ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน Human Development ชี้ Climate Change-เทคโนโลยี ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมรูปแบบใหม่ของการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21

รายงาน Human Development ชี้ Climate Change-เทคโนโลยี ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมรูปแบบใหม่ของการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21

11 ธันวาคม 2019


วันที่ 10 ธันวาคม 2491 ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้ถือเอาวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day)

วันที่ 9 ธันวาคม 2562 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) เผยแพร่ เอกสารข่าว ประกอบการเปิดตัวรายงาน Human Development Report 2019 เรียกร้องให้มีการแก้ไขความไม่เท่าเทียม

เอกสารระบุว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกขณะนี้ ส่งสัญญานว่า สังคมไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างที่ควรจะเป็น แม้มีความคืบหน้าในการขจัดความยากจน ลดความหิวโหยและโรคภัยไข้เจ็บ เพราะมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่เท่าเทียม

นาย อาร์คิม สไตเนอร์ ผู้บริหาร UNDP กล่าวว่า ความแตกต่างได้ดึงผู้คนออกมาสู่ท้องถนน เพื่อประท้วงต่อค่าตั๋วรถไฟ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง เรียกร้องความเป็นธรรมและความยุติธรรม สิ่งเหล่านี้คือความไม่เท่าเทียมรูปแบบใหม่ แต่จากรายงานฉบับนี้ความไม่เท่าเทียมก็ไม่ได้หนักหนาเกินกว่าที่จะแก้ไข

“รายงาน Human Development ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมที่เป็นระบบได้สร้างความสูญเสียมหาศาลกับสังคม ความไม่เท่าเทียมไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเทียบรายได้ของครัวเรือน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจ กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคม การเมืองที่ยึดแน่น จนทำให้คนออกมาบนถนน และยังเป็นปัจจัยที่จะมีอีกในอนาคต เว้นเสียแต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แน่นอนอย่างแรกต้องตระหนักถึงความเป็นจริงของความไม่เท่าเทียม แต่จะทำอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำ” นายสไตเนอร์กล่าว

นายเปโดร คอนเซซาโอ ผู้บริหารหน่วยงานที่จัดทำรายงาน ซึ่งริเริ่มวัดความคืบหน้าของประเทศแบบองค์รวมนอกเหนือไปจากการเติบโตทางเศรษฐกิจกล่าวว่า สิ่งที่เคยจัดว่าเป็น สิ่งดีที่มีหรือ nice-to-haves เช่น การไปเรียนมหาวิทยาลัย การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ มีความสำคัญมากขึ้นเพื่อความสำเร็จ แต่เมื่อดูจากพื้นฐานแล้ว ผู้คนก็พบอุปสรรคในการไต่บันไดแห่งความสำเร็จ

สำหรับรายงาน Human Development Report 2019 ซึ่งมีชื่อ “Beyond income, beyond averages, beyond today: inequalities in human development in the 21st Century” ชี้ให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันคุกคามการพัฒนามนุษย์ และการดำเนินการตามแนวทางที่ทำกันมานั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในรูปแบบใหม่ในยุคใหม่ได้

รายงานได้ให้ภาพรวมความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21 โดยระบุว่าในทุกประเทศมีผู้คนจำนวนมากมีโอกาสน้อยนิดที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น การขาดความหวัง เป้าหมาย หรือศักดิ์ศรี พวกเขาทำได้เพียงมองอยู่ด้านข้าง ขณะที่คนอื่นๆ ก้าวล้ำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า แม้ทั่วโลกจะหลุดพ้นจากความยากจนค่นแค้น แต่ก็ยิ่งไม่มีโอกาสหรือทรัพยากรที่จะจัดการกับชีวิตของตัวเอง และหลายครั้งที่ เพศ ชาติพันธุ์ หรือฐานะการเงินของพ่อแม่กำหนดสถานะของคนในสังคม

ความไม่เท่าเทียมพบเห็นได้ในทุกที่ ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าอยู่ในระบบการปกครองแบบไหนมองว่า ต้องลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของประเทศตัวเองลง

