ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > COP28 โอกาสชี้ขาดในการเปลี่ยนแผนสภาพภูมิอากาศ พลิกกระแสรับมือวิกฤติ Climate Change

COP28 โอกาสชี้ขาดในการเปลี่ยนแผนสภาพภูมิอากาศ พลิกกระแสรับมือวิกฤติ Climate Change

29 พฤศจิกายน 2023


อุณหภูมิโลกยังคงสูงถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเมื่อใกล้สิ้นปี ความร้อนแรงทางการฑูตก็เพิ่มสูงขึ้น เมื่อทุกสายตาจับจ้องไปที่การประชุม COP28 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งผู้นำโลกจะประชุมกันตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม เพื่อกำหนดทิศทางเดินหน้าที่ตั้งความหวังไว้สูง ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ระดับโลก

COP คืออะไร

เว็บไซต์ UN อธิบายว่า การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ เป็นการประชุมประจำปีขนาดใหญ่ระดับรัฐบาลที่เน้นเรื่องการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า COPs การประชุมของภาคีอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change-UNFCCC)

อนุสัญญา UNFCCC มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537 เพื่อป้องกันการก่อกวนของมนุษย์ที่มีผลร้ายแรงต่อระบบภูมิอากาศ

ข้อตกลงปารีสซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองจาก 198 ประเทศ และมีสมาชิกแทบจะทั้งโลก ได้นำมาใช้ในปี 2558 ถือเป็นส่วนขยายของอนุสัญญา UNFCCC

คาดว่าจะมีผู้คนเข้าร่วมการประชุม COP28 มากกว่า 60,000 คน รวมถึงผู้แทนจากประเทศสมาชิกของ UNFCCC ผู้นำอุตสาหกรรม นักกิจกรรมเยาวชน ตัวแทนชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง นักข่าว และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

และเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลก

COP28 จะมีการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ว่าโลกจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้มากแค่ไหนแล้ว และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางมากน้อยเพียงใด

ทำไมการประชุม COP28 จึงมีความสำคัญ

นับตั้งแต่มีการนำข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาใช้ในการประชุม COP21 ในปี 2558 การประชุมครั้งต่อๆ มาก็ได้มุ่งเน้นไปที่การดำเนินการตามเป้าหมายหลัก คือ คุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสให้ได้ และดำเนินการที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม

หากนับว่าข้อตกลงปารีสเป็นข้อตกลง การประชุม COP24 ที่เมืองกาตอวิตแซ โปแลนด์ การประชุม COP26 ที่ กลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ก็คือแผน และการประชุม COP27 ที่ ชาร์มเอล อียิปต์ ก็นำไปสู่การปฏิบัติ

การประชุม COP28 คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่เห็นพ้องต้องกันว่าจะมีการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่แข็งขันมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงให้เห็นว่า “ทำอย่างไร” ในการดำเนินการดังกล่าว

การวัดความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในด้านการบรรเทาผลกระทบ การปรับตัว และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับแผนที่มีอยู่ เป็นส่วนสำคัญ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ COP28 มีความสำคัญมากขึ้น

การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลกครั้งแรก ซึ่งเริ่มต้นที่ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ จะมีการสรุปที่ดูไบ

กระบวนการนี้มีขึ้นเพื่อช่วยระบุสิ่งที่ยังต้องดำเนินการเพิ่มเติม และเสนอแนะประเทศต่างๆ ถึงแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่มีตั้งเป้าไว้สูงและเร่งรัดมากขึ้น

ดังนั้น การตัดสินใจของทุกฝ่ายในการประชุม COP28 อาจกลายเป็นผลลัพธ์ที่เป็นผลสืบเนื่องมากที่สุดภายหลังการประชุมที่ปารีสปี 2558

  • จีน-สหรัฐฯออกแถลงการณ์กลางที่ประชุม COP26 จับมือลดโลกร้อน
  • GCNT Forum 2022 ไทยเตรียมเปิดแผนแก้โลกร้อนบนเวที COP27 ชู “รัฐ-เอกชน” รวมพลังปกป้องธรรมชาติ
  • อะไรเป็นความเสี่ยง?

    จริงๆแล้ว ก็คือ สุขภาพของโลก และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ

    นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เตือนในระหว่างการเยือนแอนตาร์กติกก่อนการประชุม COP28 ว่า “แอนตาร์กติกาถูกเรียกว่ายักษ์หลับ แต่ตอนนี้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศ”

    น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตัวเลขใหม่แสดงให้เห็นว่าในเดือนกันยายนนี้ พื้นที่นี้มีขนาดเล็กกว่าค่าเฉลี่ยของปีถึง 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร “เป็นพื้นที่ที่มีขนาดประมาณโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนีรวมกัน”

    “ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดหายนะไปทั่วโลก” นาย กูเตอร์เรส กล่าว “สิ่งที่เกิดขึ้นในทวีปแอนตาร์กติกาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทวีปแอนตาร์กติกา และสิ่งที่เกิดขึ้นห่างออกไปหลายพันไมล์มีผลกระทบโดยตรงถึงที่นี่”

    เลขาธิการ สหประชาชาติเยือนแอนตาร์กติก ที่มาภาพ:เพจ United Nations

    กว่าศตวรรษของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้พลังงานและการใช้ที่ดินที่ไม่ยั่งยืน ได้นำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียส ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งมีแนวโน้มที่จะทำให้ความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจแก้ไขได้

    ปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด ในขณะที่ 8 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั้ง 8 ปี เป็นผลจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและความร้อนสะสม

    นายกูเตอร์เรสได้เตือนมาหลายครั้งแล้ว โดยเตือนว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อุณหภูมิกำลังสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส เข้าสู่โลกที่อันตรายและไม่มั่นคง

    ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด ไม่มีทางออกสู่ทะเล และเป็นประเทศเกาะเล็กๆ อาจมีส่วนช่วยเพียงเล็กน้อยต่อวิกฤติครั้งนี้ แต่ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศแถวหน้าที่ต้องรับมือกับผลร้ายแรงที่ตามมา

    พื้นที่น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดลง ที่มาภาพ:เพจ United Nations

    การดำเนินการด้านสภาพอากาศที่แข็งขันขึ้นหมายถึงอะไร?

