ThaiPublica > คนในข่าว > คิง ชาร์ลสเรียกร้องร่วมปกป้องโลกใน COP28 เหตุยังห่างเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ

คิง ชาร์ลสเรียกร้องร่วมปกป้องโลกใน COP28 เหตุยังห่างเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ

4 ธันวาคม 2023


พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในการประชุม COP 28 ที่มาภาพ: เพจCOP28 UAE

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตรัสว่า “ความหวังของโลก” ขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องสภาพอากาศในการประชุมสุดยอด COP28 ในดูไบ และทรงมีพระราชดำรัสกับผู้นำโลกที่รวมตัวกันในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า เรากำลังเจอกับ ‘อันตรายที่เราไม่เคยประสบมาก่อน’ ภายใต้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และขณะนี้โลกกำลังประสบกับ ‘การทดสอบอันกว้างใหญ่และน่าสะพรึงกลัว’

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตลอดพระชนมายุ ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศพระองค์แรกที่ได้รับเชิญให้ทรงเป็นองค์ปาฐกในพิธีเปิดการประชุม โดยพระองค์ทรงตรัสว่าได้เข้าร่วมการประชุม COP21 เมื่อมีการลงนามข้อตกลงปารีสที่เป็นข้อตกลงสำคัญ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งหวังที่จะรักษา อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้สูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(World Meteorological Organisation)ระบุว่า เรากำลังก้าวสู่ภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้น 1.4 องศาเซลเซียสในปี 2566

  • COP28 โอกาสชี้ขาดในการเปลี่ยนแผนสภาพภูมิอากาศ พลิกกระแสรับมือวิกฤติ Climate Change
  • พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสในห้องประชุมที่เต็มไปด้วยประมุขแห่งรัฐและผู้ทรงเกียรติอาวุโสประมาณ 1,000 คน โดยทรงเตือนว่าโลกนี้ “ห่างไกลจากเป้าหมายอย่างน่าพรั่นพรึง” ในการส่งมอบอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งโลกกำลังเผชิญกับทางเลือกที่ “มืดมนและมืดมัว” กว่าที่เคยมีมา

    “เมื่อเราเห็นข่าวว่าฤดูร้อนในซีกโลกเหนือที่ผ่านมา เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เราต้องหยุดคิด เพื่อพิจารณาว่าสิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร เรากำลังทำให้โลกธรรมชาติอยู่นอกบรรทัดฐานและขีดจำกัดที่สมดุล และเข้าสู่ภาวะที่อันตรายและไม่เคยเจอมาก่อน”

    “เรากำลังเผชิญกับการทดสอบอันกว้างใหญ่และน่าสะพรึงกลัวของการเปลี่ยนแปลงทุกสภาวะทางนิเวศน์ในคราวเดียว ด้วยความเร็วที่เหนือกว่าความสามารถของธรรมชาติในการรับมือ ในขณะที่เราดำเนินการเพื่ออนาคตที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เราต้องทำงานอย่างเท่าเทียมก่อนที่จะเกิดการสูญเสียธรรมชาติที่ดีของโลกตลอดไป… จากสิ่งที่เราเห็น ทางเลือกของเราตอนนี้มืดมนและมืดมัวมากขึ้น จริงๆแล้วเราเตรียมสร้างโลกของเราให้อันตรายแค่ไหน?

    พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตรัสว่า จะต้องใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของสังคมที่จำเป็นต่อการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และการเงินภาครัฐเพียงอย่างเดียว “จะไม่มีทางเพียงพอ” ซึ่งหมายความว่าต้องนำทุกภาคส่วน “ภาครัฐ เอกชน งานการกุศล และ NGO [องค์กรพัฒนาเอกชน] มาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

    “ข้าพเจ้าภาวนาอย่างสุดใจว่า COP 28 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”

    “ในปี 2050 ลูกหลานของเราจะไม่ถามว่าเราพูดอะไร แต่พวกเขาจะอยู่กับผลที่ตามมาของสิ่งที่เราทำหรือไม่ทำ

    “โอกาสที่ไม่ควรพลาดในการรักษาความหวังร่วมกันของเราให้คงอยู่ อยู่ในมือของพวกท่าน” “ข้าพเจ้าทำได้เพียงกระตุ้นให้พวกท่านจัดการกับโอกาสด้วยความมุ่งหวัง จินตนาการ และความรู้สึกได้อย่างแท้จริงถึงความเร่งด่วนที่เราเผชิญ”

