculture) โดยเปลี่ยนพื้นที่ 160 ล้านเฮกตาร์ไปสู่การปฏิรูปวิธีการทำการเกษตรภายในปี 2573 พร้อมด้วยการลงทุนมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในอนาคต และการมีส่วนร่วมของเกษตรกร 3.6 ล้านคนทั่วโลก

High-Level Champions ด้วยความร่วมมือกับผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งรวมถึงเกษตรกร ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้บริโภค เมือง เยาวชน ธุรกิจ สถาบันการเงิน องค์กรการกุศล และอื่นๆ ได้เปิดตัวข้อเรียกร้องให้ลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบอาหารเพื่อผู้คน ธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ(Call to Action for Transforming Food Systems for People, Nature, and Climate) เพื่อสนับสนุนปฏิญญาและเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเกี่ยวกับระบบอาหารโดยผู้มีส่วนร่วมทุกคน

วาระระบบอาหารและการเกษตรของ COP28 ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ครอบคลุม ความเป็นผู้นำระดับชาติ ผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่ภาครัฐ การยกระดับนวัตกรรม และการเงิน

นอกจากนี้ COP28 ยังทำงานร่วมกับตัวแทนจากทุกขั้นตอนของระบบอาหารและห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตร รวมถึงเกษตรกร ภาคประชาสังคม ธุรกิจ และรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เกษตรกรรมเชิงปฏิรูป