    เลขาธิการสหประชาชาติได้ส่งคำเตือนที่ชัดเจนหลายครั้งว่า ความเร่งด่วนในปัจจุบันในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศนั้นลดลงเมื่อเทียบกับขนาดของวิกฤติ แต่ “อนาคตไม่ได้รับการแก้ไข”

    ผลทางวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนว่า ยังคงเป็นไปได้ที่จะจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และพ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด “แต่ต้องมีการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมากในทันที” ซึ่งรวมถึง

    • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2573 เทียบกับระดับปี 2553
    • บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลกภายในปี 2593
    • “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและเท่าเทียม” จากเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันและก๊าซ) ไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน
    • เพิ่มการลงทุนในการปรับตัวและการยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    รวมไปถึงด้านอื่นๆ ทั้ง การปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเงินในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา การจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และการดำเนินการกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งมีการตกลงร่วมกันในการประชุม COP27 เมื่อปีที่แล้ว เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ

    อย่างไรก็ตาม รายงาน synthesis report แผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติ (Nationally Determined Contributions-NDCs) ของ UNFCCC ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนแสดงให้เห็นว่า โลกกำลังล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

    “ความมุ่งหวังระดับโลกหยุดนิ่งในปีที่ผ่านมา และแผนด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติไม่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์อย่างมาก” เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว

    บทบาทของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพ COP28 คืออะไร?

    ในแต่ละปีการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติจัดขึ้นโดยประเทศต่างๆ ในปีนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด COP28 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม

    เจ้าภาพยังแต่งตั้งประธานซึ่งเป็นผู้นำในการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นผู้นำและวิสัยทัศน์โดยรวม

    ดร. สุลต่าน อัล-จาเบอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นประธานในการเจรจาในการประชุม COP28 พร้อมระบุถึงจุดเน้นหลักที่มีการปรับเปลี่ยนใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ

    • ติดตามการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วก่อนปี 2030
    • การปรับเปลี่ยนทางการเงินสำหรับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการปฏิบัติตามคำสัญญาเดิมและการกำหนดกรอบการทำงานสำหรับข้อตกลงใหม่
    • ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ผู้คน ชีวิต และการดำรงชีวิตเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการด้านสภาพอากาศ
    • ระดมสรรพกำลังเพื่อการประชุม COP ที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
    ดร. สุลต่าน อัล-จาเบอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มาภาพ:เพจ COP28UAE

    COP28 จะมีส่วนช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอย่างไร

    ข้อตกลงปารีสผ่านมาแล้วเกือบแปดปีและการขับเคลื่อนวาระ SDGs ในปี 2030 ผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว COP28 ถือเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะเริ่มต้นเส้นทางใหม่สู่การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิผล

    ดังที่รายงานของสหประชาชาติหลายฉบับแสดงให้เห็น โลกยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสได้ แต่ความหวังก็คือหลายๆรัฐบาล ในการประชุม COP28 จะวางแผนงานเพื่อเร่งการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

    ในปี 2020 แต่ละประเทศได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ และปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ด้วยแผนรอบถัดไปที่กำหนดไว้ในปี 2568 ผลลัพธ์ของกระบวนการการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก อาจจะช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เพิ่มความมุ่งหวังงและกำหนดเป้าหมายใหม่ เกินกว่านโยบายและพันธกรณีที่มีอยู่

    ด้วยความเสี่ยงที่มีอยู่ การประชุมที่ดูไบถือเป็นโอกาสชี้ขาดในการเปลี่ยนแผนด้านสภาพภูมิอากาศ ให้เป็นการดำเนินการที่มุ่งหวังสูง และพลิกกระแสเพื่อรับมือวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

    WHO เรียกร้องเร่งมือเพื่อสุขภาพประชากรโลก

    ด้านองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) หน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้เจรจาในการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นจะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มี “ต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก”

    “ผู้นำต้องส่งมอบผลในดูไบ โดยมอบผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่แข็งแกร่งตามที่ประชาชนคาดหวัง และเศรษฐกิจของพวกเขาต้องการอย่างเร่งด่วน” ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าว

    จากข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ผู้คนราว 3.5 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมนุษยชาติ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนในการบรรเทาผลกระทบร้ายแรงด้านสุขภาพจากภาวะโลกร้อน

    WHO ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้เสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้น 70% ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่โรคติดเชื้อ เช่น ไข้เลือดออกและอหิวาตกโรค ก็เพิ่มสูงขึ้น

    ในขณะเดียวกัน น้ำท่วมและความแห้งแล้งได้สร้างความหายนะให้กับการผลิตอาหาร

    การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานสะอาดยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศก่อนวัยอันควรจำนวน 7 ล้านรายในแต่ละปี WHO ระบุ