    “ถ้าเราร่วมกันปกป้องโลกของเรา สวัสดิภาพของประชาชนเราจะตามมาอย่างแน่นอน” “โลกไม่ได้เป็นของเรา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก”

    “การจัดการกับเรื่องนี้เป็นงานสำหรับเราทุกคน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันและทำให้ง่ายต่อการยอมรับการตัดสินใจที่จะค้ำจุนโลกของเรา แทนที่จะดำเนินต่อไปราวกับว่าไม่มีขีดจำกัด หรือราวกับว่าการกระทำของเราไม่มีผลตามมา”

    พระราชดำรัสในพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ถือเป็นไฮไลท์ของการอุทิศตนเพื่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมานานหลายทศวรรษ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตรัสถึงความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในปี 1970 ขณะที่พระองค์ยังทรงเป็นรัชทายาท และทรงรณรงค์ประเด็นการอนุรักษ์และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ “ข้าพเจ้าใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตพยายามเตือนถึงภัยคุกคามที่เกิดจากภาวะโลกร้อน” พระองค์ทรงตรัสกับที่ประชุมสุดยอด

    ในการเปิดรัฐสภาเป็นครั้งแรกในฐานะพระมหากษัตริย์เมื่อเดือนที่แล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงอ่านรายชื่อร่างกฎหมายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงใบอนุญาตใหม่ที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งสำหรับการขุดเจาะน้ำมันในทะเลเหนือ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในการตัดสินใจที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ นายริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และนายเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ต่างคนต่างเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเพื่อเข้าร่วมการเจรจาที่ดูไบ

    ไม่มีการเอ่ยถึงโดยตรงถึงการลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซในพระราชดำรัสพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็นการละเลยที่เห็นได้ชัดเจน เนื่องจากข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติซึ่งจัดโดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมัน

    ฮาร์จีต สิงห์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ทางการเมืองระดับโลกของ Climate Action Network International กล่าวกับ The Independent ว่า “หากเราจริงจังกับการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เราต้องจัดการกับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า คือ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยประเทศเครือจักรภพที่ร่ำรวยเช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย”

    ซาห์รา ฮิดู ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศและความยืดหยุ่นของ ActionAid UK กล่าวว่า ความมุ่งหวังสูงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในการดำเนินการด้านสภาพอากาศนั้น “ถูกรัฐบาลของพระองค์เองประนีประนอมอย่างมาก”

    “ไม่ควรมองข้ามความย้อนแย้งที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงถูกขนาบในการประชุมสุดยอด โดยชายสองคนที่ยังคงมุ่งมั่นต่อนโยบายทำลายสภาพภูมิอากาศ” ซาห์รากล่าว โดยหมายถึงนายซูแน็กและนายคาเมรอน

    “แม้ว่าเราจะเข้าใจว่าพระองค์ต้องยึดบทบัญญัติของรัฐบาลในเรื่องสภาพภูมิอากาศ เราก็ได้แต่หวังว่าเบื้องหลัง พระองค์จะใช้พลังของพระองค์เพื่อชักชวนชายทั้งสองให้ละทิ้งนโยบายที่บุ่มบ่ามและต่อต้านสภาพภูมิอากาศของพวกเขา”

    เทสส์สา ข่าน กรรมการบริหารของ Uplift องค์กรรณรงค์รณรงค์ให้สหราชอาณาจักรปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล กล่าวว่าในฐานะ “นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมายาวนาน” พระเจ้าชาร์ลสที่ 3 “คงจะทรงเข้าใจอย่างไม่ต้องสงสัยว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหัวใจสำคัญของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ”

    “แม้ว่าโดยภาระหน้าที่พระองค์จะต้องอยู่ห่างจากการเมือง พระองค์ก็รู้ว่าสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่กำลังเปิดแหล่งน้ำมันและก๊าซแห่งใหม่ที่สำคัญ ที่เรารู้ไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ปลอดภัย”

    อิซซี แมคอินทอช ผู้จัดการรณรงค์ด้านสภาพอากาศที่ Global Justice Now กล่าวว่า “คำเตือนถึงสิ่งเลวร้ายของพระเจ้าชาร์ลสนั้นไร้ความหมาย เว้นแต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะสนับสนุนการดำเนินการ”

  • COP28 ผู้นำกว่า 130 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นบูรณาการอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศ
  • COP28: 116 ประเทศให้คำมั่นเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าภายในปี 2030