ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ตุลาคมเดือด อุณหภูมิสูงขึ้น 1.7 องศา ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ส่งผลปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกปี

ตุลาคมเดือด อุณหภูมิสูงขึ้น 1.7 องศา ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ส่งผลปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกปี

8 พฤศจิกายน 2023


เดือนตุลาคมปีนี้เป็นตุลาคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.7 องศาเซลเซียส (3.1 องศาฟาเรนไฮต์) และเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่อยู่ในจุดนี้ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าจะทำให้ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ที่มาภาพ:https://climate.copernicus.eu/surface-air-temperature-october-2023

Copernicus Climate Change Service (C3S) หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป รายงานว่า เดือนตุลาคม ปี 2566 เป็นเดือนตุลาคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยมีอุณหภูมิอากาศ(Surface air temperature)เฉลี่ย 15.30 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนตุลาคมปี 1991-2020 ถึง 0.85 องศาเซลเซียส และสูงกว่าเดือนตุลาคมที่ร้อนที่สุดก่อนหน้านี้ในปี 2562 ถึง 0.40 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิโลกที่ผิดปกติในเดือนตุลาคม 2566 สูงเป็นอันดับสองของทุกเดือนในชุดข้อมูล ERA5 รองจากเดือนกันยายน 2566

เดือนที่ผ่านมาโดยรวมมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.7 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือนตุลาคมในช่วงปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ใช้อ้างอิง

ในปีปฏิทินจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2566 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงปี 1850-1900 ถึง 1.43 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ถึง 0.10 องศาเซลเซียส ซึ่งปี 2559 ยังเป็นปีปฏิทินที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับยุโรป ตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคมที่ทำสถิติร้อนที่สุดเป็นครั้งที่ 4 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 ถึง 1.30 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในเดือนตุลาคมในที่ละติจูด 60 องศาใต้ถึงละติจูด 60 องศาเหนือ (60°S–60°N) อยู่ที่ 20.79 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนตุลาคม

ปรากฎการณ์เอลนีโญยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแถบเส้นศูนย์สูตรแปซิฟิก แม้ว่าความผิดปกติจะยังคงต่ำกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของปีในช่วงที่มีพัฒนาการเหตุการณ์ที่รุนแรงในปี 2540 และ 2558 ที่ผ่านมา

ที่มาภาพ:https://climate.copernicus.eu/copernicus-october-2023-exceptional-temperature-anomalies-2023-virtually-certain-be-warmest-year

ที่มาภาพ:https://climate.copernicus.eu/copernicus-october-2023-exceptional-temperature-anomalies-2023-virtually-certain-be-warmest-year

ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการของ (C3S) กล่าวว่า “เดือนตุลาคม 2566 มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างผิดปกติ และทุบสถิติอุณหภูมิทั่วโลกที่สูงทำสถิติมาทั้งสี่เดือนก่อนหน้า เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และปัจจุบันอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.43 องศาเซลเซียส ความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่ตั้งเป้าไว้สูงที่จะเข้าสู่การประชุม COP28 ไม่เคยสูงกว่านี้มาก่อน”

COP28 คือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28

นอกจากนี้เดือนตุลาคมนับเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเวลานี้ของปี โดยมีค่ารายเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 11%

ขนาดของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกแตะค่าต่ำสุดครั้งที่ 7 ในเดือนตุลาคม ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 12%

ในเดือนตุลาคม 2566 ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วยุโรปส่วนใหญ่ โดยพายุบาเบต(Babet) ถล่มยุโรปตอนเหนือ และพายุอลีน(Aline)ส่งผลกระทบต่อโปรตุเกสและสเปน ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม

นอกเหนือจากยุโรปแล้ว ยังมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยในหลายภูมิภาค ทั้ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาเหนือ, บางส่วนของคาบสมุทรอาหรับ, ภูมิภาคเอเชียกลางและไซบีเรีย, จีนตะวันออกเฉียงใต้, บราซิล, นิวซีแลนด์ และภูมิภาคทางตอนใต้ของแอฟริกา สภาวะดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของพายุไซโคลนซึ่งก่อให้เกิดฝนตกหนักและสร้างความเสียหายอย่างมาก

ในบางภูมิภาคแห้งแล้งกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งในสหรัฐอเมริกาตอนใต้และบางส่วนของเม็กซิโกที่ต่างก็ประสบภัยแล้ง รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออกสุด และในซีกโลกใต้เขตร้อน รวมถึงออสเตรเลีย