ความไม่เท่าเทียมในยุคใหม่ซึ่งมีมากขึ้น อยู่ในด้านการศึกษา เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสองด้านหลังนี้มีผลอย่างมากและอาจจะสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคมชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์ยิ่งฝังลึกมากขึ้น โดยเห็นได้จากการเปรียบเทียบเด็กที่เกิดในปี 2000 คนแรกเกิดในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์อย่างมาก ขณะที่อีกคนเกิดในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำ

วันนี้เด็กคนแรกมีโอกาสมากถึง 50:50 ที่จะได้รับการศึกษาสูงขึ้น อีกทั้งเยาวชนอายุ 20 ปีในจำนวนมากกว่าครึ่งของประเทศที่การพัฒนามนุษย์สูง มีศึกษาในระดับที่สูงกว่า ส่วนเด็กคนที่สองมีโอกาสน้อยมากที่จะรอดชีวิต ราว 17% ของเด็กที่เกิดในปี 2000 ในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำจะเสียชีวิตก่อนอายุ 20 ปี ขณะที่ในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงสัดส่วนนี้มีเพียง 1% อีกทั้งเด็กในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำมีโอกาสรับการศึกษาที่สูงขึ้นน้อยมาก โดยมีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น

สถานการณ์แบบนี้ยิ่งตอกย้ำความแตกต่างและความไม่เท่าเทียม และยากที่จะพลิกสถานการณ์กลับมา อีกทั้งความไม่เท่าเทียมภายในประเทศเองก็สูง ไม่ว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว ในประเทศพัฒนาแล้วบางแห่ง ช่องว่างของอายุขัยที่ระดับ 40 ปีของคนของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูงสุดใน 1 % บน กับกลุ่ม 1% ล่างที่ยากจนที่สุด ห่างกันถึง 15 ปีสำหรับผู้ชาย และห่างกัน 10 ปีสำหรับผู้หญิง

ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์นี้มีผลกระทบต่อสังคม ทำให้การร่วมกันของสังคมอ่อนแอ และลดความไว้ใจของประชาชนต่อรัฐบาล ต่อสถาบันและระหว่างกัน มีผลมากต่อเศรษฐกิจ ทำให้คนไม่สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ และหากสถานการณ์สุกงอมก็จะทำให้คนออกมาเรียกร้องบนท้องถนน

ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์ยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals — SGGs) เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของความไม่เสมอภาคของรายได้และความมั่งคั่งเท่านั้น ไม่สามารถมองได้ในมิติเดียว เนื่องจากมีผลต่อการใช้ชีวิตของคนในศตวรรษที่ 22

3 กรอบการวิเคราะห์การพัฒนามนุษย์

การสำรวจความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนามนุษย์จึงต้องมองให้ทะลุรายได้ เกินกว่าค่าเฉลี่ย และมองให้ไกลว่าปัจจุบัน (beyond income, beyond averages, beyond today) ซึ่งเป็นกรอบการวิเคราะห์ของรายงานฉบับนี้

  • Beyond Income
  • การประเมินความไม่เท่าเทียมกันอย่างครอบคลุมจะต้องพิจารณาถึงรายได้และความมั่งคั่ง และต้องไปไกลกว่าตัวเงินเพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างในด้านอื่นๆ ของการพัฒนามนุษย์และกระบวนการที่มีผลต่อความไม่เท่าเทียม

    แน่นอนว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความไม่เท่าเทียมในองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนามนุษย์ เช่น สุขภาพ การศึกษา ศักดิ์ศรี และการเคารพสิทธิมนุษยชน และประเด็นเหล่านี้อาจจะมองไม่เห็นหากพิจารณาจากความไม่เท่าเทียมของรายได้และความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว

    จากดัชนีชี้วัด 2 ตัวคือ ดัชนีการพัฒนามนุษย์(Human Development Index:HDI) และ ดัชนีว่าด้วยการพัฒนาคนที่ปรับด้วยค่าความเหลื่อมล้ำ(Inequality-Adjusted Human Development Index) พบว่า การกระจายที่ไม่เท่าเทียมในด้านการศึกษา สุขภาพ มาตรฐานการใช้ชีวิต มีผลฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศ และจากผลการประเมินพบว่า ความคืบหน้าในการพัฒนามนุษย์ได้สูญเปล่าไป 20% จากความไม่เท่าเทียม ดังนั้นรายงานมีข้อเสนอด้านนโยบายว่า

    1) ลงทุนในเด็กและตลอดชีวิต เพราะความไม่เท่าเทียมเริ่มตั้งแต่เกิดและสะสมไปจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ จากความแตกต่างด้านการศึกษาและสุขภาพที่มากขึ้น ดังนั้นนโยบายด้านนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เกิด รวมทั้งลงทุนในการศึกษา สุขภาพ และโภชนาการของเด็ก

    2) ผลิตภาพ การลงทุนนั้นต้องต่อเนื่องตลอดอายุของคน เมื่อเริ่มมีรายได้จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานและหลังจากนั้น ตัวอย่าง ประเทศที่มีแรงงานที่ประสิทธิภาพจะมีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในระดับบนน้อย เพราะมีนโยบายสนับสนุนสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม นโยบายในด้านนี้การเน้นประะสิทธิภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะอำนาจทางตลาดของนายจ้างเพิ่มขึ้น ดังนั้นนโยบายป้องกันการผูกขาดและอื่นพๆจะช่วยแก้ไขความไม่สมดุลของอำนาจทางการตลาด

    3) การใช้จ่ายภาครัฐและระบบภาษีที่เป็นธรรม ระบบภาษีควรเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทั้งระบบ รวมทั้งการใช้จ่ายของรัฐในด้านสุขภาพ การศึกษา และทางเลือกอื่นในยุคที่วิถีชีวิตมีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น นโยบายภายในประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นจากหลักภาษีระหว่างประเทศ เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม หลีกเลี่ยงการลดอัตราภาษีไปที่ระดับต่ำมาก โดยเฉพาะเมื่อการพัฒนาทางดิจิทัลได้สร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และเพื่อตรวจสอบและขจัดการเลี่ยงภาษี

  • Beyond Averages

  • การพิจารณาจากค่าเฉลี่ยอย่างเดียวไม่ได้บอกความเป็นไปในสังคม เพราะเป็นการให้ภาพใหญ่ ขณะที่การกำหนดนโยบายแก้ไขความไม่เท่าเทียมต้องมีข้อมูลรายละเอียด เนื่องจากข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ข้อมูลบางส่วนทำให้เข้าใจผิด การวางนโยบายในด้านแก้ไขความยากจนต้องมองหลายมิติ ต้องพิจารณาถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมทั้งการเส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

  • Beyond Today
  • การวิเคราะห์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่อดีตหรือปัจจุบัน แต่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงต้องพิจารณาสิ่งที่จะสร้างความไม่เท่าเทียมในอนาคตด้วย

    รูปแบบความไม่เท่าเทียมในปัจจุบันและความไม่เท่าเทียมรูปแบบใหม่จะมีปฎิสัมพันธ์กับแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกำหนดชีวิตของเยาวชนในปัจจุบันและคนรุ่นหลังๆ

    การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสองเรื่องที่จะมีผลต่อศตวรรษที่ 21 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

    วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อกลุ่มยากจนสุดมากที่สุด การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจจะมีผลให้นโยบายในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การกำหนดราคาคาร์บอนอาจจะจัดการได้ยาก และอาจจะทำให้คนยากจนรู้สึกว่ามีความไม่เท่าเทียมมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่มีรายได้สูงกว่า จากการที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้านพลังงาน หรือสินค้าที่ใช้พลังงานสูง

    ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น machine learning หรือ AI จะทำให้คนกลุ่มนี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และแตกแยกมากขึ้น แม้แต่ในประเทศที่จำลองความไม่แน่นอนของอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ และรวมไปถึงเทคโนโลยีที่อยู่ในรูปพลังงานหมุนเวียน ระบบการเงินดิจิทัล ระบบสุขภาพดิจิทัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในอนาคตที่ต่างจากช่วงที่ผ่านมา

    ในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยีได้ขยายความไม่เท่าเทียมให้ลึกขึ้น โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่เพียงสร้างความแตกต่างระหว่างประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศที่พึ่งพาสินค้าพื้นฐาน แต่ยังสร้างวิธีการผลิตที่มีผลต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

    ดังนั้นนโยบายด้านนี้ต้องเน้นที่การคุ้มครองสังคม การชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับงานดิจิทัลที่ไม่อิงกับสถานที่ เป็นงานที่สามารถทำจากที่ใด
    รวมทั้งการลงทุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้แรงงานปรับตัวกับการจ้างงานแบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ มีผลให้ลดความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์

    5 สาระสำคัญความไม่เท่าเทียมยุคใหม่

    รายงานระบุว่า การวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมภายใต้ 3 กรอบนี้นำมาสู่ข้อสรุปสำคัญ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่

    ประการแรก ความไม่เท่าเทียมยุคใหม่ในการพัฒนามนุษย์ได้เกิดขึ้น แม้ความไม่เท่าเทียมที่ไม่ได้รับการแก้ไขของศตวรรษที่ 20 จะลดลงก็ตาม

    ขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ปี 2020 ทักษะหรือความสามารถชุดใหม่เป็นรากฐานของชีวิตในศตวรรษที่ 21 ความไม่เท่าเทียมกันในขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพลวัตที่แตกต่างอย่างมากของความสามารถขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมกันยุคใหม่

    ความไม่เท่าเทียมกันในความสามารถขั้นพื้นฐานกำลังแคบลงอย่างช้าๆ ในทุกประเทศ แม้ยังคงต้องลดช่องว่างนี้ต่อเนื่อง ความไม่เท่าเทียมกันของอายุขัยตั้งแต่เกิด อัตราส่วนของประชากรที่ได้รับการศึกษาเบื้องต้นและการใช้โทรศัพท์มือถือ ได้ลดลงในทุกกลุ่มการพัฒนามนุษย์ คนในระดับล่างสุดมีความก้าวหน้ามากกว่าคนในระดับบนสุด อายุขัยตั้งแต่แรกเกิดของประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำในปี 2005 และ 2015 สูงขึ้นราว 3 เท่า ของประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูง เป็นผลจากการลดการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดในประเทศกำลังพัฒนา

    ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำ ยังมีความคืบหน้าของการพัฒนามนุษย์ในด้านการเข้าถึงการศึกษา และการใช้โทรศัพท์มือถือ

    แม้มีความคืบหน้าในการลดช่องว่าง แต่โลกไม่สามารถขจัดความไม่เท่าเทียมอย่างหนักในด้านสุขภาพและการศึกษาภายในปี 2030 เพราะทุกปียังมีเด็กจำนวน 3 ล้านคนเสียชีวิตในช่วงอายุไม่เกิน 5 ปี (อย่างน้อย 850,000 ราย เกินกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) และ 225 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน

    นอกจากนี้ ความแตกต่างลดลงเพราะคนในระดับบนไม่มีช่องให้เพิ่มความสามารถได้มากกว่านี้ ในทางตรงข้าม ความไม่เท่าเทียมในขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น(Enhanced Capabilities)กลับขยาย เช่น การเพิ่มขึ้นของอายุขัยที่ระดับ 70 ปีจากปี 1995-2015 ในหลายประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำ

    ภายใต้วิกฤติสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนามนุษย์กำลังเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21

    มีข้อมูลจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่เหมือนกันของความแตกต่างของขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นในหลายด้าน ความแตกต่างในการเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าเดิม อัตราส่วนประชากรผู้ใหญ่ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่าในประ เทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 15 เท่า

    ความไม่เท่าเทียมกันในยุคใหม่ระหว่างประเทศและภายในประเทศ เป็นผลสืบเนื่องกันอย่างมาก กลายเป็นตัวกำหนดสังคมในศตวรรษที่ 21 เพราะสุขภาพ การมีอายุยืน ความรู้ และเทคโนโลยีมีความสำคัญระดับต้นๆ ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้จะเป็นปัจจัยต่อความสามารถของคนในการใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 การทำงานในเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ประการที่สอง ขณะที่หลายคนกำลังก้าวขึ้นไปเหนือระดับความสำเร็จขั้นต่ำในการพัฒนามนุษย์ แต่ความไม่เท่าเทียมยังมีอยู่ในวงกว้าง
    ในช่วงสองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 โลกมีความก้าวหน้าอย่างมากในการลดการกีดกันอย่างรุนแรงลง มาตรฐานการใช้ชีวิตดีขึ้น คนจำนวนมากหลุดพ้นจากความหิวโหย ความยากจน โรคภัยไข้ป่วย โดยรวมแล้วมีความคืบหน้า ดังจะเห็นจากอายุขัยที่สูงขึ้น เพราะอัตราการรอดชีวิตของเด็กแรกเกิดสูงขึ้น

    แต่ยังมีช่องว่างในระดับที่ยอมรับไม่ได้ในความสามารถ(Capabilities)ในหลายด้าน บางกรณีหมายถึงชีวิต บางกรณีหมายถึงการเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนชีวิต นอกจากนี้ แม้ความแตกต่างของอายุขัยลดลง โดยอายุขัยตั้งแต่แรกเกิดของประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงและประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำห่างกัน 19 ปี แต่ยังมีความแตกต่างของอายุยืนที่คาดหวังในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งช่องว่างของอายุยืนของอายุขัยที่ 70 ปีห่างกันถึง 5 ปี

    ประชากรผู้ใหญ่ในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำในสัดส่วนราว 42% ได้รับการศึกษาเบื้องต้น แต่ในประเทศที่การพัฒนามนุษย์สูงสัดส่วนนี้สูงถึง 94% ประชากรผู้ใหญ่ในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำในสัดส่วนราว 3% มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ในประเทศที่การพัฒนามนุษย์สูงสัดส่วนนี้สูงถึง 29%

    ในด้านเทคโนโลยี ประชากรผู้ใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา 67 คนใน 100 คนมีโทรศัพท์มือถือใช้ แต่ยังเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศที่การพัฒนามนุษย์สูง ส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำมีอัตราส่วนไม่ถึง 1 คน ใน 100 คน แต่ประเทศที่การพัฒนามนุษย์สูงสัดส่วนนี้สูงถึง 28 ใน 100 คน

    ความก้าวหน้ากำลังผ่านจุดเปราะบางที่สุดแม้จะอยู่ในสภาพลิดรอนที่สุด ซึ่งมีมากจนโลกไม่สามารถลดการกีดกันนี้ได้ภายในปี 2030 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

    นอกจากนี้ยังมีคน 600 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนสูงสุด แต่หากวัดด้วยดัชนีชี้วัดความยากจนตัวใหม่ Multidimensional Poverty Index ที่วัดความยากจนหลายมิติ ตัวเลขนี้สูงถึง 1.3 พันล้านคน รวมทั้งยังมีเด็ก 262 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน และ 5.4 ล้านคนเสียชีวิตในช่วง 5 ปีแรกแม้สามารถเข้าถึงวัคซีนและการรักษา อัตราเด็กเสียชีวิตตั้งแรกเกิดในประเทศยากจนสูงสุดยังคงอยู่ในระดับสูง ในประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ต่ำและปานกลาง

    ประการที่สาม ความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนามนุษย์สามารถสะสมได้ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่มาจากความไม่สมดุลของอำนาจที่ฝังลึก ความไม่เท่าเทียมในข้อนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ข้อย่อย โดย

  • ข้อแรก เสียเปรียบตลอดชีวิต

  • ความไม่เท่าเทียมเริ่มตั้งแต่แรกเกิด หลายครั้งก็มีมาก่อนเกิด และสามารถสะสมได้ตลอดชั่วชีวิตคน มาจากหลายสาเหตุ คือ ด้านสุขภาพ การศึกษา และสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของพ่อแม่ รายได้และสถานการณ์ชีวิตของพ่อแม่มีผลต่อสุขภาพ การศึกษาและรายได้ของลูก

    เด็กที่เกิดในครอบครัวรายได้น้อยมีความเป็นได้ที่สุขภาพจะไม่ดีและมีการศึกษาน้อย และเมื่อมีการศึกษาน้อยก็ไม่สามารถทำรายได้มากเท่ากับคนอื่น เด็กที่สุขภาพไม่ดีอาจจะไม่ได้ไปโรงเรียน เมื่อเจริญวัยขึ้น หากได้คู่ชีวิตที่มีสถานะเศรษฐกิจสังคมที่ใกล้เคียงกัน ความไม่เท่าเทียมก็จะส่งต่อรุ่นต่อรุ่น

    วงจรนี้ก็ยังมีต่อเนื่องและยากที่จะตัดตอน เพราะมีอำนาจทางนโยบายเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อคนรวยกำหนดนโยบาย ก็ต้องโน้มเอียงไปในทางที่ทำให้กลุ่มคนระดับบนสะสมความมั่งคั่งและมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งมีผลให้สังคมที่ไม่เท่าเทียมยิ่งไม่มีความคล่องตัว

  • ข้อสอง ความไม่สมดุลของอำนาจ

  • ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้และความมั่งคั่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เท่าเทียมทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่งผลให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีโอกาสตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สิทธิพิเศษนี้สามารถเข้ามาจับระบบและถูกทำให้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา และยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้น

    ความไม่สมมาตรของอำนาจยังนำไปสู่การชะงักงันในการทำงานของสถาบัน ประสิทธิภาพของนโยบายหย่อนยาน เมื่อสถาบันถูกครอบงำโดยกลุ่มคนมั่งคั่ง พลเมืองส่วนใหญ่จึงไม่เต็มใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคม และหากสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เช่น การไม่เสียภาษี ก็จะทำให้ความสามารถของรัฐบาลในการให้บริการสาธารณะลดลง ซึ่งส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพ การศึกษายิ่งห่างออกไปอีก

  • ข้อสาม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ

  • คนบางกลุ่มอาจจะเสียเปรียบในเชิงระบบหลายด้าน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่ใช้ภาษาเดียวกัน และเพศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย แต่ส่วนใหญ่มักตกแก่ผู้หญิง

    ความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในรูปแบบของความไม่เท่าเทียมที่ยังคงมีอยู่ในทุกที่ ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีผลกระทบต่อคนครึ่งหนึ่งของโลก จึงกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนามนุษย์

    ความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องซับซ้อน มีทั้งความคืบหน้าและความถดถอยในการแก้ไขปัญหา ภายในบ้านผู้หญิงทำงานที่ไม่ได้เงินหนักมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า และแม้ว่าผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเท่ากัน แต่ในวงการเมืองกลับมีอำนาจไม่เท่ากัน โดยมีช่องว่างถึง 90% ในระดับผู้นำรัฐและรัฐบาล

    บรรทัดฐานสังคมและการขาดอำนาจมีส่วนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศทุกรูปแบบ รายงานฉบับนี้จึงนำเสนอดัชนีวัดมาตรฐานสังคมตัวใหม่ ซึ่งมองไปที่ความเชื่อมโยงของความเชื่อของสังคมกับความเท่าเทียมทางเพศในหลายมิติ ซึ่งพบว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศมีมากเมื่อมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง

    ประการที่สี่ การประเมินความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์ต้องมีการปฏิวัติตัววัดใหม่ นโยบายที่ดีเริ่มด้วยตัววัดที่ดี และความไม่เท่าเทียมยุคใหม่ต้องใช้ใช้ตัววัดยุคใหม่

    มาตรฐานและแนวปฏิบัติในการวัดความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะให้ข้อมูลแก่สาธารณะในการถกเถียง อภิปราย หรือสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบาย ส่วนหนึ่งมาจากหลากหลายวิธีในการทำความเข้าใจความไม่เท่าเทียม เพราะ 1) มีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่ม 2) มีความไม่เท่าเทียมทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ซึ่งต้องมองในหลายบริบท 3) มีความไม่เท่าเทียมระหว่างครัวเรือน ตัวอย่างคือ ใน 30 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา 3 ใน 4 ของผู้หญิงมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และเด็กที่ขาดโภชนาการรวมกันไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 20% ล่างที่ยากจนที่สุด

    ชุดตัววัดใหม่จึงมีความจำเป็นต่อการลดความแตกต่างของข้อมูลที่ใช้วัดความไม่เท่าเทียม เพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบและเกินกว่าค่าเฉลี่ย โดยเริ่มจากข้อมูลสถิติพื้นฐาน ซึ่งหลายประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีระบบลงทะเบียน และแม้ว่ามีความคืบหน้าในการลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้และความมั่งคั่ง แต่ข้อมูลก็ยังมีน้อยหาได้ยาก

    การทำให้เป็นระบบและในวงกว้างจะทำให้มีข้อมูลในการถกเถียงและการกำหนดนโยบายที่ดีขึ้น

    ประการที่ห้า การลดความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21 มีความเป็นไปได้หากเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ความไม่สมดุลของอำนาจทางเศรษฐกิจจะแปลงไปสู่อำนาจทางการเมืองที่ถาวร

    การลดความไม่เท่าเทียมกันในความสามารถพื้นฐานบางด้านแสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถผลักดันให้มีความก้าวหน้าได้ แต่ความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการมาจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ ความปรารถนาของคนในศตวรรษนี้ และถึงแม้จะลดความไม่เท่าเทียมกันในความสามารถพื้นฐานลงอีกสองเท่าก็ไม่เพียงพอ

    หากขีดความสามารถที่พัฒนาขึ้นเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมพลังอำนาจ การเพิกเฉยต่อช่องว่างที่เปิดขึ้นมาสามารถทำให้ผู้กำหนดนโยบายแตกแยกจากการเป็นตัวแทนของประชาชน นั่นคือ ความสามารถในการตัดสินใจเลือกที่เติมเต็มความปรารถนาและค่านิยมของพวกเขา

    การหันความสนใจไปสู่การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมยุคใหม่ในขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ที่จะสร้างความเป็นไปได้ในการหลีกเลี่ยงการคงอยู่ของความไม่เท่าเทียมในการพัฒนามนุษย์ตลอดศตวรรษที่ 21

    Climate Change กับความไม่เท่าเทียม

    “อนาคตความไม่เท่าเทียมของการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21 อยู่ในมือของเรา แต่เราก็ไม่พอใจ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแสดงให้เห็นถึงต้นทุนของการไม่ดำเนินการที่สะสมกันมานาน และมีผลไปสู่ความไม่เท่าเทียม ซึ่งก็ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศยิ่งยากขึ้น เทคโนโลยีมีผลต่อตลาดแรงงานและชีวิตไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เครื่องจักรจะมาแทนที่คน เรากำลังเข้าสู่จุดเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะที่แก้ไขอะไรไม่ได้ เรามีทางเลือก และต้องลงมือทำตอนนี้” รายงานระบุ

    ความไม่เท่าเทียมและวิกฤติสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวกันในด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และผลกระทบต่อนโยบายและความยืดหยุ่น ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อคนสูงกว่า และสามารถวัดผลของกิจกรรมที่มีผลต่อระบบนิเวศน์ได้มากกว่า

    การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อการพัฒนามนุษย์ในหลายด้าน นอกเหนือจากผลผลิตที่ได้น้อยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

    ในช่วงปี 2030-2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิต 250,000 รายต่อปีจากการขาดอาหาร เป็นไข้มาเลเรีย อหิวาต์ และจากภาวะเครียดจากความร้อน คนหลายล้านคนอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากความร้อนในปี 2050 และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อยุงพาหะทำให้เกิดโรคมาเลเรีย ไข้เลือดออก ที่จะเพิ่มมากขึ้น

    ผลกระทบโดยรวมต่อคนขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความเปราะบาง ทั้งสองปัจจัยเกี่ยวพันกับความไม่เท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อพื้นที่เขตร้อนก่อนที่อื่น และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศอยู่ในเขตร้อน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาและชุมชนที่ยากจนไม่มีความสามารถเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่เลวร้าย

    ความไม่เท่าเทียมยังมีผลต่อความสมดุลของอำนาจระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มต่อต้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มคนระดับบนเป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีกด้าน มีผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการ เพราะความไม่เท่าเทียมที่สูง มีผลให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศยากขึ้น

    ทางเลือกในการแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยยกระดับประเทศไปสู่การพัฒนามนุษย์อย่างทั่วถึงและยั่งยืน การกำหนดราคาคาร์บอนเป็นหนึ่งทางเลือก สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเก็บราคาคาร์บอนซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการสนับสนุนทางการเงินให้แก่คนยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายพลังงานที่สูงขึ้น

    แต่การสนับสนุนทางการเงินไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่มีความสำคัญ การจัดแพกเกจมาตรการทางสังคมที่แก้ไขความไม่เท่าเทียมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องทำควบคู่กับการสนับสนุนให้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน ก็มีความสำคัญเช่นกัน